ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ช่างภาพหนังข่าว ผู้เปิดเมืองไทยสู่สายตาชาวโลก

เรื่องราวของทวีศักดิ์ วิรยศิริ ช่างภาพหนังข่าวที่บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆในเมืองไทยตั้งแต่การเมือง กีฬา แฟชั่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม แม้กระทั่งข่าวสงคราม ในระดับฝีมือที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ 

---------



โดย ฝ่ายอนุรักษ์

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 63 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564


ภาพปก: ทวีศักดิ์กับขาตั้งกล้องพิเศษที่เขาคิดค้นขึ้นเพื่อให้สามารถถ่ายได้หลายกล้องในเวลาเดียวกัน



ในยุคปัจจุบันที่ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในทุกมุมโลกสามารถถ่ายทอดสดไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างเรียลไทม์และตลอดเวลาทุกวินาที ผ่านทางช่างภาพของสำนักข่าวต่างชาติที่มาประจำอยู่ในเมืองไทย หรือภาพจากช่างภาพไทยที่ส่งไปยังต่างประเทศ และที่สำคัญผ่านสายตาและมือถือของพลเมืองธรรมดาทั่วโลก แต่หากย้อนไปเมื่อราว 70 ปีก่อนเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นไปไม่ได้เลย กว่าอีกซีกโลกหนึ่งจะได้รับรู้เรื่องราวของอีกซีกโลกหนึ่งนั้นใช้เวลาร่วมสัปดาห์ ร่วมเดือน ลำพังคนที่มีความรู้ความสามารถจะถ่ายภาพเหล่านี้เองในเมืองไทยอย่างเป็นอาชีพก็นับได้ว่าแทบไม่มีเลย จนเมื่อวันที่ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ชายผู้มีใจรักในการถ่ายภาพคนหนึ่งได้ถ่ายทำหนังข่าวให้แก่บริษัทเมโทร นิวส์ในอเมริกา จุดเริ่มต้นของช่างภาพหนังข่าวอาชีพที่ทำงานในระดับสากลในเมืองไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น


ทวีศักดิ์ วิรยศิริ เกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2444 (ทวีศักดิ์เชื่อว่าเขาเป็นคนไทยคนแรกที่ชื่อนี้) เป็นลูกชายของ พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) อดีตราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 5 กับ นางนาฎ วิริยศิริ มีพี่น้องร่วมมารดา 4 คน หนึ่งในนั้นคือ สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกวงการข่าวโทรทัศน์และโฆษณาของเมืองไทย และ สมบูรณ์ วิรยศิริ ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์รายการมรดกของไทย สารคดีโทรทัศน์ชื่อดังในอดีต


ทวีศักดิ์มีความสนใจในการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก เพราะบิดาเป็นคนที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพ ทำให้ตนเองรวมถึงน้องชายอย่างสรรพสิริและสมบูรณ์พลอยได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้มาจนเติบใหญ่มีหน้าที่การงานในวงการข่าว


เมื่อเรียนจบ ม.6 ทวีศักดิ์ตัดสินใจไปเรียนต่อโรงเรียนนายเรือ เพราะทางครอบครัวอยากให้สมาชิกในครอบครัวสักคนรับราชการเป็นทหาร แต่เมื่อเรียนไปได้ 2 ปีทวีศักดิ์พบว่าตนเองเป็นคนเมาคลื่นจึงออกจากโรงเรียนไปอยู่สิงคโปร์กับ เพิ่มศักดิ์ วิรยศิริ พี่ชายซึ่งเป็นกงศุลใหญ่ที่สิงคโปรฺ และไปร่ำเรียนวิชาทางด้านการบัญชีจนสำเร็จการศึกษากลับมารับราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 



ภาพ: บัตรนักข่าวของทวีศักดิ์ วิรยศิริ

ในระหว่างที่ทวีศักดิ์รับราชการเขาก็ยังรักการถ่ายภาพ โดยรับถ่ายภาพนิ่งเบื้องหลังต่าง ๆ ให้กองถ่ายหนัง จนครั้งหนึ่งทวีศักดิ์มีโอกาสได้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการแสดงละครเวทีเรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา ที่จัดแสดงโดยกรมศิลปากร และหนังเรื่องนี้เองที่กลายเป็นหนังเปลี่ยนชีวิตของทวีศักดิ์ เมื่อ สุจิต หิรัญพฤกษ์ เพื่อนที่ทำงานอยู่กระทรวงต่างประเทศได้ขอนำหนังไปฉายเผยแพร่ในต่างประเทศ จนภาพของหนังไปเข้าตาประธานบริษัทเมโทร นิวส์ บริษัทที่กำลังมองหาผู้แทนข่าวจากดินแดนตะวันออกไกล จึงอยากให้ทวีศักดิ์เป็นผู้รับงานถ่ายหนังข่าวให้แก่บริษัท เมื่อสุจิตกลับมาเมืองไทยจึงได้นำความประสงค์ของเมโทร นิวส์มาบอกกล่าวแก่เขา ทวีศักดิ์ในวัยสี่สิบกว่าจึงได้เริ่มต้นอาชีพช่างภาพหนังข่าว และชีวิตที่สองของเขาก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น โดยหนังข่าวเรื่องแรก ๆ จากความทรงจำของทวีศักดิ์ที่ถ่ายให้แก่เมโทร นิวส์ คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ในปี 2493 หนังที่ถ่ายทำออกมาได้อย่างงดงาม


เมื่อหนังถูกนำออกเผยแพร่ในต่างประเทศ ผลงานของทวีศักดิ์ก็ได้รับการบอกต่อกันไปปากต่อปาก หลายสำนักข่าวต่างพากันติดต่องานมายังทวีศักดิ์เพื่อให้เขาเป็นผู้ถ่ายข่าวในเมืองไทยรวมถึงประเทศใกล้เคียงส่งกลับมายังสำนักข่าว ทั้ง CBS, ABC, NBC จากอเมริกา Visnews, IPN, BBC จากอังกฤษ, ABC ออสเตรเลีย, German Television ฯลฯ มีงานหลากหลายประเภททั้งข่าวและสารคดีที่มอบหมายให้ทวีศักดิ์เป็นคนถ่ายแต่เพียงผู้เดียวในไทยเวลานั้นเพราะความไว้เนื้อเชื่อมือ พร้อมกับกล้องฟิล์มและเครดิตค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาให้ทวีศักดิ์เป็นพิเศษ จนเขาเองต้องคิดค้นขาตั้งกล้องแบบพิเศษที่สามารถวางกล้องได้หลายตัว เพื่อให้สามารถถ่ายได้หลายกล้องในเวลาเดียวกัน โดยได้ นวลละออง พวงทอง คู่ชีวิตเป็นคนคอยช่วยเหลือทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ผู้ช่วยถ่าย ทำสคริปต์ และประสานงานส่งหนังต่าง ๆ ให้แก่สำนักข่าว



ภาพ: ภาพยนตร์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองไทยครั้งแรกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามี ในปี 2515


แต่ถึงแม้ว่าทวีศักดิ์จะเป็นช่างถ่ายหนังข่าวอิสระให้สำนักข่าวต่างประเทศคนไทยเพียงคนเดียวในเวลานั้นที่ได้นำภาพเมืองไทยออกสู่สายตาชาวโลก ทว่าในเมืองไทยเองเขากลับไม่ได้รับการยอมรับและอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร คราวหนึ่งในยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทวีศักดิ์ถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไล่ลงจากรถไฟเมื่อรู้ว่าเขาจะขอติดขบวนไปถ่ายภาพโศกนาฏกรรมจากมหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 ทั้งที่ทวีศักดิ์ร้องขอว่าการให้เขาถ่ายภาพส่งไปยังต่างประเทศนั้นจะส่งผลดีต่อเมืองไทยในแง่ที่ทำให้ต่างชาติได้รับรู้และส่งความช่วยเหลือมายังเมืองไทยได้ แต่นายทหารผู้นั้นก็มิได้รับฟัง ดีที่ทวีศักดิ์สามารถโบกรถบรรทุกเดินทางไปเองและถ่ายงานมาได้สำเร็จ หรืออีกคราวหนึ่งเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยครั้งแรกในปี 2515 เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่าทวีศักดิ์เป็นช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศก็แสดงอาการหยามเหยียดไม่ต้องการให้เขาถ่าย โดยอ้างว่ามีช่างภาพของตนเองอยู่แล้ว จนทวีศักดิ์ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของตนเองในการหาทางถ่ายภาพออกมาได้สำเร็จ 


นอกจากปัญหาการถ่ายงานแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องเหนื่อยหน่ายใจของเขาก็คือระบบราชการไทยที่กรมศุลกากรในสมัยนั้น เมื่อการส่งฟิล์มไปยังสำนักข่าวต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุจากความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่บางคน รวมไปถึงการเรียกรับสินบนต่าง ๆ เพื่อให้งานเป็นไปได้อย่างคล่องตัว ที่ทำให้ทวีศักดิ์ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการผูกมิตรข้าราชการเหล่านี้เพื่อให้งานของตนลุล่วงไปด้วยดี ต่างจากในต่างประเทศที่ศุลกากรนั้นให้ความสำคัญกับงานข่าวมาเป็นอันดับต้น ๆ หรือแม้แต่การถ่ายทำต่าง ๆ เองก็ได้รับความสะดวกมากกว่าในเมืองไทย



ภาพ: ภาพถ่ายบนเครื่องบินขณะนายทหารชาวอเมริกันกำลังเล็งปืนสำรวจข้าศึกในสงครามเวียดนาม


หนังข่าวที่ทวีศักดิ์ถ่ายนั้นมีมากมายหลากหลายทั้งข่าวการเมือง กีฬา แฟชั่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม การเสด็จฯ ของรัชกาลที่ 9 และไม่ใช่แต่เหตุการณ์ในเมืองไทยเท่านั้น เขายังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายภาพยนตร์ข่าวในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แม้แต่ข่าวสงครามในยุคสงครามเย็นหรือสงครามเวียดนาม ทวีศักดิ์ต้องออกไปเสี่ยงภัยเสี่ยงอันตรายเป็นช่างภาพยนตร์ข่าวสงครามด้วยผู้หนึ่ง แต่หนังในความทรงจำที่ทวีศักดิ์ยังคงนึกถึงจากคำบอกเล่าของเขาคือ ข่าวการเดินทางเยือนประเทศพม่าของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ที่ทางการจีนและพม่าไม่อนุญาตให้สำนักข่าวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภายในได้ แต่ทวีศักดิ์เป็นนักข่าวต่างประเทศเพียงคนเดียวที่ได้เข้าไปถ่ายเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยการปลอมตัวเป็นนักข่าวพม่าจนทำให้ได้ข่าวออกมา หรือข่าวเครื่องบินตกที่เขาใหญ่ที่ทำให้เขาได้เห็นภาพความสยดสยองจากเหตุการณ์นี้อย่างไม่เคยมาก่อน แต่ข่าวที่นับเป็นเกียรติในชีวิตของเขาคือข่าวสารคดีฝิ่นที่ถ่ายให้แก่สำนักข่าว CBS เล่าเรื่องกระบวนการทั้งหมดของมัน ตั้งแต่การปลูกฝิ่นที่เชียงใหม่มาจนถึงปลายทางที่โรงฝิ่นในเยาวราช ซึ่งเป็นข่าวที่ถ่ายทำออกมาได้อย่างดี จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ แต่น่าเสียดายที่เขาพลาดรางวัลนี้ไป และที่น่าเสียดายอีกประการคือหนังเหล่านี้เป็นหนังที่ทวีศักดิ์ส่งไปให้สำนักข่าวต้นทางโดยมิได้ขออนุญาตเก็บไว้เอง ด้วยเพราะความเร่งรีบในอาชีพการทำข่าวจึงยังไม่มีหนังสำคัญเหล่านี้ให้เราได้รับชม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีหนังข่าวอีกมากมายรวมทั้งหนังบ้านส่วนตัวที่ทวีศักดิ์ได้มอบไว้ให้กับหอภาพยนตร์อนุรักษ์ ซึ่งผู้สนใจสามารถมารับชมได้ที่หอภาพยนตร์


ทวีศักดิ์ทำอาชีพช่างถ่ายหนังข่าวมาจนถึงอายุ 75 ปี ก่อนเลิกอาชีพนี้ไปเพราะสังขารที่โรยรา แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นช่างภาพและช่างภาพยนตร์สมัครเล่น หรือจะเรียกแบบเก่าว่าเชลยศักดิ์ คอยถ่ายภาพและภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมในสังคม ญาติมิตรและครอบครัว จนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อเสียชีวิตในวัย 90 ปีด้วยโรคถุงลมโป่งพอง แต่ท่านได้ทิ้งมรดกผลงานภาพยนตร์ทั้งในงานอาชีพและงานเชลยศักดิ์จำนวนมากนับร้อยเรื่องไว้ที่หอภาพยนตร์ ให้แก่คนรุ่นหลังได้เห็นและศึกษาภาพของสังคมไทยในอดีตในแบบที่ชาวโลกได้เห็นและรับรู้กันตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว    



ชมผลงานของทวีศักดิ์ วิรยศิริ ที่หอภาพยนตร์ได้นำมาจัดเรียงเป็น Playlist ให้ท่านได้รับชมในช่อง YouTube หอภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด