ร่วมรำลึกถึง ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินผู้ล่วงลับ กับเส้นทางสายภาพยนตร์ไทยที่เขาผูกพันตั้งแต่หนุ่มจนถึงวัยเกษียณ ทั้งในบทบาทเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็นการงานสำคัญแห่งชีวิตอันยาวนาน ที่เขาโลดแล่นไปพร้อมกับการสร้างสรรค์บทเพลงอันทรงคุณค่ามากมาย
----------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ภาพปก: ชาลี อินทรวิจิตร เมื่อครั้งมาประทับรอยมือรอยเท้า ณ ลานดารา ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า เมื่อ พ.ศ. 2530
การจากไปของ ชาลี อินทรวิจิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบทเพลงทรงคุณค่าจำนวนมหาศาลที่เขาได้รังสรรค์ขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลงานด้านการประพันธ์เพลงที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง “ครูชาลี” ยังมีเส้นทางชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายต่อท้าย ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2536 ที่ระบุว่าเขาเป็น ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์ อันบ่งบอกถึงความสามารถซึ่งปรากฏชัดในทั้งสองวงการ
ก้าวแรกสู่จอเงิน
ภาพ: ชาลี อินทรวิจิตร กับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ในเรื่อง หงษ์หยก (2499)
เช่นเดียวกับนักแสดงภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ชาลี หรือในชื่อเดิมว่า “สง่า อินทรวิจิตร” ได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักแสดงในโรงละครเวที มหรสพที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงระหว่างสงคราม จากการชักชวนของ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ นักร้องผู้ผันตัวมาเป็นพระเอกละครเวที ตั้งแต่ราวปี 2487 ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับสง่ามาตั้งแต่ร่วมวงดนตรีของ ล้วน ควันธรรม ครูเพลงผู้ประสาทวิชาด้านดนตรีให้แก่ทั้งคู่
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง วงการภาพยนตร์ที่เคยซบเซาเพราะพิษสงครามไปนาน ได้ค่อย ๆ ฟื้นตื่นขึ้น จุดเปลี่ยนสำคัญคือความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของภาพยนตร์ 16 มม. ปี 2492 เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ที่ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ นำแสดง ซึ่งส่งผลให้เกิดความนิยมในการสร้างหนังไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และบรรดานักแสดงละครเวทีก็ค่อย ๆ ย้ายมาสู่โลกภาพยนตร์ ถัดมาปี 2493 ชื่อของ สง่า อินทรวิจิตร ได้ปรากฏในฐานะนักแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกจากเรื่องชายสะไบ หนังแนวนักเลงลูกทุ่งที่นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ เพื่อนรักผู้กลายเป็นพระเอกหนังชื่อดัง
ภาพ: โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าแลบบนสาปไตย (2497)
ปี 2496 สง่า อินทรวิจิตร ในวัยสามสิบ มีผลงานภาพยนตร์ร่วมกับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ อีกครั้ง คือ ตรางดวงใจ ก่อนที่ปีถัดมา 2497 เขาจะมีชื่อเป็นพระเอก ใน ฟ้าแลบบนสาปไตย ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นของ แข ณ วังน้อย โดยนำแสดงคู่กับ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ คู่รักในชีวิตจริง จากนั้นใน ปี 2498 เขาได้ร่วมแสดงใน โบตั๋น หนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้เกินล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ชาลี อินทรวิจิตร แล้ว เขาค่อย ๆ มีผลงานการแสดงภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้รับบทพระเอกอีก 2 เรื่อง คือ เกียรติศักดิ์ทหารไทย (2498) และ โอ้ชนกชนนี (2499) ที่ได้ใช้คำโฆษณาเหมือนเป็นการสรุปสถานะในวงการบันเทิงของตัวชาลีในขณะนั้นว่า “ชาลี อินทรวิจิตร ดาวรุ่งแห่งโลกภาพยนตร์ยุคก้าวใหม่ และดาราสดใสเหนือละครเวทีในอดีต ซึ่งเป็นดาวส่องแสงอยู่ในวงดนตรี “ประสานมิตร” มารับเศรษฐีผู้มีจิตใจเปี่ยมล้นไปด้วยความดี...”
ภาพ: ชาลี อินทรวิจิตร จากเรื่อง เกียรติศักดิทหารไทย
นับจากนั้น ชาลี อินทรวิจิตร ก็กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานหลากหลายบทบาทมาต่อเนื่องยาวนาน ผ่านยุคการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทยทั้งยุคทองของหนัง 16 มม. พากย์ ที่สิ้นสุดในช่วงกลางทศวรรษ 2510 มาจนถึงหนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม ก่อนจะค่อย ๆ ห่างหายจากการแสดงไปเมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2540 แม้ส่วนมากจะเป็นบทสมทบ แต่ก็เป็นที่คุ้นหน้าของแฟน ๆ หนังไทยมาหลายยุคสมัย โดยมีผลงานการแสดงนับได้เกือบร้อยเรื่อง รวมทั้งเคยได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขานักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง คาดเชือก (2527)
จากเบื้องหน้าสู่เบื้องหลัง
ไม่เพียงแต่จะปรากฏตัวเบื้องหน้าในฐานะนักแสดง ชาลี อินทรวิจิตร ยังมีบทบาทเบื้องหลังในฐานะผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์อีกจำนวนมาก
ผลงานที่ปรากฏชื่อเขาเป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องแรกคือ ดวงตาสวรรค์ ซึ่งสร้างในนาม “ศิรินทราภาพยนตร์” ร่วมกับ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ คู่ชีวิตในขณะนั้น ภาพยนตร์ออกฉายในปี 2507 นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ และ สมบัติ เมทะนี กำกับโดย วิจิตร คุณาวุฒิ โดยชาลีเคยกล่าวไว้ในหนังสืองานศพของ วิจิตร คุณาวุฒิ ว่า “ผมคิดจะสร้างหนังเรื่อง “ดวงตาสวรรค์” ของ กัญญชลา เป็นหนัง 16 มม. เฮียจือรับกำกับให้ผม เขียนบทภาพยนตร์ให้ด้วย แค่เริ่มก็เป็นห่วงงบสร้าง เพราะต้องใช้เงินมาก ผมสู้เต็มที่อยู่แล้ว แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราสามคน ผู้กำกับ ตากล้อง และผมผู้สร้าง ภาคภูมิใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองถึงสามตัว” (ดวงตาสวรรค์ ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ กับ บทภาพยนตร์และผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมโดย วิจิตร คุณาวุฒิ)
ภาพ: ชาลี อินทรวิจิตร, วิจิตร คุณาวุฒิ, โสภา สถาพร และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ กับสามรางวัลตุ๊กตาทอง จากเรื่อง ดวงตาสวรรค์
นอกจาก “ศิรินทราภาพยนตร์” ชาลี อินทรวิจิตร และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ยังสร้างภาพยนตร์ในนาม “อินทรวิจิตรภาพยนตร์” อีกด้วย โดยภาพยนตร์ของทั้งคู่มีส่วนสำคัญในการสร้างดาราชื่อดังขึ้นมาประดับวงการภาพยนตร์ไทยจำนวนมาก เช่น เมตตา รุ่งรัตน์, โสภา สถาพร, สุริยา ชินพันธุ์ รวมถึงสี่ยอดดาวร้าย ดามพ์ (ดัสกร) โดม (สิงโมฬี) คมน์ (อรรฆเดช) ลักษณ์ (อภิชาติ)
ไม่เพียงแต่การเป็นผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขาสร้าง ชาลี อินทรวิจิตร ยังรับหน้าที่กำกับเอง เช่น 7 พระกาฬ (2510) ไอ้หนึ่ง (2511) ปราสาททราย (2512) กิ่งแก้ว (2513) สื่อกามเทพ (2514) สวนสน (2515) ขอบฟ้าเขาเขียว (2516) ประทีปอธิษฐาน (2517) ผยอง (2518) นางสาวลูกดก (2519) มันทะลุฟ้า (2520) ขอเช็ดน้ำตาให้ตัวเอง (2521) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังรับกำกับให้แก่ผู้สร้างรายอื่น เช่น ความรักเจ้าขา (2512) โซ่เกียรติยศ (2518) เกวียนหัก (2521) ชั่วฟ้าดินสลาย (2523) สายใจ (2524) เพลงรักก้องโลก (2526) ลูกสาวคนใหม่ (2527) น้ำเซาะทราย (2529) ความรัก (2531) ยิ้มนิดคิดเท่าไร (2532) ฯลฯ รวมแล้วเขามีผลงานกำกับภาพยนตร์ร่วม 30 เรื่อง นับเป็นผู้กำกับที่มีผลงานโดดเด่นคนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 2510 – 2530 อันเป็นส่วนสำคัญให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติด้านกำกับภาพยนตร์
อีกหนึ่งบทบาทในโลกภาพยนตร์ที่ไม่อาจกล่าวข้าม เมื่อพูดถึงชื่อ ชาลี อินทรวิจิตร นั่นคือบทบาทของการเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ในบรรดาบทเพลงหลายร้อยเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้น มีผลงานจำนวนมากที่นำไปประกอบอยู่ในภาพยนตร์จนกลายเป็นบทเพลงอมตะ และช่วยส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นที่จดจำ เช่น เพลง “สวรรค์มืด” ใน สวรรค์มืด (2501) เพลง “เรือนแพ” ใน เรือนแพ (2504) เพลง “จำเลยรัก” ใน จำเลยรัก (2506) เพลง “หยาดเพชร” ใน เงิน เงิน เงิน (2508) เพลง “แสนแสบ” ใน แผลเก่า (2520) เพลง “บ้านทรายทอง” ใน บ้านทรายทอง (2523) และอีกมากมายหลากหลายบทเพลงที่ขับกล่อมแฟนหนังไทยมาหลายยุค รวมทั้งได้รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์มากมาย
ภาพ: รอยพิมพ์มือพิมพ์เท้าของ ชาลี อินทรวิจิตร ณ ลานดารา หอภาพยนตร์ ที่ศาลายา
ชาลี อินทรวิจิตร เคยมาประทับรอยมือรอยเท้าบนลานดารา ในฐานะนักแสดงและผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทยถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2530 เมื่อหอภาพยนตร์ยังอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และครั้งที่ 2 เมื่อหอภาพยนตร์ย้ายมาอยู่ที่ศาลายา ชาลีได้มาประทับรอยมือรอยเท้า ณ ลานดาราแห่งใหม่ ร่วมกับบุคคลสำคัญในวงการภาพยนตร์มากมาย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี รัตน์ เปสตันยี ผู้ที่เขาเคยร่วมแสดงในงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์มืด (2501) รวมทั้งแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ไว้ถึง 3 เพลง คือ สวรรค์มืด, มนต์รักดวงใจ และภาวนา
งานสุดท้ายที่ ชาลี อินทรวิจิตร ได้ให้เกียรติมาที่หอภาพยนตร์ ก็คืองาน “60 ปี สวรรค์มืด” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเขากับนักแสดงนำที่เคยร่วมแสดงด้วยกันมาเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ทั้ง สุเทพ วงศ์กำแหง และ สืบเนื่อง กันภัย ได้ร่วมสนทนาย้อนวันวานกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งได้ร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ชื่นใจ นับเป็นความทรงจำอันแสนงามครั้งสุดท้ายที่แฟน ๆ และเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ได้รับจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ ชาลี อินทรวิจิตร
รอยพิมพ์มือ-เท้า และผลงานด้านภาพยนตร์ของชาลีที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ จะกลายเป็นอมตนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงความสามารถอันไม่อาจมีใครเทียบของ “ครูชาลี” ที่มีต่อโลกภาพยนตร์ไทยสืบไป
ภาพ: ชาลี อินทรวิจิตร ในงาน 60 ปี สวรรค์มืด ที่หอภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2561