ทำความรู้จักหนังอิหร่านจากอดีตถึงปัจจุบัน


สำรวจประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางมิติวัฒนธรรมในหนังอิหร่านจากอดีตถึงปัจจุบัน ผ่านตัวอักษรในหนังสือที่ให้บริการอยู่ในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี

----------- 


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 63 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564


หอภาพยนตร์เริ่มฉายหนังอิหร่านร่วมสมัยในโปรแกรมภาพยนตร์ต่างประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศอิหร่าน ดินแดนของอาณาจักรเปอร์เชียที่ร่ำรวยด้วยนักปราชญ์ กวี ศิลปิน นักเขียน และคนทำหนังคนสำคัญของโลกมากมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเป็นการเดินทางผ่านหนังสือหลายเล่มที่มีบริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี 


บทความนี้จะสรุปความและพาท่านไปรู้จักหนังอิหร่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโดยสังเขป โดยทุกท่านสามารถมาอ่านหรือค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดของหอภาพยนตร์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมหนังอิหร่านอย่างเต็มเปี่ยม


แรกเริ่มมีภาพยนตร์ในอิหร่าน




หนังสือ Iranian Cinema, A Political History โดย Hamid Reza Sadr ไล่เรียงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อิหร่านเริ่มต้นขึ้นในวังของพระเจ้าชาห์ ราวปี ค.ศ. 1900 กษัตริย์โมซาฟฟาร์ อัลดิน ชาห์ เดินทางไปยุโรปและตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้ภาพเคลื่อนไหวบนจอได้ จึงสั่งให้ลูกชายของช่างภาพประจำวังซื้ออุปกรณ์ถ่ายหนังกลับมาอิหร่าน กษัตริย์โมซาฟฟาร์จึงเป็นคนอิหร่านคนแรกที่ถูกถ่ายด้วยกล้องภาพยนตร์ จากนั้นไม่นานมีการตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นในประเทศ ก่อนที่จะถูกสั่งปิดโดยนักการศาสนาที่มีมติว่าภาพยนตร์เป็นงานของมารร้าย จวบจนหลังปี ค.ศ. 1911 หลังเกิดการปฏิวัติและอิหร่านกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญโดยยังมีกษัตริย์ จึงมีการผ่อนคลายและมีโรงหนังเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าการต่อสู้ทางความคิดระหว่างนักการศาสนากับภาพยนตร์จะยังปรากฏให้เห็นอยู่ต่อมาอีกเป็นร้อยปี


ในปี 1924 คนทำหนังอเมริกัน เมเรียน ซี. คูเปอร์ และ เออร์เนสต์ บี. โชดแซก ผู้สร้างหนังเรื่อง King Kong (รวมทั้งต่อมาสร้างเรื่อง Chang ในสยาม ปี 1927) ถ่ายหนังสารคดีชนเผ่าเร่ร่อนเรื่อง Grass ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสารคดีที่เก่าแก่ที่สุดและยังหลงเหลืออยู่ของอิหร่าน ต่อมามีหนังเล่าเรื่องเรื่องแรกของอิหร่านออกฉายในปี 1930 เป็นหนังตลกชวนหัวชื่อ Abi and Rabi สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังถูกมองด้วยมิติทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาของมัน โดยเฉพาะการที่หนังสร้างภาพกรุงเตหะรานในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาห์ เรซา ปาห์ลาวี จากนั้นระหว่างปี 1930 - 1937 มีหนังออกฉาย 9 เรื่อง ทั้งหมดเป็นหนังเงียบ ส่วนหนังเสียงเรื่องแรกคือ Lor Girl ในปี 1933 เป็นหนังผจญภัยที่ถ่ายทำในอินเดีย และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวิวัฒนาการอุตสาหกรรมหนังอิหร่าน


ต่อมาในทศวรรษ 1940 หนังอิหร่านแผ่วกำลังลง ด้วยเหตุที่ว่าหนังยุโรปเข้ามาแทนที่ พร้อม ๆ กับภัยสงครามและการรุกรานเข้าครอบงำของอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร ก่อนที่หนังอิหร่านจะกลับมาฟื้นคืนชีพในศตวรรษที่ 1950 มีการสร้างสตูดิโอหนังที่สำคัญชื่อ Mitra Studio และผลิตหนังออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากเป็นหนังที่แสดงความก้าวหน้าทางความคิด ทั้งปัญหาสังคม บทบาทผู้หญิง ประเด็นการต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ชาห์กับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเด็นที่ว่าด้วยศาสนาอิสลาม


บทกวีและการปฏิวัติอิสลาม




หนังสืออีกเล่มที่จะช่วยให้เห็นประวัติศาสตร์และแนวคิดของหนังอิหร่านคือ The Poetics of Iranian Cinema โดย Khatereh Sheibani หนังสือเริ่มต้นโดยอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศาสนาอิสลาม อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 (เมื่อพระเจ้าชาห์ถูกโค่นล้มและอิหร่านกลายเป็นสาธารณรัฐอิสลาม) เคยแข็งกร้าวว่าภาพยนตร์คือต้นเหตุของความเสื่อมทรามทั้งหลาย แต่หลังจากเขาขึ้นสู่อำนาจ น้ำเสียงของโคไมนีอ่อนลงเพราะเห็นประโยชน์ในการโน้มน้าวจิตใจคนด้วยหนัง เขาจึงกล่าวเพียงว่า “เราไม่ได้ต่อต้านภาพยนตร์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ภาพยนตร์ควรถูกใช้เพื่อการศึกษาแทนที่จะใช้เพื่อสร้างมลทิน” ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างภาพยนตร์กับศาสนาและการเมืองของอิหร่านมีให้เห็นมาตลอด ทั้งการเซ็นเซอร์ไปจนถึงการเผาโรงหนังในช่วงที่การต่อต้านรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันคนทำหนังคนสำคัญเริ่มมีบทบาทหลังการปฏิวัติอิสลาม และภาพยนตร์กลายเป็นศิลปะที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ของชาติอิหร่านต่อคนดูหนังทั้งโลกในเวลาต่อมา 


แนวคิดสำคัญที่สุดของหนังสือ The Poetics of Iranian Cinema ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมจากวรรณกรรมและกวีแบบเปอร์เชีย มาสู่การแสดงออกด้วยภาพและภาพยนตร์ของคนทำหนังยุค 1960 ต่อเนื่องไปถึงช่วงหลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 พูดอีกอย่างคือ แต่เดิมนั้นกวีนิพนธ์เป็นศิลปะขั้นสูงของชาวเปอร์เซียและเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องต่อเนื่องยืนยาว จากนั้น “หนังศิลปะ” ของอิหร่านโดยคนทำหนังรุ่นใหม่ โอบรับเอาวัฒนธรรมแบบกวีและถ่ายทอดมาสู่โลกภาพยนตร์ ดังเห็นได้จากหนังของผู้กำกับอย่างอับบาส เคียรอสตามี, โมห์เซน มัคมาลบาฟ, บาห์ราม เบไซ, ดาริอุส เมฮ์จิว ฯลฯ


ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ผู้กำกับนิวเวฟของอิหร่านเริ่มทำหนังอย่างต่อเนื่อง โดยใช้รากฐานของกวีนิพนธ์และศิลปะการเล่าเรื่องแบบเปอร์เชีย และสุนทรียศาสตร์ที่เน้นย้ำถึงแนวคิดมนุษย์นิยมและความหลากหลายของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ คนทำหนังคนสำคัญอย่าง อับบาส เคียรอสตามี ได้มรดกทางความคิดจากบทกวีเปอร์เชีย โดยเฉพาะการสร้างความลื่นไหลด้วยภาพลองเทก การพินิจพิเคราะห์ชีวิตในสภาวะปัจจุบันที่ทั้งสวยงามและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และการอุปมาอุปไมยถึงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่นในหนัง Where is the Friend's House? (1987) Life and Then Nothing (1992) และ Through the Olive Trees (1994) นอกจากนี้เคียรอสตามียังทดลองผสมเรื่องแต่ง เรื่องจริง หนังเล่าเรื่อง และหนังสารคดี เพื่อแสวงหานิยามใหม่ของภาพยนตร์ในรูปแบบของบทกวี จนเขากลายเป็นคนทำหนังอิหร่านที่ได้รับการยกย่องทั่วโลกมากที่สุด (เคียรอสตามีเสียชีวิตในปี 2016)


จิตวิญญาณและความท้าทาย




หนังสือที่น่าสนใจอีกสองเล่มเกี่ยวกับหนังอิหร่าน ได้แก่ Shi’I Islam in Iranian Cinema: Religion and Spirituality in Film โดย Nagini Pak-Shiraz เล่มนี้พูดถึงภาพยนตร์ในสถานะของสื่อทางจิตวิญญาณ เป็นงานศึกษาเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับหนังอิหร่าน รวมทั้งนักวิจารณ์และนักวิชาการบางสาย มีแนวคิดในการตีความภาพยนตร์ในแง่มุมการบำเพ็ญเพียรทางความคิดและการเปิดการรับรู้ขั้นสูง ใกล้เคียงกับหลักการทางศาสนาบางอย่าง เช่น พลังธรรมชาติที่เปิดเผยตัวตนของตัวละครใน Baran (2001) หนังของ มายิด มาจีดี หรือหนังที่อ้างอิงและตีความหลักคัมภีร์อัลกุรอ่าน เช่น A Piece of Bread (2005) โดย คามาล ตาบรีซี หนังสือเล่มนี้ย้ำเตือนให้เห็นถึงความเข้มข้นทางความคิดของหนังอิหร่าน และการเชื่อมโยงศิลปะภาพยนตร์กับความคิดเชิงจิตวิญญาณ




เล่มสุดท้ายที่ห้องสมุดฯ ของหอภาพยนตร์นำเสนอ คือ Iranian Cinema Uncensored: Contemporary Film-makers Since the Islamic Revolution โดย Shiva Rahbaran เป็นการรวมบทสัมภาษณ์ผู้กำกับหนังของอิหร่านมากมาย เช่น อับบาส เคียรอสตามี, มายิด มาจีดี, โมห์เซน มัคมาลบาฟ, ดาริอุส เมฮ์จิว, จาฟาร์ พานาฮี และอื่น ๆ ในประเด็นอันหลากหลาย แนวคิด การทำงาน และหนังอิหร่านในบริบทการเมืองและสังคม


หนังอิหร่านมีประวัติศาสตร์ยาวนานและรุ่มรวยทางความคิดมาก การศึกษาหนังจากประเทศนี้ทั้งโดยการชมและอ่านหนังสือประกอบจะทำให้เกิดความเข้าใจในมิติอันหลากหลายของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของโลกแห่งนี้   

--------------------

ในช่วงนี้ห้องสมุดโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ยังคงปิดให้บริการเนื่องจากภาวะการระบาดของโควิด-19 กรุณาติดตามการประกาศเปิดให้บริการอีกครั้งในช่องทางสื่อออนไลน์ของหอภาพยนตร์ โดยตามปกติห้องสมุดฯ จะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการให้บริการ

 



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด