กรณีศึกษาโศกนาฏกรรมของหอภาพยนตร์บราซิลอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19

หอภาพยนตร์บราซิลกำลังเผชิญกับความยากลำบาก เมื่อรัฐบาลประกาศปลดเจ้าหน้าที่และยุติสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย ภายหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง  นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญที่เกิดกับหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ ซึ่งสั่นคลอนต่ออนาคตของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติ

----------



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: www.facebook.com/CinematecaAcesa


ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 เกิดเหตุการณ์ประท้วงบริเวณหน้าหอภาพยนตร์บราซิล (Cinemateca Brasileira) ในเมืองเซา เปาโล เมื่อผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง นำโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งเซา เปาโล (São Paulo Filmmakers Association) ถือป้ายผ้าแสดงข้อความเรียกร้องให้ช่วยเหลือหอภาพยนตร์บราซิลอย่างเร่งด่วน พร้อมแสดงสัญลักษณ์โดยการยืนจับมือล้อมรอบเป็นวงกลมและยิงตัวอักษรผ่านเครื่องฉายไปยังตัวอาคารในภาษาโปรตุเกสว่า “Abraçaço” (หรือ Embrace ในภาษาอังกฤษ) 


เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการจุดประเด็นให้เกิดการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์จากเหล่าศิลปิน ผู้กำกับ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์ ตลอดจนสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก ที่ร่วมกันรณรงค์ปกป้องหนึ่งในหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ 


สาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหอภาพยนตร์บราซิล ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกันความล้มเหลวจากการบริหารงานของภาครัฐในประเทศ ได้พยายามลดทอนบทบาทและคุณค่าความสำคัญ รวมทั้งมองว่าเป็นหน่วยงานแห่งนี้มีอุดมการณ์อยู่ฝั่งตรงกันข้ามของตัวเอง


 

ที่มา: http://cinemateca.org.br/


หอภาพยนตร์บราซิล ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1940 เป็นหน่วยงานทางประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการค้นคว้าและอนุรักษ์ภาพยนตร์ ซึ่งเก่าแก่และมีคลังจัดเก็บที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ภายในมีฟิล์มที่อยู่ในการอนุรักษ์มากกว่า 2 แสนม้วน รวมถึงเอกสารสิ่งเกี่ยวเนื่องทางภาพยนตร์อีกกว่า 1 ล้านฉบับ ไล่เรียงตั้งแต่ภาพยนตร์ยุคแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงผลงานชิ้นเอกของกลุ่มคนทำหนังบราซิลยุคใหม่ (Cinema Novo)


นอกจากนี้ หอภาพยนตร์บราซิลยังเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในแวดวงนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการบูรณะภาพยนตร์ที่สำคัญ ซึ่งผลิตบุคลากรด้านงานอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องออกมาอีกจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดฉายภาพยนตร์ที่มีโปรแกรมหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 


ที่มา: Carol Vergotti / Cinemateca Brasileira


ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ประเทศบราซิลประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนรวมกันกว่า 2 ล้านคน และเสียชีวิตอีกกว่า 8 หมื่นคน (ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเพิ่มอีกถึง 15 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 450,000 คน) ทำให้รัฐบาลของฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ต้องจัดสรรงบประมาณการบริหารประเทศใหม่ เพื่อใช้สำหรับการกอบกู้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ หอภาพยนตร์บราซิล ซึ่งได้รับแจ้งว่า จะไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการบริหารภายในองค์กรประจำปี จึงเป็นผลให้ต้องตัดสินใจลดงบประมาณรายจ่ายสำหรับการดูแลทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญสำหรับงานอนุรักษ์ภาพยนตร์หลายประการ ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิและความปลอดภัยในห้องจัดเก็บ ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ แต่ที่ดูจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงในเวลาถัดมา คือปัญหาการค้างค่าจ้างเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลารวมกันกว่า 4 เดือน จนส่งผลให้เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์กว่า 150 คน ประท้วงยุติการทำงานโดยทันที


 


ที่มา: www.facebook.com/CinematecaAcesa


ก่อนหน้าที่จะประสบกับปัญหาด้านงบประมาณ กิจกรรมและพันธกิจของหอภาพยนตร์บราซิลดำเนินไปได้ด้วยดี ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอดีตผู้นำฝ่ายซ้าย ลูลา ดา ซิลวา กระทั่งปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดต่อมาของดิลมา รูสเซฟฟ์ โดยในช่วงเวลานั้นหอภาพยนตร์บราซิลต้องรับทุนสนับสนุนหลักจาก Associação de Comunicação Educativa Roquette Pinto (ACERP) มูลนิธิเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเข้ามาบริหารองค์กรตั้งแต่ ค.ศ. 2018 


ปัญหาที่ค้างคาเรื่องงบประมาณของหอภาพยนตร์บราซิลเริ่มสั่งสมเพิ่มพูนขึ้น จนปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2019 ของ ฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพ ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและปราศจากความสนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งมองว่างานวัฒนธรรมจำพวกนี้เต็มไปด้วยแนวคิดและพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ของศิลปินฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของโบลโซนารูจึงตัดสินใจประกาศให้มูลนิธิ ACERP ยุติสัญญากับหอภาพยนตร์บราซิลทั้งหมด และขอให้หอภาพยนตร์หยุดพักทำการชั่วคราว เพื่อจะได้เข้ามาจัดการดูแลด้วยตัวเองในเวลาต่อไป


เพื่อยังคงสถานะความเป็นอยู่ขององค์กร ภายใต้วิกฤตที่แสนยากลำบาก ทั้งจากการเผชิญปัญหาโรคระบาดและไร้ซึ่งการเหลียวแลจากภาครัฐ หอภาพยนตร์บราซิลจำต้องลดรายจ่ายและจำนวนบุคลากรลง พร้อมกับจัดตั้งกองทุนรับบริจาคค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อความอยู่รอด บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจที่อยู่นอกเหนือภาระงานของตนเอง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันบำรุงรักษาคลังอนุรักษ์ ท่ามกลางเหตุการณ์ภายนอกที่ยังคงมีการเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ผู้สร้างและกลุ่มแฟน ๆ ผู้รักภาพยนตร์ นักศึกษา สมาชิกสภา และชาวเมืองเซา เปาโล ผู้อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบสถานที่แห่งนี้

 


ที่มา: www.facebook.com/CinematecaAcesa


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์บราซิลยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่หน้าสิ่วหน้าขวาน แม้รัฐบาลจะประกาศในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ว่า Sociedade Amigos da Cinemateca (Cinemateca Friends Association) จะเข้ามาจัดการดูแลหอภาพยนตร์ต่อ แต่นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ที่รัฐบาลประกาศปลดเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์กว่าร้อยคน ตัวอาคารคลังอนุรักษ์ยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้ไร้การตรวจสอบดูแลจากเจ้าหน้าที่มีความชำนาญเฉพาะทาง และปัญหาทุกอย่างยังคงคาราคาซังจวบจนถึงตอนนี้


“ผ่านมาแล้วกว่า 8 เดือนที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและอัคคีภัย รวมถึงนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ผู้สามารถดูแลรักษาสิ่งของภายใน ทุกวันนี้เราต้องกลายมาเป็นประจักษ์พยานต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเอกสารภาพยนตร์หายาก ภาพยนตร์ข่าว และภาพยนตร์เรื่องสำคัญของประเทศจำนวนมาก พวกเรากลัวเหลือเกินว่า สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาพยนตร์ของประเทศบราซิลจะสูญสลายลงในอีกไม่ช้า”


ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์บราซิล ในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2021 

(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ www.instagram.com/p/CNqTdbvnhz7)


 

ที่มา: www.instagram.com/soscinematecabrasileira


วิกฤตการณ์ด้านงบประมาณที่เกิดขึ้นกับหอภาพยนตร์บราซิลในครั้งนี้ นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของวงการนักอนุรักษ์ทั่วโลก ถัดจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบราซิล ในปี ค.ศ. 2018 รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาถึงการที่ภาครัฐเพิกเฉยและไม่เห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับหน่วยงานอนุรักษ์เหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญหลงเหลือให้คนรุ่นหลังในอนาคตได้สัมผัสอีกต่อไป


---------------------------------------------------


ข้อมูลประกอบการเขียน:

- www.bfi.org.uk/sight-and-sound/features/brazils-film-archive-facing-wipeout

- www.frieze.com/article/fires-consume-brazilian-cultural-heritage-could-cinemateca-brasileira-be-next

- www.instagram.com/soscinematecabrasileira

- www.facebook.com/CinematecaAcesa

- https://filmquarterly.org/2020/12/10/the-new-aesthetics-of-discovery-and-emergency-in-the-new-brazilian-cinema/?fbclid=IwAR257WhmsH3bNBGL0XgqWgBCb3usEA6Fis5CtPWzZ7RaMNQETBJ01vCoiv4

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด