“สงครามชีวิต” บทภาพยนตร์ที่ไม่ได้สร้างของ เชิด ทรงศรี

เรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่าง เชิด ทรงศรี กับ “สงครามชีวิต” นวนิยายอมตะของศรีบูรพา ที่เขารักและบูชาไม่ต่างจาก “ข้างหลังภาพ” แต่ไม่มีโอกาสได้สร้างเป็นภาพยนตร์ เหลือไว้แต่เพียงบทภาพยนตร์ที่เขาเขียนทิ้งไว้ และมอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์

---------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่โดดเด่นและเป็นที่รักมากที่สุดคนหนึ่ง ได้จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยมีผลงานเรื่องสุดท้ายคือ ข้างหลังภาพ ภาพยนตร์ปี 2544 ที่เขาสร้างจากนวนิยายของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุภาพบุรุษนักประพันธ์คนสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย 


แม้ “ข้างหลังภาพ” จะเป็นผลงานที่เชิดเคยกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่อยู่ในฝันผมมาตั้งแต่เด็ก” และเคยเกือบจะสร้างถัดจาก  แผลเก่า  ภาพยนตร์ที่สร้างความสำเร็จอย่างมากให้แก่เขาในปี 2520 ก่อนจะต้องรออีกถึงยี่สิบกว่าปีต่อมาจึงจะบรรลุ  ในความเป็นจริง เชิดยังคงมีความปรารถนาจะนำนวนิยายของศรีบูรพาอีกเรื่องมาทำให้เกิดมีชีวิตบนจอเงินเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายฝันนี้กลับค้างไว้เพียงแค่บทภาพยนตร์ที่เขาเขียนขึ้นก่อนจะล่วงลับ  




นวนิยายเรื่องนั้นคือ “สงครามชีวิต” งานเขียนชิ้นสำคัญของศรีบูรพาที่ได้รับการยกย่องมายาวนาน โดยเฉพาะในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคม ท่ามกลางโครงเรื่องที่ว่าด้วยความรักอันอาภัพระหว่างหนุ่มสาวคู่หนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน


“สงครามชีวิต” เล่าเรื่องระหว่าง ระพินทร์ ยุทธศิลป์ ชายหนุ่มผู้ยากไร้และใฝ่ฝันจะเป็นนักประพันธ์ กับ เพลิน โรหิตบวร หญิงสาวผู้เคยมีชีวิตที่เพียบพร้อมแต่ชะตากลับพลิกผันให้ต้องจมอยู่กับความขมขื่น ศรีบูรพาบรรยายเรื่องราวชีวิตของทั้งคู่ ความรู้สึกอันลึกซึ้ง ความเห็นอกเห็นใจกันในยามยาก ความฝันและอุดมคติในชีวิตที่ปรารถนา รวมถึงสภาพสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ให้ผู้อ่านได้รับรู้ผ่านจดหมายโต้ตอบหลายฉบับที่พวกเขาส่งถึงกันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง 




ศรีบูรพาได้แรงบันดาลใจทั้งโครงเรื่องและรูปแบบการประพันธ์นี้มาจากนวนิยายเรื่อง “Poor People” ของฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย โดยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนใน “สงครามชีวิต” ด้วยการกำหนดให้เป็นหนังสือที่ระพินทร์ชื่นชมและหวังจะนำเรื่องของเขากับเพลินมาเขียนได้แบบนั้นบ้าง รวมทั้งไปศึกษาเรื่องราวของดอสโตเยฟสกีจนยกให้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตนักประพันธ์ 


 “โอ, แม่ยอดมิตร ฉันขอสารภาพแก่เธอว่าฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ มาทำให้ฉันคลุ้มคลั่งเป็นอันมาก ฉันเกรงว่าปีศาจของนักประพันธ์เอกผู้นี้จะเข้ามาสิงอยู่ในตัวฉัน เข้ามาปลุกสั่นหัวใจฉันให้เกิดความตื่นเต้นทะเยอทะยาน ระพินทร์มีความอยากอย่างแรงกล้าที่จะเป็นอย่างฟิโอดอร์บ้าง ฉันอยากแต่งหนังสือให้ได้รับความสำเร็จอย่างเขา” 


เช่นเดียวกับที่ระพินทร์คลั่งไคล้ในตัวดอสโตเยฟสกีและนวนิยาย “Poor People” เชิด ทรงศรี ซึ่งเคยเป็นนักประพันธ์มาก่อนจะมาสร้างภาพยนตร์ ก็ยึดเอาศรีบูรพาและ “สงครามชีวิต” เป็นแรงบันดาลใจไม่ต่างกัน โดยได้เขียนถึงจุดเริ่มต้นนี้ในหนังสือ “นั่งคุยกับความรัก” ปี 2547 ว่า ทันทีที่เบิกค่าเรื่องได้เป็นครั้งแรก เขารีบนำเงินไปซื้อหนังสือ “สุดบูชา” 4 เล่ม คือ “สงครามชีวิต” และ “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา กับ “ปักกิ่งนครแห่งความหลัง” และ “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ของ สด กูรมะโรหิต 


ภาพ: หนังสือ “สุดบูชา” ทั้ง 4 เล่ม ของ เชิด ทรงศรี 



“ผมอ่านหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ยังกะอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ อ่านไปคิดไป ชอบประโยคไหนขีดเส้นแดงไว้ข้างใต้ประโยคนั้น จนเดี๋ยวนี้ “คัมภีร์” ทั้ง 4 ยังอยู่ครบ” 


ต่อมา ในบทความชื่อ “สงครามชีวิต-ข้างหลังภาพ ข้อเขียนต่าง “หญ้าแพรกกับดอกมะเขือ” บูชาครู ศรีบูรพา” เชิดได้เล่าว่า  “ระพินทร์ ยุทธศิลป ใน สงครามชีวิต เป็นพระเอกที่ เชิด ทรงศรี เจริญรอยตาม ก็เมื่อ “ศรีบูรพา” เป็นดั่งพรหมผู้ลิขิตชีวิตระพินทร์ให้ผมคลั่งไคล้ใหลหลง ท่านจึงเป็นเช่นเทพเจ้าที่ผมเฝ้าบูชาตลอดวัยเวลาที่อยากเป็นนักประพันธ์” โดยเนื้อหาหลักของบทความคือการเล่าเบื้องหลังเมื่อครั้งที่ไปเตรียมงานสร้าง ข้างหลังภาพ ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เขาได้จบข้อเขียนด้วยการทิ้งท้ายไว้ว่า 


“งานสร้างภาพยนตร์ ข้างหลังภาพ ผ่านไปแล้ว ผมเขียนบทสงครามชีวิต ต่อทันที และเสร็จแล้วด้วย แต่จะลงมือสร้างได้เมื่อไหร่...คำตอบไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียวครับ” 


บทความนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือรำลึก 100 ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. 2548 นั่นแสดงว่า หนึ่งปีก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เชิดยังคงคิดคำนึงถึงการสร้างภาพยนตร์จากบทประพันธ์เรื่องนี้ที่เขารักและบูชา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากบทภาพยนตร์ สงครามชีวิตที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาจาก เชิด ทรงศรี เช่นเดียวกับสิ่งละอันพันละน้อยของเขาจำนวนมาก พบว่าจริง ๆ แล้ว เขาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2541 ก่อนการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่อง ข้างหลังภาพ 


ในปีนั้น เป็นปีที่ประเทศไทยกำลังประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ หลังเพิ่งผ่านมรสุมจากวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเชิดได้กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการนำเสนอในภาพยนตร์ สงครามชีวิต เชื่อมโยงกับบริบทดังกล่าวว่า 



ภาพ: บทภาพยนตร์เรื่อง สงครามชีวิต ของ เชิด ทรงศรี ที่เขาเขียนในนามปากกา “ธม ธาตรี”



“1. ให้คนทั้งหลาย มีความเห็นอกเห็นใจกัน แม้ จะต่างกันโดยฐานะและภาวะก็ตามที เพราะความเห็นอกเห็นใจนั้น จะนำความสุข ความราบรื่น ร่มเย็นมาสู่ชีวิตคนเรา

2. แสดงอำนาจของความรัก ความผิดหวัง ความขมขื่น ความเศร้า และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เป็นภาวะของมนุษย์และของโลก จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ถ้าใครประสบเหตุการณ์เช่นนี้ ควรจะรู้ว่า เป็นธรรมดาโลก เราควรประจัญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ (และเก็บเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่างเป็นประสบการณ์ ดังเช่น รพินทร์ ยุทธศิลป์ ได้ใช้ประสบการณ์ที่พบ-รัก-ร้างจากเพลิน โรหิตบวร เป็นความสำเร็จของการเขียนนวนิยาย)

3. พ.ศ. 2474-2475 ซึ่งกำหนดให้เป็นเวลาดำเนินเรื่อง “สงครามชีวิต” ประเทศไทย (สยาม) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาก แบบเดียวกับ พ.ศ.2540-2541

อดีตคน พ.ศ. 2474-2475 ผจญชีวิตวิบากอันเนื่องแต่วิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร เขาต่อสู้ “สงครามชีวิต” กันแบบไหน?

ปัจจุบัน คน พ.ศ. 2540-2541 น่าจะได้ข้อคิด เพื่อการทำ “สงครามชีวิต” ของตนไม่น้อย

หมายเหตุ ข้อ 1-2 เก็บความจากข้อเขียนของ “ศรีบูรพา” ในคำนำ “สงครามชีวิต” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก”


เชิด ทรงศรี เปิดฉาก สงครามชีวิต ฉบับภาพยนตร์ของเขา ในช่วงปลายปี 2474 ยุคสมัยที่วันที่ 1 เมษายนยังคงเป็นวันขึ้นปีใหม่ ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จแต่ยังไม่เปิดเป็นทางการ โดยเสียงและภาพของตัวละครแรกที่เข้ามาคือ ขอทานขาพิการซอมซ่อซึ่งกำลังเดินร้อง “ลำตัดหมอต๋อง” อย่างสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เป็นฉากหลังให้แก่เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นต่อมา เมื่อเพลินกำลังจะกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย และระพินทร์เข้ามาห้ามเอาไว้ ทำให้ทั้งคู่จดจำได้ว่าเคยพบกันมาก่อน ก่อนจะตัดภาพเข้าสู่ไตเติล 


ฉากแรกของภาพยนตร์นี้บ่งบอกให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของ เชิด ทรงศรี อย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือการที่เขามักจะสอดแทรกมหรสพพื้นบ้านของไทย อันเป็นสิ่งที่เขารักและสนใจไว้ในภาพยนตร์อยู่เสมอ ซึ่งในเรื่องนี้คือลำตัด ในขณะเดียวกัน เมื่อต้องสร้างภาพยนตร์จากนวนิยาย เขาก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงชีวิตและผลงานอื่น ๆ ของเจ้าของบทประพันธ์นั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งตามประวัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในยุคแรกของการเป็นนักประพันธ์ เขาเคยเขียนงานไว้หลายประเภท หนึ่งในนั้นกลอนลำตัด ซึ่งใช้นามปากกาว่า “หมอต๋อง” เพลง “ลำตัดหมอต๋อง” ที่วณิพกร้องขึ้นมาบนสะพาน จึงเป็นเสมือนการเปิดเรื่องด้วยบทไหว้ครูในแบบฉบับของ เชิด ทรงศรี ไปในตัว


นอกจากเนื้อหาที่เขาดัดแปลงจากจดหมายของระพินทร์กับเพลินในนวนิยาย เพื่อมาดำเนินเรื่องในแบบภาพยนตร์ เชิดยังได้พยายามสอดแทรกบริบทต่าง ๆ ของยุคสมัย 2475 ให้ผู้ชมได้เห็นเปรียบเทียบเพิ่มเติมจากในนวนิยาย ทั้งสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น เสาชิงช้า ตึกห้างแบดแมนแอนด์โก สวนสัตว์เขาดิน วังพญาไท ฯลฯ รวมถึงสถานที่ราชการ ตลอดจนการแต่งกาย ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมบันเทิงต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาพยนตร์ 


อย่างที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยทราบกันดีว่า ปี 2475 ไม่เพียงแต่จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หากแต่ยังเป็นปีที่วงการหนังไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปครั้งใหญ่ เมื่อพี่น้องตระกูลวสุวัต ซึ่งเป็นผู้สร้างหนังเงียบไทยเรื่องแรกเมื่อปี 2470 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง ด้วยการสามารถผลิตภาพยนตร์เสียงแบบดำเนินเรื่องของไทยได้สำเร็จเป็นคณะแรก ชื่อเรื่องว่า หลงทาง ออกฉายฉลองปีใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร 


ภาพ: กองถ่ายภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ของพี่น้องวสุวัต 

เชิด ทรงศรี ได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ในบท ด้วยการกำหนดให้ระพินทร์กับเพลินซื้อตั๋วคนละ 50 สตางค์ เข้าไปชม โดยให้เห็นทั้งหน้าโรงภาพยนตร์พัฒนากรและภายในที่กำลังฉายฉากรักที่มีเพลงประกอบ ( หลงทาง มีเพลงประกอบ 6 เพลง เชิดได้ระบุว่าใช้เพลง “บัวบังใบ” หรือ “ขึ้นพลับพลา” ก็ได้) และใช้เสียงเพลงนี้สื่อความรู้สึกของระพินทร์กับเพลิน รวมทั้งคลอต่อเนื่องไปยังฉากต่อ ๆ มาที่แสดงภาพระหว่างที่ทั้งสองคนท่องเที่ยวกันในพระนคร แม้ฉากดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ต่อมา ใน ข้างหลังภาพ เชิดก็ได้เนรมิตภาพยนตร์เก่าเอาไว้ตามยุคสมัยของเรื่องได้สำเร็จ นั่นคือฉากการชมภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ที่เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ พ.ศ. 2485 


ในฉบับนวนิยาย ศรีบูรพาก็ได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เสียงของไทยในช่วงเวลานั้นไว้ด้วยเช่นกัน และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง เมื่อเพลินได้ไปสมัครเป็นนางเอกภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์ไทยขวัญเมือง ซึ่งกำลังจะสร้าง “ภาพยนตร์เสียงพูดได้” เป็นงานชิ้นแรกของบริษัท โดยไม่ได้เล่าเนื้อเรื่องอย่างละเอียดนัก เพียงแต่ระบุว่าต้องการนางเอกที่สามารถแสดงบทบาทของความรักและมีฉากที่ต้องเดินทางไปถ่ายทำที่จังหวัดสงขลา


เมื่อมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เชิดได้เปลี่ยนชื่อบริษัทนี้เป็น “สยามราษฎร์ภาพยนตร์บริษัท” ซึ่ง “สยามราษฎร์” นั้นเป็นชื่อของหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ศรีบูรพาเคยทำงาน  และได้กำหนดให้ภาพยนตร์ที่บริษัทนี้สร้างนั้นชื่อเรื่องว่า เทพธิดาป่าไม้  เล่าเรื่องความรักระหว่างหญิงสาวที่จบจากต่างประเทศกับหนุ่มชาวเขาเผ่าลีซอ  โดยเชิดได้ขยายส่วนนี้ให้ผู้ชมได้เห็นถึงบรรยากาศการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น และใช้เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ภายในใจของเพลินที่ซ้อนทับกับการมาคัดเลือกและได้แสดงเป็นนางเอกภาพยนตร์ 


นวนิยาย “สงครามชีวิต” ไม่เพียงแต่จะเป็นแรงบันดาลใจของ เชิด ทรงศรี หากแต่ยังมีอิทธิพลต่อนักคิดนักเขียนรวมทั้งศิลปินไทยอีกหลายคน เช่น สุวัฒน์ วรดิลก ที่ชื่นชอบบทประพันธ์เรื่องนี้อย่างมาก ในนวนิยายเรื่องแรกของเขา ชื่อ “นางไพร” สุวัฒน์ได้กำหนดให้พระเอกของเรื่องโปรดปรานหนังสือเล่มนี้จนต้องนำติดตัวไปทุกแห่งหน นอกจากนี้ สุวัฒน์ ยังเคยเล่าว่า เขาเคยท่องข้อความอันกินใจตอนสุดท้ายของเรื่องที่ว่า “ถ้าฉันเป็นนก ฉันคงจะบินติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าเมื่อบินไปในระหว่างทาง ตัวฉันจะต้องลูกธนู ฉันก็จะอุตส่าห์พยุงกายบินไปตกตรงหน้าตักเธอ และเมื่อยอดรักได้เช็ดเลือดและน้ำตาให้ฉันสักครั้งหนึ่ง ฉันก็จะหลับตาตายด้วยความเป็นสุข” ให้เพื่อนรักคือ ชาลี อินทรวิจิตร ฟัง ซึ่งชาลีได้ประทับใจจนนำไปแต่งเป็นเพลงชื่อ “อาลัยรัก” อันโด่งดัง


ข้อความดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในข้อความที่เชิดขีดเส้นแดงไว้ในหนังสือด้วยความประทับใจเช่นกัน และเขาก็ได้นำเพลง “อาลัยรัก” ของ ชาลี อินทรวิจิตร นี้มาใส่ไว้เป็นเพลงจบของภาพยนตร์ 



ภาพ: หนึ่งในข้อความที่เชิดขีดเส้นไว้ในหนังสือ “สงครามชีวิต” ซึ่งต่อมาเป็นข้อความที่ ชาลี อินทรวิจิตร นำไปแต่งเพลง “อาลัยรัก” 



ในบทภาพยนตร์เรื่อง สงครามชีวิต เชิดได้ระบุว่าเขาได้เขียนบทครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม – 16 มิถุนายน 2541 และครั้งที่เมื่อวันที่ 22 – 26 มิถุนายน 2541  นอกจากบทภาพยนตร์ ยังมีจดหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เชิดมอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์  เป็นจดหมายที่เขียนขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2541 ฉบับหนึ่งมาจากผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คนหนึ่ง ซึ่งเชิดส่งบทภาพยนตร์มาให้อ่านเพื่อขอคำปรึกษาเป็นคนแรกว่าสมควรทำหรือไม่ โดยผู้สร้างท่านนั้นได้แสดงความเห็นด้วยความหนักใจและจริงใจว่า “ไม่น่าทำ” พร้อมแจกแจงเหตุผลที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างละเอียด ประเด็นหลัก ๆ ก็คือ คอนเซ็ปต์และเนื้อหาของเรื่อง “เรียบเกินไป” รวมทั้งการที่เป็นหนังพีเรียดทำให้ต้องลงทุนมหาศาล ในขณะที่ความนิยมของหนังแนวนี้กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว ทำให้เขาคิดว่า ถ้าเชิดสร้างอาจจะต้องขาดทุนอย่างหนัก  โดยเชิดได้มีจดหมายตอบกลับไปด้วยความขอบคุณที่ได้อ่านบทภาพยนตร์ของเขาด้วยความตั้งใจ และตอบกลับมาด้วยข้อคิดเห็นที่หวังดีโดยบริสุทธิ์ใจ รวมทั้งประกอบไปด้วยเหตุผลอย่างสมบูรณ์


นอกจากนี้  ในบทความ ชีวิตวิถี: “เชิด ทรงศรี” กับครู “ศรีบูรพา” ของสมปอง ดวงไสว เมื่อ พ.ศ. 2559 ยังระบุว่า ในเดือนกรกฎาคม 2541 เชิดได้ส่งบทภาพยนตร์นี้ไปให้แก่ ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของศรีบูรพา อ่านเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมและให้คำแนะนำ โดยในจดหมายนั้นเชิดได้กล่าวว่า


“หลายปีเหลือเกินแล้วที่ผมจะสร้าง “สงครามชีวิต” เป็นภาพยนตร์ แต่สถานะทางการลงทุนกับการตลาดเป็นอุปสรรคอยู่เรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ผมปักใจว่าต้องสร้างบทภาพยนตร์ให้จบ ส่วนจะได้เป็นภาพยนตร์หรือไม่นั้น ค่อยว่ากันทีหลัง” ซึ่งผลสุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่อง สงครามชีวิต ฉบับ เชิด ทรงศรี ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เหลือไว้เพียงแต่ ข้างหลังภาพ ที่เริ่มร้างในอีก 2 ปีถัดมา กับความฝันที่ได้แต่เก็บไว้ในใจตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 


ในบรรดาประโยคอันซาบซึ้งจากบทประพันธ์เรื่อง “สงครามชีวิต” ที่เชิดกล่าวว่าเขาได้ขีดเส้นแดงเอาไว้ตลอดนั้น ข้อความหนึ่งที่เขาเคยยกตัวอย่างไว้ในหนังสือ “นั่งคุยกับความรัก” ก็คือ  


“เวลาเกิดมา เราไม่ได้เอาอะไรมา เวลาตาย ก็ไม่ได้เอาอะไรไป คนยากจนต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อความเป็นอยู่อันจำเป็น แต่คนมั่งมี ต่อสู้เพื่อการสะสม” 


ในฐานะผู้ที่มี ระพินทร์ ยุทธศิลป์ เป็นแบบอย่างในชีวิตจริง และผู้ที่ปรารถนาจะสร้างให้ระพินทร์มีชีวิตในโลกภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี ก็เกิดโดยที่ไม่มีอะไรมา และตายโดยที่ไม่มีอะไรไปเช่นกัน แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้น เขาได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่ามากมายให้แก่ผู้คน รวมทั้งครั้งหนึ่งยังเคยได้พยายามแสดงภาพและจิตวิญญาณของคนยากจนที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก ผ่านบทภาพยนตร์ที่เขารักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ฝากเป็นมรดกไว้ให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ 



ภาพ: ห้องนิทรรศการ เชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์กำลังนำของที่เชิดมอบให้มาจัดแสดง และเตรียมเปิดให้เข้าชมในอนาคต 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด