โรงแรมนรก : รำลึก ทบทวน ดูใหม่ หนังไทยที่ “มาก่อนกาล”

สรุปสาระสำคัญจากการจัดกิจกรรมสนทนาผ่านทาง Clubhouse “โรงแรมนรก 64 ปี ดูใหม่อีกที ยังมีอะไรให้ค้นพบ” เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย รัตน์ เปสตันยี 

------------------



โดย เมธากุล ชาบัญ


เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เนื่องในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 113 ของผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยสู่สากล รัตน์ เปสตันยี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดห้อง Clubhouse เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การชม “โรงแรมนรก (2500)” ผลงานของ รัตน์ เปสตันยี ที่ใครต่อใครก็บอกว่า “มาก่อนกาล” และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อปี 2554 เปิดวงสนทนาโดย ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์, ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร, ออกัส เปสตันยี หลานของรัตน์ เปสตันยี และทีมงานหอภาพยนตร์ นำโดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, ก้อง ฤทธิ์ดี และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


โรงแรมนรก เล่าเรื่องเหตุการณ์หนึ่งวันหนึ่งคืนในโรงแรมในชนบทชื่อ “โรงแรมสวรรค์” เมื่อชายหนุ่มชื่อ ชนะ (ชนะ ศรีอุบล) เช็คอินเข้าพักและพบว่าโรงแรมแห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ที่มีบุคลิกทั้งตลกขบขัน เอะอะมะเทิ่ง ยียวนกวนโมโห จนกระทั่งหญิงสาวคนหนึ่งเดินทางมาถึงและแนะนำตัวเองว่าชื่อ เรียม (ศรินทิพย์ ศิริวรรณ) นำพามาสู่เรื่องราวลึกลับ ตึงเครียด และคาดเดาไม่ได้


ผลงานชิ้นเอกของ รัตน์ เปสตันยี ที่ได้ชื่อว่าล้ำสมัย กล้าหาญในการเล่าเรื่อง แตกต่างจากหนังไทยยุคเดียวกันทั้งในเชิงศิลปะ ทัศนคติ การถ่ายทำ และเทคนิคการเล่าเรื่อง อย่างการสร้างสถานการณ์คับขันในพื้นที่เดียวตลอดเรื่อง ซึ่งไม่พบเห็นบ่อยนักในหนังไทย ที่ยังคงความสดใหม่และชวนให้ค้นหาความหมายอยู่จนทุกวันนี้


ประวิทย์ แต่งอักษร เล่าว่าตนรู้จัก โรงแรมนรก ขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา จากคอลัมน์ตอบจดหมายของ อ.กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ในนิตยสารสตาร์พิคส์ ซึ่งมักจะกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความสนใจใคร่รู้เพราะเพียงแค่ชื่อก็ชวนพิศวงแล้ว แต่ในยุคนั้นก็ไม่สามารถจะหามาดูได้ จนกระทั่งในปี 2538 มูลนิธิหนังไทยได้นำมาจัดฉายในกิจกรรม “ทึ่ง! หนังไทย” จึงมีโอกาสได้รับชม ซึ่งทำให้ช่วยเปิดโลกทัศน์ภาพยนตร์ไทยโบราณเป็นอย่างมากว่ามีผลงานที่ล้ำยุคล้ำสมัยเช่นนี้อยู่ และที่น่าทึ่งยิ่งขึ้นอีกคือ ในบริบทปี 2538 ภาพยนตร์ไทยส่วนมากยังใช้การพากย์เสียงทับ แต่ โรงแรมนรก เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเสียงจริงขณะถ่ายทำ ซึ่งสร้างความรู้สึกที่สมจริงสมจังมากกว่า


ประวิทย์ ยังให้ความเห็นว่า การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเรียกว่า “มาก่อนกาล” เป็นเพราะเมื่อแรกฉายคนดูซึ่งถือเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในความสำเร็จของภาพยนตร์อาจตาไม่ถึง หรือมีต้นทุนทางศิลปะไม่พอ จึงเพิกเฉยงานอย่าง โรงแรมนรก แต่เมื่อได้รับการนำมาฉายใหม่ในวันที่คนดูพร้อม มีการรับรู้ในด้านศิลปะมากขึ้น จึงรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทันยุคทันสมัย และเมื่อมองในบริบทของภาพยนตร์ในยุคเดียวกัน โรงแรมนรก เน้นการสื่อสารด้วยภาษาภาพเป็นอย่างมาก เช่น ฉากปรากฏตัวของผู้ร้ายที่มีการเล่นกับแสงเงา ต่างจากเรื่องอื่น ๆ ที่จะเน้นไปที่การแสดงของนักแสดง โดยใช้เทคนิคการตัดต่ออย่างธรรมดา จึงเป็นเหตุให้ได้รับการกล่าวขานว่า “มาก่อนกาล”




“คือในช่วงเวลาของมันคนดูอาจจะตาไม่ถึง อาจจะมองไม่เห็น ซึ่งคนดูก็คือคนที่ชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จของหนังเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ก็เลยทำให้กรณี โรงแรมนรก เท่าที่ทราบมักไม่ถูกพูดถึงในแง่ความสำเร็จทางรายได้เท่าไหร่ แต่พอมันมาถูกฉายในวันที่คนดูพร้อม มีการรับรู้ทางด้านศิลปะมากขึ้น เลยทำให้เห็นความความแปลกใหม่ในงานของคุณรัตน์ ทำให้รู้สึกว่า ทำไมหนังเมื่อ 30 ปีที่แล้วมันทันยุคทันสมัยขนาดนี้” ประวิทย์ กล่าว


เช่นเดียวกับประวิทย์ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ได้รับชม โรงแรมนรก จากการฉายในกิจกรรม “ทึ่ง! หนังไทย” ขณะที่เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิหนังไทย สิ่งหนึ่งที่ ชลิดา ได้จากดูในคราวนั้นคือทำให้เห็นว่า รัตน์ สามารถสร้างภาพยนตร์ที่ฉีกแนวทางจากหนังตลาดได้ นอกจากนี้ยังประทับใจกับ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ที่มักจะมีภาพจำว่าคือหม่อมแม่ร้าย ๆ จากภาพยนตร์เรื่อง บ้านทรายทอง (2523) แต่ใน โรงแรมนรก ทำให้เห็นว่าเธอก็มีความสามารถทางการแสดงเช่นกัน กอปรกับการที่ได้ยินเสียงจริง ๆ ไม่ใช่เสียงพากย์ก็ทำให้เกิดความสมจริงสมจังมากขึ้น




ด้าน ก้อง ฤทธิ์ดี ได้รับชม โรงแรมนรก ครั้งแรกจากม้วนวิดีโอของมูลนิธิหนังไทย ที่ออกจำหน่ายหลังจากกิจกรรม “ทึ่ง! หนังไทย” และมีโอกาสได้รับชมอีกครั้งเมื่อหอภาพยนตร์นำมาฉายในโอกาสต่าง ๆ และครั้งล่าสุดที่ได้เผยแพร่ผ่านทางยูทูบ ซึ่งเมื่อครั้งที่ดูรอบแรก ๆ ก็จะไม่เข้าใจว่าภาพยนตร์ต้องการจะสื่ออะไร เพราะกว่าที่จะรู้ว่าหนังต้องการจะเล่าอะไรก็ผ่านเวลาไปแล้วร่วมชั่วโมง แต่จากการได้ดูหลาย ๆ ครั้งในวันที่มีความเข้าใจในภาพยนตร์มากขึ้นก็ทำให้พบว่า โรงแรมนรก มีความโดดเด่นในแง่ของรูปแบบการนำเสนอ ที่ไม่ได้ดำเนินเรื่องแบบ Classical cinema ซึ่งโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบนี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่สมัยใหม่มาก จึงได้ชื่อว่า “มาก่อนกาล”


“แต่ก่อนที่เราดูแรก ๆ เราก็นึกไม่ออกว่านี่คืออะไร แต่พอมาดูครั้งหลัง ๆ พอเราเริ่มมีความเข้าใจในหนังมากขึ้น โตขึ้น เห็นหนังมากขึ้น เราก็เริ่มมองออกว่า โรงแรมนรก ที่มันมาก่อนกาลเป็นเพราะว่าอะไร” ก้อง กล่าว


ก้อง เล่าต่อไปว่า ในอดีตหรือแม้กระทั่งในสมัยนี้ ผู้ที่จะเริ่มดูหรือมีความจริงจังกับการศึกษาภาพยนตร์ ก็มักจะต้องตั้งต้นจากภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่มักจะเป็นหนังฝรั่ง ซึ่งก็ช่วยก่อร่างสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกจากงานเหล่านี้ แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่ภาพยนตร์ไทย กลับไม่มีให้ศึกษาหรือทำความเข้าใจยึดโยงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก แต่การได้ดู โรงแรมนรก ก็ทำให้พบว่า ไม่ว่าตัวคุณรัตน์จะเป็นพลังวิเศษของวงการภาพยนตร์ไทย หรือเป็นผลผลิตของกระแสการพัฒนาภาพยนตร์โลกเพราะเป็นบุคคลที่เคยเรียนที่ต่างประเทศ แต่ก็ทำให้เห็นว่าภาพยนตร์ไทยไม่ได้แปลกแยกจากสายธารการเติบโตของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก และสมควรได้รับการวิเคราะห์และค้นหาความหมายตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน


สำหรับ ศาสวัต บุญศรี เคยรับชม โรงแรมนรก เป็นส่วน ๆ จากการฉายประกอบการเสวนาในโอกาสต่าง ๆ ของหอภาพยนตร์ แต่ได้มีโอกาสชมแบบเต็มเรื่องจริง ๆ จากการฉายผ่านทางยูทูบ โดยความรู้สึกแรกที่ได้ชมคือรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความไม่ธรรมดา และล้ำสมัยอย่างที่หลาย ๆ คนได้กล่าวไป ศาสวัต เสริมว่าในแง่มุมหนึ่ง โรงแรมนรก มีการอ้างอิงถึงสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมประชานิยม (Popular culture) ปรากฏอยู่ในตัวภาพยนตร์ เช่น ตัวละครคู่รักจากภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย การล้อเลียนภาพยนตร์เรื่อง สุภาพบุรษเสือไทย ตลอดจนการกล่าวถึง เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยคนแรกหลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย




“ในชั่วโมงแรกของหนังผมสนุกกับหนังมาก ๆ เลย แน่นอน ผมก็คิดคล้าย ๆ กับพี่ก้องว่าถ้าเราดูหนังเรื่องนี้ในวันที่เราอาจจะยังมีประสบการณ์ในการดูหนังที่ไม่มากนัก เราอาจจะรู้สึกว่าทำไมหนังมันดูสะเปะสะปะไปเรื่อย หรือเรื่องของมันคืออะไรกันแน่” ศาสวัต กล่าว


ด้าน ออกัส เปสตันยี ผู้เป็นหลานปู่ของ รัตน์ เปสตันยี เล่าถึงประสบการณ์ในการชม โรงแรมนรก ว่าเริ่มต้นจากการดูในฐานะการเป็นหลาน แต่เมื่อโตขึ้นได้ย้อนกลับมาดูหนังหลายเรื่องของรัตน์ทั้ง สันติ-วีณา และ แพรดำ ในบทบาทของคนชอบดูหนังมากกว่าบทบาทของคนในครอบครัว โดยออกัสตั้งคำถามกับตัวเองว่ารัตน์เป็นผู้กำกับที่มีแนวทางเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน หรือมีความเป็นประพันธกร (Auteur) ในแบบอย่างของผู้กำกับคนอื่นๆ ในโลกหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วออกัสได้คำตอบว่าใช่ และเห็นว่าผลงานเหล่านั้นได้สะท้อนตัวตนของ รัตน์ ออกมาด้วย


นอกจากนี้ ออกัส ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของการสร้างจากคำบอกเล่าของพ่อ (เอเดิล เปสตันยี ลูกชายของ รัตน์) ว่า โรงแรมนรก อาจจะเป็นงานที่รัตน์ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์แนวคาวบอย (American Western) ซึ่งมักจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งสถานประเภทโรงแรม บาร์ และมีตัวละครหลายๆ ตัว  รัตน์อาจจะต้องการทำภาพยนตร์เพื่อท้าทายตัวเองว่าจะสามารถสร้างเรื่องราวให้เกิดภายในหนึ่งสถานที่ได้หรือไม่ จึงเกิดเป็น โรงแรมนรก 


ออกัส ยังได้กล่าวขอบคุณหอภาพยนตร์ที่ได้อนุรักษ์ โรงแรมนรก ตลอดจนผลงานอื่น ๆ ของ รัตน์ เปสตันยี “ผมอยากจะขอขอบคุณทุกคนที่ยังดูแลหนังของคุณปู่ผมมาจนถึงทุกวันนี้แทนครอบครัวผมทุกคน ถ้าไม่มีหอภาพยนตร์ก็ไม่รู้ว่าผมจะมีโอกาสได้ดูหนังของปู่ผมไหม หรือลูกสาวผมจะมีโอกาสได้ดูไหม แต่ผมมั่นใจว่าจะยังมีโอกาสได้ดูต่อไปอย่างแน่นอน ขอบคุณครับ”


<<คลิก>> เพื่อรับชม โรงแรมนรก ที่ช่อง YouTube หอภาพยนตร์  


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด