กระจกสไลด์รูปจอมพล ป. และ รัชกาลที่ 8 หลักฐานจากโรงหนังยุค “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”

กระจกสไลด์ 2 แผ่น ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์ในเมืองไทย ต้องเปิดเพลงสดุดีพิบูลสงครามและฉายรูปจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนเริ่มภาพยนตร์ นอกเหนือไปจากเพลงสรรเสริญพระบารมีและพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ฉายหลังจบภาพยนตร์ และเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมมาแต่โบราณ

----------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


กระจกสไลด์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโรงภาพยนตร์ไทยสมัยก่อน เพราะเป็นสื่อสำคัญในการแจ้งข้อมูลหรือสื่อสารกับผู้ชมในรอบฉายภาพยนตร์แต่ละรอบ ภาพนิ่งบนกระจกสไลด์โรงภาพยนตร์มีหลากหลายประเภท เช่น ภาพโฆษณาสินค้า ภาพโปรโมตภาพยนตร์ ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ  ภาพการหาเสียงของนักการเมือง รวมไปถึงภาพบุคคลสำคัญที่ฉายเพื่อให้ผู้ชมแสดงความเคารพ  ก่อนจะมีการผลิตภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทนอย่างทุกวันนี้


เมื่อกลายเป็นของพ้นสมัย หอภาพยนตร์จึงทยอยได้รับกระจกสไลด์โรงภาพยนตร์ในอดีตมาอนุรักษ์ไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งบางแผ่นนั้นมีความหมายที่พิเศษโดดเด่นออกไป อย่างเช่น กระจกสไลด์พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และภาพจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเป็นตัวอย่างสำคัญของยุคที่โรงหนังในเมืองไทยมีธรรมเนียมการฉายรูปพระบรมฉายาลักษณ์กับเพลงสรรเสริญพระบารมี และการฉายรูปกับเพลงเพื่อสดุดี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนับว่าแตกต่างจากช่วงเวลาทั่ว ๆ ไป  


เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกรอบที่มีการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ทั่วไปของไทย จะต้องมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ควบคู่ไปกับการฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้ชมถวายความเคารพ ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเกิดขึ้นหลังจบภาพยนตร์  อย่างไรก็ตาม ในอดีตนั้น ยังมีผู้ที่คิดจะฉายรูปผู้นำทางการเมืองคนอื่นนอกจากกษัตริย์ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่า มีโรงหนังของคนจีนบางโรงในกรุงเทพฯ  ได้ฉายรูป ดร. ซุน ยัตเซ็น และเปิดเพลงชาติจีน หลังฉายภาพยนตร์ จนถูกตำรวจท้องที่เรียกมาสั่งห้ามฉาย ให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าแผ่นดินไทยและบรรเลงเพลงสรรเสริญเท่านั้น


จนกระทั่งถึงยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งตรงกับรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 8  จึงเกิดธรรมเนียมการเปิดเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” พร้อมฉายรูปจอมพล ป. ให้ประชาชนยืนทำความเคารพก่อนการฉายภาพยนตร์ โดยเพลงดังกล่าว เริ่มต้นมาพร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขียนเค้าโครงเรื่องให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศสร้าง เพื่อปลูกฝังแนวคิดในการสร้างชาติและวัฒนธรรมให้แก่ประชาชน อันสอดคล้องไปกับนโยบายรัฐนิยมในขณะนั้น   


ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบอยู่ 3 เพลง คือเพลง “บ้านไร่นาเรา” “คืนเดือนหงาย” และ “สดุดีพิบูลสงคราม” ทั้งหมดแต่งทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ และมี ขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้แต่งคำร้อง  ในขณะที่สองเพลงแรกนั้นสัมพันธ์กับเรื่องที่ว่าด้วยการกสิกรรมและความรักของกสิกรไทย แต่เพลงสดุดีพิบูลสงครามนี้มีเนื้อหาและบริบทที่แตกต่างออกไป ราวกับเป็นคำขวัญของเรื่อง โดยมีคำร้องว่า 


“ไชโยวีระชนชาติไทย 

ตลอดสมัยที่ไทยมี

ประเทศไทยคงชาตรี 

ด้วยคนดีผยองไชย

ท่านผู้นำพิบูลสงคราม 

ขอเชิดนามเกริกไกร

ขอดำรงคู่ชาติไทย 

นำชาติให้ไพบูลย์เทอญฯ”

 


ภาพ: เนื้อเพลง สดุดีพิบูลสงคราม และจุดประสงค์ของเรื่อง บ้านไร่นาเรา จากสูจิบัตรภาพยนตร์


ขุนวิจิตรมาตราได้เขียนเล่าถึงแนวคิดในการแต่งเพลงนี้ไว้ในหนังสือ “80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า” ว่า ระหว่างการทำหนัง บ้านไร่นาเรา พระเจนดุริยางค์ได้แต่งทำนองเพลงนี้ให้ฟัง เพื่อให้ตนใส่คำร้อง เป็นเพลงที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง แต่งขึ้นสำหรับ “ท่านผู้นำ” โดยเฉพาะ เมื่อคิดคำร้องได้แล้ว ขุนวิจิตรมาตราบอกว่ารู้สึกว่าสั้น แต่พระเจนดุริยางค์กล่าวว่า คำร้องนั้นเหมาะดีแล้ว เพราะเป็นเพลงสดุดีเฉพาะบุคคลพอเป็นเกียรติ ใช้ในพิธีหรือโอกาสที่สำคัญเท่านั้น ผิดกับเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ต้องยาวเพราะต้องการให้คนยืนสงบนิ่งนาน ๆ หรือเพลงชาติเป็นเพลงขนาดกลาง ๆ และให้คนสงบอยู่พอสมควร 


นอกจากขุนวิจิตรมาตรา  สง่า อารัมภีร ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของ บ้านไร่นาเรา ยังได้เล่าถึงเบื้องหลังการแต่งเพลงนี้ที่ต่างออกไป ในบทความ “ผมก็ร่วมแต่งเพลง สดุดี ป.พิบูลสงคราม” ว่า เพลงนี้ นาวาอากาศเอกขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์ทหารอากาศ เป็นผู้มอบให้พระเจนดุริยางค์ แต่งทำนอง และขุนวิจิตรมาตรา แต่งคำร้อง เพื่อถ่ายฉากแรกของเรื่องที่จะปรากฏหลังจากจบไตเติล โดยกำหนดให้คณะนักร้องทหารอากาศ มาร่วมขับร้องเพลงสดุดีพิบูลสงครามนี้ ภายใต้รูปจอมพล ป. พิบูลสงคราม และธงชาติไทย แต่ก่อนจะถ่ายทำ เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งไว้สำเร็จแค่ครึ่งเดียว  ขุนสวัสดิ์ฯ จึงต้องให้ทีมงาน รวมถึงสง่า มาร่วมกันแต่งจนเสร็จสิ้น 


บ้านไร่นาเรา เข้าฉายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2485 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งคงเป็นวันแรกที่เพลงดังกล่าวได้เผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ พร้อมด้วยภาพ “ท่านผู้นำ” ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ตามข้อเขียนของสง่า อารัมภีร  และน่าจะเป็นที่มาให้เกิดธรรมเนียมการเปิดเพลงสดุดีพิบูลสงครามและฉายภาพจอมพล ป.  ก่อนเริ่มฉายภาพยนตร์ ควบคู่กับเพลงสรรเสริญพระบารมีหลังจบภาพยนตร์ในเวลาต่อมา 

 


ภาพ: โน้ตเพลง สดุดีพิบูลสงคราม จากสูจิบัตรภาพยนตร์ บ้านไร่นาเรา


อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นยุคสมัยแห่งการรณรงค์ให้ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” อย่างแข็งขัน แต่ธรรมเนียมการเคารพภาพและเพลงสดุดีผู้นำก่อนชมภาพยนตร์นี้ กลับสร้างความไม่พอใจเกิดขึ้นอย่างมาก โดยในคำบรรยายฟ้องของปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อ รอง ศยามานนท์ เรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีต่อปรีดีในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่รองเขียนขึ้นในปี 2520 นั้น ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น คำให้การของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภาที่ได้ประทานแก่คณะกรรมการอาชญากรสงคราม เมื่อปี 2488 ที่เห็นว่าการ “เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ” ของจอมพล ป. นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำ “เพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง”


นอกจากนี้ ปรีดียังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกลุ่มหนึ่งไม่ยอมลุกขึ้นยืน เมื่อมีการฉายภาพจอมพล ป. พร้อมเพลงสดุดีพิบูลสงคราม ในโรงภาพยนตร์  ทางทหารจึงได้มาแจ้งแก่ปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยให้ลงโทษนักศึกษากลุ่มนั้น แต่ปรีดีกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับธรรมเนียมนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนเห็นว่าจอมพล ป. ทำตนเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ วิธีการเช่นนี้มีแต่โรงภาพยนตร์ในอิตาลีที่ถูกบังคับให้ฉายภาพมุสโสลินีเท่านั้น จึงได้ให้นายทหารผู้นั้นเรียนแก่จอมพล ป.ว่า ขอให้ถอนคำสั่งที่ให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพของท่านเสีย รวมทั้งปรีดียังได้สอบถามนักศึกษาถึงสาเหตุไม่ยืนทำความเคารพ ได้ความว่า เพราะเห็นว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดบังคับ ในขณะเดียวกัน นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้แสดงความเห็นใจที่เพื่อนต่างสถาบันถูกคุกคาม และเห็นพ้องว่าไม่มีกฎหมายใดที่ลงโทษเรื่องดังกล่าวได้ 


ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สงครามโลก ครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว วงการภาพยนตร์ไทยค่อย ๆ ซบเซา ในขณะที่ภาพยนตร์ต่างประเทศก็เริ่มขาดแคลน โรงภาพยนตร์หลายโรงจึงได้เปิดทำการแสดงละครเวทีที่เริ่มเฟื่องฟูขึ้นมา ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปยังข้อเขียนของ สง่า อารัมภีร เขายังได้กล่าวอีกว่า ธรรมเนียมการฉายรูปและเปิดเพลงสดุดีพิบูลสงครามนี้ ได้เข้าไปอยู่ในการแสดงละครเวทีที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงด้วย  โดยก่อให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อมีการประกาศให้ผู้ชมยืนทำความเคารพ แต่กลับมีเสียงตะโกนต่อต้านอยู่เป็นระยะ นานวันเข้าก็ลุกลามไปจนถึงเอามีดมากรีดทำลายเบาะ สุดท้ายจึงต้องมีคำสั่งให้หยุดธรรมเนียมดังกล่าวไป 


กระจกสไลด์รูปจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 8 ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้นี้ ได้รับมอบมาจากทายาทของ เนย วรรณงาม หนึ่งในผู้บุกเบิกโรงหนังในแถบภาคเหนือและภาคอีสาน  รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงหนังและสายหนังเฉลิมวัฒนาที่นครราชสีมา ซึ่งรวมอยู่ในชุดกระจกสไลด์อื่น ๆ ของยุค “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” อีกจำนวนหนึ่ง  เมื่อพิจารณาจากหลักฐานและประวัติศาสตร์จากความทรงจำต่าง ๆ  จึงสันนิษฐานได้ว่า นี่เป็นกระจกสไลด์ที่เคยผ่านการฉายให้ประชาชนยืนทำความเคารพในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2485 จนถึง 2487 อันเป็นปีที่จอมพล ป. ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจบไปของนโยบายและการบังคับปฎิบัติหลายอย่างที่เขากำหนดขึ้น


ที่สำคัญ การมีอยู่ของกระจกสไลด์สองแผ่นจากเจ้าของโรงหนังทางภาคอีสานนี้ เป็นหลักฐานยืนยันว่า ธรรมเนียมการฉายรูปให้ประชาชนทำความเคารพทั้งก่อนและหลังชมภาพยนตร์นั้น น่าจะต้องเกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดด้วย นอกเหนือจากในกรุงเทพมหานคร ตามข้อเขียนของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่ได้กล่าวอ้างมา


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ได้นำกระจกสไลด์ประวัติศาสตร์ทั้งสองแผ่น ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกันและมีรูปลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงเหตุการณ์พิเศษที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์ของไทย และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้ที่ต้องการค้นคว้าทางวิชาการเพื่อชำระข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

 



ข้อมูลประกอบการเขียน

- สัมภาษณ์ โดม สุขวงศ์ 

- สูจิบัตรภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา พ.ศ. 2485 

- หนังสือ “80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า” โดย ขุนวิจิตรมาตรา พ.ศ. 2523

- บทความ “ผมก็ร่วมแต่งเพลง สดุดี ป.พิบูลสงคราม” โดย สง่า อารัมภีร จากนิตยสารต่วยตูน ปักษ์แรก ธันวาคม พ.ศ. 2540

- หนังสือ “บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” โดย ปรีดี พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2563 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด