นโยบายภาพยนตร์เกาหลี: 30 ปี แห่งอุดมการณ์วัฒนธรรม

ถอดบทเรียนจาก Perspectives on Contemporary South Korean Film Industry งานวิชาการที่ฉายภาพการเติบโต ความสำเร็จ และปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา 

---------



โดย ก้อง ฤทธิ์ดี


ในทุกการสนทนาเรื่องนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แทบไม่มีครั้งไหนที่ไม่มีการเปรียบเทียบกับความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานประชุมวิชาการ Perspectives on Contemporary Korea Conference  ที่จัดผ่านระบบออนไลน์โดย Nam Center for Korean Studies, University of Michigan ได้กำหนดหัวข้อหนึ่งในการนำเสนองานวิชาการว่า Perspectives on Contemporary South Korean Film Industry โดยอุทิศเวลาหลายชั่วโมงให้กับกรณีศึกษาต่างๆ จากเกาหลีใต้ ผ่านงานของนักวิชาการด้านภาพยนตร์หลายคน เพื่อเป็นการทบทวน ฉายภาพการเติบโต ความสำเร็จ และปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมักถูกยกเป็นภาพความสำเร็จที่รุ่งโรจน์และน่าตื่นเต้นที่ประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย เฝ้ามองและศึกษาเป็นตัวอย่าง เพื่อพยายามถอดรหัสและดำเนินรอยตาม


หอภาพยนตร์เห็นว่าการนำเสนองานวิเคราะห์ของนักวิชาการเกาหลีบางท่านในงานสัมมนานี้ มีความน่าสนใจ เพราะเป็นการนำเสนอผ่านข้อมูลจริง ตัวเลข และการตกตะกอนทางความคิด จึงขอนำเสนอประเด็นที่สำคัญในบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านชาวไทยในการคิดคำนึงถึงนโยบายส่งเสริมภาพยนตร์ อันเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมายาวนานแต่ยังคงไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร


 


ความตกต่ำและการคืนชีพ 1990-2021


อาจารย์โช จูยอง (Cho Juhyoung) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Korean Film Archive ไล่เรียงให้เห็นการเดินทางของนโยบายและอุดมการณ์ของรัฐบาลเกาหลีในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจน อาจารย์โชเล่าว่า ภาพยนตร์เกาหลีตกต่ำอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ซึ่งควบคุมการแสดงออกของศิลปินอย่างเข้มงวด จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในช่วงปี 1979 เมื่อมีการลุกฮือโดยประชาชนเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร ต่อเนื่องมายังกลางทศวรรษที่ 1980 เมื่อมีการแก้กฎหมายภาพยนตร์ ผ่อนคลายการเซ็นเซอร์ที่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ 


ถึงกระนั้น ภาพยนตร์เกาหลียังคงต้องเผชิญกับการรุกหนักของหนังฮอลลีวูด ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ในปี 1993 หนังเกาหลีมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 15% อีก 85% เป็นหนังนำเข้าจากอเมริกา นี่เป็นส่วนแบ่งที่ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขกันมา ทั้งๆ ที่เกาหลีมีระบบ Screen Quota หรือกฎหมายที่บังคับให้โรงหนังต้องฉายหนังเกาหลีเป็นจำนวนตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้เพื่อปกป้องตลาดจากหนังต่างประเทศ


ทุกอย่างพลิกผันในปี 1993 ประธานาธิบดีคิม ยองซัม เป็นผู้นำคนแรกที่เห็นความสำคัญของ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” หรือ cultural industry เมื่อได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เขากล่าวว่า “ในศตวรรษที่ 21 ศิลปะและวัฒนธรรมจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจผ่านการพัฒนาสื่อทัศน์ที่ทันสมัย การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจต่างๆ จะเข้มข้นด้วย ‘สงครามวัฒนธรรม’  ดังนั้น เกาหลีต้องพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมที่ตอบสนองวิสัยทัศน์นานาชาติ เพิ่มมูลค่าของสินค้า”


จะเห็นได้ว่า วิสัยทัศน์ว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลี รวมทั้งการ “อ่านขาด” ว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นการฟาดฟันกันด้วยอำนาจทางวัฒนธรรม เหล่านี้เกาหลีมองข้ามช็อต เห็นทางสว่างมาก่อนชาติอื่นๆ ในเอเชียถึงเกือบ 30 ปี


ยุคทอง


ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือการที่คนทำหนังและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความคิดก้าวหน้า ไม่ล้าหลังติดยึดกับรูปแบบเดิมๆ  เริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของนโยบายตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดกว้างทางความคิด ทั้งนี้อาจารย์โชเล่าต่อว่า ช่วงปี 1998 ถึง 2008 หรือช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสองคน คิม แดจุง และโร มุนฮู เป็น 10 ปีแห่งการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมบันเทิงอันโชติช่วงและทรงอิทธิพลของเกาหลี เป็นการยึดหัวหาดในแนวรบด้านวัฒนธรรมตามที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าคาดการณ์ไว้ไม่ผิด ประเด็นสำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่


       - ในปี 2001 หนังเกาหลีมีส่วนแบ่งการตลาด 50% เป็นครั้งแรก หมายถึงคนดูในประเทศ ดูหนังเกาหลีครึ่งหนึ่ง และหนังฮอลลีวูดอีกครึ่งหนึ่ง

       - ปี 2004 ส่วนแบ่งของหนังเกาหลีขึ้นไปถึง 59% พอถึงปี 2006 ตัวเลขพุ่งขึ้นไปอีกถึง 63% แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความตื่นตัวของคนดูหนังในประเทศที่จะดูหนังชาติตัวเอง เป็นพลังผลักดันที่มีอำนาจอย่างยิ่งในการพัฒนา

       - การถือกำเนิดของ Content Industry คำๆ นี้หลายประเทศเพิ่งจะตื่นเต้นกัน แต่เกาหลีสร้างนโยบาย content ในฐานะหัวหอกทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ราวปี 2000 หรือ 21 ปีมาแล้ว

       - การกำหนดบทบทบาทของรัฐ อาจารย์โช บรรยายว่า หัวใจสำคัญอีกประการคือการให้บุคลากรภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเชิงนโยบายร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยฝ่ายเอกชนในอุตสาหกรรมเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน ไม่ใช่เป็นการวางแผนชี้นำมาโดยรัฐ 

       - หนังเกาหลีมีเนื้อเรื่องอันหลากหลายมากขึ้น นี่เป็นประเด็นที่ส่งเสริมคุณภาพของอุตสาหกรรมโดยรวมเช่นกัน

       - การพัฒนาของอุตสาหกรรมหนังเกาหลี เกิดขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม IT ของเกาหลี ทั้งสองภาคเกื้อหนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

       - “อุดมการณ์ทางวัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรมสวัสดิการ” แนวคิดสองอย่างนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับนโยบายด้านการค้า หมายถึงการจัดสรรให้เกิดความหลากหลายและการมองว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder (2003) ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง


ปัญหา เพราะเกาหลีก็มีปัญหา


อุตสาหกรรมหนังเกาหลี ไม่ได้ไร้ซึ่งปัญหาและความท้าทายโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในแง่มุมการค้าโลกและมิติทางเศรษฐกิจ ในปี 2006 สหรัฐอเมริกาบีบให้เกาหลีลด Screen Quota หมายถึงบีบให้เกาหลีต้องฉายหนังฮอลลีวูดมากขึ้น และให้ลดวันที่กฎหมายกำหนดว่าโรงหนังต้องฉายหนังเกาหลีให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง (จาก 146 วัน เป็น 73 วัน) เกิดการประท้วงใหญ่โตโดยคนทำหนังเกาหลีที่ต้องการปกป้องหนังในประเทศจากอำนาจทางวัฒนธรรมของอเมริกา แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องยอมแรงกดดันจากฝั่งอเมริกาในที่สุด น่าสนใจที่ว่า ถึงแม้ Screen Quota จะลดลง แต่หนังเกาหลียังคงครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ตลอดมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน (เทียบกับไทย หนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ เพียง 15-20% ทุกปี) 

ช่วงระหว่างปี 2008-2016 รัฐบาลเกาหลีโดยการนำของประธานาธิบดีลี มุนบัค ต่อด้วยประธานาธิบดี พัค กึนเฮ มีนโยบายเอนเอียงเป็นอนุรักษ์นิยม และเกิดการกระทบกระทั่งกับคนในวงการภาพยนตร์หลายกรณี หนักที่สุดของเมื่อรัฐบาลของพัค กึนเฮ ขึ้นบัญชีดำศิลปินและผู้กำกับหนังจำนวนมาก (รวมทั้งบอง จุนโฮ ที่ต่อมากลายเป็นฮีโร่ของวงการหนังเกาหลี) ที่ “หัวดื้อ” และ มีแนวโน้มไม่สนับสนุนรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลยังกดดันเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ซึ่งเป็นงานภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเอเชีย ในการจัดงานและคัดเลือกภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์เอียงขวาของรัฐบาลกลาง แต่ท่ามกลางความระส่ำระสาย คนทำหนังเกาหลียังหนักแน่นในความเป็นมืออาชีพและจิตวิญญาณนักสู้ ยืนหยัดจนกระทั่งประเทศได้ประธานาธิบดีคนใหม่ และนโยบายต่างๆ กลับมาเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม


ต่อเนื่องจากอาจารย์โช อาจารย์จิน ดัลยอง จาก Simon Fraser University ในประเทศแคนาดา บรรยายในงานสัมมนานี้ว่า หนังเกาหลียุคใหม่มีอุปสรรคหลายอย่างที่คนทั่วไปมองไม่เห็น เพราะมัวแต่ไปมุ่งที่ความสำเร็จ ปัญหาดังกล่าว เช่น


       - การลด Screen Quota ในปี 2006 ยังคงส่งผลต่อเนื่อง

       - หนังเกาหลีอาจจะมีจำนวนมาก แต่หนังที่ประสบความสำเร็จและฉุดตัวเลขให้ดูดี มีเพียงไม่กี่เรื่องต่อปี ส่วนที่เหลือขาดทุนระเนระนาด

       - เช่นในปี 2018 มีหนัง 40 เรื่องที่ใช้เงินทุนสร้างมากกว่า 3 ล้านดอลล่าร์ แต่มีเพียง 13 เรื่องเท่านั้นที่ไม่ขาดทุน

       - การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังเป็นปัญหาสำหรับคนทำหนังจำนวนมาก


อุดมการณ์ สวัสดิการ และ Neoliberalism


จากสถิติที่รวบรวมโดยอาจารย์จิน และอาจารย์โช ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้ เกาหลีใต้มีตลาดหนังใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก หากนับตามมูลค่า (เป็นรองเพียง อเมริกา จีน และญี่ปุ่น และยังเหนือกว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส และอินเดีย) และมีค่าเฉลี่ยการเข้าดูหนังในโรงต่อหัวประชากรสูงถึง 4 เรื่องต่อปี

 

อาจารย์โชสรุปว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 1990 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลี แทบทุกชุด ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และ content โดยใช้นโยบายที่อ้างอิงปรัชญาและอุดมการณ์หลายชุดที่ทับซ้อนกัน โดยไม่ได้เน้นชุดความคิดใดความคิดหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม อีกทั้งแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก 


ชุดความคิดต่างๆ อันนำไปสู่การกำหนดโยบายของรัฐ เริ่มต้นจากความจำเป็นที่จะต้องสลัดการกดขี่ของยุคอำนาจนิยมเผด็จการออกไป เปิดเสรีภาพให้ศิลปินคนทำหนัง ผ่อนคลายการเซ็นเซอร์ จากนั้นนโยบายปรับไปให้ความสำคัญกับการสร้างตลาดและเพิ่มทุนให้ตลาดตามระบอบทุนนิยม นำมาซึ่งการสถาปนา cultural industry และ content industry ในปลายยุค 1990 นอกจากนั้น รัฐเกาหลียังชูอุดมการณ์ว่าด้วย วัฒนธรรมในฐานะส่วนประกอบของสังคมประชาธิปไตย การสร้างความหลากหลายของเนื้อหา และการมองว่าวัฒนธรรมเป็นสวัสดิการประเภทหนึ่ง ท้ายที่สุด รัฐบาลเกาหลียังมีชุดความคิดเชิง neoliberalism หรือการเปิดโอกาสให้ตลาดทำงานเต็มที่ เพิ่มการแข่งขัน โดยเชื่อมั่นว่าระบบต่างๆ จะหาจุดสมดุลได้เอง


จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของนโยบายว่าด้วยภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรค กว่าจะก้าวเข้าสู่ยุคทอง และยังคงตื่นตัวตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ไม่เย่อหยิ่ง และกล้ามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า ทั้งนี้ การที่รัฐมีนโยบายครอบคลุมแต่ยังคงเห็นเอกชนเป็นผู้เล่นหลักที่ควบคุมทิศทาง เป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้เกาหลีก้าวมาถึงจุดที่แทบทุกประเทศในเอเชียต้องเรียนรู้ และยกเป็นกรณีศึกษาอย่างเช่นในทุกวันนี้

---------------------------------

ชมบันทึก งานประชุมวิชาการ Perspectives on Contemporary Korea Conference ได้ที่ https://youtube.com/user/umichncks

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด