บันทึกถึงวันสวรรคตในหลวงอานันท์ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร

เรื่องราวจากความทรงจำของ แท้ ประกาศวุฒิสาร นักถ่ายภาพยนตร์ไทย ผู้ที่ได้บันทึกภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไว้จำนวนมาก และข้อเขียนบรรยายความรู้สึกของเขาในเช้าแห่งวันสวรรคตที่ไม่อาจลืม

----------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ภาพปก: พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ มอบโดยทายาทของ แท้ ประกาศวุฒิสาร 


การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นความทรงจำร่วมของพสกนิกรร่วมยุคสมัย ที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียอันใหญ่หลวงร่วมกันอย่างไม่ทันตั้งตัว 


คนสำคัญคนหนึ่งที่ได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ คือ แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยระดับศิลปินแห่งชาติ   เป็นที่ทราบกันดีว่า แท้ไม่เพียงแต่จะเป็นคนทำหนัง เขายังเป็นนักบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ล้วนมีค่าต่อประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อเขียน โดยเฉพาะที่อยู่ในหนังสืออัตชีวประวัติที่ชื่อ “สุภาพบุรุษเสือแท้” ซึ่งมูลนิธิหนังไทย จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 


ใน “สุภาพบุรุษเสือแท้” แท้ได้กล่าวถึงความผูกพันระหว่างเขากับ “ในหลวงอานันท์” ไว้อยู่หลายช่วง เริ่มตั้งแต่ครั้งที่พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.  2481  ขณะนั้นเขาในวัย 20 ปี เพิ่งได้งานเป็นช่างภาพประจําแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กรมพานิชย์ และได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพการเสด็จฯ จนได้นำภาพมาลงปกหนังสือ “ท่องเที่ยวสัปดาห์” 


ต่อมา หลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ในช่วงระยะเวลาราว 6 เดือนนับจากนั้น แท้ได้มีโอกาสไปร่วมบันทึกภาพพระราชกรณียกิจสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสด็จตรวจพลสวนสนามทหารสหประชาชาติที่สนามหลวงและถนนราชดําเนินกลาง, งานพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, งานเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน, พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฯลฯ รวมทั้งได้มีโอกาสสนทนากับสมเด็จพระอนุชา หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเวลาต่อมา  เกี่ยวกับเรื่องการถ่ายรูป ซึ่งพระองค์ได้เสด็จไปร้านถ่ายรูปไทยไตรมิตรของแท้ด้วย 



ภาพ: การเสด็จนิวัตประเทศไทย เมื่อปลายปี 2489 จากหนังสือ “อัฐมราชานุสสรณ์” ที่แท้และเพื่อนช่างภาพร่วมกันจัดทำขึ้น เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 


การบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ นี้แท้ได้บันทึกเป็นภาพนิ่งทั้งสิ้น จนกระทั่งเมื่อได้ทราบหมายกำหนดการว่าวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในหลวงและสมเด็จพระอนุชาจะเสด็จพระราชดําเนินประพาสสําเพ็ง ซึ่งนำไปสู่การสมานฉันท์ระหว่างคนไทยกับคนจีนที่เกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2  แท้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์  ครั้งนี้เขาจึงคิดถ่ายเป็นภาพยนตร์เก็บไว้เป็นพิเศษ  และเมื่อตัดต่อเสร็จ แท้ได้รับแจ้งว่าในหลวงทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรในวันที่ 9 มิถุนายน เขาจึงตื่นเต้นและเตรียมตัวอย่างดี แต่สุดท้ายแล้วการฉายครั้งนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 


นี่คือข้อเขียนที่แท้เล่าถึงบรรยากาศในการถ่ายภาพยนตร์เสด็จประพาสสำเพ็ง พระราชกรณียกิจสำคัญลำดับท้าย ๆ ของในหลวงอานันท์ และความรู้สึกอันพลิกผันในเช้าแห่งวันสวรรคตที่เขาไม่อาจลืม


“ต่อมาได้มีหมายกําหนดการว่า วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระอนุชาจะเสด็จพระราชดําเนินประพาสสําเพ็ง เพื่อทรงเยี่ยมประชาชนชาวจีนในสําเพ็ง ข่าวนี้ปรากฏเป็นที่ปลาบปลื้มและตื่นเต้นยินดีอย่างยิ่งสําหรับพี่น้องชาวจีนในสําเพ็ง ต่างเตรียมการรับเสด็จกันเต็มที่ มีการตกแต่งอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้ดูสวยสดงดงาม คณะกรรมการหอการค้าได้ประชุมหารือถึงพิธีการต่าง ๆ ที่จะรับเสด็จ


การเสด็จฯ ประพาสสําเพ็งครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์สําคัญเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ ผมจึงคิดจะถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ โดยตั้งใจว่าจะร่วมกันถ่ายกับ ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล ผมก็ต้องเที่ยววิ่งหาซื้อฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ซึ่งหายากมาก เพราะยังไม่มีเข้ามาจําหน่ายเป็นปกติ สามารถหาได้มาไม่มากนัก ยิ่งใกล้วันเสด็จฯ ก็ยิ่งหายาก เราได้วางแผนแบ่งแยกกันถ่ายคนละจุด เพราะเชื่อว่าจะต้องมีประชาชนมาคอยเฝ้าล้นหลามอย่างแน่นอน จะเคลื่อนย้ายการถ่ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง คงจะยากแน่ ๆ


ถึงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ผมและ ม.จ.ศุกรวรรณดิศก็ไปจองที่ที่จะทําการถ่ายภาพยนตร์กันตั้งแต่เช้า แต่ไปถึงเข้าจริง ๆ ปรากฏว่ามีประชาชนมาคอยเฝ้ากันแน่นแล้ว แต่เขาก็ยังดีเมื่อเห็นเราถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ เขาก็แบ่งที่ให้เราหาจุดยืนตามมุมที่ต้องการ รวมแล้ว 2 กล้อง เรามีฟิล์มไม่มากเลย เสียดายที่หาฟิล์มมาถ่ายได้น้อย


ครั้นถึงเวลาเสด็จพระราชดําเนิน ต่างก็เบียดเสียดกันเหนียวแน่นจริง ๆ พอเสด็จพระราชดําเนินมาถึง ประชาชนที่เฝ้าก็จะแหวกทางให้เสด็จผ่านไปได้สะดวก ประชาชนทั้งจีนและไทยเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นเป็นประวัติการณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงแย้มพระสรวลตลอดทางเสด็จ กล้องถ่ายภาพยนตร์ของเราทั้งสองหมดฟิล์มด้วยเวลาอันรวดเร็ว ภาพตอนดี ๆ อีกหลายแห่งไม่ได้ถ่าย แต่ผมสังเกตดู สมเด็จพระอนุชาท่านก็ทรงถ่ายภาพไว้ได้มาก


แล้วผมก็นําฟิล์มภาพยนตร์ที่ช่วยกันถ่ายไปล้าง ตรวจดูภาพที่ได้สวยงามดี แล้วนํามาตัดต่อรวมกัน วันหนึ่งคุณอาณัติ บุนนาคมาที่ร้านผม ผมก็บอกว่า ผมตัดต่อภาพยนตร์ข่าวเสด็จประพาสสําเพ็งเสร็จแล้ว คุณอาณัติรับว่าจะไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถ้าหากทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ผมพร้อมจะเอาเครื่องฉายไปฉายถวาย สองสามวันต่อมา คุณอาณัติมาบอกผมว่าในหลวงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนเที่ยง คุณอาณัติจะมารับผมที่ร้านไทยไตรมิตร แล้วนําภาพยนตร์ไปจัดฉายถวายให้ทรงทอดพระเนตรด้วยกัน


เช้าวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ผมตื่นแต่เช้า หลังอาหารเช้าแล้วก็จัดแจงอาบน้ำ เพื่อที่จะเดินทางไปที่ร้านถ่ายรูปไทยไตรมิตรหน้าไปรษณีย์กลางตามที่ได้นัดไว้กับคุณอาณัติ บุนนาค ว่าจะมารับผมก่อนเที่ยง ขณะกําลังอาบน้ำผมเปิดวิทยุ ซึ่งขณะนั้นมีกระจายเสียงอยู่สถานีเดียว คือสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการ วิทยุกําลังส่งเสียงเพลงอยู่ แล้วจู่ ๆ หยุดเปิดเพลงลงกลางคันกลายเป็นเสียงโฆษกประกาศข่าวด่วนหรือไม่ก็แถลงการณ์ของรัฐบาลอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมไม่แน่ใจ แต่ได้ความว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสู่สวรรคตเสียแล้ว ประกาศนี้ทําให้ผมและพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ฟังอยู่ตกใจ หยุดทําอะไรที่ทําอยู่หมด มารวมกันฟังประกาศ ซึ่งประกาศซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง เมื่อแน่ใจแล้ว พวกเราทุกคนร้องไห้อย่างชนิดที่เสียใจที่สุดในชีวิต ผมรีบแต่งตัวแล้วออกเดินทางจากบ้านที่ตลาดพลู ไปยังสํานักงานของผมหน้าไปรษณีย์กลาง ระหว่างทางเห็นแต่ประชาชนยืนชุมนุมโจษจันและฟังข่าวอยู่ตามร้านรวงข้างถนนโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ร้องไห้อาลัยพระเจ้าอยู่หัวที่กําลังเป็นที่รักยิ่งของเราชาวไทย


ผมรอฟังข่าวจากคุณอาณัติ ชั่วโมงแล้วผ่านไป จึงนึกได้ว่า บางทีคุณอาณัติคงยุ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมก็ได้แต่นั่งมองเครื่องฉายหนัง จอหนัง และม้วนฟิล์ม ที่ถ่ายพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสําเพ็งเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง จิตใจก็อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึง พระอิริยาบถอันงดงามต่าง ๆ ทั้งที่ผมเคยติดตามถ่ายภาพและภาพยนตร์ของพระองค์มาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในวันนี้ วันซึ่งผมกําลังจะได้เข้าเฝ้าเพื่อฉายภาพยนตร์ข่าวเสด็จประพาสสําเพ็งถวายให้ทรงทอดพระเนตร ซึ่งคงจะต้องเป็นวันหนึ่งที่ผมจะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต


ข่าวสวรรคตทําให้ประเทศไทยทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกสลดรันทด บรรยากาศทั่วไปเงียบเหงาวังเวงลงทันที ทุก ๆ คนล้วนแต่โศกเศร้าเสียใจ ประชาชนรอฟังข่าวรายละเอียดอยู่ทุกลมหายใจ เมื่อฟังวิทยุหรืออ่านหนังสือพิมพ์ก็ต้องร้องไห้ โรงหนังโรงละคร สถานีวิทยุซึ่งเคยมีการแสดงมหรสพทุกอย่างพร้อมใจกันงดการแสดงหมด คนไหนเคยยิ้มแย้มก็มีแต่เงียบเหงา ทุกคนแต่งกายไว้ทุกข์โดยทั่วกัน พวกเราอยากรู้ข้อเท็จจริง แต่ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้า วันแล้ว อาทิตย์ก็แล้วผ่านไป มีแต่เสียงโจษจันเสียงลือ พวกเราได้แต่เฝ้ารอแล้วรอเล่า ท่ามกลางความหม่นหมองขุ่นข้องใจ


ผมเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายบังคมพระบรมศพ แต่เพียงภายนอกพระที่นั่งดุสิต เจอเพื่อนช่างถ่ายภาพด้วยกันก็ได้ปรับทุกข์กันอย่างเบา ๆ ได้ถ่ายรูปข้าราชการผู้ใหญ่ ที่มาถวายบังคมพระบรมศพบ้างเพื่อเสนอข่าว แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับด้วยความเศร้าอยู่ในใจ


ร้านรวงต่าง ๆ พากันปิดร้านแต่หัวค่ำ วันเดือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ไปจนกระทั่งปีหนึ่งให้หลังไปแล้ว ในใจของคนไทยทุก ๆ คนก็ยังคงเฝ้าอยากรู้ความจริงว่าอะไรเป็นสาเหตุแห่งการสวรรคต”


 

ภาพ: แท้ ประกาศวุฒิสาร (ขวาสุด) กับช่างภาพในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8


เมื่อถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 29 มีนาคม 2493  แท้ยังได้ร่วมกับเพื่อนช่างภาพอีกหลายคนในขณะนั้น จัดทำสมุดภาพประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ ตั้งชื่อว่า “อัฐมราชานุสสรณ์” เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้มาในงาน  และได้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ก่อนจะทูลเกล้าฯ ถวายรวมกับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เสด็จประพาสสำเพ็ง แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  ในเวลาต่อมา


ปัจจุบัน เศษฟิล์มภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ที่คงเหลือจากการตัดต่อ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติ และเป็นมรดกแห่งความทรงจำของนักบันทึกภาพยนตร์ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ที่เขารักและผูกพัน


ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=JSm2NVm0oJc

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด