นิเกิลโลเดียน โรงมหรสพสำหรับฉายภาพยนตร์ โดยตรงโรงแรกในอเมริกา

116 ปี กับประวัติศาสตร์ของโรงมหรสพสำหรับฉายภาพยนตร์โรงแรกในอเมริกาซึ่งใช้ชื่อว่า นิเกิลโลเดียน Nickelodeon ที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนทุกชนชั้น

----------


โดย อิศรินทร์ อินทะจันทร์ 


ก่อนหน้านั้น ภาพยนตร์เมื่อแรกเกิดนับจากปีค.ศ. 1895 เป็นต้นมา ยังเป็นเสมือนประดิษฐกรรมของเล่น ของแปลกใหม่ เป็นภาพถ่ายที่ฉายให้เห็นเคลื่อนไหวได้เรื่องสั้น ๆ เพียงหนึ่งนาที นักธุรกิจบันเทิงจึงนำไปแสดงประกอบเป็นของแปลกใหม่อย่างหนึ่งในรายการแสดงเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น เล่นกล ละครสั้น ขับร้อง กายกรรม ซึ่งมักจัดแสดงในสวนสนุก ละครสัตว์ หรืองานออกร้าน โดยเฉพาะในธุรกิจการออกร้านแสดงแบบเร่ คือตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ 


อาจมีภาพยนตร์ที่มีการจัดแสดงในสถานที่ประจำ แต่ก็เป็นภาพยนตร์เฉพาะของเจ้าของหรือนักประดิษฐ์รายนั้น ๆ เช่นภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟของพี่น้องลูเมียร์ ฝรั่งเศส  หรือ ภาพยนตร์คิเนโตสโคปของเอดิสัน ที่มีโรงฉายหนังของตนโดยเฉพาะ ไม่ฉายหนังของคนอื่น 


แต่ราวสิบปีต่อมา เมื่อภาพยนตร์ได้รับการพัฒนาให้มีความยาวขึ้น และมีการเล่าเรื่องราวมากขึ้น จากของแปลกไปเป็นสื่อมหรสพที่สามารถจัดแสดงยืนโรงด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเป็นตัวประกอบการแสดงอื่น ๆ จึงมีนักธุรกิจบันเทิงที่มองเห็นว่าน่าจะจัดทำสถานที่หรือโรงสำหรับซื้อหาภาพยนตร์จากผู้สร้างรายต่าง ๆ มาฉายเก็บค่าดูโดยตรงอย่างเดียวได้ นักธุรกิจในสหรัฐอเมริการายแรกที่ลงมือคือ แฮรี เดวิส แห่งเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เขาได้ไอเดียจากโรงมหรสพเล็ก ๆ ราคาถูกสำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอเมริกา สำหรับการแสดงเบ็ดเตล็ด เช่น ละคร ระบำ เพลง ขายบัตรค่าชมราคาถูกเพียงคนละ 5 เซ็นต์ หรือหนึ่งนิเกิล เพราะเหรียญ 5 เซ็นต์ของอเมริกาทำด้วยโลหะนิเกิล ชาวบ้านจึงเรียกเหรียญห้าเซนต์ว่านิเกิล และเรียกโรงมหรสพราคาถูกเหล่านี้ นิเกิลโลเดียน ซึ่งมีที่มาจาก คำว่านิเกิล คือห้าเซ็นต์ กับ โอเดียน ที่แปลว่าโรงมหรสพ  นายเดวิส เปิดโรงมหรสพทำนองนี้โดยฉายแต่ภาพยนตร์อย่างเดียว หาภาพยนตร์มาสองสามเรื่อง รวมเวลาฉายราวรอบละครึ่งชั่วโมง ฉายวนไปวันละหลายรอบ แล้วเปลี่ยนหนังใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์  โดยดัดแปลงห้องแถวแบบร้านรวงริมถนนสองสามห้องเป็นตัวโรง จุที่นั่งราวสามสี่ร้อยคน ตั้งตู้ขายตั๋วราคาที่นั่งละ 5 เซ็นต์ไว้หน้าโรง และตั้งชื่อโรงว่านิเกิลโลเดียนเสียเลย เปิดฉายหนังเก็บค่าดูครั้งแรกในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1905 



ภาพ: บรรยากาศภายในโรงภาพยนตร์นิเกิลโลเดียน


ปรากฏว่า โรงหนังนิเกิลโลเดียนของนายเดวิสที่พิตต์สเบิร์ก ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เกิดเป็นตัวอย่างและต้นแบบให้มีพ่อค้านักธุรกิจคิดทำตาม จนเกิดขึ้นทั่วอเมริกา แม้ว่าในแต่ละโรงมีจะชื่อโรงต่าง ๆ กันไป แต่คำว่านิเกิลโลเดียนได้กลายเป็นคำสามัญสำหรับบ่งบอกโรงมหรสพประเภทนี้ ภายในเวลาเพียงปีเศษมีโรงหนังแบบนี้ทั่วอเมริกานับพันโรง ถึงปี 1908 มีมากถึงราวแปดพันโรง  นอกจากนั้นยังมีการประมาณการกันว่า ในช่วงปีค.ศ. 1910 ในแต่ละสัปดาห์มีคนอเมริกันกว่า 26 ล้านคน ไปชมภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงคนทุกวัย ทุกชนชั้น และเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าภาพยนตร์ได้พัฒนาขึ้นจนมีศักยภาพเกิดกิจการเฉพาะของตนเองได้ กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลก และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน




ภาพ: บรรยากาศบริเวณด้านหน้าโรงภาพยนตร์นิเกิลโลเดียน

โรงหนังแบบนิเกิลโลเดียนสำหรับชาวบ้านคนยาก ค่อย ๆ หมดยุคไปในราวสิบปีต่อมา เมื่อถึงยุคที่ภาพยนตร์รุ่งเรืองเป็นมหรสพที่คนชั้นกลางและชั้นสูงไม่รังเกียจ จึงมีการสร้างโรงขึ้นโดยเฉพาะแทนที่โรงห้องแถวดัดแปลง และมีขนาดใหญ่ ตกแต่งหรูหราราวปราสาทราชวัง


หอภาพยนตร์ได้จำลองโรงหนังนิเกิลโลเดียน มาตั้งไว้ที่เมืองมายา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกำเนิดภาพยนตร์โลก โดย ณ ตอนนี้ นิเกิลโลเดียน ยังไม่ได้เปิดให้บริการเนื่องจากอยู่ในช่วงปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งจะมีช่วงกำหนดเปิดอีกครั้งประมาณช่วงสิ้นปี 2564 โปรดรอติดตามข่าวสารการเปิดให้บริการในสื่อออนไลน์ของหอภาพยนตร์


ภาพ: โรงหนังนิเกิลโลเดียน ที่หอภาพยนตร์ได้จำลองมาตั้งไว้ที่เมืองมายา

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด