ข้อสังเกต 6 ประการจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนของบรรดานักจดหมายเหตุทั่วโลก ที่จะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าโรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเนื้องานของหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ทั่วโลกไปอย่างไร
----------
โดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี
* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 64 กรกฎาคม-สิงหาคม 2564
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพียงแค่ปีกว่าที่โลกได้รู้จักโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) นี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันไปทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่งานของนักจดหมายเหตุ ในจดหมายข่าวฉบับที่ 62 ประจำเดือนมีนาคม–เมษายน 2564 หอภาพยนตร์ได้สรุปคู่มือ “นักจดหมายเหตุอยู่บ้าน” (Archivists at Home) ของสมาคมนักหอจดหมายเหตุอเมริกัน (Society of American Archivist) (อ่านได้ที่ www.fapot.or.th/main/information/article/view/739) ซึ่งทำให้เห็นว่าบรรดานักจดหมายเหตุสามารถปฏิบัติหน้าที่ในภาวะวิกฤติโรคระบาดได้อย่างไรไปแล้ว
มาฉบับนี้ หอภาพยนตร์จะนำเสนอข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนของบรรดานักจดหมายเหตุทั่วโลก จากสมาพันธ์หอจดหมายเหตุโทรทัศน์นานาชาติ (The International Federation of Television Archives - FIAT/IFTA ) และสมาคมหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์นานาชาติ (The International Association of Sound and Audiovisual Archives – IASA) ซึ่งได้เผยแพร่สู่สาธารณชนในรายงานเรื่อง “โควิด-19 ตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ ข้อสังเกต 6 ประการจากการแลกเปลี่ยนความรู้ในพื้นที่เสมือนระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ” (COVID-19 as a driver for change in audiovisual archives Six observations from a virtual exchange between professionals)* โดยรายงานฉบับนี้ จะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าโรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเนื้องานของหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ทั่วโลกไปอย่างไรบ้าง
ข้อสังเกตประการที่ 1
กระตุ้นศักยภาพในการเผยแพร่เนื้อหาสื่อโสตทัศน์ทางออนไลน์
ภาพ: หอภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์มาเผยแพร่ในช่อง YouTube หอภาพยนตร์
การเผยแพร่สื่อโสตทัศน์ทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไม่สามารถให้บริการในพื้นที่หน่วยงานได้ตามปกติ บางหน่วยงานที่มีทรัพยากรก็พัฒนาเครื่องมือเผยแพร่ทางออนไลน์ของตัวเอง หรือต่อยอดจากเครื่องมือเดิมที่มีอยู่ บางหน่วยงานก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอยู่แล้วมาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่
นอกจากการเผยแพร่แล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาพัฒนางานบริการอีกด้วย เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) การใช้โปรแกรมโต้ตอบอัตโนมัติอย่าง Chatbot
ความต้องการในการบริโภคสื่อโสตทัศน์ที่สูงขึ้น จากการที่ประชาชนต้องขวนขวายหาความบันเทิงในบ้านแทนการออกนอกบ้าน ทั้งจากสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ รวมไปถึงสื่อออนไลน์สมัยใหม่ ช่องทางสตรีมมิง ทำให้เนื้อหาสื่อโสตทัศน์ในหอจดหมายเหตุได้ถูกใช้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ความนิยมอย่างสูงในเรื่องออนไลน์ก็นำมาซึ่งประเด็นที่เหล่าหอจดหมายเหตุจะต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ทางออนไลน์ การตกเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ด้านข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคจากสื่อสังคมออนไลน์ การตลาดมีอำนาจในการครอบงำการเผยแพร่ และปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์
ข้อสังเกตประการที่ 2
ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางตรงกับผู้ชมมากขึ้น
การจัดกิจกรรมในพื้นที่เสมือน เช่น การจัดฉายภาพยนตร์ทางออนไลน์แล้วตามด้วยการพูดคุยกับผู้ชมหลังภาพยนตร์จบ การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการทางออนไลน์ การจัดการประชุมสัมมนาทางออนไลน์ รวมไปถึงการเน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ให้บริการ ได้ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักจดหมายเหตุและผู้ชมในรูปแบบใหม่ ๆ
กิจกรรมที่จัดทางพื้นที่เสมือนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่จำกัดพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ หน่วยงานจดหมายเหตุหลายที่ได้พยายามคิดหากิจกรรมทางออนไลน์เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม อย่างเช่น การเปิดพื้นที่สาธารณะให้ได้เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ในช่วงโรคระบาด หรือการเปิดให้ผู้ชมสามารถนำสื่อโสตทัศน์ของหน่วยงานไปสร้างสรรค์ต่อ
หอจดหมายเหตุเริ่มให้ความสำคัญต่อเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ผู้ใช้บริการ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักการศึกษา นักเรียน สาธารณชน โดยพยายามสร้างกิจกรรมหรือโครงการที่เหมาะสมต่อความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มมากขึ้น
ข้อสังเกตประการที่ 3
สำรวจโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
ภาพ: กิจกรรมเปิดตัวงานเปิดตัวนิทรรศการปฐมกาลภาพยนตร์ในสยามในรูปออนไลน์
ภาวะวิกฤตินี้จุดประกายให้หอจดหมายเหตุแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ ในการที่จะให้บริการสื่อโสตทัศน์ในกรุของตนให้ได้มากที่สุด โดยไปหาความร่วมมือทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นักการศึกษา ชุมชนนักวิจัย สื่อมวลชน คนทั่วไป ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ การร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาผ่านระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในช่วงวิกฤตินี้ โดยใช้เป็นช่องทางจัดอบรมออนไลน์หรือเผยแพร่สื่อโสตทัศน์ของตัวเอง
นอกจากนี้ในช่วงภาวะวิกฤติก็นำมาซึ่งสงครามข่าวสาร มีข้อมูลเท็จเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหอจดหมายเหตุสามารถจะขยายบทบาทของตัวเองในการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และให้บริการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้แก่สังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถแยกแยะข่าวปลอมได้ด้วย
อีกหนึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นในภาวะนี้คือความร่วมมือกับกลุ่มศิลปินการแสดง ทั้งดนตรี ละคร และโอเปร่า ซึ่งพยายามนำผลงานของตัวเองขึ้นแสดงทางออนไลน์เพื่อชดเชยการต้องปิดตัวลงของโรงละคร โรงมรสพ การแสดงสดต่าง ๆ ซึ่งหอจดหมายเหตุหลายที่ทำโครงการแปลงสัญญาณเทปการบันทึกการแสดงเหล่านี้ให้เป็นดิจิทัลเพื่อจะเผยแพร่ เป็นต้น
ข้อสังเกตประการที่ 4
นิยามความหมายใหม่ของการสร้างเสริมศักยภาพและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
ภาพ: กิจกรรมอบรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์สำหรับเยาวชนในรูปแบบออนไลน์
ในปี 2563 งานอบรมวิชาชีพ สัมมนาวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านจดหมายเหตุล้วนแล้วแต่ถูกยกเลิกหรือเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด และก่อให้เกิดการใช้พื้นที่เสมือนในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพแทน และหนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ข้อจำกัดของพื้นที่เสมือน แม้การประชุมสัมมนาหรืออบรมบางอย่างสามารถกระทำผ่านออนไลน์ได้ง่าย โดยเฉพาะการประชุมที่เน้นการนำเสนองาน การบรรยายต่าง ๆ แต่บางกิจกรรมที่เน้นการระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความรู้ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น การอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นการลงมือทำ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เสมือน
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการจัดงานทางออนไลน์ที่ถูกปรับมาให้เหมาะสมกับพฤติกรรมคน เช่น การอบรมที่ระยะเวลาไม่ยาวเกินไป การจัดตารางงานหลายวันแต่วันละไม่กี่ชั่วโมง รวมถึงการนำบันทึกการบรรยายไปเผยแพร่ ทำให้ผู้สนใจสามารถดูได้ตลอดเวลา
ข้อสังเกตประการที่ 5
ลงทุนเพื่อให้การปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยบรรลุผลสูงสุด
ในรายงานได้อ้างถึง คู่มือ “นักจดหมายเหตุอยู่บ้าน” ของสมาคมนักหอจดหมายเหตุอเมริกัน เพื่อทำให้เห็นว่านักจดหมายเหตุสามารถปฏิบัติงานอะไรได้บ้างจากที่พักอาศัย โดยการที่จะสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยได้เต็มศักยภาพจะต้องมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อปฏิบัติงานได้ รวมทั้งมีเครื่องมือที่จะสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน และส่งมอบงาน ที่สำคัญหลายหน่วยงานได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับวันจะเริ่มมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานจากที่พักที่ดีควรจะต้องคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศการทำงานที่สะดวกสบาย ปลอดภัย การบริหารจัดการเวลา การมีทัศนคติการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อจะบรรลุเนื้องานในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนบอบบาง เช่น มีปัญหาสุขภาพ หรืออยู่คนเดียว การพยายามลดความเครียดและความเข้าใจผิดระหว่างผู้ร่วมงานจากการไม่ได้พูดคุยกันตรง ๆ การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเจ้าหน้าที่ในภาวะที่อยู่ห่างกันก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ข้อสังเกตประการที่ 6
เป็นองค์กรที่ตื่นตัวและคล่องตัว
ภาพ: หอภาพยนตร์กับช่องทางการสื่อสารใหม่ในแอปพลิเคชัน Tiktok
การปรับเปลี่ยนองค์กรให้คล่องตัวมากขึ้นและตื่นตัวพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานต้องคำนึงถึง ซึ่งหอจดหมายเหตุแห่งหนึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์การสร้างความคล่องตัวให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน จากการแบ่งงานภายในหน่วยงานผ่านรูปแบบ ‘ตลาดงาน’ ที่เจ้าหน้าที่จะแบ่งปันงานจากอีกฝ่ายหนึ่งมาทำให้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ในองค์กร
ไม่เพียงแต่ภายในองค์กรเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเนื้องานตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ภายนอกองค์กรที่เปลี่ยนไปก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การที่ภัณฑารักษ์หรือนักจดหมายเหตุทำงานร่วมกับสถานีโทรทัศน์ในการคัดเลือกสื่อโสตทัศน์ที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับสถานการณ์ และสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นผลบวกอย่างมากต่องานด้านจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์
ภาวะโรคระบาดยังขับเน้นให้เห็นปัญหาสังคม การแบ่งแยกในสังคม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น ซึ่งหอจดหมายเหตุสามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในชาติโดยใช้สื่อโสตทัศน์ในการเรียนรู้ การแบ่งปันความรู้ การสร้างความทรงจำร่วมในสังคม และเพื่อความบันเทิง บทบาทนี้จะช่วยทำให้หน่วยงานหอจดหมายเหตุมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อสังคม
*ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ <<คลิก>>