อมิตาบ บาจัน กระบอกเสียงสำคัญของงานอนุรักษ์ภาพยนตร์อินเดีย

เรื่องราวของนักแสดงหมายเลขหนึ่งของอินเดีย จากผู้ซึ่งไม่สามารถรับชมผลงานของนักแสดงที่ตนเองชื่นชอบ เนื่องจากฟิล์มสูญหาย สู่การสนับสนุนงานด้านอนุรักษ์ภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี จนได้รับการเชิดชูให้ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์อย่างยิ่งใหญ่ประจำปีนี้

----------



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: https://amitabhbachchan.xyz/


ในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลายครั้งจะไม่ประสบผลสำเร็จได้ หากไม่อาศัยการสื่อสารของบุคคลที่มีอิทธิพล คอยผลักดันและช่วยเป็นกระบอกเสียงให้พลวัตที่เกิดขึ้น สำเร็จและบรรลุได้ตรงตามเป้าหมาย เช่นกรณีของ อมิตาบ บาจัน นักแสดงอมตะตลอดกาลแห่งวงการภาพยนตร์อินเดีย วัย 78 ปี ผู้เรียกร้องให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศตนเอง สนับสนุนและเห็นคุณค่าความสำคัญขององค์กรที่จัดเก็บและรักษามรดกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมบัติเก่าแก่และล้ำค่าของชาติ 


อมิตาบ บาจัน ถือเป็นหนึ่งในนักแสดงดาวค้างฟ้าของบอลลีวูด มีผลงานการแสดงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 จนถึงปัจจุบันรวมกันกว่า 200 เรื่อง แจ้งเกิดจนเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง Anand (1971) กระทั่งโด่งดังและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากจากผลงานในระหว่างปี ค.ศ. 1975-1990 โดยเฉพาะจากภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ถล่มทลายและติดอันดับ 100 ภาพยนตร์บอลลีวูดยอดเยี่ยม จากเว็บไซต์ timeout.com เรื่อง Sholay (1975) และ Deewaar (1975)

 


ภาพ: อมิตาบ บาจัน จากภาพยนตร์เรื่อง Anand (1971) ผลงานแจ้งเกิดที่ฟิล์มภาพยนตร์อยู่ในการอนุรักษ์ของ Film Heritage Foundation

ที่มา: http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/

แม้จะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีการผลิตผลงานออกสู่โรงภาพยนตร์ปีละกว่า 1,700-1,800 เรื่อง ในหลากหลายภาษาท้องถิ่น แต่อินเดียกลับมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ หอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดีย (The National Film Archive of India) องค์กรซึ่งอยู่ในความดูแลของรัฐ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองปูเน่ และ Film Heritage Foundation หน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่เมืองมุมไบโดย ชิเวนดรา ซิงห์ ดุนการ์ปูร์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และผู้กำกับสารคดีคนสำคัญ


 

ภาพ: อาคารหลักของหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดีย

ที่มา: http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/

จากจุดเริ่มต้นของความผิดหวังเมื่อพบว่า ไม่สามารถแสวงหาภาพยนตร์ของนักแสดงรุ่นเก่าในวงการอย่าง ดิลิป กุมาร มารับชมได้ เนื่องจากฟิล์มเหล่านั้นสูญหายไปหมด อมิตาบ บาจัน จึงตั้งคำถามและให้ความสนใจต่องานอนุรักษ์ภาพยนตร์ โดยเริ่มต้นจากมอบฟิล์มภาพยนตร์ผลงานของเขาทั้งหมด ซึ่งจัดเก็บไว้ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานหลายสิบปีในบ้านพักของตัวเอง ให้ทาง Film Heritage Foundation นำไปจัดเก็บและรักษาตามกระบวนการและวิธีอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับนักแสดงคนโปรดของตนเอง และเขายังรับหน้าที่เป็นทูตทางวัฒนธรรม ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้งานในด้านอนุรักษ์ภาพยนตร์ ให้บุคคลทั่วไปทราบถึงเจตนารมณ์ ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าการทำงานขององค์กรที่รักษามรดกทางวัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหวแห่งนี้อีกด้วย 


ครั้งหนึ่งในระหว่างพิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกัลกัตตา ปี ค.ศ. 2018 ซึ่งตรงกับปีที่เฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งศตวรรษภาพยนตร์เบงกาลี อมิตาบ บาจัน กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ต่อหน้าผู้ชมกว่าหมื่นคนในวันนั้นว่า “ขณะที่ผู้คนในปัจจุบันตระหนักถึงภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ของนักแสดงในตำนานเหล่านี้ แต่น่าเศร้าเหลือเกินที่ผลงานของเขาเกือบทั้งหมด กลับถูกเผาและทิ้งขว้างลงไปในกองเศษเหล็ก มรดกภาพเคลื่อนไหวที่สำคัญเหล่านี้ หลงเหลืออยู่น้อยมาก หากเราไม่เร่งรีบหาทางอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่มีอยู่ในตอนนี้ ในอีกร้อยปีข้างหน้า เราอาจไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับผู้ที่มาก่อนเราและเก็บภาพชีวิตของพวกเราไว้ในภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้เฉลิมฉลองอีกเลย”

 


ภาพ: ชิเวนดรา ซิงห์ ดุนการ์ปูร์ และอมิตาบ บาจัน ในกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอนุรักษ์และบูรณะภาพยนตร์ของ Film Heritage Foundation ประจำปี ค.ศ. 2019

ที่มา: http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/

ผลลัพธ์ของการอุปถัมภ์ Film Heritage Foundation ของอมิตาบ บาจันอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี นำมาซึ่งพันธกิจสำคัญอีกจำนวนมากขององค์กรแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ภาพยนตร์เงียบเรื่องสำคัญของประเทศ 29 เรื่อง จาก 1,138 เรื่องที่สูญหาย การค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งถูกทิ้งไว้ในโกดังร้าง เมืองมุมไบ จำนวนกว่า 200 เรื่อง การจัดเก็บและรวบรวมผลงานหาชมยากของผู้สร้างภาพยนตร์คนสำคัญกว่า 500 เรื่อง ทั้งภาพฟุตเตจที่เกี่ยวข้องการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอินเดีย หนังบ้านและหนังเบ็ดเตล็ด จนถึงฟิล์ม 16 มม. ที่ว่าด้วยการสนทนาของสองผู้กำกับคนสำคัญของโลก อย่าง สัตยชิต ราย และแฟรงก์ คาปรา รวมถึงการจัดเก็บวัตถุและสิ่งเกี่ยวเนื่องที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์อินเดียอีกกว่า 10,000 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดอบรมกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอนุรักษ์และบูรณะภาพยนตร์ทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากกว่า 300 คนในแต่ละปี


 

ภาพ: ชิเวนดรา ซิงห์ ดุนการ์ปูร์ และเจ้าหน้าที่ Film Heritage Foundation ค้นพบกรุฟิล์มภาพยนตร์ที่ถูกทิ้งไว้โกดังร้าง ในเมืองมุมไบ จำนวนกว่า 200 เรื่อง 

ที่มา: http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/

เพื่อยกย่องต่อการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์อย่างแข็งขันและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของ อมิตาบ บาจัน ซึ่งพยายามรักษามรดกภาพยนตร์ที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วและชุบชีวิตให้กลับมาเหมือนอย่างที่เคยเป็น ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2021 สหพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ  (International Federation of Film Archives หรือ FIAF) ได้จัดพิธีมอบรางวัล FIAF Award ให้แก่นักแสดงหมายเลขหนึ่งบอลลีวูดผู้นี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลในปีก่อนหน้านี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มองเห็นความสำคัญของงานอนุรักษ์ภาพยนตร์เช่นกัน ทั้งโหวเสี้ยวเสียน, ฌอง ลุค-โกดาร์, อานเญส วาร์ดา, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ฯลฯ


 

ภาพ: อมิตาบ บาจัน และชิเวนดรา ซิงห์ ดุนการ์ปูร์ ในพิธีมอบรางวัล FIAF Awards 2021 ที่เมืองมุมไบ

ที่มา: http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/


ในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว ได้มีการกล่าวยกย่องสรรเสริญ อมิตาบ บาจัน จากผู้ที่ได้รับรางวัลก่อนหน้านี้ ทั้ง มาร์ติน สกอร์เซซี ที่ได้รับรางวัล FIAF Award เป็นคนแรก ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งกล่าวแสดงความยินดีกับบาจันว่า “การสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกภาพยนตร์อินเดียของบาจันนั้นเป็นสิ่งที่วิเศษมาก ด้วยการโลดแล่นบนเส้นทางอาชีพกว่าห้าทศวรรษของเขา เขาเป็นทั้งนักแสดงที่มีชื่อเสียงและยังให้ความสำคัญต่อการอยู่เบื้องหลังของการรักษาภาพยนตร์อินเดียและทั่วภูมิภาค” และคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ได้รับรางวัล ในปี ค.ศ. 2017 กล่าวชื่นชมว่า “ด้วยบทบาทการเป็นทูตทางวัฒนธรรมให้ Film Heritage Foundation เขามีศักยภาพและความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการอธิบายสาเหตุของความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์ภาพยนตร์อินเดีย”


อมิตาบ บาจัน กล่าวปิดท้ายพิธีรับรางวัลเชิดชูเกียรติยศของเขาว่า “ในฐานะของศิลปิน ผมเชื่อว่า เรามีหน้าที่ต้องรักษาสิ่งที่เราสร้างขึ้น ผลงานของเราแสดงให้เห็นถึงความรักและความทุ่มเทตลอดช่วงชีวิตในวิชาชีพ เราจำเป็นต้องมุ่งมั่นที่จะรักษามรดกความทรงจำของผู้ที่มาก่อนเรา และตระหนักว่าภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้น คือเอกสารสำคัญในรูปแบบศิลปะของมวลมนุษยชาติ”


ข้อมูลประกอบการเขียน

- https://www.fiafnet.org/pages/Events/Amitabh-Bachchan-2021-FIAF-Award.html

- http://filmheritagefoundation.co.in/fhf-ambassador-amitabh-bachchan-honoured-with-the-2021-fiaf-award-in-a-virtual-ceremony-featuring-martin-scorsese-and-christopher-nolan/

- https://www.bbc.com/news/world-asia-india-56400936 

- https://medium.com/george-eastman-museum/meet-amitabh-bachchan-fiaf-film-preservation-award-winner-e5990dba27ee


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด