ความท้าทายของหอภาพยนตร์ในยุค Climate Change

ถอดบทเรียนจากการบรรยายของ ลินดา ทาดิค ว่าด้วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในโลกที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกำหนดทิศทางงานหอภาพยนตร์ 

--------


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา : Facebook Southeast Asia-Pacific AudioVisual Archive Association


งานประชุมสามัญประจำปีทางออนไลน์ของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกครั้งที่ 25 (SEAPAVAA’s virtual 25th Conference) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน ได้รับเกียรติจาก ลินดา ทาดิค (Linda Tadic)  CEO ของบริษัท Digital Bedrock เป็นองค์ปาฐก บรรยายเปิดงานในหัวข้อ Adapting Digital Archives to Mitigate Climate Change หรือ “การปรับตัวของงานอนุรักษ์แบบดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หัวข้อการบรรยายนี้เป็นประเด็นร่วมสมัยที่ผสานหลักการงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ เข้ากับประเด็นร้อนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นสองภารกิจที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคหลังโควิด-19 


หอภาพยนตร์เห็นว่าเนื้อหาบางส่วนของการบรรยายมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ทั้งในแง่การสร้างความเข้าใจในการงานอนุรักษ์ และกระตุ้นความรับรู้ในปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงขอสรุปความจากปาฐกถาของ ลินดา ทาดิค มาแบ่งปันกัน ณ ที่นี้



Adapting Digital Archives to Mitigate Climate Change





ลินดา ทาดิค ผู้มีประสบการณ์กว่า 30 ปีในงานอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์และทำงานร่วมกับหอภาพยนตร์ ห้องสมุด และองค์การอนุรักษ์มากมาย เริ่มการบรรยายโดยปูพื้นให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก และการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ในแง่หนึ่งอาจจะบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้ชั่วครู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไปเพิ่มภาระทางสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ 


โรคระบาดครั้งใหญ่และการล็อกดาวน์ในแทบทุกประเทศ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และในบางประเทศลดลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากการใช้ยานพาหนะน้อยลง อีกทั้งการยกเลิกกิจกรรมทางกายภาพอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หากดูภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเธน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไม่ลดละ โดยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และในช่วงโรคระบาดที่เกิดขึ้น การที่มนุษย์ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น ใช้โปรแกรม Zoom หรือประชุมออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการดูหนังออนไลน์แบบ binge watch หรือการดูติด ๆ กันเป็นเวลาหลายชั่วโมง อันเป็นพฤติกรรมการบริโภคสื่อหนังออนไลน์ยุคใหม่ เหล่านี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ทั้งเพิ่มการใช้พลังงาน และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต 


ทาดิคพูดถึงคำศัพท์ที่ถูกอ้างอิงมากในวงการวิชาการ คือ Antrohopocene หรือยุคที่มนุษย์เป็นผู้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขับให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ตอนนี้โลกร้อนขึ้น 0.095 องศาเซลเซียส นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป้าหมายคือ เมื่อถึงปี 2100 หรืออีกประมาณ 80 ปี อุณหภูมิของโลกไม่ควรสูงขึ้นเกิน 1.5 เซลเซียส ซึ่งจะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราต่างต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี 


นอกเหนือจากการระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้ชั่วครู่ ปัจจัยอื่น ๆ เช่นภาวะการขาดแคลนน้ำมันในบางช่วง หรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ได้กระตุ้นให้สังคมเริ่มพิจารณาเห็นความจำเป็นของการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล (ซึ่งเป็นพลังงาน “สกปรก”) และหันมาใช้แหล่งพลังงานยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม


หอภาพยนตร์และภาวะโลกร้อน




งานอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์มีพลวัตรเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน ประการแรก หายนะทางอากาศที่มีโอกาสเกิดมากขึ้น เช่น พายุอันรุนแรง น้ำท่วมใหญ่ รวมทั้งความร้อนและความชื้นที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการเก็บรักษาวัสดุสื่อโสตทัศน์ ตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำท่วมบ่อย ๆ หรือไฟตกบ่อย ๆ เพราะพายุ สื่อที่อนุรักษ์ไว้อาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย 


ประการที่สอง กิจกรรมงานอนุรักษ์ส่งผลสะท้อนกลับไปสู่สิ่งแวดล้อม เพราะงานอนุรักษ์สัมพันธ์กับอุตสาหกรรม ICT หรืออุตสาหกรรมสื่อสารและคอมพิวเตอร์อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานเพื่อเดินเครื่องอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ดังนั้นงานอนุรักษ์จึงมีส่วนเพิ่มมลภาวะและการเพิ่มของอุณหภูมิ ทั้งการบริโภคพลังงานไฟฟ้า และการที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ต้องถูกเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ เพิ่มภาระขยะที่ย่อยสลายยากให้โลก และเพิ่มความต้องการทรัพยากรแร่ธาตุในการผลิตอุปกรณ์เหล่านั้น


ทาดิคกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและงานอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ จึงส่งผลสะท้อนกลับไปมาซึ่งกันและกัน งานอนุรักษ์แบบดิจิทัลเพิ่มมลภาวะให้โลก และเมื่อโลกระส่ำระสาย หน่วยงานอนุรักษ์ก็มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น วนเวียนไปเช่นนี้


เมื่อวัสดุสื่อโสตทัศน์ใกล้หมดอายุขัย เช่น เทป หลายครั้งมันกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งขว้าง ขณะเดียวกัน ภาพหรือเนื้อหาในวัสดุเหล่านั้นจำเป็นต้องถูกแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลเพื่อให้คงทนอยู่ต่อไป ซึ่งวัสดุในการเก็บไฟล์ (data storage) ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ หรือ SSD หรือเทป LTO ล้วนเป็นวัสดุที่ผลิตจากแร่หนักที่หาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งน้ำบริสุทธิ์ ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตแผงวงจร (หรือ electronic chips) ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้งในไต้หวัน ดินแดนแห่งการผลิตชิปที่สำคัญของโลก สายการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต้องประสบปัญหาขาดแคลนไปช่วงหนึ่ง



ทาดิคแบ่งวัสดุการเก็บไฟล์เป็นหลายประเภท ได้แก่

- ฮาร์ดไดร์ฟ ซึ่งกินพลังงานมาก สิ้นเปลืองแร่ธาตุในการผลิต มีอายุใช้งาน 3-5 ปี ถึงแม้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ ในโลกตอนนี้เริ่มหาทางนำแร่ธาตุในวัสดุเหล่านี้กลับมารีไซเคิล

- SSD ซึ่งผลิตง่ายกว่าและใช้พลังงงานน้อยกว่า 

- Data tape เช่น LTO ซึ่งเก็บได้นาน ใช้พลังงานน้อย อาจจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี

- Cloud ซึ่งไม่ใช่วัสดุ แต่เป็นวิธีการฝากไฟล์ไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่อื่น บริษัทที่ให้บริการ Cloud ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 6 บริษัท ได้แก่ Facebook, Google, Apple, Box, Salesforce และ Rackspace ต่างบอกว่า พวกเขากำลังขับเคลื่อน Cloud Service ไปสู่การใช้พลังงานยั่งยืน 100 เปอร์เซ็นต์ในเร็ววันนี้ (เช่น การสร้าง Solar farm ขนาดใหญ่) ถึงแม้การใช้ Cloud จะดูเหมือนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด แต่อย่าลืมว่า การฝากไฟล์ไว้ที่อื่น เท่ากับเราใช้ทรัพยากรจากที่นั้น ๆ แทนที่จะใช้ของตัวเอง


หน่วยงานอนุรักษ์ รักษ์โลกได้อย่างไร




ทาดิคแนะนำว่า หน่วยงานอนุรักษ์สามารถดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อม ๆ กัน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

- ไม่จำเป็นต้องสแกนไฟล์ดิจิทัลความละเอียดสูงเสมอไป เพื่อประหยัดพลังงาน 

- การแบ่งความสำคัญในการจัดเก็บ เช่น เนื้อหาบางอย่างเก็บไว้ในเทป บางอย่างในฮาร์ดดิสก์ บางอย่างใน Cloud ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระการสร้างขยะ

- การระบาดของโควิด สร้างบทเรียนหลายอย่าง เช่น การทำงานที่บ้าน (work from home) ถ้าทำได้ เพราะเป็นการลดการเดินทาง 

- การประชุมออนไลน์ และจัดกิจกรรมออนไลน์ ถ้าเป็นไปได้


ทั้งหมดนี้ ทาดิคกล่าวว่าขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน แต่ละประเทศที่จะประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง แต่หลักใหญ่คืองานอนุรักษ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาสิ่งอันมีค่า เป็นงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันมีค่าของมนุษยชาติเช่นกัน ดังนั้นการคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองภารกิจนี้ จึงเป็นสิ่งที่หอภาพยนตร์และหน่วยงานอนุรักษ์ทุกแห่งควรใส่ใจ


-------------------------

รับชมการบรรยายฉบับเต็มได้ที่ <<คลิก>>

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด