การเดินทางครั้งใหม่ของอภิชาติพงศ์ใน Memoria

บทสนทนาทางอีเมลระหว่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับ ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ว่าด้วย เสียง ภาษา ทิลด้า สวินตัน ความทรงจำ และการถ่ายทำในโคลอมเบีย ของ Memoria ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ของอภิชาติพงศ์ ที่เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ประจำปีนี้ 

-----------

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี 

ภาพปก: ทิลด้า สวินตัน และ เอลกิน ดิอาซ นักแสดงชาวโคลอมเบีย ใน Memoria ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.



Memoria ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของประเทศไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เตรียมเปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในวันที่ 15 กรกฎาคม นี่เป็นหนังยาวเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายทำนอกประเทศไทยทั้งหมด นำแสดงโดยดาราอังกฤษ ทิลด้า สวินตัน ร่วมด้วยดาราจากทวีปอเมริกาใต้และฝรั่งเศส โดยหนังพูดภาษาสเปนกับอังกฤษทั้งเรื่อง 


ถึงจะไม่ใช่ “หนังไทย” ตามคำนิยามอันแข็งกร้าวแบบเดิม แต่ Memoria ยังคงเป็นผลงานที่อบอวลด้วยบรรยากาศที่แฟนหนังของอภิชาติพงศ์คุ้นเคย กับเรื่องราวที่ว่าด้วยความทรงจำและความลึกลับที่ซ่อนอยู่ในทุกอณูของเมืองและของป่า โดยทิลด้า สวินตัน รับบทเป็นเจสสิก้า หญิงสาวเจ้าของไร่กล้วยไม้ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียง “ปัง!” เสียงนั้นตามหลอกหลอนจนเธอตัดสินใจออกเดินทางจากกรุงโบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบีย ไปสู่หุบเขาและลำธารห่างไกล เพื่อค้นหาต้นตอแห่งความทรงจำอันก่อกำเนิดเสียงประหลาดดังกล่าว 


ขณะเตรียมงานอยู่ที่ฝรั่งเศสเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม อภิชาติพงศ์ได้ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษทางอีเมล กับผู้เขียน และเพื่อต้อนรับหนังเรื่องใหม่ของคนทำหนังคนสำคัญนี้ หอภาพยนตร์จึงแปลและคัดเลือกเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ 


 


ภาพ: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ©Kick the Machine 


ว่าด้วยการถ่ายทำในโคลอมเบีย อะไรที่ยากที่สุด อะไรที่ง่ายที่สุด และอะไรที่น่าแปลกใจที่สุด


ที่ยากที่สุดคือจินตนาการของเราว่าพอไปถ่ายแล้วหนังจะออกมาอย่างไร เรานึกถึงพวกหนังฝรั่งที่มาถ่ายในไทย ที่มักจะออกมาดูตลก ๆ แต่เอาเข้าจริง ส่วนที่ง่ายที่สุดคือการถ่ายทำ เราไม่เสียเวลาไปนั่งกังวลอะไรเลย เมื่อเริ่มงาน และโอบรับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ ทีมงานในกอง [ส่วนใหญ่เป็นคนโคลอมเบีย] เข้าขากันเร็วมาก นั่นทำให้เราสามารถทุ่มเทเวลาไปกับส่วนที่สำคัญที่สุดของหนัง นั่นคือ จังหวะของมัน (tempo) ส่วนที่น่าแปลกใจคืออากาศ ที่เป็นใจให้แก่การถ่ายทำ เพราะปกติอากาศที่โคลอมเบียเปลี่ยนแปลงง่าย 


ว่าด้วยทิลด้า สวินตัน ทำงานกับเธออย่างไร และสิ่งที่ปรากฏในหนัง อะไรบ้างที่มาจากการเตรียมงาน และอะไรที่เธอปรับหรือด้นสด


มีการเตรียมการไว้หลายอย่าง เราทำงานเหมือนตอนที่ถ่ายหนังในไทย คือจะมีการอิมโพรไวส์ในระหว่างการซ้อม จากนั้นจึงไปปรับในบทอีกที หลาย ๆ ฉากในหนังไม่มีบทพูด ทิลด้าจึงต้องค้นหาความละเอียดของท่วงท่าการเคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ  เพื่อให้เธอกลายเป็นตัวละครเจสสิก้า และเจสสิก้าก็ค่อย ๆ วิวัฒนาการขึ้น


วิธีทำงานปกติของเราคือ บทของเราจะไม่สนใจกับปูมหลัง พื้นเพ หรือแรงจูงใจของตัวละครมากนัก เราไม่รู้ว่าเจสสิก้ามาอยู่โคลอมเบียนานแค่ไหน สามีเธอเป็นใคร เธอขับรถอะไร ฟาร์มกล้วยไม้ที่เมืองเมเดยีนของเธอเล็กหรือใหญ่แค่ไหน หรือเธอมาโคลอมเบียทำไม แน่นอนว่าระหว่างถ่ายทำ จะมีคนถามเราเรื่องรายละเอียดพวกนี้ แล้วเราก็จะตอบไปตามที่ใจคิดได้ตอนนั้น ความคลุมเครือนี้ทำให้เราตื่นเต้นอยู่ตลอด แม้แต่เมื่อไปถึงขั้นตอนตัดต่อ เรายังต้องเดาตัวละครเจสสิก้าไปเรื่อย ๆ ทิลด้ากระโดดเข้ามาร่วมในวิธีการนี้อย่างไม่ลังเลเลย และเธอเปลี่ยนตัวเองได้อย่างลึกซึ้งมาก พูดอีกอย่างก็คือ สิ่งที่คนดูเห็นบนจอมาจากทิลด้าเป็นส่วนมาก


 


©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.


ว่าด้วยภาษา หนังพูดภาษาสเปนเป็นส่วนใหญ่ แม้คุณเจ้ยจะไปเรียนภาษาสเปนมาก่อนถ่ายทำ แต่การทำงานกับภาษาที่ไม่คุ้นเคยเป็นอย่างไรบ้าง


เราสนุกมากที่ได้ถ่ายหนังในภาษาที่พูดไม่ค่อยได้ เพราะเสียงที่ได้ยินกลายเป็นดนตรี เราต้องพึ่งทีมงานอย่างมาก โดยเฉพาะโค้ชภาษา มันมีหลายวิธีที่จะพูดประโยค ๆ หนึ่ง จะทำอย่างไรให้พูดออกมาแล้วไม่ดูเหมือนละครทีวี 


เราเคยคุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นเรื่องหนังของยาสุจิโร่ โอสุ เพื่อนบอกว่าบทพูดที่เราคิดกันว่ามัน “เป็นธรรมชาติ” จริง ๆ แล้วตรงข้าม ตัวละครในหนังโอสุพูดด้วยภาษาประดิดประดอย ที่คนสมัยนั้นไม่ได้พูดกัน ดังนั้นมันจึงเป็นความท้าทายสำหรับทั้งทีมว่าเราจะกำหนด “ความเป็นจริง” ผ่านรากฐานของภาษาได้อย่างไร โค้ชภาษาสเปนพยายามสัมผัสสิ่งที่เราต้องการ เขาไปศึกษาหนังเรื่องก่อน ๆ เพื่อเข้าใจจังหวะ [ของไดอะล็อก] ส่วนตัวเราสนใจที่จังหวะหยุดระหว่างประโยค มากกว่าตัวคำพูด


ว่าด้วยเรื่องของเสียง เพราะถึงแม้เสียงจะเป็นส่วนสำคัญในหนังของคุณเจ้ยมาตลอด แต่ในเรื่องนี้เสียงเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งในหนัง เป็นต้นธารแห่งความทรงจำทั้งมวล อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติม 


หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเสียง “Bang” ที่แว่วในหูเรา เหมือนกับเป็นอาการอะไรสักอย่าง การทำหนังเรื่องนี้คือการเดินทางไปพร้อม ๆ กับเสียงสะท้อนแว่วนั้น เราพยายามจูนจังหวะ [synchronise] ให้ตรงกับเจสสิก้า เมื่อทิลด้าเผยตัวเจสสิก้าออกมาเรื่อย ๆ เรารับรู้ได้ถึงสภาพแวดล้อมของเสียงที่วนเวียนรอบตัวเธอ ราวกับว่าเธอเป็นไมโครโฟน และเสียงต่าง ๆ เป็นอาหารของเธอ เธอหาทางแหวกว่ายไปในเสียงและสิ่งแวดล้อม แตกผลิไปรอบ ๆ เสียง Bang หนังเรื่องนี้เป็นการฟังและการมอง เช่นเดียวกับการนั่งสมาธิ


ว่าด้วย “ความทรงจำ” Memoria เป็นภาษาสเปนของคำว่า memory คุณเจ้ยคิดว่าคนในโลกมีความทรงจำดึกดำบรรพ์ร่วมกันหรือเปล่า และถ้าพูดถึงประเทศโคลอมเบีย คุณคิดว่าโคลอมเบียกับประเทศไทย มีความทรงจำร่วมในแง่ประวัติศาสตร์ การเมือง หรือในแง่อุปมาอื่น ๆ หรือเปล่า


ใช่ โลกนี้ไม่ได้ใหญ่โต แต่มันรุ่มรวย เปรียบได้กับผู้หญิงที่เก็บความทรงจำไว้ในหัวของเธอ เราทุกคนต่างผูกพันกันด้วยกระแสธารที่ไหลเวียนรอบโลก และมันยังอยู่ในช่วงดึกดำบรรพ์ ประเทศไทยกับประเทศโคลอมเบีย ต่างเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจนิยมที่ไม่แม้แต่จะพยายามปกปิดตัวเอง ส่วนตัวคิดว่า เรามีสัมผัสร่วมกับความฝันและความอึดอัดของชาวโคลอมเบีย


 

©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.


ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Memoria ได้ที่  <<คลิก>>

 

ติดตามฟังเบื้องหลังการทำงานและเกร็ดต่าง ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมของ Memoria จากทีมงานชาวไทยคนสำคัญทั้ง คัทลียา เผ่าศรีเจริญ (โปรดิวเซอร์ร่วม) และ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (ผู้ช่วยผู้กำกับ) ไปพร้อม ๆ กับการเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคมนี้ เวลา 19.30 น. ที่ห้อง Clubhouse หอภาพยนตร์ <<คลิก>>

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด