30 ปี A Brighter Summer Day: แสงสว่างแห่งวงการหนังไต้หวันที่ได้รับการบูรณะ

เรื่องราวของปรากฏการณ์และการบูรณะ A Brighter Summer Day ผลงานภาพยนตร์ชิ้นเอกของ เอ็ดเวิร์ด หยาง ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่แห่งวงการหนังไต้หวันผู้ล่วงลับ ซึ่งมีอายุครบรอบสามทศวรรษในปีนี้

---------


โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: ©The Criterion Collection


ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 ตรงกับวันที่ A Brighter Summer Day ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของ เอ็ดเวิร์ด หยาง ตำนานผู้กำกับแห่งวงการหนังไต้หวัน ออกฉายที่ไต้หวันเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าการฉายในครั้งแรกนั้นจะไม่ใช่ฉบับที่ เอ็ดเวิร์ด หยาง พึงพอใจเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นฉบับที่ถูกสั่งตัดจากผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ จากความยาวจริง 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลเพราะมีการเล่าเรื่องราวทางการเมืองที่ยืดยาวเกินไป ส่งผลให้การตอบรับโดยรวมจากผู้ชมครั้งนั้นไม่ดีเท่าที่ควร เพราะภาพยนตร์ฉบับดังกล่าว มีปัญหาเชิงโครงสร้างของบทและการดำเนินเรื่องของตัวละครเป็นอย่างมาก


ภายหลังจากการฉายครั้งแรกที่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา A Brighter Summer Day ฉบับความยาว 4 ชั่วโมง ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสำคัญหลายแห่ง ทั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว (Tokyo International Film Festival), เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (Toronto International Film Festival), เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Film Festival) ฯลฯ ตลอดจนการคว้ารางวัลบทและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสำคัญของไต้หวันอย่างม้าทองคำ (Golden Horse Awards) ซึ่งนั่นทำให้ A Brighter Summer Day ฉบับเต็มโดยเอ็ดเวิร์ด หยาง ได้กลับเข้าฉายที่ไต้หวันอีกครั้ง พร้อมกับได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมที่เป็นไปในทางบวกมากยิ่งขึ้น


 

ที่มา: ©Festival de Cannes


เอ็ดเวิร์ด หยาง เป็นหนึ่งในหัวหอกของกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไต้หวัน (Taiwanese New Wave Cinema) ร่วมกับผู้กำกับคนอื่น ๆ อย่าง โหวเชี่ยวเฉียน, อู๋เนียนเจิน, จางอวี้ ฯลฯ เขาและเพื่อนร่วมรุ่นได้พยายามทำภาพยนตร์ในขนบและรูปแบบใหม่ ๆ ที่ขับเน้นการเล่าเรื่องผ่านชีวิตผู้คนธรรมดาให้มีความสมจริงและสะท้อนสังคมการเมือง ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์แบบกำลังภายในและเมโลดราม่าที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เขาเริ่มต้นการทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1980 กระทั่งได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในศิลปินคนทำหนังแถวหน้าของไต้หวัน แม้จะมีผลงานจำนวนไม่มาก เนื่องจากเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 59 ปี ในปี ค.ศ. 2007 แต่ผลงานการกำกับของเขาทุกเรื่องล้วนได้รับเสียงยกย่องในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ A Brighter Summer Day ผลงานที่เขาสร้างขึ้นจากความทรงจำในวัยเด็กของตัวเอง


 

ที่มา: ©The Criterion Collection


A Brighter Summer Day เล่าเรื่องราวซึ่งถ่ายทอดจากประสบการณ์ในชีวิตของ เอ็ดเวิร์ด หยาง ที่เมืองไทเปในช่วงต้นยุคปี ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม จึงถอนทัพออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกันชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่จำนวนหนึ่งซึ่งสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก ได้หนีปัญหาจากสงครามกลางเมืองมาตั้งรกรากใหม่ที่เกาะไต้หวัน โดยภาพยนตร์มีจุดศูนย์กลางของเรื่องคือ เสี่ยวซื่อ (บทบาทการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ จางเจิ้น นักแสดงชายแถวหน้าของไต้หวัน) เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งอพยพมาจากเซี่ยงไฮ้ ผู้ศึกษาในโรงเรียนภาคค่ำซึ่งแวดล้อมไปด้วยกลุ่มก๊วนวัยรุ่นอันธพาล จนทำให้พัวพันเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของแก๊งคู่อริ และนำพาให้เขาได้พบกับ หมิง เด็กสาวที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ ผู้ซึ่งเป็นคนรักของ ฮันนี่ หนึ่งในหัวหน้าแก๊ง


โลกของเด็กหนุ่มวัยคะนองซึ่งประสบกับปัญหาชีวิต ทั้งรักแรกของตัวเองและความรุนแรงจนก้าวข้ามไปสู่การนองเลือด สอดประสานไปกับเข็มทิศชีวิตในโลกของผู้ใหญ่ ที่สับสนปะปนหวาดกลัวอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินใหม่ในยุคสมัยที่การปกครองของบ้านเมืองคลุมเครือไปด้วยความไม่แน่นอนของอนาคต รวมถึงการเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของอเมริกา คือการผสมผสานองค์ประกอบเรื่องราวที่ทำให้ A Brighter Summer Day ได้รับการยกย่องว่า สามารถบันทึกโมงยามของการเบ่งบานและแหลกลาญในชีวิตวัยเยาว์ บนฉากหน้าของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองร่วมสมัยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ได้อย่างคมคายและลึกซึ้ง จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เอเชียที่ดีที่สุดจากการจัดอันดับของหลาย ๆ สำนักภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศในเวลาถัดมา


 

ที่มา: ©The Criterion Collection


แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของวงการหนังไต้หวัน ซึ่งครองใจผู้ชมต่างชาติโดยเฉพาะที่อเมริกามานานหลายปี แต่ผู้ที่ได้รับชม A Brighter Summer Day ส่วนใหญ่ กลับได้ชมภาพยนตร์ในฉบับสำเนาจากแผ่นเลเซอร์ดิสก์ของฮ่องกงที่มีคุณภาพทางภาพและเสียงที่ค่อนข้างต่ำ กระทั่งในปี ค.ศ. 2009 โครงการ World Cinema Project โดย The Film Foundation องค์การด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ไม่แสวงหากำไร ของ มาร์ติน สกอร์เซซี ได้ริเริ่มบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยความร่วมมือกับ หอภาพยนตร์เมืองโบโลญญา (Cineteca di Bologna), ห้องแล็บ L’Immagine Ritrovata Laboratory ประเทศอิตาลี,  บริษัท The Central Motion Picture Corporation เมืองไทเป ทำการบูรณะ A Brighter Summer Day ในรูปแบบความคมชัดแบบ 2K จากฟิล์มเนกาทีฟที่มอบให้โดยครอบครัวของเอ็ดเวิร์ด หยาง ซึ่งภายหลังจากการบูรณะสำเร็จ ในปีเดียวกันนั้นเอง ภาพยนตร์ฉบับดังกล่าว ได้ทำการออกฉายในรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในสาย Cannes Classic


 

ที่มา: ©The Criterion Collection


จากนั้นในปี ค.ศ. 2015 The Criterion Collection บริษัทผู้ผลิตแผ่นภาพยนตร์จากอเมริกา ได้ทำการปรับปรุง A Brighter Summer Day จากฉบับปี ค.ศ. 2009 อีกครั้ง โดยนำฟิล์มเนกาทีฟมาสแกนภาพใหม่ ด้วยความคมชัดและละเอียดระดับ 4K พร้อมกับแก้ไขและบูรณะด้วยกระบวนการทางดิจิทัล จุดเด่นสำคัญของงานด้านภาพ สี และเสียงต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด ซึ่งฉบับดังกล่าวนี้ ถือเป็นการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ในสภาพที่สมบูรณ์และวงกว้างมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สิ่งนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของงานอนุรักษ์และบูรณะฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งช่วยกำเนิดผู้ชมรุ่นใหม่ ๆ ให้เข้าถึงผลงานภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม


แม้จะผ่านเวลาจากการฉายครั้งแรกมานานกว่า 3 ทศวรรษ และแสงในชีวิตของเอ็ดเวิร์ด หยาง จะมืดมิดดับสนิทลงแล้ว แต่เขายังคงได้รับการยกย่องถึงภาษาภาพยนตร์อันเป็นลายเซ็น และความเจนจัดในฝีไม้ลายมือการกำกับที่เขาฝากไว้ใน A Brighter Summer Day อยู่เสมอ ราวกับแสงสว่างในหน้าร้อนของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เคยเลือนรางไปจากความทรงจำของผู้ชมแม้แต่เพียงวินาทีเดียว  


 

ที่มา: ©The Criterion Collection


ข้อมูลประกอบการเขียน

- http://www.film-foundation.org/brighter-summer-day-kj

https://www.criterion.com/current/posts/4176-cleaning-up-a-brighter-summer-day

- https://www.criterion.com/current/posts/6902-from-elvis-in-taipei

- https://www.criterion.com/current/posts/3984-talking-with-screenwriter-hung-hung-about-a-brighter-summer-day

- https://www.criterion.com/current/posts/3981-a-brighter-summer-day-coming-of-age-in-taipei


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด