ดูหนังกับลูก: บทสนทนาที่จะพาลูกเรียนรู้ผ่านสื่อภาพยนตร์

 สรุปสาระสำคัญจากวงเสวนาออนไลน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ที่ว่าด้วยการเรียนรู้การชมภาพยนตร์กับลูกในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างสามารถเปิดรับชมได้เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัส

---------


เรียบเรียงโดย ทีมจัดรายการ


วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมสนทนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “ดูหนังกับลูก” วงเสวนาที่ว่าด้วยเรื่องของการชมภาพยนตร์ในครอบครัวยุคที่มีทุกอย่างปรากฏบนหน้าจอ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรแต่ละแขนง มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และผู้จัด “Doc Club for Kids โปรแกรมฉายภาพยนตร์ที่จัดกลุ่มหนังสารคดีสำหรับเด็กในรูปแบบออนไลน์ พร้อมกับกำหนดประเด็นสำหรับผู้ใหญ่ในการชวนเด็ก ๆ พูดคุยหลังจบภาพยนตร์ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ตามใจนักจิตวิทยา” ที่เปรียบเสมือนห้องเรียนของครอบครัวแบบออนไลน์ เพื่อบำบัดเชิงกระตุ้นการเสริมพัฒนาการ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในครอบครัวโดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก และ นิศานาถ ไทรทองคำ นักจัดกิจกรรมภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง ฝ่ายเผยแพร่ หอภาพยนตร์ฯ ผู้รับผิดชอบกิจกรรมโรงหนังโรงเรียน กิจกรรมที่มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้วิชาการใช้ชีวิตในวิถีสังคม โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนนำนักเรียนมาชมภาพยนตร์ที่ผ่านการคัดสรรเนื้อหา และมีประเด็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจร่วมกัน 


เด็กควรดูหนังประเภทไหน? 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันระบบการทำงานบนอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทกับหลาย ๆ ครอบครัวมากยิ่งขึ้น ทั้งการเรียนรู้และหาข้อมูลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือการมีส่วนร่วมดูหนังร่วมกันผ่านทางแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธิดา ได้จัดโครงการ Doc Club for Kids ขึ้น โดยคัดสรรภาพยนตร์ที่อยู่ในลิขสิทธิ์การดูแลของ Documentary Club มาจัดโปรแกรมผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกับจัดทำคู่มือที่สรุปประเด็นสำคัญที่หนังนำเสนอ และตัวอย่างคำถามเริ่มต้นสำหรับใช้สร้างบทสนทนากับเด็ก ๆ เพื่อเปิดโลกใหม่ด้วยการดูหนังสารคดี โดยธิดา ได้กล่าวถึงที่มาของโปรแกรมนี้ว่า “ในฐานะผู้จัดโปรแกรมและด้วยความเป็นแม่ อย่างที่รู้กันว่า สารคดีมันเป็นหนังที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นหนังที่ไม่ค่อยบันเทิงสำหรับเด็กเท่าไร ในสถานการณ์โควิด-19 รอบนี้ ซึ่งทำให้โรงเรียนปิดยาว พ่อแม่ต้องจะใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะจัดกิจกรรมโดยเริ่มจากการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ แม้จะเป็นสารคดีที่ไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงหรือเป็นที่ถูกใจสำหรับเด็ก ๆ แต่ข้อดีของมันคือ เป็นหนังที่เปิดโลกทัศน์ ให้คนดูได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอื่น ๆ บนโลกนี้ ในมุมมองและด้านต่าง ๆ เราจึงพยายามดึงแง่มุมนี้มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเติมเต็มข้อมูล หรือเนื้อหาใหม่ ๆ ว่ามีประเด็นไหนที่เราสามารถสร้างบทสนทนากับพวกเขาได้บ้าง” (สามารถรับชมได้ฟรีผ่านทาง https://documentaryclubthailand.com/doc-club-for-kids หรือที่แอปพลิเคชัน VIPA - ผู้เรียบเรียง)


ด้าน เมริษา อธิบายเสริมในแง่ของทฤษฎีจิตวิทยาว่า “โดยส่วนตัวทำงานเกี่ยวกับเด็กในช่วงวัยตั้งแต่ 3-6 ปี จึงทำให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วก็มีเด็กที่ชอบหนังสารคดีหลายคนเหมือนกัน โดยเฉพาะสารคดีที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งก็พบว่าเด็ก ๆ พยายามที่จะเชื่อมโยงสารคดีเข้ากับตัวเองโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ว่าได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากตรงนั้น จะเห็นว่าการ์ตูนหลาย ๆ เรื่องเขาก็จะนำวิทยาศาสตร์ตรงนี้ไปใช้ เช่นเรื่อง โปเกมอน พื้นฐานก็มาจากชีววิทยา ซึ่งเมื่อเด็กได้ดูหนังเหล่านี้ แล้วก็ดูสารคดีด้วย ก็จะยิ่งทำให้เขารู้สึกอิน และเกิดคำถามว่าสิ่งนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันสารคดีพวกนี้กลับกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตของพวกเขา ส่วนในเรื่องของความแตกต่างระหว่างสารคดีกับภาพยนตร์ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องที่ตัวของหนังเป็นหลัก แต่เกี่ยวกับตัวตนของเด็กมากกว่า รวมไปถึง ทัศนคติ วิธีการนำเสนอของพ่อแม่ ซึ่งเขาก็อาจจะสามารถเรียนรู้ผ่านเรื่องพวกนี้ และค้นหาสิ่งที่เขาชอบได้”


เด็กควรดูหนังนานเท่าไร? และเกณฑ์การคัดเลือกที่เหมาะสมควรเป็นแบบไหน?


เมื่อได้รับคำถามว่า เด็กควรดูหนังนานเท่าไร เมริษา ได้ให้คำแนะนำว่าว่า “เด็กที่มีอายุ 2-3 ปี ควรดูมากสุด 15 นาทีต่อวัน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยจนถึงอายุ 6 ปี จะอยู่ที่สูงสุดประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจจะแบ่งเป็นช่วง ช่วงละ 15 นาที เพื่อหยุดให้ได้สนทนากับลูก ก่อนที่ลูกจะลืมเนื้อหาไป นอกจากเรื่องของระยะเวลาแล้ว คุณหมอหรือจิตแพทย์หลายท่าน แนะนำให้สังเกตลูกของเราว่า เขามีปัญหาในเรื่องของสมาธิเป็นทุนเดิมหรือเปล่า เช่น เขาอาจจะอยู่ไม่สุข หรือมีปัญหาการฟัง การเข้าใจ เราก็จะไม่ได้แนะนำให้เด็กดูต่อเนื่อง หรืออาจจะให้ดูแค่คลิปสั้น ๆ แล้วก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นต่อ”


นิศานาถ ได้เสริมต่อถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกภาพยนตร์ในกิจกรรมโรงหนังโรงเรียนว่า  “ในการเลือกหนังของกิจกรรมโรงหนังโรงเรียน จะคล้าย ๆ กับเกณฑ์พัฒนาการที่ครูเมกล่าวมา เช่น ระดับปฐมวัย จะเป็นแอนิเมชันสั้น ๆ 2-3 นาที และจะมีการชวนคุยคั่นหลังจากหนังจบในแต่ละเรื่อง สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกช่วงระดับหนึ่ง เราก็จะยึดหลักเกณฑ์ว่าเด็กในวัยนี้ควรจะเรียนรู้เรื่องอะไร เราก็จะเลือกหนังที่มีประเด็นนั้นขึ้นมาเพื่อที่จะเสริมพัฒนาการของเด็ก หรือแม้กระทั่งกับครูที่พาเด็กมาเขาอาจจะต้องการใช้หนังให้เข้ากับรายวิชาที่เขากำลังจะสอนในชั้นเรียน หรือให้เข้ากับทักษะของเด็ก เพื่อให้เขาพัฒนาทักษะการดูหนัง ที่สำคัญต้องกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์ ให้เหตุผล และเกิดการพูดคุยกันได้” 


เด็กควรดูหนังในโรงหรือที่บ้าน?


เมื่อครั้งที่เป็นคุณแม่ลูกอ่อน ธิดา เคยประสบปัญหาไม่สามารถพาลูกเข้าชมภาพยนตร์ในโรงได้ เธอจึงมีความคิดจัดรอบฉาย Parent and Baby Screening ที่ Doc Club Theatre เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กสามารถเข้าชมหนังในโรงได้อย่างสบายใจเหมือนอยู่ที่บ้าน โดยอธิบายถึงโปรเจกต์ดังกล่าวว่า “จริง ๆ ตอนนั้น เราไม่ได้โฟกัสที่ตัวเด็ก เท่ากับโฟกัสที่พ่อแม่ เพราะจากประสบการณ์จริงเมื่อเรามีลูกเล็ก จึงทำให้เราต้องงดชีวิตในโรงหนังไปเลย การที่ต้องอุ้มลูกเล็กไปดูหนัง มันทำให้เราต้องเผชิญกับคนรอบข้างที่ไม่เป็นมิตร นั่นคือเหตุผลที่เราคิดจะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะเรารู้สึกแค่ว่าคนที่ชอบดูหนังแล้ว พอมีช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่เราจำเป็นต้องตัดการดูหนังออกไป มันเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ซึ่งเราก็คิดว่ามันควรจะมีกิจกรรมแบบนี้ แม้กระทั่งดูไปคุยไปต่อยอดไปถึงการสร้างบทสนทนาร่วมกันได้ เราเชื่อว่าการดูหนังไม่ว่าจะวัยไหน มันมีประโยชน์มาก ถ้าดูจบแล้วมีบทสนทนาร่วมกัน และจริง ๆ ตอนที่จัดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ จึงไม่ได้ค่อยติดตามผลมากนัก แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะจัดบ่อย ๆ”


 

ภาพ: กิจกรรม Parent and Baby Screening ที่ Doc Club Theatre

©Documentary Club


นิศานาถ ถ่ายทอดประสบการณ์ถึงสิ่งที่พบเห็นจากเด็ก ๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโรงหนังโรงเรียนว่า “การดูหนังมันคือประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่การดูหนังอย่างเดียว แต่มันคือการมาดูหนังกับเพื่อน การได้ดูหนังในที่มืด ๆ กับผู้คนอื่น ๆ การได้ยินเสียงที่สร้างขึ้นเพื่อหนังจริง ๆ หรือมีปฏิกิริยาต่าง ๆ ของบรรยากาศในการดูหนังตอนนั้น เช่น ปรบมือเมื่อรู้สึกชอบใจ หัวเราะเมื่อรู้สึกตลก สิ่งเหล่านี้มันเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ และยิ่งถ้าหนังเรื่องนั้นมีเนื้อหาที่ตรงกับสิ่งที่เด็กต้องการเรียนรู้เพิ่มขึ้น หรือตรงกับชีวิตเด็ก การดูหนังในโรงหนังจะช่วยสนับสนุนได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเนื้อหาของตัวหนังเองด้วย”


เมริษา อธิบายเสริมว่า “การดูหนังที่โรงหนังกับดูที่บ้านแตกต่างกันอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่กับเด็กที่รู้สึก ตัวผู้ใหญ่เองก็รู้สึกเช่นกัน สำหรับการดูหนังในโรงหนังมันอาศัยมากกว่าเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องของการเคารพกฎ กติกา การรับรู้ถึงผู้อื่นและตัวเขา ในเด็กวัย 0-6 ขวบ จะมี Egocentric ค่อนข้างสูง คือจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นในบางครั้งเวลาเขาตื่นเต้น หรือมีความสุข เขาจะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้เก็บอาการ อย่างที่คุณนิศานาถได้กล่าวไปเบื้องต้น อีกทั้งในเรื่องของร่างกายเด็ก ๆ ความสูงของเขาอาจจะไม่พอดีกับสายตาระดับหน้าจอ หรือในเรื่องของเสียงที่ดังมาก เด็กบางคนที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ ก็จะรู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย รวมไปถึงสมาธิ ตามศักยภาพของเขา จะอยู่ได้ไม่ค่อยนาน จึงต้องดูถึงความพร้อมของเด็กแต่ละคน เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์ เด็กยังไม่ได้เข้าใจอารมณ์ซับซ้อนของตัวละคร จึงทำให้เขาเกิดคำถามมากมาย และถามขึ้นมาจนกว่าจะเข้าใจ ซึ่งอาจจะสร้างความรบกวนให้กับผู้อื่นในโรงหนัง ดังนั้นการดูหนังที่บ้านจึงทำให้เด็ก ๆ ได้รับอิสระตรงนั้นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การที่เด็ก ๆ ดูหนังในโรงก็จะได้ฝึก Social Skill การเคารพผู้อื่น การเคารพตัวเอง เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งเป็นมารยาททางสังคมที่เราจะต้องค่อย ๆ สอนเขา การดูหนังที่บ้านจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน และต้องดูตามพัฒนาการของลูก ว่าเขาอยู่ในช่วงวัยไหน การที่เขาดูคนเดียว จะเป็นการสื่อสารทางเดียว One Way Communication คือดูผ่านจอ รับสาร แล้วก็จบ แต่ถ้าเราดูกับเขา ก็จะเกิดการคิด การตั้งคำถาม พูดคุย ถกเถียง และเกิดตกตะกอนเป็นความรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ และการดูหนังของเด็กกับเพื่อนก็จะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งคือ การรู้สึกร่วม การเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจมนุษย์ เข้าใจอารมณ์ ดังนั้นไม่ว่าจะดูหนังยังไงก็ตาม การดูมากกว่าหนึ่งคน เป็นประโยชน์มากกว่า และเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรดูคนเดียว”


ควรทำอย่างไรเมื่อเด็กกลัวหนัง?


สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หลายบ้านประสบ คือการที่ลูก ๆ ฝังใจกับเนื้อหาหรือรายละเอียดด้านลบบางอย่างหลังจากชมภาพยนตร์ จนต่อมาพัฒนากลายเป็นพฤติกรรมส่วนตัวขึ้น เมริษา ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า “วิธีการรับมือก็คืออย่าพยายามยัดเยียดในสิ่งที่เขากลัว และบอกว่า มันไม่มีอะไร สำหรับเด็กบางคนก็จะมีความรู้สึกในใจที่ว่า เขากำลังกลัวอยู่ แต่ทำไมถึงไม่เข้าใจในสิ่งที่เขากลัว แนะนำว่าควรให้พ่อแม่ใจเย็น ๆ ก่อน แล้วหันมานั่งคุยกับเขา ถามว่ารู้สึกยังไง กลัว โกรธ หรือเสียใจ แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่รู้ว่าคืออะไร นั่นแหละคือความปั่นป่วน ความไม่สบายใจ ซึ่งเด็กก็อาจจะบอกเราไม่ได้ ให้เราค่อย ๆ ให้เขาอธิบายว่าไม่สบายใจตรงไหน เสียง ภาพ หรือฉากไหน ยกตัวอย่างเด็กบางคน เขาไม่ได้ไม่ชอบภาพ เนื้อหา หรือเสียงของหนัง แต่เขาแค่ไม่ชอบโทนสี เช่น หนังของทิม เบอร์ตัน เพราะมันทำให้เขารู้สึกหดหู่ เมื่อเรารู้สาเหตุแล้ว ให้ลองคุยกับลูกว่าสิ่งที่เขากลัว ถ้าเราไม่ดูมันอีก ลูกจะโอเคหรือเปล่า เรื่องบางเรื่องถ้ามันไม่ได้กระทบชีวิตประจำวัน เราควรที่จะเคารพตัวเขา และปล่อยผ่าน หากเขาต้องเจออีก เราควรที่จะเคียงข้างเขา” 


ธิดา เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองว่า “ค่อนข้างตรงกับที่ครูเมเล่ามา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสักประมาณ 3-4 ปีก่อน คือเราทำงานอยู่หน้าห้อง แล้วลูกก็เปิดดูหนังกันเอง วันนั้นเขาเปิดเรื่องที่ทิม เบอร์ตันกำกับ คือเรื่อง Miss Peregrine's Home for Peculiar Children เขาดูได้ประมาณ 10 นาทีแรก ก็ร้องกรี๊ด วิ่งออกมาข้างนอก เราก็ถามไปว่ามันมีอะไร เขาก็บอกว่ามันมีฉากที่คุณปู่เผชิญหน้ากับปีศาจแล้วถูกฆ่าตาย ซึ่งตอนตาย คุณปู่ก็น่ากลัว ตาโบ๋ และสงสัยว่าทำไมมีหนังผีอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาเวลาพูดถึงคุณปู่ เขาก็จะนึกถึงและพูดเกี่ยวกับผีคุณปู่ตลอด และก็จะไม่ดูเรื่องนี้อีก เวลาเห็นโปสเตอร์ก็จะกลัวไปเลย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี่ เราได้มีโอกาสเปิดผ่านไปเจอ ก็เลยมาอ่านข้อมูล ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังผี เราเลยกลับมานั่งดูกับลูกอีกครั้ง บวกกับช่วงวัยของเขาที่โตขึ้น และแล้วก็ผ่านฉากนั้นไป เขาก็เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไร เลยนึกคำที่ครูเม บอกว่า ช่วงนั้นเขาอาจกลัว แต่โชคดีที่เราเองไม่ได้บังคับ หรือบอกเขาไปเลยตอนนั้นว่ามันไม่ได้มีอะไร”


“เมื่อพูดถึงความกลัว นึกขึ้นได้ว่า สิ่งที่โรงหนังโรงเรียนสังเกตเวลามีเด็กมาร่วมกิจกรรมจะได้เห็น สีหน้า แววตา อาการความกลัวต่าง ๆ ของเด็ก ๆ อย่างเขามาดูกับเพื่อนก็จริง ในขณะที่ฉากนี้เพื่อนหัวเราะ แต่เขากับรู้สึกทำสีหน้าเศร้าก็มี พอฉายหนังก็จะมีทั้งวิทยากร ครู และเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ คอยดูอยู่ ซึ่งเราใช้ภาพยนตร์ตรงนี้เป็นเครื่องเช็คตัวของเด็กได้ ว่ามีปมในใจเรื่องอะไร แล้วคุณครูก็จะได้กลับไปทำงานกับปัญหานั้นกับเด็กต่อได้ และวิทยากรก็จะยกประเด็นนั้นมาพูดคุยกัน” นิศานาถกล่าวปิดท้ายประเด็นนี้


เด็กกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่


ด้วยกระแสความนิยมของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในปัจจุบัน ซึ่งทรงอิทธิพลต่อเด็กเป็นอย่างมาก แต่ภาพยนตร์ประเภทนี้ เนื้อหาภายในกลับแฝงไปด้วยประเด็นความรุนแรง เมื่อได้รับคำถามว่า พ่อแม่ควรรับมือกับภาพยนตร์ประเภทนี้อย่างไร เมริษา อธิบายว่า “ในเด็กวัยตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป เขาน่าจะอยู่ในสังคมที่เพื่อน ๆ อาจจะดูแล้วมาแบ่งปัน บวกกับเป็นวัยที่เขาต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน บางครั้งถ้าเรานั่งดูเพื่อที่จะศึกษา หรือร่วมดูไปกับเขา ถ้ามันมีฉากความรุนแรงหรือไม่เหมาะสม แล้วพ่อแม่ได้พูดคุยกับเขา มันก็จะทำให้เขามีความเข้าใจและนำไปสู่การเลือกที่เหมาะสม ว่าควรหรือไม่ควรใช้อย่างไร ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเจอสถานการณ์จริง หรือลูกต้องเข้าไปอยู่ในปัญหานั้น ก่อนที่จะเรียนรู้การตัดสินใจที่เหมาะสม การ์ตูนที่มีความรุนแรงหรือภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวที่ขัดแย้ง อาจจะเป็นสถานการณ์จำลองที่พ่อแม่จะได้นำมาถกเถียงกับลูก และก็ได้พูดคุยเพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดด้วย ซึ่งเด็กๆ ก็จะเข้าใจมากขึ้น เพราะถ้าเราเปิดด้วยกำแพง เช่น แม่ว่าไม่เหมาะสมหรอก เดี๋ยวโตก็จะรู้เอง สุดท้ายเขาก็ไปหาวิธีการรู้คำตอบนี้กับเพื่อน หรือกับใครคนอื่นที่ไม่ใช่เรา ส่วนตัวมองว่า พ่อแม่น่าจะเป็นคนให้คำตอบได้ดีที่สุด แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าครั้งแรกเขากล้าที่จะคุยกับเราโดยที่ไม่มีกำแพง ครั้งต่อ ๆ ไป เขาก็จะกล้าที่จะคุยกับเราด้วย”


 

ภาพ: Demon Slayer -Kimetsu no Yaiba- The Movie: Mugen Train

©Netflix


“บางครั้งที่วัยรุ่นดูภาพยนตร์ที่มีความล่อแหลม หรือภาษาที่รุนแรง พ่อแม่อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ลูกเราคงไม่ทำอะไรแบบนั้นหรอก หลาย ๆ ครั้ง ภาพยนตร์บ่งบอกความเป็นตัวตนของลูกและกลุ่มเพื่อนของลูกด้วย ถ้าเขานำเสนอว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สนุก เราควรลองเปิดใจดูไปกับเขา เราอาจจะเข้าใจเขามากขึ้นว่า เขาโตไปมากแค่ไหนแล้ว และในบางครั้งที่เรานำเสนอภาพยนตร์ที่เราชอบให้ลูกดู ลูกอาจจะมีเรื่องมาคุยกับเรามากขึ้น ถือเป็นความอบอุ่นในบ้านที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเราสร้างกำแพงขึ้นมาแล้วห้ามไปเสียทุกอย่าง ลองเปิดใจอาจจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นด้วย”


“ส่วนการที่ลูกอินกับหนังซูเปอร์ฮีโร่หรือการ์ตูนที่ชอบ เช่น ดาบพิฆาตอสูร แล้วให้พ่อแม่เล่นบทบาทสมมุติ การเล่นบทบาทสมมุติ นี่เป็นเรื่องที่ปกติดีแล้วสำหรับเด็ก ถือเป็นขั้นแรกก่อนการเข้าสู่สังคม ซึ่งเด็ก ๆ จะใช้การเล่นบทบาทสมมุติเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และก็การรับรู้ตัวตนของเขาด้วย ดังนั้นในการเล่นบทบาทสมมุติอะไร เช่น บางคนอยากเป็นฮีโร่ ขณะที่บางคนอยากเป็นผู้ร้าย บุคลิกของเด็ก ๆ จะเป็นตัวตัดสินว่าเขาจะเลือกเป็นตัวละครแบบไหน ซึ่งเขาจะยึดติดกับตัวละครนั้นไปช่วงหนึ่ง ยิ่งเขาอยากเป็นตัวละครที่เด่นเท่าไร นั่นแปลว่าเขาอยากเป็นคนสำคัญ อยากเป็นที่ต้องการ และอยากมีคุณค่า แต่บางครั้งถ้าเขาเลือกที่จะเป็นตัวประกอบ หรือผู้ช่วยก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเด็ก ๆ หลายคนก็มีความเป็นตัวของตัวเอง เราแค่เรียนรู้ และเล่นไปกับเขา” 


วิชาภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้


ปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศได้บรรจุวิชาภาพยนตร์ไว้ในหลักสูตรการเรียนขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อได้รับคำถามว่า เราควรบรรจุวิชาภาพยนตร์ไว้ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานหรือไม่ เมริษา อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ตอนนี้การเรียนออนไลน์น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความตึงเครียด ทั้ง พ่อแม่ ลูก และคุณครู ตรงนี้แหละ ภาพยนตร์อาจจะเข้ามามีส่วนช่วยให้กับครูและที่บ้านได้ด้วย ขอเน้นไปที่เด็กโตที่ต้องเรียนออนไลน์ ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง ถ้าเราเลือกขึ้นมาเป็นตัวเปิดพูดคุย หรือเรารู้ว่าเราจะสอนเด็กเรื่องอะไร  เราสามารถเลือกภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้น เพื่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจก่อน มันทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าสิ่งที่เขากำลังจะเรียนต่อไปนี้ มันสามารถไปต่อยอดอะไรได้บ้าง เราสามารถทำให้เด็กเห็นมิติต่าง ๆ จากการดูภาพยนตร์ได้ และจะช่วยให้เขาอยากจะเรียนรู้มากขึ้น ในเด็กบางคนภาพยนตร์อาจจะทำให้เด็กเปลี่ยนชีวิตไปเลยก็ได้ จะมีหลักการหนึ่งทางจิตวิทยาที่บอกว่า ถ้าเด็กได้เห็นตัวละครที่เริ่มจากจุดที่ใกล้เคียงกับเขา จุดที่ไม่มีอะไรเลย หรือจุดที่อาจจะแย่กว่าเขาด้วย แล้วได้เห็นพัฒนาการ การเติบโตของตัวละครผ่านภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เด็กจะมีแรงบันดาลใจหรือรู้สึกดี ๆ ว่าเขาก็สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้ แต่ในเชิงของการบำบัด ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องอาจช่วยให้เกิดการเยียวยาจิตใจบางอย่างได้ โรงเรียนมักจะมีหนังสืออ่านนอกเวลา เราน่าจะมีภาพยนตร์ดูนอกเวลา เพราะว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ที่หลาย ๆ บ้านสามารถทำร่วมกันได้”


ธิดา เล่าเสริมต่อในเรื่องของการศึกษาวิชาภาพยนตร์ที่ต่างประเทศว่า "ในต่างประเทศจะมีเว็บไซต์ที่เป็นคู่มือของคุณครู ซึ่งจะมีหมวดภาพยนตร์ ยกตัวอย่างหนังที่ Doc Club มี คือเรื่อง Gayby Baby เป็นสารคดีจากออสเตรเลีย ซึ่งเขาก็ได้ทำคู่มือของหนังตัวเองเพื่อให้ครูใช้ สำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นกราฟิก เกม หรือคำถาม คิดว่าหนังไทยเองก็มีหลายเรื่องที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ ถ้าเรามีสิ่งนี้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้คู่กับหนังบางเรื่องได้ให้กับครู คิดว่าหนังจะถูกใช้ในแง่ประโยชน์นี้ได้ดีมาก ๆ”


 

ภาพ: กิจกรรมโรงหนังโรงเรียน


นิศานาถ อธิบายเพิ่มเติมถึงการทำคู่มือของโรงหนังโรงเรียนว่า “เป้าหมายหลักของเราแค่ต้องการใช้สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมตัวอย่างให้ครูเอาไปใช้ ดังนั้นการทำคู่มือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในตัวคู่มือก็จะเป็นการเล่าเนื้อเรื่องทั้งหมด ให้ครูอ่านเพื่อทำความเข้าใจ ว่าหนังเรื่องนี้มีประเด็นอะไรบ้าง สามารถดึงประเด็นไปคุยกับเด็กได้บ้าง สิ่งที่เรากำลังทำในปีนี้ จริง ๆ เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-19 จากปีที่แล้วด้วย คือเราพัฒนาคู่มือนี้ให้ถูกเอาไปใช้ได้ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งจะพยายามให้สำเร็จเร็ววันนี้ และก็เห็นด้วยมาก ๆ ว่าประเทศไทย ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ถ้าเกิดเราสามารถทำให้วงการภาพยนตร์ ผลักดันการทำหนังและทำคู่มือควบคู่กันมาด้วยจะดีมาก ๆ หรือมีการใช้ภาพยนตร์อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนจริง ๆ ในระบบการศึกษา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับการเรียนรู้ของเด็กไทย” 


สามารถรับชมวิดีโอฉบับเต็มของกิจกรรมได้ที่: https://fb.watch/7v902BwDQ6/

สามารถดาวน์โหลดคู่มือโรงหนังโรงเรียนไปอ่านได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/information/ebook 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด