สวง ว่องสุภัคพันธุ์ ผู้บุกเบิกการทำซับไตเติ้ลในเมืองไทย

 จากโน้ตกระดาษชิ้นเล็ก ๆ พาให้มาพบกับ เครื่องตอกซับไตเติ้ลในตำนาน

-----------


โดย มานัสศักดิ์ ดอกไม้ 

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 16 ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2556


บ่ายวันหนึ่งที่อากาศร้อนมาก ๆ หน่วยกู้หนังได้รับโน้ตเป็นกระดาษ  ชิ้นเล็ก ๆ จากงานประชาสัมพันธ์ ว่าจะมีผู้บริจาคเครื่องตอกซับไตเติ้ลให้แก่หอภาพยนตร์ หน่วยกู้หนังจึงรีบประสานกลับไปในทันทีตามเบอร์ โทรศัพท์ที่ให้ไว้ ซึ่งก็ได้พบกับ คุณกรกนก ธีระดากร ผู้ดูแลเครื่องทำซับไตเติ้ลของบริษัทฟิฟธ ไดเมนชั่น จึงได้วางแผนนัดหมายกันว่าจะเข้าไป สำรวจปริมาณสิ่งของ เพื่อคำนวณการขนย้ายได้ถูกต้อง ถัดจากนั้นไม่กี่วันหน่วยกู้หนังก็ได้ไปถึงบริษัทฟิฟธ ไดเมนชั่น ซึ่งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร เป็นทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น ชั้นแรกด้านหน้าเป็นห้องตอกซับไตเติ้ล ส่วนด้านหลังต่อเติมเป็นห้องมืดไว้สำหรับถ่ายตัวอักษรลงบนแผ่นฟิล์ม และ ฉายแสงลงบนแผ่นทองแดง ชั้นสองเป็นห้องฟังหนังด้วยเครื่อง STEENBECK (เครื่องสำหรับเช็คภาพ และเสียงของฟิล์มภาพยนตร์) ใช้ตรวจบทภาษาไทย-อังกฤษ และชั้นสามเป็นห้องเก็บฟิล์มภาพยนตร์และบทภาพยนตร์ จากกระดาษชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นนั้น ทำให้หน่วยกู้หนังพบกับเครื่องตอกซับไตเติ้ล และที่สำคัญคือการได้พบ คุณตาสวง ว่องสุภัคพันธุ์ ผู้บุกเบิกการทำซับ  


คำบรรยายภาพยนตร์...  

จุดเล็ก ๆ บนแผ่นฟิล์มที่เชื่อมโยงคนท้องถิ่น ให้เข้าใจความหมายของโลกภาพยนตร์ 



หน่วยกู้หนังขอเข้าพบคุณตาสวง เพื่อรับฟังเรื่องราวในอดีตของ การทำซับไตเติ้ลในเมืองไทย คุณตาสวงเล่าให้ฟังว่า คุณตาเกิดที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2484 เพียงหนึ่งวันก่อนทหารญี่ปุ่นบุกเกาะฮ่องกง  ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนไปเติบโตที่กวางเจา  


หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง วงการภาพยนตร์ทั่วโลกเกิด สภาวะขาดแคลนภาพยนตร์ เนื่องจากพิษภัยของสงคราม วงการหนังในประเทศจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะไม่มีหนังใหม่ ๆ ป้อนเข้าสู่ตลาด ในขณะที่ผู้คนต่างต้องการเรื่องบันเทิงเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังสงคราม จึงมีการสั่งหนังต่างชาติเข้ามาดู แต่น้อยคนนักที่จะฟังภาษาต่างชาติรู้เรื่องชาวรัสเชียขาวที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้จึงได้ริเริ่มทำคำบรรยายลงบนแผ่นฟิล์มเพื่ออธิบายให้คนพื้นเมืองเข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์  


ในขณะนั้น วงการหนังที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก มิสเตอร์ Kong Cho Yee น้าชายของคุณตาสวง ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์บรอดเวย์ที่ฮ่องกง จึงได้นำเอาเทคนิคการทำซับไตเติ้ลจากเซี่ยงไฮ้กลับมาที่ฮ่องกง โดยคุณตาสวงซึ่งอยู่ที่กวางเจาได้เดินทางเข้ามาช่วยน้าชายทำคำบรรยายที่ฮ่องกง เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักทำซับไตเติ้ล 


ภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำ ในการทำคำบรรยาย ของคุณตาสวง ว่องสุภัคพันธุ์ 


สะพานข้ามแม่น้ำแคว THE BRIDGE ON THE RIVER KWAI  


- เป็นหนังเรื่องแรกที่คุณตาสวงได้ทำคำบรรยายในเมืองไทย ฉายที่โรง ภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย 


โตร่า! โตร่า! โตร่า! Tora ! Tora ! Tora! 


- เป็นหนังที่ต้องใส่ คำบรรยายมาก ถึง 3 ชั้น คือ ไทย  จีน และอังกฤษ ต้องใช้ฝีมือในการบีบตัวอักษร 3  ภาษา ให้อยู่เฟรมเดียวกันให้ได้ คุณตาสวงเล่าให้ฟังว่า พอใส่แล้วก็เกือบไม่เห็นหน้านายพลยามาโมโต้  ฉายที่โรงภาพยนตร์สยาม 


ขุมทองแมคเคนน่า MACKENNA’ S GOLD 


- เป็นหนัง 70 มม. เรื่องแรกที่คุณตาสวงได้ทำคำบรรยาย ฉายที่โรงภาพยนตร์ลิโด 


คำบรรยายภาพยนตร์เข้ามาในเมืองไทย 


กล่าวถึงวงการภาพยนตร์ในเมืองไทย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2503  ตัวชูโรงที่ช่วยให้เกิดอรรถรสในการชมภาพยนตร์ต่างประเทศนั้น คือนัก พากย์และการฉายสไลด์คำบรรยายขึ้นจอ แต่การพากย์หนังยังมีข้อจำกัด เพราะต้องคอยลดเสียงของหนังลง ขณะทำการพากย์ทับ ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ยินเสียงต้นฉบับของภาพยนตร์ ส่วน การฉายสไลด์คำบรรยายที่เป็นการนำแป้งมาทาที่กระจกแล้วเขียนเป็นตัวหนังสือฉายขึ้นจอนั้นก็มีปัญหาคือ คำบรรยายจะขึ้นช้ากว่าภาพทำให้ภาพและคำบรรยายไม่ตรงกันกลายเป็นเทคนิคที่ล้าสมัย คุณพิสิษฐ์ ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังศาลาเฉลิมไทยและเป็นตัวแทน บริษัทภาพยนตร์ ยูนิเวอร์แซล ในขณะนั้น จึงได้ชักชวนมิสเตอร์ Kong Cho  Yee น้าชายของคุณตาสวง ผู้เป็นเพื่อนสมัยเรียนที่โรงเรียน St.Stephen  ที่ฮ่องกง มาตั้งบริษัทสุริยภาพยนตร์ขึ้นในปี 2503 จัดทำคำบรรยายตัวอักษรไทยลงบนแผ่นฟิล์ม อยู่ในเครือของบริษัทไทยฟิล์ม โดยให้คุณตาสวง ซึ่งตอนนั้นอายุ 21 ปี เดินทางมาจากฮ่องกงเพื่อมาเป็นผู้จัดการบริษัทสุริยภาพยนตร์และได้เริ่มทำคำบรรยายในเมืองไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การทำซับไตเติ้ลในยุคแรก ๆ นั้น แบ่งเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทยจะอยู่แถวบนและภาษาจีนจะอยู่แถวล่าง เหตุที่มีบรรยายจีน เนื่องจากสมัยนั้นคนจีนชอบดูหนังเป็นจำนวนมาก ซึ่งระหว่างทำงาน คุณตาสวง ได้ไปเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนสหคุณวิทยา ถนนสุรวงศ์ เพราะจะต้องแปลทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นไทย เมื่อเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ศึกษาเพิ่มเติมจากการแปลคำบรรยายภาพยนตร์ ทำให้ทุกวันนี้คุณตาสวงสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้  


ปี 2517 คุณตาสวง และ คุณกำพล ตันสัจจา ได้แยกตัวออกมาเปิด บริษัทซีเนแอด สยาม รับงานโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ต่อมาในปี 2520 คุณตาสวงได้ร่วมก่อตั้งบริษัท ซีเนคัลเลอร์ แล็บ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท SHAW BROTHERS HONG KONG และ บริษัท BORNEO ประเทศไทย เป็นแล็บล้างและพิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์ ปี 2522 บริษัท ซีเนคัลเลอร์ แล็บ ได้ส่งคุณตาสวงไปเรียนที่ห้องแล็บ บริษัท Far East Lab ด้านเทคนิคพิเศษ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 เดือน 


จากนั้น ปี 2525 คุณตาสวงได้แยกออกมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อรับทำเฉพาะซับไตเติ้ลเพียงอย่างเดียว ตั้งชื่อว่า บริษัทฟิฟธ ไดเมนชั่น สื่อความหมายว่าเป็นมิติที่ 5 ของภาพยนตร์ โดยยุครุ่งเรืองของการทำซับไตเติ้ลนี้ อยู่ในช่วง ปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ชมเริ่มหันมาดูหนังเสียงในฟิล์มมากขึ้น กิจการบริษัทฟิฟธ ไดเมนชั่น เปิดดำเนินการมาจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2556 ก่อนปิดฉากตำนานการตอกซับไตเติ้ลแห่งสุดท้ายในเมืองไทยรวมอายุได้ 53 ปี 



“ปรัชญาในการทำงาน ของคุณตาสวงคือ ต้องมีความน่าเชื่อถือ  มีจรรยา คบคนต้องมีแต่ให้  ไม่เคยเอาเปรียบใคร”


ขั้นตอนการทำงานของแผนกซับไตเติ้ล พิมพ์คำบรรยายบนฟิล์มภาพยนตร์ ฉบับย่อ  

โดย นายมนัส กลิ่นบัวแก้ว ผู้ให้ข้อมูล 

1.  นำบทภาพยนตร์มาแบ่งให้เป็นประโยค เรียกว่า พิมพ์การ์ด

2. นำพิมพ์การ์ดไปถ่ายลงบนฟิล์ม เมื่อล้างฟิล์มเสร็จแล้ว จะได้เป็นภาพ ตัวอักษรของพิมพ์การ์ดบนแผ่นฟิล์ม 

3. ทากาวลงบนแผ่นทองแดงให้ทั่ว แล้วนำแผ่นฟิล์มที่ได้มาประกบกับแผ่น ทองแดง เพื่อนำไปฉายแสง 

4. เมื่อแสงผ่านตัวอักษรสีขาวบนแผ่นฟิล์ม จะทำให้แผ่นทองแดงที่ประกบ อยู่ด้านหลังปรากฏตัวอักษรสีดำ 

5. ใช้น้ำยากัดแผ่นทองแดง กัดส่วนที่ไม่โดนแสงออกไป จะเหลือเฉพาะ ตัวอักษร  

6. ใช้ยางมะตอยทาบนตัวอักษร แล้วใช้น้ำยากัดอีกครั้งหนึ่ง น้ำยาจะกัด ลึกลงไปอีก จนเห็นเป็นฐานตัวอักษร  

7. เขียนเบอร์บนแผ่นทองแดงเพื่อนำไปตัดเป็นบล็อก จากแผ่นใหญ่ซอย ให้เป็นแถว และจากเป็นแถวซอยเป็นบล็อก แล้วเรียงบล็อกตามเบอร์ที่ เขียนไว้ 

8. นำฟิล์มภาพยนตร์ไปผ่านน้ำยาเคลือบก่อน แล้วใช้เครื่องทำซับไตเติ้ล ตอกตัวอักษรลงบนแผ่นฟิล์มตามเบอร์ที่กำหนดไว้ ก็จะได้ฟิล์มภาพยนตร์ ที่มีคำบรรยายใต้ภาพ 



ตัวอย่างบัญชีรายชื่อสิ่งของ ที่ บริษัทฟิฟธ ไดเมนชั่น จำกัด มอบให้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 

1.เครื่องมือเครื่องใช้ในการตอกซับไตเติ้ล ชุดสมบูรณ์แบบ  

2. เครื่องซอยบล็อก (ตัดแผ่นทองแดงให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ)  

3. เครื่องตัดบล็อก 

4. เครื่องกรอฟิล์ม 

5. เครื่องเทียบหนัง 

6. หมึกใช้สำหรับปิดฐานบล็อก 

7. เครื่องถ่ายฟิล์ม พร้อมกล้อง 

8. ยางมะตอย ที่ปัดฝุ่น พู่กัน 

9. เครื่อง STEENBECK 

10. เครื่องฉายหนัง 16 มม. 

11. ตัวอย่างฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม.




“ขอบคุณมากครับ..จากใจเลยคุณตา เครื่องตอกซับไตเติ้ลของคุณตาช่วยให้โลกของการดูหนังของหลานมีความสุขมากครับ”


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด