แนะนำ 4 หนังสือในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่จะพาท่านไปย้อนประวัติศาสตร์หนังลาตินอเมริกา
---------
โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 65 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2564
ภูมิภาคลาตินอเมริกา หรืออเมริกากลาง-ใต้ ที่ใช้ภาษาสเปนหรือโปรตุเกส กลับมาอยู่ในความสนใจของนักดูหนังในช่วงนี้ด้วยสองสาเหตุ อย่างแรกคือการที่ภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบีย อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่น่ายินดีนัก คือข่าวไฟไหม้คลังเก็บฟิล์มของหอภาพยนตร์บราซิล อันเป็นโศกนาฏกรรมของงานอนุรักษ์ หอภาพยนตร์จึงชวนทุกท่านย้อนดูประวัติศาสตร์หนังลาตินอเมริกาผ่านหน้าหนังสือของห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี โดย 4 เล่มที่แนะนำเป็นตัวอย่างนี้ ครอบคลุมเนื้อหาหลายชาติ หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขุมทรัพย์หนังลาตินอเมริกาที่รอการค้นพบทั้งบนจอหนังและในหน้าหนังสือ
Mexico’s Cinema: A Century of Film and Filmmakers
ในบรรดาประเทศลาตินอเมริกา เม็กซิโกเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมภาพยนตร์ยาวนาน ต่อเนื่อง และอาจจะแข็งแรงที่สุด มียุคทองอันโดดเด่น มีแนวทางและลีลาชัดเจน รวมทั้งยังมีคนทำหนังชื่อดังระดับโลกจำนวนไม่น้อย หนังสือเล่มนี้ที่มี โจแอน เฮิร์ชฟีลด์ และ เดวิด อาร์. มาเซล เป็นบรรณาธิการ พาเราเดินทางผ่านการกำเนิดและวิวัฒนาการของภาพยนตร์จากประเทศเม็กซิโกได้อย่างครบถ้วน
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 12 บท และแยกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคกำเนิดภาพยนตร์และหนังเงียบในเม็กซิโก ตามมาด้วยยุคทอง ที่เริ่มตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1940 และสุดท้ายเป็นยุคหนังเม็กซิกันร่วมสมัย หนังสือเล่าว่า ภาพยนตร์เดินทางมาถึงเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1896 หรือปีเดียวหลังจากพี่น้องลูมิแอร์ประดิษฐ์ Cinematographe ในช่วงปฏิวัติเม็กซิกันระหว่าง ค.ศ. 1910-1920 ภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการบันทึกเรื่องราวและในการสร้างความรู้สึกร่วมในช่วงเวลาที่อัตลักษณ์ใหม่ของชาติกำลังถูกประกอบสร้างขึ้นผ่านวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ จากนั้นภาพยนตร์ในฐานะอุตสาหกรรมถือกำเนิดขึ้น และค่อย ๆ เติบโตเข้าสู่ยุคทอง ที่มีคนทำหนังเม็กซิกันหลายคนเดินทางกลับมาจากการไปทำงานที่ฮอลลีวูด และนำประสบการณ์กลับมาพัฒนาหนังท้องถิ่น มีดาราและผู้สร้างเกิดขึ้นมากมาย หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ตระกูลหนังหลายประเภทที่ช่วยสร้างวงการหนังเม็กซิกันให้คึกคักต่อเนื่อง ทั้งหนังรักชาติ หนังตลก และหนังประโลมโลก ที่ยังคงทรงอิทธิพลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังแจกแจงให้เห็นองค์ประกอบทางสังคมและมานุษยวิทยาต่าง ๆ เช่น เพศสภาพในหนังเม็กซิกัน เชื้อชาติในหนังและภาพแทนของชนพื้นเมือง (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในประเทศ) อิทธิพลและการแลกเปลี่ยนทางความคิดกับฮอลลีวูด อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งย้อนให้เห็นเส้นทางของผู้กำกับคนสำคัญอย่าง หลุยส์ บุนเยล, อเลฮานโดร กาลินโด และ อิสมาเอล โรดริเกซ
ในยุคร่วมสมัย หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการแสวงหา “ความเป็นเม็กซิกันที่แท้จริง” ผ่านภาพแทนของตัวละครในหนังหลายเรื่อง อีกทั้งยังพูดถึงหนังเม็กซิกันในความรับรู้ของคนดูทั่วโลกผ่านหนังดังอย่าง Like Water for Chocolate (1992) ของ อัลฟองโซ อาราว หรือ Cronos (1993) หนังช่วงต้นของผู้กำกับ กีเยร์โม เดล โตโร ที่ต่อมากลายเป็นผู้กำกับดังระดับรางวัลออสการ์ น่าเสียดายตรงที่หนังสือตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1999 และแทบไม่ได้พูดถึงผู้กำกับเม็กซิกันที่ต่อมาโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง อัลฟองโซ กัวรอง และ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์หนังเม็กซิกัน หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
Critical Essays on Colombian Cinema and Culture
โคลอมเบียเป็นประเทศที่โด่งดังเพราะนักเขียนและงานวรรณกรรม เช่น กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่นักอ่านรู้จักกันดี แต่นี่อาจจะไม่ใช่ประเทศที่มีหนังดังให้เรารู้จักมากนัก หนังสือ Critical Essays on Colombian Cinema and Culture ที่มี ฮวนนา ซัวเรซ เป็นบรรณาธิการ ยอมรับถึงความจริงข้อนี้ที่ว่าภาพยนตร์โคลอมเบียไม่ได้โดดเด่นที่จำนวนหรือความต่อเนื่อง และยังรายงานตั้งแต่เริ่มต้นอีกว่า การพัฒนาวงการภาพยนตร์โคลอมเบียประสบปัญหาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจาสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มกบฏและกองทัพรัฐบาลที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน (และเพิ่งยุติไปเมื่อไม่กี่ปีนี้) ถึงกระนั้นประเทศเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลแคริบเบียนแห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ยืนยาว สามารถสะท้อนให้เห็นสภาวะทางสังคมและปัจจัยการเมืองที่ร่วมกำหนดเส้นทางของประเทศ
หนังสือเริ่มต้นจากยุคหนังเงียบของโคลอมเบีย และการที่ภาพยนตร์เข้ามาสู่โคลอมเบียพร้อม ๆ กับทำให้เกิดแรงเสียดทานระหว่าง “ความเป็นสมัยใหม่” ที่โลกกำลังดำเนินไปสู่ และ “ความป่าเถื่อน” ที่ยังหลงเหลืออยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หนังสือเล่มนี้ยังบอกว่า การแสดงภาพความรุนแรงและการต่อสู่ระหว่างอิทธิพลต่าง ๆ เริ่มก่อตัวเห็นชัดตั้งแต่ยุคหนังเงียบ และดำเนินต่อเนื่องมาถึงหนังในปัจจุบัน การอ่านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของโคลอมเบียยังควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ La violencia หรือการลอบสังหารผู้นำพรรคเสรีนิยมในปี ค.ศ. 1948 ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคมและศิลปินต่อเนื่องยาวนาน และทำให้เกิดหนังแอ็กชันจำนวนมากที่มีฉากหลังเป็นชนบทห่างไกล หนังสือเล่มนี้ยังวิเคราะห์ตระกูลหนังที่เป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า Tropical Gothic หรือโกธิคเขตร้อน ซึ่งมักมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว การสมสู่ในหมู่ญาติ และแรงกดดันของสังคม ที่สะท้อนถึงอดีตของการตกเป็นอาณานิคมของสเปน ปัญหาเชื้อชาติ รวมทั้งความลำบากของแรงงานในไร่อ้อย นอกจากนี้ยังมีบทหนึ่งที่อุทิศให้กับการวิเคราะห์การแสดงภาพความรุนแรงในหนังโคลอมเบียโดยเฉพาะ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับวงการมาเฟียยาเสพติด และที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมือง
The Post-Dictatorship Generation in Argentina, Chile and Uruguay: Collective Memory and Cultural Production
ต่อกันที่ The Post-Dictatorship Generation in Argentina, Chile and Uruguay: Collective Memory and Cultural Production โดย อนา รอส หนังสือเล่มนี้ตอกย้ำว่าการศึกษาภาพยนตร์ลาตินอเมริกาจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองหลังยุคอาณานิคมของทวีปที่ถูกชโลมด้วยหยาดเหงื่อและคราบเลือดดังที่ชื่อหนังสือว่าไว้ นี่คือบทวิเคราะห์การแสดงออกทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัย ในช่วงหลังยุคการปกครองโดยเผด็จการทหาร ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องถึงปลายทศวรรษ 1980
ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้เจาะจงศึกษาเฉพาะภาพยนตร์เท่านั้น แต่พยายามสืบค้นความทรงจำร่วมของผู้คนในประเทศทั้งสาม ที่เติบโตขึ้นในระหว่างหรือหลังยุคของความโหดร้ายและการลิดรอนเสรีภาพ การลักพาตัวฝ่ายต่อต้านและการซ้อมทรมาน ผ่านทั้งหนัง สารคดี วรรณกรรม และหนังสือการ์ตูน อย่างไรก็ดีหนังสือเล่มนี้วิเคราะห์งานภาพยนตร์ที่สำคัญ เช่น สารคดี Where Were You When History Was Happening? (2007) และ Lamb of God (2008) ที่ว่าด้วยเรื่องของประเทศอาร์เจนตินา Volver a vernos (2002) สารคดีจากชิลีว่าด้วยนักศึกษาที่เติบโตขึ้นในช่วงการปกครองของ นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ นายทหารที่ทำการปฏิวัติโค่นนักการเมืองฝ่ายซ้าย ซัลวาดอร์ อัลเยนเด ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และสารคดี La quemadura (The Burn) (2009) จากอุรุกวัย หนังเหล่านี้มักพูดถึงบาดแผลทางใจ ภาวะลืมไม่ลงแต่ไม่อยากจดจำ ความรู้สึกผิดบาป และร่องรอยความบอบช้ำทางอารมณ์ของผู้คนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการที่หนังเหล่านี้นำเสนอ “เรื่องเล่า” และชุดความจริงที่เคยถูกปิดบังหรือผลักไสให้ไม่มีที่ทางโดยระบอบเผด็จการที่ต้องการควบคุมประวัติศาสตร์ และบังคับให้ “ความจริง” หมายถึงเรื่องเล่าจากฝั่งของตัวเองเท่านั้น
The Brazilian Road Movie
หนังสือเล่มสุดท้าย The Brazilian Road Movie มี ซารา แบรนเดลเลโร เป็นบรรณาธิการ รวบรวมบทความวิเคราะห์ภาพยนตร์ในตระกูลโรดมูฟวี หรือหนังที่ตัวละคร (มักจะเป็นผู้ชาย) ขับรถท่องไปและประสบเรื่องราวระหว่างการเดินทาง แนวคิดของหนังสือเล่มนี้ คือการพยายามวิเคราะห์บริบทและปรัชญาของหนังโรดมูฟวีแบบบราซิล เทียบเคียงกับหนังตระกูลเดียวกันจากฮอลลีวูด เช่น Easy Rider ที่เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณกบฏและการต่อต้านสังคมศีลธรรม และหนังโรดมูฟวีของยุโรป ซึ่งมีความลึกซึ้งในเชิงความคิดและการตกผลึกของตัวละคร
หนังสือเล่าตั้งแต่หนังโรดมูฟวียุคแรกของบราซิล ประมาณทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่เดินทางเสาะสำรวจภูมิศาสตร์ของประเทศ ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ จากนั้นในบทต่อ ๆ ไป เป็นการเล่าถึงหนังโรดมูฟวีเรื่องสำคัญเช่น Bye Bye Brasil (1979) ซึ่งเป็นหนังมีกรอบคิดแบบหลังอาณานิคม นอกจากนี้หนังสือยังวิเคราะห์หนังสามเรื่องของ วอลเตอร์ ซาลเลส ผู้กำกับบราซิลที่คนดูหนังทั่วโลกรู้จักดี หนังดังของเขาสามเรื่อง ได้แก่ Foreign Land (1995) Central Station (1998) และ The Motorcycle Diaries (2004) ทั้งสามเรื่องเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การแสวงหาชะตาชีวิตใหม่ และการพบเจอผู้คนในดินแดนต่างบ้านต่างเมืองอันนำมาซึ่งการตัดสินใจสำคัญในชีวิต
หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ ท่านสามารถหาอ่านได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเมื่อไรจะเปิดให้ท่านได้ใช้บริการกันอีกครั้ง