สรุปสาระสำคัญจากการประชุมสัมมนาวิชาชีพประจำปีของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก หรือ SEAPAVAA เมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
----------
โดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี
เมื่อปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลก ทำให้สมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (Southeast Asia-Pacific Audiovisual Archive Association - SEAPAVAA) จำเป็นต้องยกเลิกการการประชุมสัมมนาวิชาชีพประจำปีของหน่วยงานไป
ในปี 2564 นี้ ซึ่งถือเป็นการครบรอบ 25 ปีที่สมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาแต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น คณะกรรมการบริหารสมาคมจึงมีมติให้จัดการประชุมสัมมนาวิชาชีพประจำปีในรูปแบบออนไลน์ โดยยังคงใช้หัวข้อการประชุมจากครั้งที่แล้วที่ถูกยกเลิกไป คือ AV Archiving in Changing Times: Successes, Failures, and Challenges (การอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน: ความสำเร็จ ความล้มเหลว และความท้าทาย) โดยเจ้าภาพการจัดการประชุมครั้งนี้คือ สถาบันภาพยนตร์เวียดนาม (Vietnam Film Institute) ซึ่งดำเนินการจัดการประชุมในพื้นที่จริงในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ช่วยเป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดประชุมทางออนไลน์
การจัดประชุมสัมมนาวิชาชีพครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2564 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสมาคมที่จัดงานในรูปแบบผสมผสาน โดยผู้เข้าร่วมฟังสามารถรับฟังได้ผ่านระบบ Zoom Webinar และ Facebook Live ของสมาคม สำหรับสาระเนื้อหาการประชุมวิชาชีพโดยสังเขป มีดังนี้
วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2564
การประชุมสัมมนาวิชาชีพเปิดด้วย การบรรยายปาฐกถาโดย Linda Tadic ผู้บริหารสูงสุดจากบริษัท Digital Bedrock โดยหัวข้อการบรรยายของเธอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 1 เรื่องกรณีศึกษาของการจัดการการเปลี่ยนแปลง (การบริหาร, การเป็นผู้นำ, การปกครอง และเทคโนโลยี) ภาค 1 (Case Studies of Change Management (Administrative, Leadership, Political, Technological) Part 1) Le Tuan Anh เจ้าหน้าที่ของสถาบันภาพยนตร์เวียดนาม นำเสนอเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและความท้าทายที่หน่วยงานสถาบันภาพยนตร์เวียดนามต้องเผชิญ และ Kurniawan Budi Santoso จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอินโดนีเซีย บรรยายถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรเพื่ออนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการหน่วยงานภายใน บุคลากร นโยบาย และงบประมาณ (่อ่านรายละเอียดการบรรยายได้ที่ <<คลิก>>)
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 2 เรื่องกรณีศึกษาของการจัดการการเปลี่ยนแปลง (การบริหาร, การเป็นผู้นำ, การปกครอง และเทคโนโลยี) ภาค 2 (Case Studies of Change Management (Administrative, Leadership, Political, Technological) Part 2) Nancy Eyers และ Jacqui Uhlmann จากหอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติออสเตรเลีย บรรยายถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงและอนาคตต่อไปภายหน้าของหน่วยงาน ในช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีผลกระทบอย่างมากต่องานอนุรักษ์ และ Innocent Mankhwala บรรยายเรื่องปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในหอจดหมายเหตุชาติมาลาวี
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 3 เรื่องความสามารถในการปรับตัวของหอจดหมายเหตุในช่วงเวลาความท้าทายและโอกาส ภาค 1 (Adaptability of Archives in Times of Challenges and Opportunities Part 1) Anne Couteux และ Eleonore Alquier จากสถาบันหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์แห่งชาติฝรั่งเศส บรรยายถึงการจัดการข้อมูลจำนวนมากที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อตั้ง ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยผ่านโปรแกรมจัดการข้อมูลที่หน่วยงานคิดค้นขึ้น โดยผู้เขียนและเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ฯ ได้ร่วมบรรยายถึงการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น และสรุปบทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้หอภาพยนตร์ฯ เมื่อเดือนกันยายน 2562
วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 4 เรื่องงานจดหมายเหตุและชุมชน (Archiving and the Community) Klavier Jie Ying Wang จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก บรรยายเรื่องการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์จากโทรทัศน์เคเบิลของจีนที่ออกอากาศในชุมชนชาวจีนในนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของสื่อโสตทัศน์ของชนกลุ่มน้อยในอเมริกา Iyra Buenrostro-Cabbab จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ นำเสนอเรื่องการปรับตัวขององค์การศึกษาด้านหอจดหมายเหตุ เพื่อเชื่อมโยงบัณฑิตให้ตอบสนองต่อความต้องการในสังคมฟิลิปปินส์ และ Aileen Boubou จากหอสมุดและหอจดหมายเหตุแห่งชาติกีรีบาติ นำเสนองานจดหมายเหตุและการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ของหมู่เกาะแปซิฟิกต่าง ๆ ที่หน่วยงานของเธอรับผิดชอบ
การบรรยายของ Adrian Wood ซึ่งได้รับรางวัล SEAPAVAA Fellowship Award เมื่อปี 2562 เรื่องนโยบายบทที่ 1 ไฟไหม้, น้ำท่วม และโรคระบาด? (Policy#1 Fire, Flood & Pestilence?) โดยบรรยายเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ในงานจดหมายเหตุ และการพยายามปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ตลอดระยะเวลาที่เขาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 5 เรื่องการสะท้อนความท้าทายของงานจดหมายเหตุ (Reflections on Archival Difficulties) Ray Edmondson ได้สะท้อนบทเรียนของหอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้วยปัจจัยนานัปการ และส่งผลต่อการบริหารจัดการภายในและการบริหารงานบุคคล Nobuki Yoshiyama จากสถานี NHK นำเสนอบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวอันเกิดจากการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจวบจนถึงปัจจุบัน Norsuriaty binti Awang Hassim จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเลเซีย บรรยายถึงความท้าทายของงานจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ในมาเลเซีย และกลยุทธ์ของหน่วยงานเพื่อก้าวข้ามความปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
ปิดท้ายวันที่สอง ด้วยการเสวนาเปิดตัวหนังสือ Keeping Memories: Cinema and Archiving in Asia-Pacific ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเขียนจากนักอนุรักษ์และนักวิชาการ เกี่ยวกับหอจดหมายเหตุภาพยนตร์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในการเสวนามีการเชิญตัวแทนผู้เขียนมาร่วมพูดคุย Dina Iordanova จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์, Gina Marchetti จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง Nadi Tofighian มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม และ Karen Chan หอภาพยนตร์เอเชีย ดำเนินรายการโดย Nick Deocampo บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้
วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 6 เรื่องความสามารถในการปรับตัวของหอจดหมายเหตุในช่วงเวลาความท้าทายและโอกาส ภาค 2 (Adaptability of Archives in Times of Challenges and Opportunities Part 2) Lydia Tang จากองค์กร LYRASIS นำเสนอข้อมูลและแผนการช่วยเหลือผู้ทำงานด้านจดหมายเหตุในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 Fang Han จากหอจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์เซี่ยงไฮ้ นำเสนอแพลตฟอร์มของหน่วยงานที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่สื่อโสตทัศน์ให้สาธารณชนได้เข้าถึงจากทุกมุมโลก และ Christine McKenzie ประธานสมาพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติ นำเสนอสิ่งที่ห้องสมุดต้องปรับการทำงานและการให้บริการของหน่วยงานในสภาวะโรคระบาด
การประชุมสัมมนาช่วงที่ 7 เรื่องการช่วยเหลือและร่วมมือกันระหว่างหอจดหมายเหตุ (Collaboration and Cooperation in Archives) Matthew Yang จากหอภาพยนตร์เอเชีย ที่นำเสนอกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้บรรลุภารกิจของหน่วยงานอนุรักษ์ Joshua Harris จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ นำเสนอการบริหารจัดการโครงการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์จากรายการวิทยุ โดยความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทเจ้าของสถานี และ Michelle Deloria, Rosemarie Roque และ Iyra Buenrostro-Cabbab ที่นำเสนอโครงการจิตอาสาของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาด้านหอจดหมายเหตุเข้าไปช่วยดำเนินการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ที่สำคัญ ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์
การประชุมสัมมนาวิชาชีพ ปิดท้ายด้วยการเสวนาสรุปการประชุม โดยมี Ray Edmondson ผู้ก่อตั้งสมาคม, Karen Chan, Joshua Ng จากหอจดหมายเหตุนิวซีแลนด์ และผู้เขียน ที่ช่วยกันสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมเสวนาวิชาชีพตลอดทั้งสามวันที่ผ่านมา
การประชุมสัมมนาวิชาชีพของสมาคมโดยวิธีออนไลน์ในปีที่สมาคมมีอายุครบรอบ 25 ปีนี้ ถือเป็นบทบันทึกสำคัญที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสมาคม เพราะภาวะโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับหน่วยงานอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ในหลาย ๆ ที่ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดำเนินกิจกรรมและพันธกิจต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้เจอกันจริง ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่งของสมาคมที่จะต้องคงกิจกรรมและความสัมพันธ์กับเพื่อนสมาชิกให้แน่นแฟ้นแบบเดียวกับในสภาวะปกติให้ได้
ในขณะที่ผู้เขียนเขียนต้นฉบับบทความนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ก็ยังยากเกินกว่าจะทำนายได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ย่อมมีผลกระทบต่อกิจกรรมของสมาคมที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างแน่นอน หอภาพยนตร์ฯ จะนำความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมารายงานให้ท่านผู้อ่านทราบต่อไป