โดย วิมลิน มีศิริ
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 66 ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ. 2564
The director ฉากชีวิต..บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ เพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้กับผู้มาร่วมงานวันอาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ควรได้รับการบันทึกในตำนานประวัติศาสตร์หนังไทยในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผลิตผลงานแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยหนังของเขามีเนื้อหาสะท้อนการเดินทางของยุคสมัยและวุฒิภาวะของสังคม หนังสือเล่มนี้บันทึกชีวิตของบัณฑิตไว้อย่างครบถ้วน เขียนโดย ธนธรณ์ ฤทธิ์ถกล บุตรสาวคนเดียวของเขา
ในสามบทแรก (ฉากที่ 1-3) ธนธรณ์เล่าเรื่องตั้งแต่บัณฑิตแรกเกิดถึงช่วงเริ่มเข้าสู่วงการหนังไทย ซึ่งธนธรณ์เขียนเรียบเรียงแต่ละบทต่อเนื่องตามลำดับเวลา บัณฑิตเริ่มวัยเรียนที่โรงเรียนประสาทวิทย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และย้ายเป็นนักเรียนแบบอยู่ประจำ ป.1 ถึง ม.ศ.3 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ เรียนจบเมื่อ พ.ศ. 2512 บัณฑิตจัดตั้งบริษัท Ten Brands ร่วมกับเพื่อนทั้งหมด 9 คน รับทำงานจิปาถะตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างพิมพ์ ส.ค.ส. ยันออกแบบสร้างตึก โดยบัณฑิตรับผิดชอบแผนกโฆษณา จนกระทั่งผันตัวเองไปทำงานประจำเป็นพนักงานร่างจดหมายโต้ตอบภาษาอังกฤษ พนักงานเขียนคำโฆษณา รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาโฆษณา ภาษาอังกฤษ การขาย ในโรงเรียนพาณิชย์ 2-3 แห่ง หลังจากนั้นเปลี่ยนอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ 3 ที่ ระหว่างทำงานคอลัมนิสต์กับหนังสือพิมพ์ชาวไทย บุญสิทธิ์ วิบูลย์ลาภ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ โบตั๋น (2518) ได้ชักชวนบัณฑิตให้มาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อได้เริ่มเขียนบท บัณฑิตขอเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ จากนั้นเขารับทั้งงานเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น เดียมห์ (2519) เสือภูเขา (2522) ทอง ภาค 2 (2522) ผ่าปืน (2523) รักข้ามคลอง (2524) ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. (2525) ฯลฯ บัณฑิตมีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังยุคนั้นหลายคน เช่น คมน์ อรรฆเดช, ฉลอง ภักดีวิจิตร, ชรินทร์ นันทนาคร และชาลี อินทรวิจิตร ซึ่งบัณฑิตมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่า 40 เรื่อง บัณฑิตฝึกการเขียนบทและเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่หลายปี โดยเรียนรู้การทำงานส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ทำฉาก จัดแสง ถ่ายทำ จัดตัวประกอบ ฯลฯ การที่บัณฑิตมีพื้นฐานมาจากงานเขียนบทช่วยให้เขาทำหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น เพราะเขารู้ว่าฉากไหนจะต้องเขียนอย่างไรเพื่อให้สามารถถ่ายทำได้จริง บทพูดของตัวละครนั้นต้องสื่อสารอะไรกับคนดู หนังทุกเรื่องที่บัณฑิตเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ บัณฑิตมักจะลงมือเขียนบทเองเสมอ
สำหรับสี่บทหลัง (ฉากที่ 4-7) ธนธรณ์เน้นเล่าวิธีการทำงานและประสบการณ์ของพ่อในการกำกับภาพยนตร์ทุกผลงาน เขาเริ่มงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกใน คาดเชือก (2527) ซึ่งทุนทำหนังเรื่องนี้มาจากเงินที่เพื่อนฝูงร่วมกันลงขันประมาณ 3 ล้านบาท ในด้านคุณภาพของงานได้รับคำชม แต่รายได้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขายังทำหนังต่อไป โดยรับจ้างกำกับ มือเหนือเมฆ (2527) ต่อมาเขาลงทุนหาเงินเอง เขียนบทเอง กำกับเอง เพื่อผลิตงานที่ตนเองต้องการทำ คนดีที่บ้านด่าน (2528) แม้ตั้งใจมากแต่อุปสรรคก็มาก ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน พอหนังออกฉาย ขาดทุนย่อยยับ หนี้สิ้นรุงรัง
หลังจากนั้นเขามีโอกาสเข้าไปคุยกับ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผ่านการแนะนำของ ชาลี อินทรวิจิตร และได้รับโอกาสร่วมงานกับ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งทางไฟว์สตาร์ช่วยสะสางปัญหาหนี้สินและให้โอกาสทำหนัง ซึ่งหนังเรื่องแรกที่บัณฑิตกำกับภาพยนตร์ในสังกัดไฟว์สตาร์คือ คู่วุ่นวัยหวาน (2529) เป็นการชิมลางหนังตลกเรื่องแรกของเขา ต่อด้วย ปัญญาชนก้นครัว (2530) ซึ่งทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ผลงานต่อมาบัณฑิตได้กำกับภาพยนตร์ ด้วยเกล้า (2530) เขาเขียนบทเองเช่นกัน โดยธนธรณ์ได้นำบทสัมภาษณ์บัณฑิตเกี่ยวกับกระบวนการถ่ายทำ ด้วยเกล้า จากนิตยสาร Starpics ปีที่ 14 ฉบับที่ 14 (10 ตุลาคม 2530) มาลงประกอบไว้ด้วย
บทสรุปหลังจาก ด้วยเกล้า ออกฉาย ผลลัพธ์คือขาดทุนย่อยยับ เขาต้องมาเริ่มตั้งหลักใหม่ ไฟว์สตาร์ตั้งโจทย์ให้เขาทำหนังวัยรุ่น ตอนนั้นบัณฑิตที่เลยวัยรุ่นมานาน ได้โจทย์มาแบบนี้เลยคิดหนัก บัณฑิตจึงนึกย้อนไปสมัยที่เขาเป็นวัยรุ่นต่างจังหวัดและต้องเข้ามาสอบเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จึงได้พล็อตและตัวละคร “บุญชู บ้านโข้ง” ขึ้นมา ผู้มีประโยคเด็ดว่า “เล่ายาวนะ” ใน บุญชูผู้น่ารัก (2531) ซึ่งวิธีคิดสร้างตัวละคร “บุญชู” บัณฑิตมีมุมมองว่า เขาต้องการชดเชยความรู้สึกที่ช่วงเวลานั้นสังคมเริ่มขาดความเอื้ออาทรต่อกัน เขาต้องการสร้างตัวละครที่มีเมตตา เขาคิดว่าบุญชูต้องเป็นคนดีมาก ๆ ไม่มีใครดีแบบนี้อีกแล้ว ธนธรณ์เล่าว่า ช่วงที่ บุญชูผู้น่ารัก เข้าฉายที่โรงหนังเอเธนส์ จะเห็นแถวของคนยาวเหยียดมาถึงถนนใหญ่ ซึ่งประตูทางเข้าโรงหนังอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร แต่ละรอบต้องยกเก้าอี้เสริมจนโรงหนังแทบไม่มีทางเดิน สุดท้าย บุญชูผู้น่ารัก กวาดรายได้เฉพาะในกรุงเทพฯ 14 ล้านบาท (ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงมากในขณะนั้น) เทียบจากค่าตั๋วต่อที่นั่ง 10-40 บาท
บัณฑิตไม่ได้ตั้งใจให้บุญชูมีภาคต่อ แต่ บุญชูผู้น่ารัก กลายเป็นหนังยอดนิยม ส่งผลให้มีการสร้างบุญชูภาคอื่นออกมาเป็นระยะ ซึ่งก่อนเปิดกล้องหนังบุญชูในแต่ละภาค บัณฑิตมีเทคนิคการทำงานที่เรียกว่า “เจ๊าะมุก” คือการนัดนักแสดงกลุ่มซูโม่ (นักแสดงหลายท่านที่แสดงเป็นกลุ่มเพื่อนของบุญชู) มาคุยกันที่ร้านอาหารในกรุงเทพฯ บางทีก็เป็นรีสอร์ตตามต่างจังหวัด และบัณฑิตแจกบทย่อให้ทุกคนอ่าน หลังจากนั้นร่วมกันระดมความคิด ช่วยกันปรับบท ปรับเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น บัณฑิตจะใช้สมุดเล็ก ๆ จดมุกเหล่านั้นไว้ จนเป็นที่พอใจ และเขาจะกลับไปเก็บตัวเขียนบทจนได้เป็นหนังบุญชูในทุก ๆ ภาค แต่บางช่วงก่อนจะสร้างบุญชูภาคต่อไปบัณฑิตมักคั่นเวลาจากบุญชู โดยเสนอโครงการหนังแนวอื่นที่เขาสนใจอยากทำกับทางไฟว์สตาร์ เช่น หนังสะท้อนปัญหาของผู้หญิงในสังคมไทย ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) หนังในดวงใจของใครหลายคนอย่าง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2538) เป็นหนังที่ใช้เวลาถ่ายทำกันแรมปี พิถีพิถัน และใช้ฟิล์มมากกว่า 500 ม้วน เป็นหนังเพื่อเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง และได้รับคำวิจารณ์แง่บวก ได้รางวัลก็มาก แต่เมื่อเข้าฉายรับรายได้เพียง 4 ล้านบาท
เมื่อจบงาน กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ เป็นช่วงเวลาวงการหนังไทยเริ่มซบเซา เขาเริ่มหมดไฟ เปลี่ยนไปทำงานละครอยู่ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับมาทำหนัง ช่วงที่กำกับ สตางค์ (2543) ปัญหาสุขภาพเริ่มรุมเร้า คือโรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่อายุ 30 ปี มีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากปิดงาน สตางค์ เขายังสู้ทำหนังยาวได้อีก 4 เรื่อง จนกระทั่งช่วงถ่ายทำตอนท้าย ๆ ของ อุกกาบาต (2547) พบว่าเป็นโรคไต หลังจากพักรักษาตัวเมื่อร่างกายดีขึ้น บัณฑิตกลับมากำกับภาพยนตร์ พระ เด็ก เสือ ไก่ วอก (2549) อาการโรคไตกลับมาทรุดหนัก ครั้งนี้ไตเสียไปแล้วทั้งสองข้าง บัณฑิตรักษาและประคองตัวเองด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องชนิดต่อเนื่องด้วยตนเอง โดยการพกถุงน้ำยาล้างหน้าท้องติดตัวไปทำเวลาพักกอง และเข้าโรงพยาบาลเพื่อฟอกเลือดเป็นระยะ รวมถึงการควบคุมอาหาร อีกทั้งบัณฑิตมีแผลเรื้อรังบริเวณขาทั้งสองข้าง ขณะไปกองถ่ายจึงไม่สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้คล่องตัวเหมือนเดิม เขาต้องใช้ไม้เท้าและมีเก้าอี้พับสำหรับพักขาตลอดเวลาระหว่างถ่ายหนัง แต่ในที่สุดก็ปิดกล้อง พระ เด็ก เสือ ไก่ วอก ได้สำเร็จ และกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวได้อีก 2 เรื่อง ภาพยนตร์สั้นอีก 2 เรื่อง ซึ่งผลงานเรื่องสุดท้ายของบัณฑิตคือ มาหานคร (2552) หนึ่งในภาพยนตร์สั้นชุด สวัสดีบางกอก เมื่อ มาหานคร ได้ร่วมฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 และวันต่อมา 1 ตุลาคม 2552 เป็นวันปิดฉากชีวิตผู้กำกับภาพยนตร์ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ไปตลอดกาล
สำหรับท่านใดที่ต้องการอ่านหนังสือ The director ฉากชีวิต..บัณฑิต ฤทธิ์ถกล สามารถมาใช้บริการได้ที่ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. -17.00 น.