ในเดือนธันวาคม 2528 หนังสือราชการจากกรมศิลปากรเพื่อขอความอนุเคราะห์สำหรับโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติที่ส่งถึงบริษัทสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องในเวลานั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 3 เท่านั้น ที่ให้การตอบรับมอบอุปกรณ์และฟิล์มภาพยนตร์เพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ในงานของหอภาพยนตร์ แต่ยังมีองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย อ.ส.ม.ท. ได้มอบภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มาให้หอภาพยนตร์จัดเก็บเพื่อการอนุรักษ์อีกด้วย
จากบันทึกเอกสาร โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับการตอบกลับจาก อ.ส.ม.ท. ว่ายินดีจะมอบฟิล์มภาพยนตร์ข่าวของสถานีซึ่งมีอายุตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา พร้อมเอกสารประกอบข่าวให้แก่โครงการฯ โดยทำพิธีรับมอบในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 โดย ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ข่าวจาก วินิจ บุญวิวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ผู้แทนองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ณ ที่ทำการโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ในบริเวณหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
ภาพ: ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ข่าว จาก วินิจ บุญวิวัฒน์ ผู้แทนองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
จากความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ ได้เล่าถึงการติดต่อประสานเพื่อขอรับมอบฟิล์มภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้นว่า หลังจากที่ส่งหนังสือขอรับการสนับสนุนฟิล์มภาพยนตร์ไปแล้ว ก็ได้รับการติดต่อกลับจาก วินิจ บุญวิวัฒน์ ซึ่งเคยเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์มาตั้งแต่สมัยไทยทีวี ช่อง 4 และเคยมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานโทรทัศน์ที่ประเทศเยอรมนี ได้เห็นงาน archive ภาพยนตร์ของสถานีโทรทัศน์เยอรมัน จึงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ โดยวินิจได้นัดหมายเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ไปดูฟิล์มข่าวของสถานี ซึ่งเก็บอยู่ที่อาคารเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่หนองแขม ในวันนั้น โดม สุขวงศ์ และทีมงานพบว่า มีฟิล์มอยู่สองส่วนคือ ส่วนหนึ่งกองอยู่นอกห้องภายใต้ชายคาอาคาร อีกส่วนกองอยู่ในห้องปิดมิดชิดห้องหนึ่งของอาคาร ซึ่งในห้องนี้นอกจากฟิล์มแล้วยังมีอุปกรณ์อื่น เช่น กล้องถ่ายภาพยนตร์ ในวันนั้นวินิจขอให้หอภาพยนตร์มาขนฟิล์มส่วนที่กองอยู่ใต้ชายคาอาคารไปก่อน เนื่องจากไม่ต้องการให้เสียหายจากแดดและฝน ส่วนที่เก็บอยู่ในอาคารซึ่งสภาพดีกว่าให้รอเพื่อตรวจสอบก่อน หอภาพยนตร์พยายามติดตามรับมอบเป็นลำดับมาอีกหลายครั้ง แต่วินิจแจ้งว่ายังไม่พร้อมที่จะมอบ และเมื่อเวลาผ่านไปจนวินิจเกษียณจากงานแล้ว หอภาพยนตร์ก็ขาดการติดต่อกับ อ.ส.ม.ท. ไป
เป็นเวลากว่า 20 ปีหลังจากนั้น หอภาพยนตร์ได้รับการติดต่อจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปลงสภาพจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) อีกครั้ง ว่าจะขอมอบอุปกรณ์และฟิล์มภาพยนตร์ข่าวอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก โดยรับมอบกันในปี 2555 และ 2559 และมีการมอบเทปสารคดีโทรทัศน์อีกจำนวนหนึ่งในปี 2565 เป็นการรับมอบจากอาคารที่ตั้งของบริษัท อสมท ในปัจจุบัน ย่านถนนพระราม 9 ภาพยนตร์ข่าวที่ได้รับมอบมาภายหลังนี้ แม้จะเป็นภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ทั้งช่อง 4 และช่อง 9 แต่คาดว่าไม่น่าจะเป็นฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่เคยเก็บอยู่ในห้องที่อาคารเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่หนองแขม
ภาพ: ม้วนฟิล์มภาพยนตร์สรุปข่าววันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2513 พร้อมบทข่าว
อย่างไรก็ดี ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 และช่อง 9 ที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาในปี 2529 แม้เชื่อว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของที่ผลิตมาทั้งหมด แต่ก็ต้องนับว่ามีจำนวนมากและมีคุณค่าพอที่จะนับได้ว่าเป็นปึกแผ่นมรดกของภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ของชาติ
ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวเหล่านี้ หอภาพยนตร์ได้ดำเนินการชำระ ลงทะเบียน และตรวจซ่อม เพื่อจัดเก็บรักษาในห้องเก็บที่ได้มาตรฐาน และทยอยนำมาถ่ายทอดเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อสะดวกในการให้บริการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่แก่สาธารณะ ยกเว้นเพียงภาพยนตร์ข่าวต่างประเทศเนื่องจากยังมีความจำเป็นในการเข้ากระบวนการอนุรักษ์และแปลงสัญญาณน้อยกว่าภาพยนตร์ข่าวในประเทศ โดยที่สัดส่วนของฟิล์มที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นดิจิทัลนี้อาจจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับฟิล์มข่าวช่อง 4 และช่อง 9 ทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้
ภาพ: (ซ้าย) หนังสือจากกรมศิลปากรขอให้เจ้าหน้าที่โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์เข้าค้นคว้าภาพยนตร์ของ อ.ส.ม.ท. เป็นการนำร่องในเดือนกันยายน 2527 (ขวา) หน้าแรกของบทข่าว 1 เมษายน 2515
ในการลงทะเบียนและจัดทำข้อมูลภาพยนตร์ข่าวได้บันทึกข้อมูลตามระบบเดิมที่ถูกบันทึกไว้หน้ากล่องฟิล์มและเอกสารตามการจัดทำเพื่อจัดเก็บของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว อ.ส.ม.ท. เช่น เศษสรุปข่าวที่รวบรวมคราวละ 3-4 วัน, เศษสรุปข่าวเดือน, เศษสรุปข่าวปี, สรุปข่าวรอบสัปดาห์, ข่าวในประเทศประจำวันที่.. ส่วนการออกอากาศจริงพบว่า มีลำดับการออกอากาศเป็นแบบแผนตามข้อมูลจากบทข่าวคือ เริ่มต้นด้วยข่าวพระราชสำนัก ตามด้วยข่าวเกี่ยวกับการบริหารราชการ ข่าวเชิงสังคม การค้า และปิดท้ายด้วยพยากรณ์อากาศ
ในระบบบริการของหอภาพยนตร์จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ระหว่างปี 2502-2526 เป็นจำนวน 7,142 ข่าว จัดทำจากม้วนฟิล์มราว 450 ม้วนฟิล์ม หากรับชมทั้งหมดจะใช้เวลาทั้งสิ้น 189 ชั่วโมง 34 นาที 34 วินาที เกือบทั้งหมดจะเป็นภาพยนตร์ข่าวภาพขาวดำที่บันทึกในช่วงปี 2502-2517 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเป็นภาพยนตร์ข่าวภาพสี คือข่าวการประชุมมูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรี จากข่าวประจำวัน ธันวาคม 2515 ซึ่งเป็นข่าวภาพสีข่าวเดียวที่อยู่ในช่วงเวลาที่ทดลองการออกอากาศภาพสี 625 เส้นในย่านความถี่ VHF คู่ขนานกับช่องสัญญาณที่ 4 ในระบบภาพขาวดำ ในนามของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 จากที่ทำการและห้องส่งโทรทัศน์ย่านถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู (ดังที่ผู้ชมทั่วไปมักเรียกว่า “ช่อง 9 บางลำพู”) นอกจากนั้นจึงเป็นภาพยนตร์ข่าวภาพสีจากปี 2519 และ 2526 ซึ่งระบบการออกอากาศมีเพียงระบบภาพสีทางช่องสัญญาณที่ 9 เท่านั้น ในชื่อของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ตามลำดับ
ภาพ: เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ขณะไปรับมอบภาพยนตร์ข่าวปี 2555
ภาพยนตร์ข่าวทางโทรทัศน์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีการบันทึกเสียง แต่ขณะออกอากาศจะมีเสียงของผู้ประกาศข่าวอ่านออกอากาศสด ซึ่งไม่ได้บันทึกเสียงไว้ ดังนั้นในการให้บริการแก่ผู้มาค้นคว้าหอภาพยนตร์จะจัดทำข้อมูลเรื่องย่อข่าวจากการสืบค้นและใช้บทข่าวที่ได้รับมอบมาประกอบกัน สำหรับภาพยนตร์ข่าวที่มีการบันทึกเสียงซึ่งมีอยู่ราว 70 ข่าวนั้น มักจะเป็นข่าวสำคัญ หรืออยู่ในความสนใจของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น ข่าวการต้อนรับ ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกรุ่นฟลายเวต เดินทางกลับมาจากการชกป้องกันตำแหน่ง ณ สนามบินดอนเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2511 หลังกลับจากการป้องกันแชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวตครั้งที่ 2 โดยชนะน็อก ยก 7 คู่ปรับเก่าชาวสกอตแลนด์ วอลเตอร์ แม็คโกแวน ที่เอ็มไพร์พูล เวมบลีย์, ข่าวการสัมภาษณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งกลับใจมาเข้าร่วมกับรัฐบาล ณ กรมประชาสัมพันธ์ มกราคม 2511 ซึ่งแสดงให้เห็นการสื่อสารทางการเมืองในการต่อสู้ทางความคิดทางสื่อโทรทัศน์, ข่าวการประท้วงการกลับเข้าประเทศของ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ตุลาคม 2519 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์แม่ค้าที่มาขายสินค้าที่ตลาดนัดสนามหลวง ถ้อยคำที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกก็ช่วยบอกเล่าความคิดอีกด้านหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
ภาพ: เจ้าหน้าที่โทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บันทึกเทปรายการโทรทัศน์เพื่อทดลองออกอากาศเพื่อสอนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครกรุงเทพ ตุลาคม 2507
นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ข่าวถึง 2 เรื่องได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติคือ ข่าวพิธีลงนามและคำประกาศในแถลงการณ์ร่วมการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปี 2510 ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์พิธีลงนามปฏิญญาก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Declaration) ในสมัยรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งริเริ่มโดย พ.อ. (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และชาติสมาชิกอีก 4 ชาติคือ ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ โดยภาพยนตร์ข่าวเรื่องนี้นับเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การทูตและการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาสา (Association of South East Asia: ASA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2504 มีอันต้องยุติลงด้วยปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียกับมาเลเซีย
ภาพ: ข่าวพิธีลงนามและคำประกาศในแถลงการร่วมการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 สิงหาคม 2510
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ข่าวยิงเป้าผู้ค้ายาเสพติด ปี 2510 ซึ่งแม้จะเป็นภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ แต่หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เงียบ ม้วนนี้จากนักสะสมภาพยนตร์ท่านหนึ่ง โดยไม่ทราบที่มาแน่ชัด เป็นการประมวลเหตุการณ์กรณีการประหารชีวิต เริ่มตั้งแต่การจับกุมตัวผู้ต้องหา การแถลงข่าวของคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบ และการประหารชีวิต โดยเฉพาะมีการบันทึกการประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้าอย่างละเอียดและชัดเจน กระทั่งให้เห็นขณะกำลังสิ้นใจหรือรอยรูกระสุนบนร่างกาย ช่างถ่ายภาพยนตร์ข่าวของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 ได้เข้าไปถ่ายทำพิธีการประหารชีวิตอย่างละเอียด เพื่อเสนอเป็นรายงานข่าวในค่ำวันนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเจตนาของทางการที่ต้องการแสดงตัวอย่างให้นักค้ายาเสพติดเกรงกลัวอาญาบ้านเมือง
ภาพยนตร์ข่าวของไทยทีวี ช่อง 4 ไทยทีวีสี ช่อง 9 และไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในคอลเลกชันหนังข่าวนี้ ผู้สนใจใช้งานสามารถสืบค้นและรับชมภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. หรือสืบค้นออนไลน์ได้จาก open data ภาพยนตร์ให้บริการ ทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์ https://www.fapot.or.th/main/library/view2/4 เลือก “สืบค้นภาพยนตร์”
ภาพ: ม้วนฟิล์มภาพยนตร์ข่าวประจำวัน
---------------------------
ซีรีส์หนังข่าว
ตอนที่ 1 แนะนำหนังข่าวและภาพรวมคอลเลกชัน หนังข่าว หอภาพยนตร์ <<คลิก>>
ตอนที่ 2 ไทยทีวีสีช่อง 3 <<คลิก>>