ภาพ: โดม สุขวงศ์ และ ประวิทย์ มาลีนนท์ ในวันรับมอบภาพยนตร์ 1 เมษายน 2529
ขณะนี้กรมศิลปากรได้ปรับปรุงอาคารเก่าหลังหนึ่งในบริเวณที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กทม. ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงกษาปณ์เก่าของรัฐบาล ให้ใช้เป็นอาคารที่ตั้งและที่ทำการหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยได้รับเงินบริจาคจากภาคเอกชน ดำเนินการจัดสร้างห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ และห้องปฏิบัติการซ่อมสงวนรักษาฟิล์มภาพยนตร์ เสร็จแล้ว…
กรมศิลปากรได้ทราบว่าบริษัทไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ยุบเลิกฝ่ายผลิตภาพยนตร์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงใคร่เรียนเสนอมายังท่านเพื่อขอความอนุเคราะห์ โดยหวังว่าหากบริษัทมีอุปกรณ์เครื่องมือใด ๆ เกี่ยวกับฝ่ายผลิตภาพยนตร์ซึ่งไม่มีความจำเป็นใช้งานแล้ว เช่น เครื่องกรอฟิล์มภาพยนตร์ เครื่องตัดต่อภาพยนตร์ เครื่องล้างฟิล์มภาพยนตร์ กรมศิลปากรมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งหากท่านจะกรุณาบริจาคให้กรมศิลปากรนำไปใช้ในโครงการของหอภาพยนตร์แห่งชาติ…
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังมีความยินดีที่จะรับมอบบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ใด ๆ ที่มิได้ใช้งานแล้ว หรือที่ชำรุดเสียหาย ทั้งนี้เพื่อนำไปดำเนินการซ่อมสงวนรักษา และเก็บรักษาไว้ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการค้นคว้าศึกษาและด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
ข้อความข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือราชการจากกรมศิลปากรส่งถึงบริษัทไทยทีวีสีช่อง 3 ในเดือนธันวาคม 2528 เช่นเดียวกับที่ส่งถึงสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องในเวลานั้น เพื่อขอความอนุเคราะห์สำหรับโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติในห้วงเวลาที่เพิ่งจัดตั้งได้เพียงปีเศษ ๆ
ภาพ: ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวแต่ละหมวดถูกตรวจสอบตามทะเบียน และเรียงลำดับเป็นรายเดือน
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2529 หรือเพียงราว 2 เดือนต่อมา หลังได้รับเสียงตอบรับแสดงความสนใจ โดม สุขวงศ์ ได้จัดทำบันทึกข้อความ เรื่อง หลักการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ส่งถึง ประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ขณะนั้น เพื่อชี้แจงหลักการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของสหพันธ์ภาพยนตร์นานาชาติ และการได้มาของฟิล์มภาพยนตร์ทั้งแบบไม่มีเงื่อนไขและมีเงื่อนไข ซึ่งเคารพในลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของเจ้าของโดยสมบูรณ์ จนอีกราว 1 เดือนต่อมา สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ได้แจ้งความจำนงที่จะบริจาคฟิล์มภาพยนตร์ข่าวของสถานี กำหนดพิธีรับมอบในเวลาบ่ายสองโมงของวันที่ 1 เมษายน โดย ประวิทย์ มาลีนนท์ มาเป็นผู้มอบ และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สายหยุด จำปาทอง เป็นผู้แทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบ
ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวของช่อง 3 ระหว่างปี 2513-2523 ที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมานั้น นับว่ามีจำนวนมาก เพราะมีการถ่ายภาพยนตร์ข่าวทุกวัน วันละกว่าสิบข่าว ช่วงเวลาสิบปีจึงคิดเป็นภาพยนตร์ข่าวกว่าสามหมื่นข่าว ข่าวเหล่านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 มีระบบการจัดหมวดหมู่และการจัดเก็บ การทำบัญชีข่าวแต่ละม้วนไว้เป็นอย่างดี ฟิล์มภาพยนตร์แต่ละข่าวจะกรอเป็นขดและร้อยเป็นพวงตามหมวดหมู่ของข่าว ส่วนบัญชีภาพยนตร์ข่าวและบทอ่านข่าวจะจัดใส่แฟ้มเอกสารอย่างเป็นระเบียบ สถานีฯ ได้มอบทั้งหมดนี้ให้หอภาพยนตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในงานชำระข้อมูลฟิล์มภาพยนตร์ที่ได้รับมา หอภาพยนตร์ได้ดำเนินการจำแนกฟิล์มภาพยนตร์ตามประเภทข่าว เรียงข่าวตามลำดับเวลาเพื่อจัดเก็บ และให้เลขประจำม้วนข่าวใหม่ตามระบบของหอภาพยนตร์ โดยต่อฟิล์มข่าวแต่ละหมวดเข้าด้วยกันเป็นรายเดือน จัดใส่กล่องพลาสติก และเก็บในห้องเย็น แล้วทยอยนำออกมาตรวจ ซ่อม และแปลงสัญญาณ มาตลอดจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่ได้รับจากสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ
ภาพ: ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวช่อง 3 ก่อนการรับมอบ
ภาพยนตร์ข่าวทางโทรทัศน์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3 ช่อง 4 หรือช่อง 9 ที่มอบให้หอภาพยนตร์เกือบทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีการบันทึกเสียง แต่ขณะออกอากาศจะมีเสียงของผู้ประกาศข่าวอ่านออกอากาศสด ซึ่งไม่ได้บันทึกเสียงไว้ ดังนั้นในการให้บริการแก่ผู้มาค้นคว้า หอภาพยนตร์ จะจัดทำข้อมูลเรื่องย่อข่าวจากการสืบค้นและใช้บทข่าวที่ได้รับมอบมาประกอบกัน จากข้อมูลภาพยนตร์ในระบบบริการของหอภาพยนตร์จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 ปรากฏข่าวจากฟิล์มภาพยนตร์ข่าวของช่อง 3 ได้รับการแปลงสัญญาณและให้บริการในระบบบริการแล้วทั้งสิ้น 3,918 ข่าว แบ่งเป็นประเภทของข่าวตามการแบ่งประเภทจากผู้มอบได้ดังนี้
ข่าวในพระราชสำนัก 1,770 ข่าว, ข่าวบุคคล 965 ข่าว, ข่าวประจำวัน 919 ข่าว, ข่าวกีฬา 247 ข่าว, ข่าววิทยาศาสตร์และข่าวทั่วไป 11 ข่าว, ข่าวทดลองออกอากาศ 4 ข่าว และข่าวเฉพาะกิจ ทำบุญช่องในวันก่อตั้งสถานี 2 ข่าว
นอกจากประเภทข่าวเหล่านี้แล้วมีข่าวอีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกนำมาแปลงสัญญาณคือ ภาพยนตร์ข่าวต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เนื่องจากยังมีความจำเป็นในการเข้ากระบวนการอนุรักษ์และแปลงสัญญาณน้อยกว่าภาพยนตร์ข่าวในประเทศ
ผู้เขียนได้คัดเลือกตัวอย่างภาพยนตร์ข่าวช่อง 3 บางประเภทในระบบบริการปัจจุบันที่มีความน่าสนใจในการเป็นจดหมายเหตุสังคมไทยในด้านต่าง ๆ มานำเสนอดังต่อไปนี้
ข่าวในพระราชสำนัก
ระหว่างปี 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในหลายจังหวัด ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ข่าวในพระราชสำนัก เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.จอมบึง จ.ราชบุรี (21 กรกฎาคม 2520), โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี (10 สิงหาคม 2520), โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.ปัว จ.น่าน (19 สิงหาคม 2520)
จุดกำเนิดของการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นทั่วประเทศ เริ่มจากในช่วงปี 2518-2519 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากภัยคอมมิวนิสต์ ไม่เพียงแต่เผชิญกับความไม่สงบเท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่สีแดงยังไม่อาจเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นถิ่นทุรกันดาร รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการแพทย์ ขยายขอบเขตอำนาจรัฐในเขตพื้นที่สีแดง และเพื่อเป็นของขวัญของคนไทยถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ด้วยการระดมเงินบริจาคและที่ดินจากประชาชน ได้เงินมากกว่า 155 ล้านบาท ที่ดิน 81 แปลง และได้จัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นในปี 2520 เพื่อดำเนินการตามประสงค์จัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระ-ยุพราชขึ้น รวมทั้งสิ้น 21 แห่ง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เองครบทั้ง 21 แห่ง
ภาพ: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราช-กุมาร เสด็จฯ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี 23 กันยายน 2520
ข่าวบุคคล
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หน่วยงานราชการขายรถบรรทุกให้เอกชนเป็นจำนวนมาก และเอกชนเหล่านั้นส่วนหนึ่งได้นำรถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสารประจำทาง และกำหนดเส้นทางเดินรถกันเองอย่างเสรี รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติการขนส่ง 2497 กำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเพื่อเป็นการจัดระเบียบผู้ประกอบการเดินรถ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ เจริญเติบโต พื้นที่ของเมืองหนาแน่นและขยายกว้างขึ้น ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเติบโตขึ้นตามกัน เกิดการเดินรถทับเส้นทางกัน แก่งแย่งผู้โดยสาร การให้บริการของต่างบริษัทก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และทำให้การจราจรบนถนนคับคั่งเกินกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งราวปี 2516 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผู้ประกอบการรถเมล์เอกชนประสบภาวะขาดทุน หลายบริษัทขาดต้นทุนที่ใช้เพื่อดำเนินกิจการให้อยู่ในมาตรฐานที่ดีได้ จึงเริ่มเกิดแนวคิดให้รวมกิจการเดินรถประจำทางของเอกชนบริษัทต่าง ๆ ให้เป็นบริษัทเดียว จนเดือนกันยายน 2518 เกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทมหานครขนส่งเพียงบริษัทเดียว ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ รัฐถือหุ้นร้อยละ 51 และเอกชนถือหุ้นร้อยละ 49 แต่กลับเกิดปัญหาข้อกฎหมาย จนรัฐบาลต่อมาคือรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเป็นองค์การของรัฐใช้ชื่อว่า “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยได้รวมเอาบริษัทขนส่งมหานครที่ได้จัดตั้งไปแล้วเข้ามาอยู่รวมกัน (ข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ)
ภาพยนตร์ข่าวของไทยทีวีสีช่อง 3 ออกอากาศในวันที่ 23 กรกฎาคม 2519 นำเสนอข่าว บุญเกิด หิรัญคำ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงถึงการรวมรถเมล์โดยสารเอกชนเข้าเป็นบริษัทกรุงเทพมหานครขนส่ง (2.36 นาที) โดยมีรายละเอียดของข่าวว่า การรวมรถเมล์โดยสารของเอกชนเข้าเป็นบริษัท กรุงเทพมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ว่าจากที่มี 16 บริษัทไม่ยอมเข้าร่วม ขณะนี้มี 9 บริษัทที่เข้าร่วมแล้ว ซึ่งตกลงกันด้วยดีกับทางฝ่ายรัฐบาล ส่วนอีก 6 บริษัทจะดำเนินการตัดสิทธิ์ออกไป และสาเหตุที่รัฐบาลพยายามรวมรถเมล์เอกชนเข้ามาไว้ที่บริษัทมหานครขนส่งก็เพื่อเพิ่มการให้บริการรถเมล์ให้มีไม่น้อยกว่า 3,400 คัน และต้องมีเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพราะพบว่าปัจจุบันมีอยู่เพียง 2,700 คันเท่านั้น ทำให้ประชาชนต้องห้อยโหนรถจนเกิดความอันตราย เพราะมีรถให้บริการไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องโอนกิจการเข้ามาเป็นของรัฐบาลทั้งหมด
ภาพ: บุญเกิด หิรัญคำ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงถึงการรวมรถเมล์โดยสารเอกชนเข้าเป็นบริษัทกรุงเทพมหานครขนส่ง
ข่าวประจำวัน
ลูกชายคนที่ 2 จากครอบครัวข้าราชการจากจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะเรียนจ่าพยาบาลที่โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ได้หนีออกไปร้องเพลงยามค่ำคืนอยู่หลายครั้งด้วยใจรักในการร้องเพลง จนต้องโทษหนีราชการทหารเรือ ได้กลายเป็นนักร้องขวัญใจนักโทษ เมื่อพ้นโทษก็ทิ้งเส้นทางทหารเรือมุ่งสู่การร้องเพลงอันเป็นที่รัก และได้รับโอกาสเข้ารับราชการประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ ได้รับความรู้เกี่ยวกับดนตรีและการร้อง เป็นจุดพลิกผันให้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ และได้รับความรักจากแฟนเพลงจนได้รับการยกย่องเป็น “ราชาเพลงลูกทุ่งไทย สุรพล สมบัติเจริญ”สุรพลไม่เพียงแต่มีความสามารถในการร้องเพลง และแต่งเพลงของตนเองจนโด่งดังมากมาย เช่น ลืมไม่ลง, สาวสวนแตง, น้ำตาจ่าโท และ 16 ปีแห่งความหลัง แต่ยังมีความสามารถแต่งเพลงให้นักร้องลูกทุ่งคนอื่นอีกมากมาย เช่น ผ่องศรี วรนุช, ก้าน แก้วสุพรรณ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร ไม่มีใครเลยที่จะคิดว่า กลางดึกวันที่ 16 สิงหาคม 2511 หลังจบการแสดงบนเวทีที่วิกแสงจันทร์ ริมถนนมาลัยแมน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ไม่ไกลจากบ้านเกิด สุรพล ราชาเพลงลูกทุ่งไทย จะถูกลอบยิงเสียชีวิตในวัยเพียง 37 ปี
ภาพยนตร์ข่าวบันทึกเหตุการณ์ในวันที่ 11 สิงหาคม 2513 ศาลจังหวัดนครปฐมได้ออกนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีคนร้ายบุกยิง สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังเสียชีวิต (3.57 นาที) โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ไปยังศาลจังหวัดนครปฐมเพื่อฟังคำพิพากษา ท่ามกลางประชาชนที่ไปรอฟังคำพิพากษาอย่างเนืองแน่น หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนลงลายมือชื่อในเอกสารไว้เป็นหลักฐานปริศนาในการเสียชีวิตของสุรพลกลายเป็นตำนานบทสุดท้ายของชีวิตราชาเพลงลูกทุ่งไทย และถูกนำเสนอผ่านการตีความต่าง ๆ หลายครั้งผ่านภาพยนตร์ ละคร และวรรณกรรมในเวลาต่อมา
ภาพ: เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาออกจากศาลหลังการยกฟ้องคดีคนร้ายบุกยิง สุรพล สมบัติเจริญ ท่ามกลางคนที่มาฟังคำพิพากษา
ข่าวกีฬา
นอกจากการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ยังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานในประเทศอีกรายการหนึ่งซึ่งมีความเก่าแก่เช่นกันคือ การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ เป็นการแข่งขันระดับสโมสรประจำปีของประเทศไทย การแข่งขันจัดโดยภาคีสโมสรควีนส์คัพ จัดการแข่งขันขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513 แต่งดการแข่งขันจำนวน 7 ครั้ง ได้แก่ ปี 2518, 2528, 2541, 2544, 2548, 2550, 2551 และเว้นวรรคการแข่งขันหลังจากครั้งที่ 34 (ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน)
ภาพยนตร์ข่าวพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนส์คัพ ครั้งที่ 1 (13.40 นาที) วงดุริยางค์ลูกเสือนำขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทานควีนส์คัพลงสู่สนาม ขบวนพาเหรดนักกีฬาทีมต่าง ๆ เจ้าหน้าที่กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี แล้วประธานในพิธีกล่าวเปิดการแข่งขัน ต่อด้วยการแข่งขันระหว่างทีมราชวิถีกับทีมทหารอากาศเป็นคู่แรก ส่วนการแข่งขันอีกคู่หนึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างทีมธนาคารกรุงเทพกับทีมการท่าเรือ
ภาพยนตร์ข่าวสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จแทนพระองค์ทอดพระเนตรรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ 1 (ความยาว 8.09 นาที) ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2513 โดยนัดชิงชนะเลิศเป็นการแข่งขันระหว่างทีมสโมสรทหารอากาศกับทีมธนาคารกรุงเทพ ผลการแข่งขันทั้งสองทีมเสมอกันในเวลา 90 นาที 0-0 ต้องต่อเวลาอีก 20 นาที แต่ก็ยังทำอะไรกันไม่ได้ จึงได้ครองแชมป์ร่วมกัน รับถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ และประทานเหรียญเกียรติยศให้แก่ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลควีนสตาร์
ภาพ: สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันฟุตบอลควีนส์คัพ ครั้งที่ 1
ภาพยนตร์ข่าวช่อง 3 เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากที่หอภาพยนตร์ได้รับมาทั้งหมด ยังมีภาพยนตร์ข่าวของช่อง 3 อีกจำนวนมากยังอยู่ในกระบวนการอนุรักษ์ ซึ่งจะมีกระบวนการซ่อม สงวนรักษา แปลงสัญญาณ จัดทำข้อมูล และนำเข้าระบบบริการต่อไป
ผู้สนใจใช้งานสามารถสืบค้นและรับชมภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. หรือสืบค้นออนไลน์ได้จาก open data ภาพยนตร์ ให้บริการทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์ https://www.fapot.or.th/main/library/view2/4 เลือก “สืบค้นภาพยนตร์”