ในปี 2495 กรมจเรทหารสื่อสาร สังกัดกรมจเรทหารบก เพิ่งถูกเปลี่ยนเป็นกรมการทหารสื่อสาร ขึ้นตรงต่อกองทัพบก และกระทรวงกลาโหมได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการมอบหมายงานโดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสารจัดตั้งแผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์ ขึ้นตรงต่อกองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต่อมาจนปี 2497 กำหนดอัตรากำลังพลประจำแผนกโทรทัศน์ในอัตราเฉพาะกิจ สังกัดกรมการทหารสื่อสาร จำนวน 52 นาย เพื่อปฏิบัติงานออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน รวมถึงผลิตและถ่ายทอดรายการโทรทัศน์
25 กุมภาพันธ์ 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประกอบด้วย พลเอก ไสว ไสวแสนยากร เป็นประธานกรรมการ และ พันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) จนวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการ ททบ. ในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า ถนนพหลโยธิน
ภาพ: การก่อสร้างอาคารที่ทำการ ททบ. ในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า
เพียงไม่กี่เดือนต่อมา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ชื่อสากล: ATV รหัส: HSATV ชื่อย่อ: ททบ.7) เริ่มต้นออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2501 จากอาคารสวนอัมพร เป็นภาพขาวดำทางช่องสัญญาณที่ 7 ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยแห่งที่ 2 ต่อจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด หลังจากนั้นเมื่อก่อสร้างอาคารของสถานีที่ถนนพหลโยธินแล้วเสร็จ จึงเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการทุกวันพุธ แล้วจึงเพิ่มวันจันทร์และวันศุกร์ในระยะถัดมา ทำให้ออกอากาศในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เฉลี่ย 3 วัน/สัปดาห์ โดยรายการส่วนมากในช่วงแรกที่นำมาออกอากาศนั้นเป็นสารคดีและภาพยนตร์ต่างประเทศ
สถานีโทรทัศน์กองทัพบก “ททบ.7” หรือ “ช่อง 7 ขาวดำ” ได้เปลี่ยนระบบเครื่องส่งโทรทัศน์ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2517 จากเดิมที่ใช้ระบบ 525 เส้น ภาพขาวดำ ช่องสัญญาณที่ 7 ปรับเป็นระบบ 625 เส้น ในย่านความถี่ VHF ทางช่องสัญญาณที่ 5 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) และเริ่มออกอากาศด้วยภาพสีในระบบ PAL เป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2517 ด้วยการถ่ายทอดสดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต
ภาพ: ตัวอย่างไตเติลเปิดหัวข่าวอันเป็นเอกลักษณ์ของ ททบ.7
บุคคลหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในงานฝ่ายจัดรายการและฝ่ายข่าวในช่วงปี 2502 คือ ร้อยตรี พยุง ฉันทศาสตร์โกศล (ยศในขณะนั้น) ซึ่งประจำอยู่ที่กรมการทหารสื่อสาร ในตำแหน่งช่างถ่ายภาพ ร้อยตรี พยุง เข้ามาทำหน้าที่ช่างถ่ายภาพประจำฝ่ายข่าวและดูแลห้องล้างฟิล์ม รวมถึงยังทำหน้าที่จัดหารายการต่างประเทศให้กับฝ่ายรายการด้วย ก่อนที่ในราวปี 2507 ร้อยโท พยุง ได้ร่วมกับหุ้นส่วนก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด รัชฟิล์มทีวี ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์โทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
ราวปี 2528 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หอภาพยนตร์ติดต่อขอรับบริจาคฟิล์มภาพยนตร์ข่าวจากช่อง 3 และช่อง 9 อสมท ดังที่ได้นำเสนอแล้วในบทความตอนที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ติดต่อประสานงานกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับฟิล์มภาพยนตร์และขาดการติดต่อกันไปเป็นเวลาหลายปี จนราวปี 2560 จ่าสิบเอก วีระศิษฐ์ ผลวิจิตร์ (ยศในขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าว แผนกข้อมูลข่าวและสารสนเทศของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ติดต่อมาที่หอภาพยนตร์ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์เข้ามาตรวจสอบฟิล์ม เทปข่าว และรายการจำนวนมาก ซึ่งกำลังจะถูกขนย้ายออกจากห้องเก็บ ด้วยความรู้สึกเห็นคุณค่าของภาพยนตร์เหล่านี้ในฐานะสมบัติของชาติของจ่าสิบเอก วีระศิษฐ์ จึงเสนอผู้บังคับบัญชาให้ขอรับการสนับสนุนแปลงข้อมูลภาพข่าวจากระบบฟิล์มและวิดีโอ และให้หอภาพยนตร์รับไปอนุรักษ์ต่อ โดยพิธีรับมอบเกิดขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 โดยมี ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ในขณะนั้น เป็นตัวแทนรับมอบภาพยนตร์จาก พลตรี จิรศักดิ์ เอี่ยมสมบุญ (ยศในขณะนั้น) ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
ภาพ: การส่งมอบฟิล์มเพื่อการอนุรักษ์ ระหว่าง ททบ. และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560
ภาพยนตร์ที่ได้รับมอบมานั้น ประกอบด้วยฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. เป็นภาพยนตร์ข่าวออกอากาศประจำวันในช่วงระหว่างปี 2523-2529 รวมกับภาพยนตร์สารคดีข่าวอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีไม่มากนัก เป็นจำนวนประมาณ 1,600 ม้วน และม้วนเทป VHS ราว 5,000 ม้วน ภาพยนตร์ข่าวเหล่านี้เจ้าหน้าที่งานข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกระบุวันที่ออกอากาศไว้กับม้วนฟิล์ม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในงานชำระข้อมูล ฟิล์มภาพยนตร์ที่ได้รับมา หอภาพยนตร์จัดฟิล์มใส่กล่องพลาสติก เก็บในห้องเย็น และทยอยนำออกมาตรวจ ซ่อม และแปลงสัญญาณ มาตลอดจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่ได้รับจากสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ
ภาพยนตร์ข่าวทั้งหมดของ ททบ.5 ที่ได้รับมานี้เป็นภาพยนตร์สี ส่วนใหญ่จะไม่มีการบันทึกเสียง ในการออกอากาศสด ใช้การบรรยายไปตามบทข่าว โดยไม่ได้บันทึกเสียงไว้ มีเพียงบางส่วนที่เป็นภาพยนตร์ข่าวที่บันทึกเสียง จากข้อมูลภาพยนตร์ในระบบบริการของหอภาพยนตร์ในปัจจุบัน มีข่าวจากฟิล์มภาพยนตร์ข่าว ช่อง 5 ได้รับการแปลงสัญญาณให้บริการในระบบบริการแล้วทั้งสิ้น 2,577 ข่าว จำแนกเป็นข่าวที่ไม่ได้บันทึกเสียง 2,147 ข่าว และข่าวที่มีการบันทึกเสียง 430 ข่าว ทั้งหมดนี้เป็นภาพยนตร์ข่าวต่าง ๆ ระหว่างปี 2523-2526 เช่น ข่าวในพระราชสำนัก ข่าวบุคคลและภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ซึ่งเป็นเนื้อหาข่าวที่เน้นการนำเสนอของสถานี นอกนั้นจะเป็นข่าวทั่วไป เช่น ข่าวสังคม ข่าวกีฬา
ตัวอย่างภาพยนตร์ข่าวและภาพยนตร์สารคดีข่าวจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
นายกสมาคมสื่อมวลชนจำนวน 8 สมาคม ร่วมลงนามสถาปนาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2523 ณ โรงแรมเอราวัณ (1.41 นาที)
ปรีชา สามัคคีธรรม นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สุนทร ทาซ้าย นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, กิตติ ชูพินิจ นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เทพ ชาญณรงค์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย, สนั่น หัตถโกศล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย, นคร วีระประวัติ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย, จรูญ วานิชชา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมชาย จันทวังโส นายกสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามเพื่อทำพิธีสถาปนาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ภาพ: ข่าวการลงนามสถาปนาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 24 มิถุนายน 2523
ปัจจุบันสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีอายุ 44 ปี และเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ “สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย” และมีสมาชิกเป็น 12 องค์กรสมาคมสื่อตามบริบทของสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นจดหมายเหตุการก่อตั้งองค์กรร่วมในลักษณะสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชนแขนงหนังสือพิมพ์อันมีบทบาทอย่างมากต่อสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่ง และผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางสังคมและในวงการสื่อสารมวลชนมาจนถึงปัจจุบัน
[คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์) (36 นาที)
ภาพยนตร์บันทึกคำปราศรัยสรุปผลการทำงานในช่วง 2 ปีที่จอมพล สฤษดิ์ ดำเนินการวางแผนโครงการเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งเตรียมปฏิบัติใช้จริงในปี 2504 แม้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน คือเมื่อตรวจสอบจากเอกสารประมวลสุนทรพจน์ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502-2504 พบว่าคำปราศรัยนี้ยาวถึง 13 หน้ากระดาษ และส่วนที่ขาดหายไปจากภาพยนตร์นั้นกินความยาวไปประมาณเกือบ 5 หน้าในช่วงเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นภาพและเสียงของจอมพล สฤษดิ์ อ่านรายงานผลงานของรัฐบาลสมัยปฏิวัติในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาให้ประชาชนทราบไปทีละกระทรวง ว่าทำอะไรสำเร็จบ้าง มีการตัดไปที่ภาพยนตร์และภาพนิ่งประกอบเนื้อหาตามเสียงรายงานของนายกรัฐมนตรีสลับไปมากับภาพนายกรัฐมนตรีอ่านรายงาน นอกจากจะเป็นตัวอย่างของการกล่าวรายงานประชาชนของนายกรัฐมนตรีไทยทางสื่อโทรทัศน์ในกาลสมัยนั้น ยังมีคุณค่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา มีบุคลิกภาพ มีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไม่อาจศึกษาได้จากเอกสารอื่นใดเกี่ยวกับสมัยปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะในแง่ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นนักปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์
ภาพ: จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จาก [คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์)
สำหรับภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก นอกจากหอภาพยนตร์จะได้รับมอบจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกโดยตรงแล้ว ยังมีภาพยนตร์ข่าวอีกจำนวนหนึ่งที่สร้างก่อนปี 2523 ซึ่งหอภาพยนตร์ได้รับมาจากแหล่งอื่นอีก เช่น ภาพยนตร์ข่าวอันเป็นส่วนหนึ่งจากกรุภาพยนตร์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และถูกบันทึกจัดประเภทเป็นภาพยนตร์สารคดี สันนิษฐานว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำภาพยนตร์ข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ททบ.7 เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการเช่นกัน ไปใช้งานผลิตสื่อประชาสัมพันธ์รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้สนใจใช้งานสามารถสืบค้นและรับชมภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. หรือสืบค้นออนไลน์ได้จาก open data ภาพยนตร์ให้บริการ ทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์ https://www.fapot.or.th/main/library/view2/4 เลือก “สืบค้นภาพยนตร์”
เขียนโดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล
ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 85 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568
ซีรีส์หนังข่าว
ตอนที่ 1 แนะนำหนังข่าวและภาพรวมคอลเลกชัน หนังข่าว หอภาพยนตร์ <<คลิก>>
ตอนที่ 2 ไทยทีวีสีช่อง 3 <<คลิก>>
ตอนที่ 3 ไทยทีวี ช่อง 4 ไทยทีวีสี ช่อง 9 และไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. <<คลิก>>