ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม 2567 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2567 หลังจากได้ผ่านการพิจารณาตัดสินโดยนำรายชื่อภาพยนตร์ที่ประชาชนกว่า 1,700 คน ร่วมเสนอรายชื่อภาพยนตร์ 266 เรื่อง รวมกับภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์ภาพยนตร์บางส่วน มาเสนอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ 34 ท่านตัดสิน โดยในปีนี้จะมีภาพยนตร์จำนวน 10 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ และนี่คือความคิดเห็นบางส่วนจากเหล่าคณะกรรมการ


กฤติยา กาวีวงศ์ 

ภัณฑรักษ์


เลือกหนังยาว กับสารคดี จำนวนเท่า ๆ กัน หนังยาว หลายเรื่องแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคม บ้านเราในแต่ละยุค เช่น สามพราน เป็นหนัง propaganda สร้างโดยกรมตำรวจ แต่ประเด็นยังคงเชื่อมโยงได้ในปัจจุบัน คนกราบหมา เพิ่งเคยได้ดูหลังจากที่ถูกแบนมานาน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของไทยในแง่ Censorship และประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้กำกับยกขึ้นมาพูดถึงก็ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนังสารคดี แต่ละชิ้นดีงามมาก เช่น รายงานการสำรวจของนักโบราณคดี ได้เห็นมุมมองของชาวฝรั่งเศสต่อบ้านเรา รวมทั้ง พระองค์เจ้าบริพัตรที่บันดุง เป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญในแต่ละยุค ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง และ ประวัติศาสตร์ได้ดีมาก


*******************************



กษิดิศ อนันทนาธร

บรรณาธิการ


ภาพยนตร์ไม่เพียงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกให้เห็นถึงสภาพบ้านเมือง ชีวิตและอารมณ์ของผู้คนในสังคมเท่านั้น ยังเป็นงานสร้างสรรค์จากศิลปะหลายแขนงเพื่อนำเสนอประเด็นอะไรบางอย่างให้ผู้ชมได้คล้อยตาม ขบคิด หรือมีมุมมองแบบใหม่ในการเข้าใจสังคมที่พวกเราอาศัยอยู่ การได้มีส่วนร่วมคัดเลือกภาพยนตร์ในครั้งนี้จึงรู้สึกว่าได้ประโยชน์มาก และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ชมในวงกว้างต่อไป


*******************************


กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

นักวิจารณ์ภาพยนตร์


ยากเหมือนทุกครั้ง เพราะมีหนังที่สมควรอนุรักษ์ไว้มากมาย รวมทั้งเรื่องที่ยังไม่ได้รวมไว้ในรายชื่อของปีนี้ แต่ก็ยังจะมีปีต่อ ๆ ไป 


*******************************


ผศ. ดร.เกษม เพ็ญภินันท์

นักวิชาการด้านปรัชญา


ภาพยนตร์เสมือนเชิงอรรถทางสังคมวัฒนธรรม ที่ช่วยให้เรารับรู้สภาพความเป็นจริงมากขึ้นผ่านเรื่องเล่าและเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดและนำเสนอออกมา การคัดเลือกภาพยนตร์ เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมคือการฟื้นคืนชีวิตให้เชิงอรรถทางสังคมวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ถูกแลเห็น เหมือนเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ช่วยให้เราเข้าใจ เข้าถึงประสบการณ์โลกที่พัดผ่านกาลเวลา ยุคสมัย ฉากชีวิตของผู้คน และจินตนาการที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม


*******************************


โกวิท โพธิสาร

สื่อมวลชน


ภาพยนตร์จำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือก ไม่เพียงมีความงดงามในแง่ของศิลปะ แต่ยังมีความแหลมคมในการเลือกนำเสนอผ่านแง่มุมทางสังคม การเมือง และการเสียดสี อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งในแง่นี้ลำพังความสามารถทางศิลปะอาจไม่เพียงพอ แต่ผู้สร้างจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญลงไปด้วย ในจำนวนภาพยนตร์ทั้งหมดที่มีโอกาสพิจารณาในปีนี้ ขอยกให้เรื่อง บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ และ คนกราบหมา เป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การปรบมือ


ภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่ไม่ถูกเลือก อาจไม่ได้มีคะแนนห่างจากภาพยนตร์ที่ถูกเลือกมากนัก หากวัดจากตัวคุณภาพอาจจะใกล้เคียงกัน แต่มักมีเหตุผลที่ไม่เข้าเกณฑ์ด้วยเรื่องของความเสี่ยงที่จะสูญหายเท่านั้น แน่นอนว่าลำพังเหตุผลนี้ไม่อาจลดทอนคุณภาพของหนังได้ แต่เมื่อต้องเลือกก็จำเป็นต้องพิจารณาจากหลายเกณฑ์ ขณะที่ภาพยนตร์อีกจำนวนมากเช่นกัน แม้มีคุณค่าในเชิงการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เนื้อหาเหล่านั้นเป็นบันทึกเรื่องราวโดยไม่ได้เรียบเรียงอย่างศิลปะการเล่าเรื่อง ซึ่งเช่นกันว่า หากประเมินจากคุณค่าของความทรงจำย่อมมีความสำคัญ แต่เมื่อประเมินจากคะแนนด้านอื่น ๆ เช่น ศิลปะของการนำเสนอ ก็ทำให้คะแนนลดหลั่นลงไปกระทั่งทำให้ไม่ถูกเลือกในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าบันทึกเหล่านั้นยังมีคุณค่าในแง่ของการทำความเข้าใจพัฒนาการทางสังคมและแง่มุมทางประวัติศาสตร์อยู่ดี


*******************************


ชญานิน เตียงพิทยากร

นักวิจารณ์ภาพยนตร์


ชีวิตใหม่ เปล่งประกายสว่างชัดในกลุ่มภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ามาพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติคราวนี้ เมื่อการเก็บรักษาที่ดีและเทคโนโลยีที่พัฒนาถึงพร้อม มีส่วนช่วยคืนชีพให้ทั้งภาพยนตร์ที่เคยถูกอำนาจหรือกฎหมายซึ่งละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกปิดกั้นจากสายตาผู้ชมอยู่หลายสิบปี และยังช่วยขัดเกลาให้เราได้เห็นความงามด้านสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ดิจิทัลในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเคยถูกจำกัดพิกเซลไว้ในห้วงทศวรรษที่เทคโนโลยีการฉายในช่วงเปลี่ยนผ่านยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย


อ้างอิงจากคำบอกเล่าในบทสัมภาษณ์ใหม่ ๆ ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ในวาระที่ คนกราบหมา กับ เชคสเปียร์ต้องตาย เข้าฉายในโรงภาพยนตร์) พบว่านอกจากความท้าทายแตกต่างและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเซนเซอร์แล้ว คนกราบหมา ยังน่าจะถือเป็นภาพแทนการเก็บรักษาภาพยนตร์ที่ดีของฝั่งผู้สร้างเองได้ด้วย (ฉบับดิจิทัลที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ เกิดขึ้นได้ด้วยการนำฟิล์มต้นฉบับไปสแกนใหม่ที่ประเทศเยอรมนี หลังตัวหนังได้รับการติดต่อเพื่อให้นำฟิล์มไปจัดฉายที่นั่น)


*******************************


ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

นักจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศึกษา

การคัดเลือกภาพยนตร์เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2567 นับเป็นประสบการณ์ที่เปิดโลกทัศน์อย่างมาก ในการพิจารณาภาพยนตร์ ผมเห็นความหลากหลายของภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในบ้านเรา ผมประทับใจในการเล่าเรื่องและสไตล์ภาพที่สร้างสรรค์ของภาพยนตร์หลายเรื่อง อีกจำนวนหนึ่งนำเสนอประเด็นทางสังคมและการอยู่รอดของผู้คน ผลงานเหล่านี้ฉายให้เห็นความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นของผู้สร้างภาพยนตร์ชาวไทย ส่วนภาพยนตร์บันทึกนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการตีความสำหรับการศึกษาต่อไป


*******************************


ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ

นักประวัติศาสตร์


ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นแต่เพียงเครื่องมือให้เราได้ย้อนไปชมเรื่องราวในอดีต หากแต่ภาพยนตร์ยังทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย และมีทั้งความจริงและความฝันที่แตกต่างไปพร้อมกันด้วย


*******************************


ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

นักประวัติศาสตร์


หนังเรื่องเลือกที่เด่น ลักษณะเฉพาะตัวของการทำหนังไทยยุคก่อน ส่วนสารคดีเอาเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรือมีภาพแสดงถึงช่วงเวลานั้นของคน


*******************************


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์


ตื่นเต้นที่ได้รู้จักและเห็นหนังและภาพข่าวหลายชิ้นที่ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นมาก่อนค่ะ


*******************************


นที กอนเทียน

ผู้ดูแลเพจ 77PPP


สำหรับภาพยนตร์ที่ถูกนำมาให้คัดเลือกขึ้นทะเบียนในปีนี้ ล้วนมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ ที่มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ในบางแง่มุม ก็เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อยู่กลาย ๆ เมื่อถูกนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นหรือรับรู้อีกครั้ง หรือจะเป็นภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญในทางประวัติศาสตร์ ที่ในบางแง่มุม คนรุ่นหลังอาจจะยังไม่เคยได้เห็น หรือรับรู้ถึงเหตุการณ์นั้นมาก่อนว่ามีอยู่จริง ส่วนภาพยนตร์เล่าเรื่อง ก็มีทั้งภาพยนตร์ขวัญใจมหาชน ที่อยู่ในแต่ละช่วงยุคสมัย และภาพยนตร์ที่ออกฉายเฉพาะกลุ่ม หรือจำกัดการฉาย แต่ก็ล้วนมีคุณค่า ควรค่าแก่การขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น


*******************************


นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

บรรณาธิการ


ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีคุณค่าของตัวเอง เลือกยากมาก ขอบคุณคนทำงานหนังไทยทุกคนที่ยืนหยัดสร้างสรรค์ฝ่าฟันความยากลำบากกันมา 


*******************************


นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์

นักวิชาการด้านศิลปะ


ชอบที่เห็นรายชื่อและทิศทางของภาพยนตร์เพื่อคัดเลือกมีหลากมิติ  


*******************************


รศ. ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์


ภาพยนตร์เหล่านี้คือสมบัติสำคัญของชาติที่จะต้องได้รับการศึกษาและเผยแพร่ต่อไปในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจรากเหง้าและความเป็นไปในแต่ละยุคสมัย หากได้ลองพิจารณาในรายละเอียดจะทำให้เกิดการศึกษาสังคมไทยในแง่มุมใหม่ ๆ ได้ และจะทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้เป็นมรดกที่มีความหมายและดำรงอยู่อย่างแท้จริง


ภาพยนตร์ที่ผมเสนอขึ้นทะเบียนมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือประวัติศาสตร์สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้ได้บันทึกเรื่องราวสำคัญที่เราไม่ได้พบเห็นอีกแล้ว จึงมีความสำคัญในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งภาพยนตร์ข่าวชีวิตของชนชั้นสูงของสยามมีความน่าสนใจโดยตัวมันเอง และทั้งการเคลื่อนย้ายพระอัฐิและพระบรมอัฐิ ตลอดจนงานปลงพระศพเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งเห็นภาพเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญของสยาม จึงน่าตื่นตาตื่นใจมาก นอกจากนี้ บันทึกการเดินทางของนักโบราณคดี ควรจะมีการเผยแพร่เพื่อสร้างข้อถกเถียง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวของบุคคลที่เชื่อว่าเป็นครูบาศรีวิชัย หรือพระศรีวิชัย ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าไม่น่าจะใช่ เมื่อเปรียบทั้งวงหน้า และใบหู ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล หากเป็นครูบาศรีวิชัยก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งเพราะเพิ่งมีการจัดงานรำลึก 140 ปีของชาตกาลท่าน และในปี 2582 จะครบ 100 ปีแห่งการมรณภาพของท่าน 


กลุ่มที่สองคือภาพยนตร์สะท้อนการเมืองในยุคสงครามเย็น ตั้งแต่ สามพราน และ บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ ซึ่งให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับยุคสงครามเย็น เรื่อง สามพราน เป็นการอวดแสนยานุภาพการรบของตำรวจในยุคสงครามเย็นที่ต้องทำหน้าที่ป้องกันประเทศไม่แพ้ทหาร ส่วนเรื่อง น้อยไจยา โดยส่วนตัวผมชอบความตัดสลับไปสลับมา มีภาพในยุคร่วมสมัยกับฉากพื้นในเรื่องเล่าน้อยไจยาฉบับเดิม แต่ก็ทำให้เห็นความพยายามและยุ่งยากในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ของสยามทั้งในแง่การ reconstruct บทพากย์และสร้างดนตรีประกอบใหม่ 


*******************************


ประวิทย์ แต่งอักษร

นักวิจารณ์ภาพยนตร์


อยากพูดถึง WEDDING TRIP TO BANGKOK 1938-1939 ซักหน่อย เพราะส่วนตัวรู้สึกว่ามันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำที่โดดเด่นมากจริง ๆ รวม ๆ แล้ว ลำพังความเป็น “หนังบ้าน” ของหนังเรื่องดังกล่าวก็คล้าย ๆ กับเรื่องอื่น ๆ ในแง่ที่มันบันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข การเดินทางที่น่ารื่นรมย์ ความสัมพันธ์ในฐานะคู่สามีภรรยาสองคู่ที่เพิ่งจะเริ่มต้น และแขกพิเศษที่มาเยี่ยมเยือน แต่พอนำมาปะติดปะต่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังหรือชีวิตช่วงบั้นปลายของแต่ละบุคคลตามที่ปรากฏในหนังบ้านเรื่องดังกล่าวแล้ว มันกลับหยิบยื่นอำนาจประหลาดให้กับคนดู อย่างน้อย พวกเราเฝ้ามองด้วยสายตาแบบพระเจ้าที่ล่วงรู้ชีวิตในภายภาคหน้าของชนชั้นสูงหลาย ๆ คน ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันไกลสุดกู่จากความเป็นเทพนิยาย (ตามที่ใครอาจจะรู้สึกได้จากการดูหนังบ้านเรื่องนี้) และมันทำให้สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าดูเศร้าสร้อยถนัดใจ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏว่าหนึ่งในคู่สามีภรรยาในหนังบ้านเรื่องนี้ต้องเลิกร้างกันไปเพราะความสัมพันธ์นอกชีวิตสมรสของฝ่ายชาย หรือบ้างก็จากไปก่อนเวลาอันควร ในแง่หนึ่ง มันย้ำเตือนว่ากาลเวลากลืนกินทุกสรรพสิ่งจริง ๆ และสิ่งเดียวที่อย่างน้อยก็คงทนและยืนหยัดได้ยาวนานกว่าเพื่อนก็คือ ภาพยนตร์ ซึ่งถ้าหากได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มันก็จะช่วยเก็บรักษาอดีต ความทรงจำ ความสุข เงื้อมเงาของความโศกเศร้าหรือหม่นมืดที่แอบซ่อนอยู่ในบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาไปแสนนาน


*******************************


ปราปต์ บุนปาน

บรรณาธิการ


อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของสังคมไทย ล้วนปรากฏอยู่ใน “มรดกภาพยนตร์ของชาติ”


*******************************


ม.ร.ว.ปิยฉัตร ฉัตรชัย

สื่อสารมวลชน


ภาพยนตร์พาเรากลับไปสู่อดีตผ่านคลื่นความสั่นไหวของแสง สีและเสียง น่าตื่นตาตื่นใจกับการสังเกตรายละเอียด ความคิดเห็น บทสนทนา ทัศนคติ ความเป็นไปของบริบทสังคมในช่วงนั้น ๆ 


*******************************


พรพิชิต พัฒนถาบุตร

นักวิชาการอิสระ


ผมขอย้ำความรู้สึกเดิม คือต้องขอขอบคุณที่หอภาพยนตร์เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เพื่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปที่รักงานภาพยนตร์ได้เห็นถึงความตั้งใจดีในการสร้างภาพยนตร์ หรือแม้การเก็บบันทึกภาพเหตุการณ์ทั้งเรื่องราวของสังคม ประเพณี วัฒนธรรมไทยและเรื่องของส่วนตัวเอาไว้ให้ได้เป็นข้อมูล และเป็นเรื่องที่สามารถนำมาศึกษาและเป็นพื้นฐานที่ดีของการผลิตงานด้านนี้ต่อไป เรื่องราวในอดีตจะไม่ผ่านไป จะถูกบันทึกไว้เป็นผลงานที่จะต่อยอดความสมบูรณ์และความทันสมัยในการผลิตงานในยุคปัจจุบันได้ด้วย ผมรักภาพยนตร์ไทยครับ 


*******************************


ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ

นักวิชาการด้านภาพยนตร์


ภาพยนตร์พาเราเรียนรู้ถึงความเป็นมนุษย์ในหลากหลายมิติ ภาพยนตร์จึงควรค่าในการเป็นมรดกของชาติเพื่อส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป


*******************************


ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

บรรณาธิการ


เป็นเกียรติครับที่มีโอกาสร่วมคัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียนภาพยนตร์มรดกของชาติในปี 2024 ปีนี้ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ในฐานะของความทรงจำที่เรามีร่วมกัน ความทรงจำที่เราจับต้องได้จากการเคลื่อนไหวบนจอ อย่างใน บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ ภาวะฝันสลายชวนให้เราตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวรวมทั้งความเชื่อ และคนทำหนังก็นำเสนอหนังทดลองที่ฉากชวนช็อกที่ติดแน่นในความทรงจำ อย่างใน คนกราบหมา หนังเล็ก ๆ ซึ่งถูกเซ็นเซอร์อยู่นานถึงยี่สิบปี ปีนี้มีการบันทึกความบันเทิงบนแผ่นฟิล์มที่น่าสนใจมาก ตั้งแต่หนังของดอกดิน กัญญามาลย์ ซึ่งเปิดขึ้นมาด้วยฉากหลุดความต่อเนื่องอย่างจัง แต่ปังในความรู้สึก เมื่อไจยากับชัยลังกายืนอยู่ในฉาก คุยกับอุษา ตัวร้ายซึ่งนุ่งกระโจมอกเล่นน้ำตกหน้าตาเฉย โต้ตอบกันราวกับอยู่ในฉากเดียวกัน ในหนังเรื่อง น้อยไจยา


สำหรับคนรุ่นผม ดาราอย่าง สมควร กระจ่างศาสตร์ (ก็นับว่าเป็นรุ่นใหญ่แล้ว ไม่นึกว่าเมื่อก่อนแกก็เคยเล่นเป็นพระเอก (ในภาพยนตร์เรื่อง สามพราน) แถมยังรับบทพระเอกเกเร ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อสีเข้ม มีแจ็กเกตสวมหมวกอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า flat cap แล้วชวนให้นึกถึงภาพพจน์พระเอกเกเรที่เคยเห็นในหนังญี่ปุ่นรุ่นปี 50


เมื่อชม WEDDING TRIP TO BANGKOK 1938-1939 สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการแต่งกายของเจ้าในสมัยนั้น เมื่ออยู่อังกฤษในบ้านญาติฝ่ายเจ้าสาว ทั้งสองพระองค์สวมสูทสามชิ้น (มีเสื้อกั๊กตัวใน) แบบตะวันตก เสียบดอกไม้สีแดง (น่าจะแสดงฐานะของเจ้าบ่าว)...พอมาถึงเมืองไทย ในวันที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร พระองค์จุลฯ สวมกางเกงแพรเสื้อผ้าป่านสีสวยหวานเนื้อบางเบารับลมทะเลที่ตำหนักหัวหิน ดูแล้วทั้งเย็นสบายทั้งงามสง่า


*******************************


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์

นักวิจารณ์ภาพยนตร์


สมมตินะครับ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะสมมติไกลไปหรือเปล่า) คือถ้านวัตกรรมภาพยนตร์ถูกคิดค้นเร็วขึ้นกว่านี้ เราคงมีวัตถุพยานชิ้นสำคัญว่า ใครคือตัวการเผากรุงโรม (หรือเมืองอื่นแทนก็ได้), เราคงได้ข้อพิสูจน์ถึง พระสิริโฉมอันงดงามของพระนางคลีโอพัตรา (โดยไม่ต้องพึ่งเอลิซาเบธ เทย์เลอร์), ป่านนี้เราคงได้เห็นการสู้รบอันเกรียงไกรของกองทัพนโปเลียน และเราคงไม่ต้องถกเถียงกันถึงเรื่องการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนว่าสร้างโดยแรงงานมนุษย์ล้วน ๆ จริงหรือ ตลอดจนบทบาทการแสดงขั้นดิว่าของนักแสดงหญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงที่ดีที่สุดของโลกอย่าง Sarah Bernhardt ก็น่าจะมีใครเอากล้องไปเก็บบันทึกข้างเวที...ซึ่งก็เหลือเวลาอีกนิดเดียว นวัตกรรมภาพยนตร์ถึงค่อยมา


แต่เท่าที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ อะไรที่มาหลังปี 1895 ย่อมได้รับการบันทึก (รวมไปถึงค้นหา, อนุรักษ์และเก็บรักษาเช่นกัน)..สื่อภาพยนตร์อาจถูกประเมินค่าเพียงแค่มีไว้เพื่อความบันเทิง แต่ทว่าในวันข้างหน้า คนรุ่นถัดจากเราจะหันมามองในแง่ของการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ของกายภาพ (งานสารคดี) และบทจารึกทางความคิด, ทัศนคติ, ค่านิยมและอุดมการณ์ในแต่ละช่วง ผ่านภาพยนตร์เรื่องยาว


*******************************


ผศ. ดร.ลลิตา หาญวงษ์

นักประวัติศาสตร์


มีความยินดีที่ได้เป็นกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์อีกครั้งในปีนี้ ทุก ๆ ปีก็จะได้รับชมภาพยนตร์และสารคดีที่มีคุณค่า เปิดหูเปิดตาและเปิดประสบการณ์ได้มากเลยค่ะ


*******************************


ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง

นักวิชาการด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา


ภาพยนตร์ที่ทางทีมงานหอภาพยนตร์เลือกมาสำหรับการคัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียนในปี 2567 นี้โดยเฉพาะภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ น่าสนใจหลายเรื่องมากค่ะ 


ภาพยนตร์แนวบันทึกการเดินทาง (travelogue) และความทรงจำส่วนบุคคลหลายเรื่อง อาทิ รายงานการสำรวจทางโบราณคดี ณ กรุงสยาม พฤศจิกายนถึงธันวาคม 2472 และ WEDDING TRIP TO BANGKOK 1938-1939 ฉายให้เห็นบรรยากาศทางชนชั้นผ่านกิจกรรมยามว่างและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ต่าง ๆ ในสยาม/ไทย ได้อย่างน่าสนใจ 


บันทึกการรับพระศพ PRINCE PARIBATRA OF SIAM กลับไทยภายใต้บริบทอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซียการจัดงานเป็นไปอย่างเป็นทางการท่ามกลางผู้คนท้องถิ่นที่หยุดดูการเคลื่อนขบวนประดับดอกไม้ดังกล่าวไปตามถนนหนทาง  


ในส่วน “หนังเรื่อง” ภาพยนตร์ที่ทีมงานเลือกมามีหลากหลายแนวหลากหลายอรรถรส 


บ๊าย..บายไทยแลนด์ เสียดสีบรรยากาศเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคหลังสงครามเย็นได้อย่างสนุกสนาน คมคาย 


กระเบนราหู เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เก่าทว่าที่ควรค่าแก่การขึ้นทะเบียนให้ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงการศึกษาต่อไปทั้งในแง่สุนทรียศาสตร์และประเด็นทางสังคม 

ประวัติศาสตร์ของการถ่ายทำและผู้ชม น้อยไจยา ทำให้เรื่องดังกล่าวควรได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อสะท้อนความหลากหลายของเรื่องเล่าท้องถิ่นต่อบริบทภาพยนตร์ไทย นอกเหนือจากบริบทประวัติศาสตร์รัฐไทยกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ


สามพราน น่าสนใจในแง่ความเป็นไปได้ในการศึกษาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผ่านบริบทการสร้างและผู้ให้ทุนสร้าง รวมถึงการออกแบบฉาก เสื้อผ้า การสนับสนุนการถ่ายทำโดยภาครัฐ ฯลฯ


*******************************


ศรัณย์ ทองปาน

นักเขียนสารคดี


รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกมรดกภาพยนตร์อีกครั้งในปีนี้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่คัดสรรให้เข้ารอบมา ล้วนแต่มีคุณค่า มีความโดดเด่นเฉพาะตัว น่าเสียดายที่ต้องตัดสินใจเลือกได้เพียงจำนวนจำกัด ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมเป็นพิเศษกับทางหอภาพยนตร์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทในกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ  


*******************************


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงาน


ผมต้องขอขอบคุณหอภาพยนตร์ที่ให้เกียรติและไว้วางใจให้ผมได้เป็นกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติหลายครั้ง ทุกครั้งเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะจะได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่ดี มีคุณภาพ มีความสำคัญที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้วจากทั้งทางหอภาพยนตร์เองและจากการเสนอของประชาชนทั่วไป ผมรู้สึกว่าตัวเองได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจที่สำคัญยิ่งในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าของประเทศไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ดู ได้ศึกษา


การพิจารณาภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นเราใช้เกณฑ์ที่ทางหอภาพยนตร์ได้คิดวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว นั่นคือการประเมินคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ เพื่อให้มั่นใจว่าภาพยนตร์ที่เลือกนั้นมีความสำคัญต่อการบันทึกและสะท้อนประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญของชาติ การวิเคราะห์คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ทำให้เราต้องพิจารณาถึงความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคนิคต่าง ๆ และความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์และเรื่องราวของภาพยนตร์ประกอบ


เกณฑ์ด้านความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นั้น เรากรรมการจะต้องพิจารณาว่าภาพยนตร์มีความไม่เหมือนใครและมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้มันเป็นที่จดจำ ส่วนการประเมินอิทธิพลต่อคนและสังคมนั้นเราจะดูถึงผลกระทบของภาพยนตร์ที่มีต่อสังคมและวิถีชีวิตของคนไทย ในขณะเดียวกันการตรวจสอบบูรณภาพของภาพยนตร์ต้องพิจารณาว่าภาพยนตร์ยังคงอยู่ในสภาพดีและสมบูรณ์ และสุดท้าย การประเมินความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือความยากในการหาทดแทนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันสะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาและบำรุงรักษามรดกภาพยนตร์เหล่านี้ให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต


ปีนี้พวกเราได้รับมอบหมายให้พิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติจำนวน 10 เรื่อง ไม่ง่ายเลยที่จะตัดสินใจ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ถูกคัดสรรมาให้พิจารณาต่างก็มีความโดดเด่นมีคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาพยนตร์ 10 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้จะถูกใจทุก ๆ ท่าน ที่สำคัญที่สุดก็คือภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่อง เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วมั่นใจได้เลยว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษโดยหอภาพยนตร์เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จะส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป


*******************************


ศาสวัต บุญศรี

นักวิชาการด้านภาพยนตร์


ประทับใจภาพยนตร์หลายเรื่องที่เคยถูกแบนและถูกเลือกเพื่อได้กลับมาทบทวน ตรวจสอบ ศึกษา อีกครั้ง ซึ่งหนังหลายเรื่อง เมื่อชมด้วยสายตา ยามบริบทเปลี่ยนไป ยังสามารถสร้างบทสนทนาแก่วงวิชาการภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยได้อย่างยิ่ง


*******************************


รศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา


ภาพยนตร์บางเรื่องช่างน่าประหลาดใจ ทำให้รู้สึกว่าเหมือนเรายังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น มันมิใช่ “มรดก”แต่มันดูเป็นปัจจุบันเสียเหลือเกิน


*******************************


สุภัตรา ภูมิประภาส

นักเขียน นักแปล


ปีนี้แอบรักพี่เสียดายน้องหลายเรื่องค่ะ และสำหรับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อยากให้ลงเสียงบรรยาย ซึ่งจะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้คนรุ่นหลังที่มีโอกาสได้ชมค่ะ 


*******************************


โสภิต หวังวิวัฒนา

นักจัดรายการวิทยุ


ผลงานที่ได้รับการเสนอชื่อในปีนี้ มีความหลากหลายและมีผลงานในยุคใหม่เพิ่มมากขึ้น แสดงถึงความสนใจจากผู้ชมที่กว้างขวางเพิ่มขึ้นด้วย ยังคงเป็นความหนักใจของกรรมการที่ต้องชั่งน้ำหนักในการพิจารณาคัดเลือก เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องล้วนมีความโดดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกัน ชวนทุกท่านร่วมกันชื่นชม สนับสนุนภาพยนตร์ไทยทุกรูปแบบ เพราะภาพยนตร์ ไม่เพียงเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงแต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือบันทึกความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของเหตุการณ์แต่ละช่วงเวลาที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของเรา


*******************************


อธิคม คุณาวุฒิ

บรรณาธิการ


เป็นปีที่มีภาพยนตร์หลายเรื่องสมควรถูกจัดเก็บและบันทึกอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศ


*******************************


อธิป กลิ่นวิชิต

สื่อมวลชน


ภาพยนตร์ปีนี้ มีความน่าสนใจในฐานะที่มีผลงานภาพยนตร์ที่เคยต้องห้ามสองเรื่องเข้ารับการคัดเลือก ที่สำคัญทั้งสองเรื่องมีความแหลมคม ไม่ว่าจะเป็น คนกราบหมา ที่ตั้งคำถามกับลัทธิและความเชื่อซึ่งมีอยู่ในสังคมไทย แม้จะเล่าออกมาในเชิงเสียดสี แต่หลาย ๆ คำถามและคำตอบก็ยังแทงใจดำผู้ชม และทันสมัยอยู่ในยุคนี้ ขณะที่ บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ นอกจากบันทึกถึงขาลงเศรษฐกิจไทย ซึ่งเล่าในเชิงตลกร้ายยังแฝงมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและรัฐบาล


ส่วนภาพยนตร์เก่าบางส่วนเช่น สามพราน มีความน่าสนใจว่าเป็นเหมือนหนังฮอลลีวูดพร็อพโพกันด้าแบบไทย ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ อาจจะไม่ต่างกับที่เราดู Top Guns หรือ Black Hawk Down ซึ่งเชิดชูการทำงาน เสียสละ ของทหารหรือเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 


ขณะที่ภาพยนตร์หนังข่าวอื่น ๆ มีความน่าสนใจในฐานะภาพบันทึกประวัติศาสตร์ในส่วนของเชื้อพระวงศ์คนชั้นสูง ช่วงทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 


*******************************


อภินันท์ ธรรมเสนา 

นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา


ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงสื่อบันเทิง แต่เป็นสื่อบันทึกเรื่องราวและวัฒนธรรมของสังคม การเลือกภาพยนตร์เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ จึงถือว่ามีความสำคัญที่ไม่ใช่แต่การอนุรักษ์ภาพยนตร์แต่คือการรักษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของชาติ ที่เราสามารถกลับมาศึกษาผ่านสื่อภาพยนตร์ เพราะภาพเหตุการณ์ในภาพยนตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ 


*******************************


อัษฎาวุธ สาคริก

นักดนตรีและที่ปรึกษางานศิลปวัฒนธรรม


ยังมีภาพยนตร์ของไทยอีกมาก ที่มิใช่เพียงเพื่อการดู แต่เพื่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิด


*******************************


ผศ. อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

ผู้กำกับภาพยนตร์


รู้สึกร่วมกับหนังหลายเรื่องในครั้งนี้ครับ ทั้งที่สื่อ บทเรียนชีวิต สัญญารัก หลักการในโลกของผู้ชาย ลูกผู้หญิงก็เลือกได้ ความรู้สึกอยากย้ายประเทศมันไม่ได้มีแค่สามสี่ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงคำถามที่ว่า คนไทยจะกราบหมาไปถึงชาติไหน