นาฬิกายักษ์ Méliès Star Film

สดุดีแด่ผู้มาก่อนกาล (เวลา) 



โดย ณัฐพล สวัสดี

ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 67 ประจำเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2565


กล่าวถึง จอร์ช เมลีแยส (Georges Méliès) คุณูปการที่เขามีต่อวงการภาพยนตร์นั้นมากมายมหาศาลเกินกว่าที่ตัวเขาเองจะจินตนาการได้ ทุกนวัตกรรมทางภาพยนตร์ที่ จอร์ช เมลีแยส ได้รังสรรค์ขึ้นมานั้น เป็นรากฐานสำคัญของภาพยนตร์สมัยใหม่ตั้งแต่พรีโปรดักชันจนไปถึงโพสต์โปรดักชัน ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ในการถ่ายทำ การลงสีในฟิล์ม การใช้สตอรีบอร์ด รวมถึงการทำหนังแบบเล่าเรื่อง จอร์ช เมลีแยส ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ทำ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ภาพยนตร์ของ จอร์ช เมลีแยส จำนวนกว่า 500 เรื่องที่ถูกผลิตขึ้นมาในช่วงเวลาปี ค.ศ. 1896 ถึงปี ค.ศ. 1912 นั้น บางส่วนได้สูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ จอร์ช เมลีแยส จำเป็นต้องขายกิจการภาพยนตร์ออกไป และภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาได้ถูกนำไปหลอมเป็นส้นรองเท้าบูททหารให้กับกองทัพฝรั่งเศส จนเหลือภาพยนตร์ให้คนรุ่นหลังมาศึกษาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น


ภาพ: นาฬิกายักษ์ในภาพยนตร์ Hugo


จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ชาวอเมริกัน ได้สร้างภาพยนตร์ในชื่อเรื่องว่า Hugo (ปริศนามนุษย์กลของฮิวโก้) เป็นภาพยนตร์แนวอิงประวัติศาสตร์-แฟนตาซี ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ The Invention of Hugo Cabret (ปริศนามนุษย์กลของอูโก้ กาเบรต์) ภาพยนตร์ได้นำเรื่องราวอันแสนตื่นเต้นและประทับใจเพื่อเป็นการสดุดีผู้กำกับผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ โดยได้เล่าถึง เด็กชายกำพร้าวัย 12 ปีที่แอบอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟการ์มงต์ปาร์นาส (Gare Montparnasse) ในกรุงปารีส ในช่วงเวลาราว ค.ศ. 1930 พ่อของฮูโกซึ่งเป็นช่างจักรกลได้เสียชีวิตกะทันหันจากอุบัติเหตุไฟไหม้ ทำให้เขาต้องมาอยู่กับลุงซึ่งมีหน้าที่ดูแลนาฬิกาขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในสถานีรถไฟให้เดินอยู่ตลอดเวลา ลุงสอนให้เขาดูแลนาฬิกา ฮูโกจึงแอบอาศัยอยู่ในนาฬิกายักษ์นี้เป็นบ้านเสียเลย ฮูโกยังหลงใหลประดิษฐกรรมมนุษย์กลชำรุดที่น่าพิศวงตัวหนึ่งที่พ่อเขาพยายามซ่อมทิ้งไว้และพยายามที่จะซ่อมมันต่อ และพบว่าที่ร้านขายและรับซ่อมของเล่นของตาแก่คนหนึ่งในสถานีรถไฟนี้มีสิ่งของแปลก ๆ ที่น่าเรียนรู้ แต่ตาแก่ไม่ชอบให้เขามายุ่มย่ามที่ร้านเพราะเห็นว่าฮูโกชอบขโมยของ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ที่สุดฮูโกก็สามารถผูกมิตรกับตาแก่ได้ โดยช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ แลกกับตาแก่สอนวิชาช่างให้เพื่อที่จะเอาไปซ่อมมนุษย์กลปริศนา เรื่องดำเนินไปจนเขาไขปริศนาได้ว่า ที่แท้ตาแก่นี่เองคือผู้ประดิษฐ์มนุษย์กลตัวนี้ และยังเคยเป็นนักมายากลและนักสร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เขาละ “จอร์ช เมลีแยส”

ภาพ: การสร้างนาฬิกายักษ์ Méliès Star Film ที่หอภาพยนตร์และทีมงานผู้สร้าง


บัดนี้ หอภาพยนตร์ได้จำลองนาฬิกาเรือนนี้ขึ้น และติดตั้งให้เสมือนมันได้หลุดจากภาพยนตร์ Hugo ทะลุผนังโรงหนังช้างแดงสู่ลานไปดวงจันทร์ของหอภาพยนตร์ โดยตั้งชื่อนาฬิกาเรือนนี้ว่า Méliès Star Film เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอร์ช เมลีแยส และโรงถ่ายสตาร์ฟิล์มของเขา (Star Film Company) การสร้างนาฬิกาเรือนนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะทีมผู้สร้างไม่มีหลักฐานชั้นต้นเป็นต้นแบบในการสร้าง เนื่องจากสถานีรถไฟการ์มงต์ปาร์นาสนั้นถูกบูรณะปรับปรุงไปในช่วงทศวรรษที่ 60 จนไม่เหลือร่องรอยเดิมอยู่อีกเลย แม้แต่ภาพถ่ายหรือภาพเขียนก็ไม่ปรากฏภาพด้านในของตัวสถานีรถไฟ เราจึงไม่เห็นตัวนาฬิกาว่าหน้าตาและรายละเอียดจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร แต่ที่จริงนั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเราจำลองนาฬิกาจากจินตนาการในภาพยนตร์ Hugo ซึ่งก็คงเป็นจินตนาการของจินตนาการอีกทอด อย่างไรก็ดีรายละเอียดต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือหลากหลายทักษะเข้ามาระดมความคิด ถอดรหัสส่วนประกอบต่าง ๆ จากภาพยนตร์ให้กลายเป็นความจริง อาทิเช่น ลวดลายแกะสลักของนาฬิกา ก็ต้องใช้ทักษะเชิงช่างเข้ามาเติมช่องว่างที่ขาดหายไปของต้นแบบให้ปรากฏออกมาให้ได้ และน้ำหนักที่มากกว่า 500 กิโลกรัม และขนาดที่ใหญ่โตของนาฬิกา พร้อมกับองศาที่พิสดาร จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการนำนาฬิกาเรือนนี้ขึ้นไปไว้บนผนังโรงหนังช้างแดงที่เอียงบิดเบี้ยวอีกด้วยเช่นกัน และนอกเหนือจากด้านความงามแล้ว นาฬิกาเรือนนี้ยังเดินตามเวลาได้จริง และมีหน้าปัดเปิดโล่งแสดงให้เห็นกลไกภายในเพื่อให้เห็นฟันเฟืองค่อย ๆ หมุนกลไกภายในของนาฬิการาวกับว่ามันมีชีพจรชีวิต โดยเวลาได้เคลื่อนไปข้างหน้าในแต่ละนาทีนั้นก็เป็นการบอกเวลาว่าภาพยนตร์คงก้าวไปข้างหน้าเสมอ


นาฬิกายักษ์ Méliès Star Film พระเอกคนใหม่ของหอภาพยนตร์นั้นลอยตัวอยู่เหนือหนังถ้ำมองต่าง ๆ และร้านขายของเล่นจำลองของ จอร์ช เมลีแยส ในนิทรรศการลานไปดวงจันทร์ รอให้ทุกคนเข้ามาชมและค้นหากลไกในมิติลึกลับของเวลาและการมองเห็น ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ณ  ลานไปดวงจันทร์ ชั้น 1 ครึ่ง อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)