ขจรศักดิ์-จันทร์จิรา 30 ปีต่อมาหลัง “พริกขี้หนูกับหมูแฮม”

เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ 


หลังเว้นว่างจากการจัดกิจกรรมไปนานกว่าหนึ่งปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้มีโอกาสจัดกิจกรรม ลานดารา ขึ้นอีกครั้ง โดยได้รับเกียรติจาก ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย และ จันทร์จิรา จูแจ้ง ดาราคนสำคัญแห่งทศวรรษปี พ.ศ. 2530 มาร่วมสนทนาถึงประสบการณ์การทำงานนับตั้งแต่ตบเท้าเข้าสู่วงการบันเทิง พร้อมประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงที่ 193 และ 194 บนลานดารา อมตนุสรณ์แห่งดาราภาพยนตร์ไทย 


ในวันดังกล่าว เปิดกิจกรรมด้วยการฉาย รักแรกอุ้ม ภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2531 ผลงานการเขียนบทและกำกับเรื่องแรกของผู้กำกับ คิง-สมจริง ศรีสุภาพ และยังเป็นผลงานแสดงหนังเรื่องแรกของ ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย และจันทร์จิรา จูแจ้ง ก่อนที่ปีต่อมา พวกเขาจะต่อยอดความสำเร็จร่วมกันใน พริกขี้หนูกับหมูแฮม ภาพยนตร์แนวโรแมนติกเรื่องดังที่มีฉากหลังต่างประเทศ ซึ่งยังคงได้รับการจดจำและกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้


ในระหว่างการร่วมสนทนาและพบปะแฟน ๆ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา นอกจากนักแสดงทั้งสองจะมาถ่ายทอดถึงประสบการณ์เส้นทางในวงการบันเทิง ยังมี คิง-สมจริง ศรีสุภาพ และวดีลดา เพียงศิริ ผู้เขียนบทประพันธ์ต้นฉบับของ รักแรกอุ้ม มาร่วมชมภาพยนตร์และแบ่งปันความรู้สึกถึงนักแสดงคู่ขวัญที่ถือได้ว่ามีภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากภาพจำของพระเอกนางเอกหนังไทยเรื่องอื่น ๆ และนี่คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมช่วงการสนทนาในวันนั้น     


จากวงการแฟชั่นสู่ รักแรกอุ้ม 


 

ภาพ: ภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง รักแรกอุ้ม (2531) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการถ่ายแฟชั่น โฆษณา และเดินแบบ ด้วยความเป็นผู้ชายที่มีบุคลิกและท่าทางยียวนจนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เตะตา ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล และคิง-สมจริง ศรีสุภาพ เข้าอย่างจัง จนได้รับการชักชวนจาก ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ให้มารับบทนำซึ่งตรงตามคาแรคเตอร์ชีวิตจริงของเขาใน รักแรกอุ้ม 


“ช่วงนั้นผมเริ่มจากการเดินแบบให้กับโดมอนแมน เขามีจัดแฟชั่นโชว์ที่สยามเซ็นเตอร์ทุกอาทิตย์ รู้สึกว่าพี่ปื๊ดและพี่คิงมาหาที่หลังเวที เขาก็มาถามว่ามีบทหนังอยู่หนึ่งเรื่อง สนใจอยากเล่นไหม เดี๋ยวให้ลองไปที่เพชรรามา ที่ตั้งของไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ตอนนั้น ยังไงลองไปแคสต์ดู”


ขณะที่ จันทร์จิรา จูแจ้ง เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิงโดยได้รับการชักชวนให้มาถ่ายโฆษณาและถ่ายแบบแฟชั่นลงนิตยสาร ซึ่งขณะนั้นเธอทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่การประปาส่วนภูมิภาค ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จึงได้รับการคัดเลือกจากบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ให้มารับบทนำใน รักแรกอุ้ม เนื่องจากทีมผู้สร้างต้องการนางเอกที่มีบุคลิกเฉพาะตัวต่างออกไปจากนางเอกหนังไทยเรื่องอื่น ๆ


“มีเพื่อนที่ทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการประปาฯ ซึ่งเห็นเราทุกวัน แอบส่งรูปเราไปที่สตูดิโอโฆษณา ตอนนั้นก็ดูไม่ออกหรอกว่าสวยหรือไม่สวย แต่เรามีรูปร่างที่สูงโปร่ง วันหนึ่งมีบริษัทโฆษณาโทรมาตามเราไปแคสต์งาน เราก็ตกใจ ทำไมรู้จักเรา จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราเข้าสู่วงการนางแบบ เข้าไปแบบงง ๆ ด้วย (หัวเราะ)” 


 

ภาพ: ภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง รักแรกอุ้ม (2531) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


“ไม่แน่ใจว่าใครเคยทราบบ้าง ที่เป็นบุพเพสันนิวาส คือวันนั้นตุ๊กไปเดินที่สยาม ใส่ชุดสีกากีของที่ทำงานนี่แหละ จะไปร้านหนังสือ ระหว่างเดินมีใครไม่รู้มาเดินตามหลังเรา ตัวสูง ๆ ใส่เสื้อโค้ตยาว ๆ และรองเท้าบูตแบบทหารอเมริกัน มีบอดี้การ์ดขนาบข้างซายขวาเหมือนในหนัง โผล่มาอีกทีพอถึงร้านหนังสือ ก็เอ๊ะ คนที่เดินตามเราเมื่อกี้นี่ จากนั้นตัดกลับมาตอนที่พี่คิงเรียกเราไปทดสอบหน้ากล้องที่เพชรรามา ซึ่งตอนนั้นเราเป็นนางแบบแล้ว แต่ก็ลังเลว่าจะเล่นหรือไม่เล่นดี เพราะยังทำงานประจำอยู่และยังไม่เข้าใจเรื่องการแสดงเป็นนางเอก ระหว่างนั้นพี่คิงบอกว่า เดี๋ยวจะให้เจอพระเอกคนหนึ่ง แล้วมันเหมือนจังหวะการปล่อยคิวมาก ประตูก็เปิดออกกลายเป็นขจรศักดิ์เดินเข้ามาในชุดเดิมที่เราเจอที่สยาม เราก็ชี้หน้าใส่เขา เอ้า ไอ้นี่ เหมือนณเดชน์-ญาญ่าเจอกันเลย (หัวเราะ) พี่คิงเขาคงเห็นอะไรบางอย่างจากตรงนั้นและคิดว่าเคมีมันตรงกัน”



 

ภาพ: โชว์การ์ดจากภาพยนตร์เรื่อง รักแรกอุ้ม (2531) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


แม้ทั้งผู้กำกับและดารานำจะหน้าใหม่ แต่ รักแรกอุ้ม ก็สามารถทำรายได้กว่า 5 ล้านบาท และสร้างความประทับใจให้แฟนภาพยนตร์ไทยจำนวนหนึ่ง เนื่องจากมีเนื้อหาที่แตกต่างไปจากหนังไทยในยุคเดียวกัน โดยดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่อง “ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย” ของ วดีลดา เพียงศิริ ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการเลี้ยงดูลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก  


“ก่อนที่จะรับบทนี้ ตัดสินใจไม่นานมาก ตอนนั้นเป็นเด็กที่ไม่ค่อยซับซ้อน เขาโน้มน้าวนิดเดียว ก็โอเค เล่นได้ค่ะ แล้วตอนนั้นตุ๊กไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เป็นนางเอกหนังเรื่องแรกต้องมีการคลอดลูกด้วย ไม่รู้ของนางเอกคนอื่นเป็นเหมือนกันหรือเปล่า (หัวเราะ) คือเราไม่ได้ติดภาพหรือขอดูบทก่อนว่า เนื้อเรื่องมันเป็นยังไง เขาให้เล่นอะไร เราก็เล่น” 


“ส่วนผมก็แอบห่วงอยู่เหมือนกัน แต่ทีมงานเขามีอาจารย์มาสอนการแสดง คือพี่หง่าว-ยุทธนา มุกดาสนิท พอเล่นไปสักพักก็ไม่หนักใจอะไร แกบอกให้แสดงออกมาจริง ๆ อย่างธรรมชาติไปตามบทแค่เท่านั้นเอง” ขจรศักดิ์ อธิบายเสริมถึงบทบาทการแสดงหนังเรื่องแรกของตัวเอง


คิง-สมจริง ศรีสุภาพ ผู้ตัดสายสะดือให้กับขจรศักดิ์-จันทร์จิรา เข้าสู่เส้นทางงานแสดง ได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงวันที่ตัดสินใจเลือกคู่นักแสดงหน้าใหม่มารับบทนำในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของตนเองว่า


“ตอนนั้นเห็นจันทร์จิราถ่ายแบบลงปกนิตยสารเล่มแรก ในสไตล์ยิปซี ดูกระเซอะกระเซิง แต่มันโดดเด่นมาก (หัวเราะ) คือต้องยอมรับว่า หน้าเขาดูอินเตอร์และเป็นธรรมชาติ เลยสะดุดตาตัวเขา ส่วนขจรศักดิ์ ก็ตามที่เขาเล่า เราไปหาเขาที่หลังเวทีกับพี่ปื๊ด เขาเป็นคนที่ดูมีสไตล์แบดบอยรุ่นแรก ๆ ซึ่งมันตรงกับลักษณะของพระเอกเรื่องนี้ ทั้งพระเอกและนางเอก มันจะมีคาแรคเตอร์ที่ดูผิดปกติและสีเทากันหมดเลย เราอยากได้ความเรียล ๆ ซึ่งหนังไทยในยุคนั้น มันจะเล่าเรื่องแบบลักษณะพาฝัน ด้วยความที่บทประพันธ์มันเรียลอยู่แล้ว อ่านแล้วเหมือนกำลังอ่านชีวิตของใครบางคน เรื่องนี้ก็เลยเหมือนเรากำลังถ่ายทอดชีวิตคู่จริง ๆ ของคนคู่หนึ่งอยู่”


 

ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) สมจริง ศรีสุภาพ (ผู้กำกับ), ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย (นักแสดงนำ), วดีลดา เพียงศิริ (ผู้เขียนบทประพันธ์ต้นฉบับ) และ จันทร์จิรา จูแจ้ง (นักแสดงนำ)


“ความดีความชอบของเรื่องนี้ ต้องยกให้พี่เติม-ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ ที่เป็นรุ่นพี่คณะและช่วยเขียนบทด้วยกัน ตอนนั้นคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ก็ให้โอกาส คอยถามบ่อย ๆ ว่าอยากทำหนังหรือยัง จนกระทั่งวันหนึ่งเราคิดว่าเราน่าจะพร้อมแล้ว เลยปรึกษาพี่เติมว่าเอาไงดี คิดกันเยอะมากว่าจะทำเรื่องอะไร แล้วพี่เติมก็บอก ทำไมเราไม่เอาเรื่องของวดีลดามาทำ จึงเป็นที่มาของการทำเรื่องนี้”


พริกขี้หนูกับหมูแฮม การต่อยอดความสำเร็จที่กลายเป็นไอคอน 


 

ภาพ: ภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง พริกขี้หนูกับหมูแฮม (2532)


ภายหลังประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์จาก รักแรกอุ้ม หนึ่งปีต่อมา คิง-สมจริง ศรีสุภาพ และเติม-ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ ได้ต่อยอดความสำเร็จร่วมกันเป็นครั้งที่สองโดยการนำ “ขจรศักดิ์-จันทร์จิรา” มาประกบคู่บนจอเงินอีกครั้งใน พริกขี้หนูกับหมูแฮม ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอเมดี้ที่ทั้งคู่ร่วมกันเขียนบท พร้อมกับพาทีมงานและนักแสดงเดินทางไปถ่ายทำไกลถึงเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ยาวนานกว่าหนึ่งเดือน และแม้จะผ่านเวลามานานกว่าสามทศวรรษ แต่ พริกขี้หนูกับหมูแฮม ก็ยังเป็นผลงานที่ยังคงจับใจคนดูไม่เพียงเฉพาะในยุคนั้น แต่ปัจจุบันผลงานคลาสสิกเรื่องนี้ยังได้รับการจดจำและกล่าวถึงอยู่เสมอ


“ตอนนั้นเราและทีมงานทำงานกันเหมือนคณะกองโจร (หัวเราะ) ไม่หรอก จริง ๆ ก็ทำงานแบบเป็นเรื่องเป็นราวนี่แหละ มีการวางดอลลีถ่ายริมถนนและมีทีมงานสำหรับฝ่ายประสานงานที่นั่นเลย อาจจะมีปัญหาเรื่องวีซ่าที่เราขอแบบไปทำงาน แต่เขาออกให้เราแบบท่องเที่ยวแค่นั้น ระหว่างทางการทำงานไม่มีอุปสรรคอะไรเลย ไม่มีใครมาไล่อะไร อ๋อ แต่ตอนซีนบนดาดฟ้า จะมีฝรั่งที่อยู่ตึกตรงข้ามที่จะฟ้องตำรวจตลอดเวลา เพราะเห็นคนเยอะและคิดว่าพวกนี้ต้องมีอะไรแน่ ๆ (หัวเราะ)”


พริกขี้หนูกับหมูแฮม เป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวการตามหาความรักและชีวิตของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่บังเอิญพบกันในต่างแดน มีการผจญภัยและเผชิญเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ได้เรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน มันเป็นหนังที่สร้างในยุคที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในเวลานั้น อยากไปเรียนหรือใช้ชีวิตที่เมืองนอก เป็นกระแสที่ทำให้อยากไปเป็นโรบินฮูด อยากเป็นพิมสาย เดินทางไปไกลแล้วก็พบจอนที่อู่รถ เป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นนั้น”


เส้นทางในวงการหนังหลังยุค 80


 

ภาพ: ภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง รักแรกอุ้ม (2531) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


หลังจากสร้างชื่อจนกลายเป็นนักแสดงคนสำคัญแห่งทศวรรษปี 2530 ที่นอกจากจะมีผลงานภาพยนตร์แล้ว “ขจรศักดิ์-จันทร์จิรา” ยังมีบทบาทอื่น ๆ ในวงการบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งแสดงละครโทรทัศน์หรือออกผลงานเพลง ทว่าหลังจากนั้นทั้งคู่กลับไม่ได้โคจรมาร่วมงานกันอีกเลย


“หลังเล่นกับพี่คิง ตุ๊กได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณเชิด ทรงศรีในเรื่อง ทวิภพ จากหนุ่มสาวโมเดิร์นต้องปรับตัวย้อนกลับไปในยุคพีเรียดเป็นสาวในสมัยรัชกาลที่ห้า ถือเป็นการปรับตัวแบบก้าวกระโดด พอเปลี่ยนเนื้อเรื่องหรือบริบท จากที่ต้องรับบทตัวละครที่ดูมีความสมจริงและจับต้องง่าย กลายมาเป็นตัวละครในนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ ก็จะมีความกดดันนิดหน่อย แต่คุณเชิดทำให้ตุ๊กรู้สึกสบายขึ้น ด้วยการค่อย ๆ พยายามอธิบายตัวละครมณีจันทร์ ซึ่งคุณเชิดก็ต้องใช้ระยะเวลาและค่อนข้างใส่ใจกับตุ๊กเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก เพื่อให้เราอยู่กับร่องกับรอย จะได้เป็นมณีจันทร์ที่สมบูรณ์ แม้คุณเชิดจะอายุมากกว่าพี่คิง แต่ตุ๊กเหมือนจิ้งจกที่ปรับตัวได้ง่ายและไว สักพักหนึ่งก็ทำงานและอยู่กับคุณเชิดได้ ไม่มีปัญหาอะไร”  


“ในปีเดียวกัน ตุ๊กได้เล่น ต้องปล้น ของอาเม้า-ชูชัย องอาจชัย ซึ่งก็ต้องปรับตัวอีกเหมือนกัน เพราะต้องมาเล่นเป็นโสเภณี (หัวเราะ) ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในเรื่องของการแสดง เพราะได้รับบทในหลาย ๆ แบบ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างในเส้นทางสายอาชีพนี้ ว่าจะทำยังไงให้งานของเราสำเร็จ โดยทำทุกอย่างให้เต็มที่ ซึ่งตุ๊กจะทำงานโดยที่ไม่เอาตัวเองไปครอบตัวละคร ทำตัวเองเป็นเหมือนกระดาษเปล่า ๆ ถ้าเขาเรียกไปเล่น จะขีดจะเขียนหรือจะให้เราทำอะไรก็ว่ากันไป”  


 

ภาพซ้าย: จันทร์จิรา จูแจ้ง จากภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ (2533)

ภาพขวา: จันทร์จิรา จูแจ้ง จากภาพยนตร์เรื่อง ต้องปล้น (2533)


“หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปเล่นหนังของอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ทั้ง เจาะเวลาหาโก๊ะ และ หอบรักมาห่มป่า ซึ่งสไตล์การทำงานของแกแตกต่างมาก ๆ แบบสุดขั้วเลย ตอนนั้นอาบอกให้ตุ๊กแต่งตัวมาตอนเช้าตรู่ก่อนนะ ระหว่างที่กินกาแฟกับเพื่อน ๆ ในกอง อาก็ไปนั่งพิมพ์บทต๊อกแต๊ก ๆๆ อยู่ตรงนั้น เราก็มอง อ้าว อา ยังไม่มีบทอีกเหรอ อาก็บอกเป็นการด้นสด เราก็อ๋อ มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ (หัวเราะ) เป็นการทำงานที่ได้อีกบรรยากาศหนึ่ง ต้องบอกว่าอาบัณฑิตเป็นอัจฉริยะในด้านภาพยนตร์จริง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การทำงานที่ดีมาก สามารถทำให้ตุ๊กนำมาปรับใช้และช่วยเติมให้เราเข้าใจเส้นทางการทำงานสายอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น” 


“สำหรับเรื่องของการเป็นผู้จัดละครและทำรายการ เริ่มจากพอเล่นละครมาได้สักพัก เมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็คิดต่อว่าจะเปลี่ยนบทบาทยังไง เรื่องศาสตร์การแสดงมันก็อยู่กับเรา แต่เพียงแค่วัยมันไม่ได้อยู่กับเรา ตอนเด็กเราเป็นนางเอก เราก็พัฒนาตัวเราและงานไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งเราอายุมากขึ้น ก็ต้องมีน้อง ๆ คนใหม่ ๆ ขึ้นมา เราก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า เราจะเปลี่ยนบทบาทและวางมือการแสดงของเรายังไงให้มันดูสวยงาม ก็เลยไปทำอย่างอื่น ถ้าวันหนึ่งเราเจอบทดี ๆ เราอาจจะกลับมาเล่นหรือไม่ได้กลับมาเล่นเลยก็ได้ เมื่อเรามาสายนี้แล้ว การทำรายการโทรทัศน์อาจจะเหมาะกับตุ๊กมากกว่าละคร จึงเป็นที่มาของการที่ได้ทำรายการ Strawberry Cheesecake ต้องขอบคุณช่อง 3 ที่ให้โอกาสตุ๊กได้ทำตรงนี้อยู่หลายปี สามารถสร้างบุคลากรได้ค่อนข้างเยอะ เมื่อทำรายการเสร็จก็อยากทำละครเพื่อรองรับเด็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งได้เรียกมาใช้บ้าง ไม่ได้เรียกใช้บ้าง เมื่อทุกอย่างมันมีเวลาของมัน สุดท้ายรายการก็ไม่ได้ไปต่อ”   


 


“ส่วนของผมหลังจาก พริกขี้หนูกับหมูแฮม ได้มาเล่น กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน เป็นหนังแนวดรามา-ฟิล์มนัวร์ ซึ่งพี่มานพ อุดมเดช มาชวนไปเล่น ก็ถามว่าสนใจไหม พี่จะทำหนังแบบนี้นะ เล่าเรื่องในสถานที่เดียว เป็นซาวด์ออนฟิล์ม ตอนนั้นเราติดตามงานของพี่มานพอยู่แล้ว พอเขามาชวนก็รับเลย มันเป็นหนังที่มีสไตล์ที่แปลกในยุคนั้นมาก ระหว่างการทำงานพี่มานพก็จะเล่าเรื่องราวระหว่างบทตอนพักงานต่อวัน ก่อนวันที่จะถ่ายทำ เขาก็จะเล่าว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร อารมณ์หนังเป็นยังไง เมื่อถึงเวลาถ่ายก็ลุยไปแค่นั้นเอง เขาก็จะให้ทางเรา ด้วยการบอกให้ไปเปิดหนังฝรั่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ดู เพื่อนำมาปรับใช้กับการแสดง” ขจรศักดิ์อธิบายเสริม

.

“ในปีเดียวกัน ผมได้ไปเล่น ไอ้คุณผี ของพี่ชนะ คราประยูร ซึ่งรู้จักและนับถือกันอยู่แล้ว เขาก็มาชวนเราและเราก็ตอบรับทันที เพราะตอนนั้นตั้งใจว่าถ้าเป็นหนังของผู้กำกับที่เราชื่นชอบ เราก็จะเล่นเลย คือตอนนั้นเตรียมตัวมาเล่นหนังอย่างเดียวเลย ไม่ได้ตั้งใจจะรับเล่นละคร”


“ต่อมาได้มีโอกาสเล่น ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ ของพี่หง่าว-ยุทธนา ซึ่งเป็นอาจารย์ของเรา เขาเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้เคี่ยวหรืออารมณ์เสียอะไรมากมาย ขั้นแรกคือก่อนมาเล่นต้องจำบทให้ได้ก่อน ถ้าจำได้เดี๋ยวอารมณ์มันก็จะมาเอง ซึ่งแกก็จะสอนวิธีการเรียบเรียงอารมณ์ ซึ่งเราก็นำมาปรับใช้จนถึงทุกวันนี้”


 

ภาพซ้าย: ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย จากภาพยนตร์เรื่อง กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (2534)

ภาพขวา: ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย จากภาพยนตร์เรื่อง ไอ้คุณผี (2534)


“ตอนนี้ก็ยังรับเล่นละครอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดคือเรื่อง “Bad Guys (ล่าล้างเมือง)” ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ส่วนหนังถ้ามีใครจ้างก็เล่น เพราะไหน ๆ เราอยู่วงการด้วยคาแรคเตอร์นี้แล้ว ลองดูสิว่าผู้จัดเขาจะจ้างเราไปจนถึงอายุขนาดไหน ทุกวันนี้มีคนจ้างก็มีความสุขแล้ว สำหรับหนังเรื่องล่าสุด Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ที่ตัวละครอาจไม่ตรงตามคาแรคเตอร์เราเท่าไร แต่ก็ถือว่าไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก เพราะชีวิตจริงเรามีลูกสาวที่อายุเหมือนกับตัวละคร ค่อนข้างจะซึมซับมาจากชีวิตจริงของเรา เล่นไม่ยากมาก เล่นเหมือนชีวิตจริงของเราที่ผ่านมา”


ในปี พ.ศ. 2557 โพลีแคท (Polycat) วงดนตรีแนวซินธ์-ป็อปจากค่ายเพลงสมอลล์รูม (Smallroom) ได้ปล่อยเพลงใหม่ออกมาพร้อมกันถึง 3 เพลง พร้อมกับนำภาพฟุตเทจจาก พริกขี้หนูกับหมูแฮม มาตัดต่อและร้อยเรียงใหม่เป็นชุดมิวสิกวิดีโอ ปลุกกระแสดนตรีและวัฒนธรรมป็อปยุค 80 ทำให้ชื่อดาราคู่ขวัญของเรื่อง “ขจรศักดิ์-จันทร์จิรา” กลับมาเป็นที่สนใจและทำให้ทั้งคู่ได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้งในรอบกว่าสามทศวรรษ


“หลังจากเล่นหนังให้ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ทั้งสองเรื่อง ทำให้เราต่างคนต่างมีชื่อเสียง มีบริษัทต่าง ๆ ดึงตัวแยกกันไปทำงานและทำให้ไม่ได้เจอกันเลย กระทั่งมาเจอกันในงานของวงโพลีแคท ซึ่งเขามองเห็นคุณค่าของหนังในปี 80 เอาภาพของหนัง พริกขี้หนูกับหมูแฮม ไปทำเป็นมิวสิกวิดีโอ ทำให้เราโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่ง ตกใจเหมือนกันอยู่ดี ๆ ก็ได้กลับมา ไปเดินซื้อหนังสือร้านเดิมที่สยาม มีเสียงกรี๊ดตามมา ซึ่งเราไม่ได้ยินเสียงนี้มานานมากแล้ว (หัวเราะ)”


 


ชมคลิปวิดีโอของกิจกรรมลานดาราช่วงสนทนาได้ที่ https://fb.watch/fQPq63ro5A/


ติดตามรอบฉายโปรแกรม “ลานดารา ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย และ จันทร์จิรา จูแจ้ง” ที่จะจัดฉายในเดือนตุลาคมได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/program/76?page=1