[InArchive] “ตลาดพรหมจารีย์” การย้ำความมั่นใจในแนวทางใหม่ให้แก่หนังไทย

โดย เรียม กระนุก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับที่ 128 (14 กรกฎาคม 2516) 

*InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


ขบวนการเคลื่อนไหวของหนังในแบบฉบับ “นีโอเรียลลิสต์” เกิดขึ้นในอิตาลีเมื่อตอนปลาย ๆ สงครามโลกครั้งที่สอง หนังแบบ “นีโอเรียลลิสต์” คือหนังที่ยืดถือแนวทางของพวก “เรียลลิสต์” ซึ่งมุ่งจะเสนอเรื่องราวและรูปลักษณ์ตามความเป็นจริงของชีวิต แต่จุดใหญ่ใจความของ “นีโอเรียลลิสต์” นั้น อยู่ที่การมุ่งเสนอเรื่องราวของมนุษย์, เรื่องของการสะท้อน ตีแผ่ความเป็นไปของชีวิตคนเดินดิน, สะท้อนสภาพสังคมและการเมือง อิทธิพลของ “นีโอเรียลลิสต์” ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ในเอเซียมีนักสร้างหนังของอินเดีย และญี่ปุ่นบางคนเท่านั้นที่รับอิทธิพลนี้มาสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของตน 


สำหรับวงการหนังไทย เพิ่งจะมาเมื่อต้นปีนี้เอง หนังเรื่อง เขาชื่อกานต์ ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้เริ่มตามแนวทางของ “นีโอเรียลลิสต์” ขึ้นมาบ้าง และบัดนี้ ตลาดพรหมจารีย์ ของ สักกะ จารุจินดา ก็ดูเหมือนจะย้ำความมั่นใจของแนวทางใหม่ให้แก่วงการหนังไทยให้หนักแน่นขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่อาจจะกล่าวได้ว่า บัดนี้ขบวนการเคลื่อนไหวของภาพยนตร์แบบ “นีโอเรียลลิสต์” ได้เกิดขึ้นแล้วในวงการหนังไทย แต่ที่มั่นใจได้คือ มันควรจะเกิดขึ้นและถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มการเคลื่อนไหวนี้


ตลาดพรหมจารีย์ เป็นหนังไทยที่ส่อแนวทางของ “นีโอเรียลลิสต์” มากที่สุดในขณะนี้ และน่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกให้แก่วงการหนังของเรา 


เช่นเดียวกันกับหนัง “นีโอเรียลลิสต์” ทั่วไป ซึ่งเน้นที่เนื้อหามากกว่ารูปลักษณ์ จะเห็นว่าสิ่งที่ควรกล่าวถึงในหนังเรื่องนี้ก็คือ เนื้อหา


เรื่องของชีวิตชาวบ้านคนเดินดิน เป็นเรื่องที่สังคมของเราทอดทิ้ง คนเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของพวกเรานัก แม้ว่าเขาจะเป็นคนไทยคนหนึ่ง และเป็นคนส่วนใหญ่ ๆ ในสังคมด้วยซ้ำ หนังไทยเองก็เถอะ แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยสนใจชีวิตของคนพวกนี้เลย เนื้อหาในหนังไทยร้อยทั้งร้อยที่เคยดูมา คือชีวิตของคนไทยในโลกสมมุติ ซึ่งถูกบิดเบือน, เพ้อพกตลอดมา ในที่สุดเราก็จะเห็นได้ชัดว่าความตั้งใจของ สักกะ จารุจินดา ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ถือความตั้งใจ ซึ่งพวก “นีโอเรียลลิสต์” เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเคยอัดอั้นตันใจมาก่อน สักกะต้องการให้หนังของเขาเป็นเครื่องมือตีแผ่ชีวิตของคนเดินดินครอบครัวหนึ่ง เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า นี่แหละนะคือสัจจะของชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยแน่นอน เขามิได้แสดงมันออกมาทั้งหมด แต่เขาต้องการแสดงเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตและของคนเพียงสองสามคนซึ่งเพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วถ้าเขามีเจตนาเคารพความเป็นจริงของชีวิต

 



ตลาดพรหมจารีย์ เป็นเรื่องของครอบครัวชาวประมงน้ำเค็มเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งดูจะเป็นตัวแทนของครอบครัวแบบไทยได้ คือ มีพ่อ, แม่, คนแก่และเด็ก ผู้นำของครอบครัวคือพ่อ สิ่งที่สักกะต้องการจะเน้นในเนื้อหาหรือเรื่องแนวคิดของเรื่องก็คือเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าหัวหน้าครอบครัวต้องต่อสู้เพื่อการดำรงชีพที่ดีขึ้นของครอบครัว เรือประมงที่ใช้อยู่ยังไม่มีเครื่องยนต์เหมือนเพื่อนบ้านหลายคน พ่อจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะซื้อเครื่องยนต์มาติดท้ายเรือของตน จุดนี้เองคือแนวคิดสำคัญของเรื่องที่เปิดโอกาสให้สักกะตีแผ่ความเป็นจริงของชีวิตชาวบ้านในสังคมชนบทของเรา เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ทำไมพ่อจึงต้องการ เครื่องยนต์? แล้วเขาจะไปหาซื้อได้ที่ไหน ? ราคาเท่าไร ? จะไปหาเงินมาจากไหน ? หาได้อย่างไร ? และคนอื่น ๆ ในบ้านคิดอย่างไร ? สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นหนังเพ้อพกจะถูกละทิ้งโดยสิ้นเชิง 


จากจุดนี้เอง สักกะก็สามารถตีแผ่ความเป็นอยู่และปรัชญาชีวิตของคนไทยออกมาได้อย่างดี แสดงให้เห็นว่า เรื่องในบ้านนั้นพ่อเป็นผู้นำเสมอ เขาแสดงให้เห็นว่าในครอบครัวไทย พ่อบ้านจะทำอะไร คนอื่น ๆ ในบ้านจะมีส่วนรับรู้ด้วยแค่ไหน


และในความเป็นไปนั้น สักกะยังได้สำรวจค่านิยมและตีแผ่ระดับจิตใจของคนไทยในสภาวะของสังคมปัจจุบันซึ่งแทบจะไม่เคยเห็นมาเลยในหนังไทยเรื่องอื่น ๆ


เรื่องของความรักในหนังแบบนี้ ผู้สร้างจะไม่เน้นอารมณ์แบบ “โรแมนติค” เช่นเดียวกันใน ตลาดพรหมจารีย์ ความรักระหว่างดวงดาวกับสายัณห์ ที่สอดแทรกอยู่นั้นแม้จะมีบางตอนกระจุ๋มกระจิ๋มแบบโรแมนติคบ้าง แต่สักกะก็มิได้มีเจตนาละทิ้งสัจจะแต่อย่างใด ทุกสิ่งยังอยู่ในความพอดี




บทสนทนา เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่พวก “นีโอเรียลลิสต์” ให้ความสำคัญมาก บทสนทนาใน ตลาดพรหมจารีย์ นับเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้ตัวของมันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ของเรื่องจะเห็นว่าผู้เขียนบทเจตนาจะแสดงภาษาพูดระดับชาวบ้านตามความเป็นจริง มีการใช้คำหยาบคาย, คำด่า ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำพูดพื้น ๆ จริง ๆ แต่ในตอนหลัง ๆ เจตนาที่น่าคงไว้นี้กลับหายไป มีการใช้สำบัดสำนวนเปรียบเทียบเปรียบเปรยมากขึ้น บางครั้งดูออกจะฟั่นเฝือจนเกินพอดีไปบ้าง


ทางด้านรูปลักษณ์ของภาพยนตร์ แม้จะมิใช่ส่วนสำคัญที่ผู้สร้างต้องการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้ได้รับการพิถีพิถันจากสักกะมากและรักษารูปแบบของการดำเนินเรื่องตามแบบแผนนิยมของ “เรียลลิสติค” ไว้อย่างสม่ำเสมอ คือไม่สนใจที่จะประกอบภาพ บิดเบือนหรือพลิกแพลง ไม่ใช้ภาพที่เกิดจากมโนภาพ หรือจินตนาการทั้งของผู้สร้างและของตัวละครเลย ทุกภาพมีเจตนาเพียงจะถ่ายทอดลักษณะที่ควรจะเป็นตามความจริงออกมาเท่านั้น ข้อเสียส่วนใหญ่เกิดจากความบกพร่อง หรือข้อจำกัดทางเทคนิคและอุปกรณ์มากกว่าที่จะเกิดจากเจตนา เสียงสนทนาที่บันทึกแทนทีหลังนั้นเป็นข้อเสีย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และแก้ไขยาก 


การแสดงทุกคนอยู่ในระดับที่ดีมาก สำหรับหนัง “เรียลลิสติค” เพราะการประกอบภาพมีส่วนช่วยได้น้อยลง มีสิ่งที่น่าจะตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างคือเพลงประกอบที่ยืมเขามาอย่างละนิดละหน่อย เพราะถึงแม้จะดี แต่ก็น่าเสียดายเป็นส่วนเดียวที่ห่างไกลจากความเป็นลักษณะไทย ๆ 


เหนืออื่นใด สิ่งที่อยากจะย้ำอีกครั้ง คือ คุณค่าของหนังเรื่องนี้ ซึ่งสามารถหยิบยกเอาชีวิตของคนไทย ซึ่งถูกสังคมลืมมาตลอด ออกมาตีแผ่ให้คนไทยด้วยกันเองพบเห็นกันเสียทีและนี่เป็นเพียงหนึ่งในล้านเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้สร้างหนังไทยควรจะเป็นผู้หยิบยกมันออกมา ให้สมกับที่หนังเป็นสื่อสารมวลชน ไม่ใช่เพียงสินค้า หรือของเล่นของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 



เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของ สักกะ จารุจินดา หอภาพยนตร์ได้นำสำเนาฟิล์ม 16 มม. ของ “ตลาดพรหมจารีย์” อันเป็นฟิล์มฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่ มาสแกนภาพใหม่ พร้อมเชิญนักแสดงนำและทายาท ดวงดาว จารุจินดา กับ สมเดช สันติประชา ผู้ที่เคยร่วมงานเบื้องหลัง มาร่วมสนทนาถึงความสำคัญและสปิริตของผู้กำกับคนสำคัญท่านนี้ ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา 100 ปี สักกะ จารุจินดา ศิลปินผู้วาดชีวิตบนแผ่นฟิล์ม วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1687