ประติมากรรมสวรรค์มืดและหนังสือสวรรค์สว่าง

ใครที่เคยไปเที่ยวหอภาพยนตร์ และได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ในอาคารสีเหลืองสะดุดตาที่จำลองแบบมาจากโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงที่เคยรุ่งเรืองในอดีต คงจะจำบรรยากาศในพิพิธภัณฑ์ของเราได้ ว่ามีการจำลองฉากการถ่ายภาพยนตร์ไว้ 7 เรื่อง คือฉากประตูห้อง เรื่องตลก 69 ที่ภายในห้องได้รวบรวมผลงานอีกหลายเรื่องของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ฉากบ้านแม่นาค สำหรับหนัง แม่นาค และหนังผีหลาย ๆ เรื่องผสมกัน ฉากป้ายรถเมล์ จากหนังเรื่อง กล่อง ของ ม.จ. ชาตรีเฉลิมยุคล ฉากห้องโถงของโรงแรมสวรรค์ จากหนังเรื่อง โรงแรมนรก ของหนุมานภาพยนตร์ โดย รัตน์ เปสตันยี ฉากภายในและภายนอกบ้านซอมซ่อของ ชูวิทย์ คนเก็บขยะเทศบาลกรุงเทพฯ จากหนังเรื่อง สวรรค์มืด ของคันจราภาพยนตร์ ถ่ายที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ และกำกับโดย รัตน์ เปสตันยี อีกเรื่องหนึ่ง ฉากระเบียงอาคารจากหนังเรื่อง เพลงหวานใจ ของภาพยนตร์เสียงศรีกรุง และสุดท้าย ฉากที่ มิตร ชัยบัญชา ในวินาทีวิกฤตขณะแสดงการโหนบันไดลิงจากเฮลิคอปเตอร์ ในหนังเรื่อง อินทรีทอง 




ภาพ: พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


เมื่อเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยมาตั้งแต่ปี 2545 หอภาพยนตร์มีแผนการที่จะจัดสร้างประติมากรรมแบบหุ่นขี้ผึ้งประกอบการจัดแสดงไว้ในฉากและในบางมุมของนิทรรศการ แต่จัดทำประติมากรรมไปได้เพียง 3 ชุด คือ มิตร ชัยบัญชา โหนบันไดเฮลิคอปเตอร์, รัตน์ เปสตันยี นั่งอยู่กับรถดอลลี่และกล้องมิตเชลล์ที่ได้รับเป็นรางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา และ มานี สุมนนัฏ กับ จำรัส สุวคนธ์ คู่พระคู่นางจาก เพลงหวานใจ ยืนอยู่บนระเบียง แถมยังมี ไอ้จุ่น สุนัขไทยตัวแรกที่บริษัทศรีกรุงฝึกไว้แสดงภาพยนตร์ จากหนังสั้นเรื่อง จ๊ะเอ๋ ยืนอยู่บนระเบียงด้วย  


ในสองปีที่ผ่านมา ซึ่งหอภาพยนตร์ต้องปิดการบริการบางส่วน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ ทั้งจากกรณีโรคระบาดโควิด-19 และการก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์ของหอภาพยนตร์ครั้งใหญ่ ทำให้ต้องปิดพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยและนิทรรศการเมืองมายาทั้งหมด เราได้ใช้โอกาสนี้จัดทำประติมากรรมแบบหุ่นขี้ผึ้งตามแผนที่กำหนดไว้แต่เดิมได้อีก 1 ชุด คือ ชูวิทย์และเนียร คู่พระนางในฉากบ้านของ สวรรค์มืด เป็นฉากขณะชูวิทย์ซึ่งแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง แอบอยู่ที่ฝาเรือนนอกบ้าน เพื่อร้องเพลงเผยความในใจจีบ เนียร ซึ่งแสดงโดย สืบเนื่อง กันภัย ที่คิดว่าเสียงนั้นดังออกมาจากวิทยุไม่มีเครื่องที่ชูวิทย์เอามาจากกองขยะมาวางไว้ในบ้าน นับเป็นฉากที่โรแมนติกที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ซึ่งนำมาจัดแสดงไว้ในส่วนกระบวนการผลิตภาพยนตร์ ห้องถ่ายทำภาพยนตร์ โพรดักชันที่ได้จำลองฉากสำคัญจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง สวรรค์มืด ปี 2501 โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งผู้อำนวยการสร้างคือ เทวมิตร กุญชร ณ อยุธยา ได้แรงดลใจจากการดูละครเรื่องนี้ทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งแต่งเรื่องโดย รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) แล้วปรารถนาจะสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมอบให้โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ ถนนวิทยุ ผลิต ผลงานกำกับของ รัตน์ เปสตันยี บันทึกเสียงจริงขณะถ่ายทำโดย ปง อัศวินิกุล ถ่ายโดย ประสาท สุขุม ช่างถ่ายภาพยนตร์ สมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์แห่งอเมริกา (ASC) เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และเป็นภาพยนตร์สี ถ่ายต้นฉบับเนกาทิฟด้วยฟิล์มสีเฟอร์ราเนีย เป็นภาพยนตร์ไทยที่ผู้สร้างต้องการถ่ายทำในระบบมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ในยุคที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ถ่ายทำระบบ 16 มม. พากย์สดในโรง นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องที่กำลังโด่งดัง เข้าวงการบันเทิงด้วยการแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ควบคู่กัน เคยได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าเป็น “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” เป็นนักร้องชายคนแรกที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพนักร้อง มีผลงานเพลงเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องยาวนาน ทั้งยังได้รับเกียรติคุณต่าง ๆ มากมาย เช่น เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงไทยสากล-ขับร้อง ประจำปี 2533 และ สืบเนื่อง กันภัย นางงามถิ่นไทยงาม 



ภาพ: สุเทพ วงศ์กำแหง ในประติมากรรม สวรรค์มืด


ขอเชิญชวนให้แฟนสุเทพ ซึ่งเชื่อว่ามีมากมาย และแฟนสืบเนื่อง ซึ่งน่าจะมีมากและมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ สวรรค์มืด ในปัจจุบันมีให้ดูในยูทูบ <<คลิกเพื่อรับชม>> ในอนาคตอาจหาชมได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ สืบเนื่อง กันภัย ปัจจุบันอายุ 85 ปี แล้วเธอได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติ ชื่อ “สวรรค์มืด แล้ว สวรรค์สว่าง” ผู้สนใจชีวิตของเด็กสาวบ้านนอกที่กลายมาเป็นดาราดวงหนึ่งในท้องฟ้าหนังไทย แม้นเธอมีผลงานสู่แฟนภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว แต่เรื่องเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับผลงานคุณภาพสุดคลาสสิกที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมแล้วอย่างมากมาย และขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในร้อยหนังไทยที่ควรดู สามารถหาซื้อได้ที่ร้านไมบริดจ์ของหอภาพยนตร์ หรือทาง www.facebook.com/mayapanich


ภาพ: หนังสือ สวรรค์สว่าง เขียนโดย สืบเนื่อง กันภัย


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่เปิดให้ทุกท่านได้เข้าชมผ่านการบรรยายจากวิทยากรของหอภาพยนตร์ 3 หัวเรื่อง คือ นิทรรศการหนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย หอเกียรติยศ และนิทรรศการขบวนการผลิตภาพยนตร์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ วันอังคาร-ศุกร์ 4 รอบ คือ 11.00 น., 14.00 น., 15.00 น., 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 6 รอบ คือ 10.00 น., 11.00 น., 13.00 น., 14.00 น., 15.00 น. และ 16.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม https://fapot.or.th/main/travel/view/11   


เขียนโดย ทีมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 74 ประจำเดือน มีนาคม - เมษายน 2566