โดม สุขวงศ์
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เน้นการเผยแพร่ว่า อันภาพยนตร์ที่คนเรารู้จักและดูกันอยู่ทุกวินาทีบนโลกนี้ มีรกรากความเป็นมาถอยหลังลึกไปยาวไกลในประวัติศาสตร์มนุษย์ และลึกไปกว่านั้นอีกคือก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ และวันหนึ่งได้เห็นภาพยนตร์ปรากฏขึ้นอย่างน่าพิศวงบนผนังถ้ำ จากรูเล็ก ๆ บนผนังถ้ำอีกด้านหนึ่ง ที่ให้แสงข้างนอกลอดรูเข้ามา เกิดเป็นภาพกลับหัวแต่เหมือนจริงและเคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต ภาพยนตร์นั้นฝังอยู่ในจิตสำนึก ใต้สำนึกและไร้สำนึกของบรรพบุรุษมนุษย์มาตลอด จนสืบต่อมาถึงยุคประวัติศาสตร์มนุษย์ ลูกหลานมนุษย์ก็สามารถสร้างห้องรูเข็มจำลองรูถ้ำขึ้นในบ้าน และจากห้องก็กลายเป็นกล่องและกล้องรูเข็ม สำหรับเป็นเครื่องมือช่วยวาดรูปด้วยมือ จนเมื่อไม่ถึงสองร้อยปีมานี้เอง หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์สามารถสร้างกล้องรูเข็มให้วาดรูปให้เราได้โดยไม่ต้องใช้มือ คือให้แสงวาดให้ ซึ่งคือ การถ่ายรูป (photography) ก้าวต่อไปคือทำอย่างไรให้การถ่ายภาพนิ่งกลายเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต
นักถ่ายภาพนิ่งชื่อ เอ็ดวาร์ด ไมบริดจ์ ซึ่งรับจ้างถ่ายภาพนิ่งม้ากำลังควบ เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของนักเลงม้าที่เชื่อว่าเวลาม้าควบ จะมีขณะหนึ่งที่เท้าทั้งสี่ของมันลอยอยู่เหนือพื้นดิน ไมบริดจ์ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1872 และเตลิดเปิดเปิงไปกับการบ้าถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และเริ่มพบว่าหากนำภาพนิ่งของสิ่งเคลื่อนไหวเหล่านั้นมาฉายขึ้นจอให้เห็นทีละภาพต่อเนื่องกันไป สมองของเราจะเห็นว่าภาพนิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เป็นผลจากประสาทการรับรู้การเห็นด้วยสายตาของมนุษย์ ที่เรียกกันว่า หลักการเห็นภาพค้างติดตา (persistence of vision) ผลงานของไมบริดจ์เป็นแรงจูงใจให้บรรดานักประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในยุคอุตสาหกรรม นำไปต่อยอดเพื่อประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว มีแข่งกันหลายรายในอเมริกาและยุโรป และสำเร็จออกมาแทบจะพร้อม ๆ กัน เมื่อ จอร์จ อีสต์แมน ผลิตฟิล์มถ่ายรูปออกสู่ตลาดในปี 1888 เพราะฟิล์มกลายเป็นกุญแจสำคัญในการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ประดิษฐกรรมการถ่ายภาพเคลื่อนไหวนี้ นักประดิษฐ์ที่แข่งขันกันทำของใครของมัน ก็ตั้งชื่อประดิษฐกรรมการถ่ายภาพเคลื่อนไหวของตนต่าง ๆ กัน เช่น ของ หลุยส์ เลอ แปรง ชาวฝรั่งเศส ซึ่งทำสำเร็จก่อนใครเพื่อนในปี 1889 และยังไม่ทันตั้งชื่อทางการของภาพยนตร์ของเขา เขาเกิดหายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะที่ วิลเลียม ฟรีซ กรีน นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ทำภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อเรียกยากว่า โฟโตโครโนกราฟี ออกเผยแพร่ในปี 1890 และโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันชื่อก้องโลก ให้ชื่อภาพยนตร์ของเขาซึ่งทำสำเร็จออกมาเผยแพร่ในปี 1892 ว่า คิเนโตสโกป (สำหรับเครื่องดูแบบถ้ำมอง) และ คิเนโตกราฟ (สำหรับเครื่องถ่าย) ปีต่อมา 1894 มีนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันอีกรายชื่อ ชาร์ล ฟรานซิส เจนคินส์ ประดิษฐ์ภาพยนตร์แบบฉายขึ้นจอออกเผยแพร่ ชื่อ แฟนโตสโกป และปี 1895 พี่น้องชาวเยอรมันเชื้อสายโปแลนด์ แม็กซ์ และอีมิล สคลาดานอสกี ประดิษฐ์ภาพยนตร์ในชื่อ ไบโอสโกป ออกฉายในเดือนพฤศจิกายน ที่โรงละเล่นในโรงแรมเซ็นทรัล กรุงเบอร์ลิน ราวเดือนหนึ่งก่อนหน้าที่นักประดิษฐ์พี่น้องชาวฝรั่งเศส ออกุส และ หลุยส์ ลูเมียร์ จะเปิดตัวภาพยนตร์ของตนที่ใช้ชื่อว่า ซีนีมาโตกราฟ ที่ห้องใต้ถุนร้านกรองด์กาแฟ ในโรงแรมสคริบ กรุงปารีส เมื่อ 28 ธันวาคม ปรากฏว่า ภาพยนตร์ซีนีมาโตกราฟของพี่น้องลูเมียร์ชนะเลิศ ด้วยกลไกตัวเครื่องที่ขนาดกะทัดรัด ประสิทธิภาพการทำงานที่สมบูรณ์ และเรื่องราวในภาพยนตร์ที่หลากหลาย เพราะลูเมียร์ส่งช่างถ่ายภาพยนตร์ของตนออกไปถ่ายและฉายภาพยนตร์ตามเมืองสำคัญทั่วโลก จึงมีผู้กล่าวว่า เขาเป็นนักประดิษฐ์ภาพยนตร์รายสุดท้าย และเป็นนักสร้างภาพยนตร์รายแรก
ข้อสำคัญของการจัดฉายภาพยนตร์ของพี่น้องลูเมียร์ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 1895 เป็นต้นไป ก็คือเป็นการฉายสู่สาธารณชนไม่จำกัดชนชั้น เพศวัย โดยเก็บค่าดู เป็นการฉายภาพยนตร์โดยตรง ไม่ใช่การแสดงประกอบกับการแสดงอื่น หรือเป็นตัวประกอบสลับฉาก
คืนแรกมีคนยอมซื้อตั๋วมาดู 33 คน แต่วันต่อ ๆ มาผู้คนแห่กันมาดูจนคิวยาวเป็นหางว่าวจากปากต่อปากที่ไปโจษจันถึงความน่าตื่นเต้นน่าพิศวงของภาพถ่ายที่เคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต
ภาพ: บรรยากาศการจำลองการฉายหนังขึ้นจอครั้งแรกด้วยเครื่องซีนีมาโตกราฟไว้ที่กร็องด์ คาเฟ่ & ซาลอน อินเดียน เมืองมายา หอภาพยนตร์
เมื่อภาพยนตร์เกิดขึ้น ลืมตาดูโลกและโลกลืมตาดูภาพยนตร์ วันเวลาผ่านไป ภาพยนตร์ก็เติบโตเป็นสื่อภาษาอย่างใหม่ของมนุษย์ เป็นงานศิลปอย่างใหม่ และเป็นมหรสพอย่างใหม่ที่ใหญ่โตเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ ครองใจคนทั้งโลก ภาพยนตร์ก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ นับถือว่า ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สมัยใหม่ หรือหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ควรจะเริ่มนับหนึ่งที่ วันที่ 28 ธันวาคม 1895 ที่พี่น้องลูเมียร์จัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก
วิชาประวัติศาสตร์มักมีการแบ่งเป็นยุคเป็นสมัย ตามจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการหรือความเป็นไปในประวัติศาสตร์นั้น เช่น ยุคภาพยนตร์เงียบ ยุคภาพยนตร์เสียง ยุคก่อนสงครามโลก 1 ยุคหลังสงครามโลก 1 ยุคก่อนสงครามโลก 2 ฯลฯ หรืออาจจะใช้วิธีแบ่งยุคตามรอบปี เช่นรอบทศวรรษ
ยุคแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คือยุคอะไร ถ้าเป็นคน ก็คือยุคแรกเกิด ยุควัยทารก ยุควัยเด็ก ยุควัยรุ่น
ยุคแรกเกิดของภาพยนตร์ นับอย่างไรดี ปีแรก ห้าปีแรก สิบปีแรก วัยทารกของภาพยนตร์มันใช้เวลากี่ปีล่ะ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็คงพิจารณาดูการเจริญวัยของภาพยนตร์ จึงมีการกำหนดว่า ยุคแรกเริ่มหรือแรกมีหรือวัยทารกของภาพยนตร์ น่าจะกินเวลาสิบปี คือจากกำเนิดเมื่อปี 1895 สามารถเห็นการพัฒนาคลี่คลายไปจนราวปี 1905 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นชัดเจนไปเป็นอีกยุคต่อไป
นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ใช้คำเรียก ยุคแรกเริ่มภาพยนตร์ ว่า early cinema และลักษณะร่วมของภาพยนตร์แรกเริ่ม ก็คือถ่ายทำเป็นเรื่องสั้น ๆ เรื่องหนึ่งไม่เกินหนึ่งนาที ไม่ต้องการเล่าเรื่องหรือเดินเรื่องราวอะไรมากกว่าการถ่ายอะไรที่เตะตาน่าสนใจ น่ามองน่าดู บางคนก็ใช้คำเรียกว่า ภาพยนตร์แห่งความน่าสนใจ (cinema of attractions) การนำออกแสดงหรือจัดฉายภาพยนตร์ยุคเริ่มแรก ยังไม่มีโรงสำหรับฉายโดยตรง เพราะนักประดิษฐ์ภาพยนตร์แทบทุกคน ต่างเห็นว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเล่นแปลกใหม่ คนเห่อดูเพราะมันแปลกใหม่ หลังจากนั้นก็จะไม่มีใครสนใจอีก แรก ๆ ภาพยนตร์เรื่องสั้น ๆ นี้จึงถูกซื้อไปฉายเป็นของประหลาดแทรกหรือสลับการแสดงอื่น ๆ ในกิจการที่เรียกว่า สวนสนุก (fairground) ซึ่งเป็นกิจการที่เร่ไปเปิดการแสดงในท้องที่ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เจ้าของกิจการซื้อเครื่องฉายไว้แล้วซื้อหนังไว้สักห้าเรื่องสิบเรื่อง ก็ตระเวนฉายไปได้เป็นแรมปี เพราะคนดูเปลี่ยนไปตามสถานที่ไม่ซ้ำหน้า นอกจากนี้ก็อาจจัดฉายประกอบอยู่ในโรงมหรสพอยู่กับที่ประเภทการแสดงเบ็ดเตล็ดหรือวิพิธทัศนา เช่น ระบำ เล่นกล กายกรรม เพลงดนตรี ละครย่อย จำอวด
จนกระทั่งเริ่มมีนักสร้างภาพยนตร์ที่คิดสร้างสรรค์ให้หนังยาวขึ้น ตั้งแต่ปีแรก ๆ ของศตวรรษที่ 1900 มีการเล่าเรื่องหรือเดินเรื่องแบบละครเป็นฉาก ๆ นำนิทานหรือบทละครมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ จากเรื่องละหนึ่งนาที ทำให้ยาวขึ้นเป็นสิบนาทีหรือกว่าสิบนาที และมีนักสร้างภาพยนตร์ที่คิดการตัดต่อลำดับภาพขึ้น ทำให้ภาพยนตร์เล่าเรื่องเป็นมุมกล้องการตัดต่อเป็นคัทหรือช็อต ไม่ใช่เป็นฉากอย่างละคร ทำให้ภาพยนตร์สื่อภาษาด้วยวิธีของตนเอง และเติบโตจากเรื่องละหนึ่งนาทีหนึ่งม้วนม้วนละสี่สิบห้าสิบฟุต เป็นเรื่องละสิบนาทีถึงสิบห้านาทีหนึ่งม้วน ม้วนละหลายร้อยฟุตจนถึงพันฟุต จึงมีคนคิดได้ว่า เมื่อภาพยนตร์ยาวขึ้นอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพยนตร์เป็นตัวประกอบหรือสลับฉากการแสดงอื่น ๆ แต่สามารถตั้งโรงอยู่กับที่ จัดฉายหนังโดยตรงอย่างเดียว จัดเป็นโปรแกรม โปรแกรมละสองเรื่องสามเรื่อง กินเวลาฉายสามสิบสี่สิบนาทีต่อรอบ สองสามวันก็เปลี่ยนโปรแกรมซื้อเรื่องอื่น ๆ มาฉายต่อไป ประกอบกับเกิดกิจการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ขึ้น เป็นระบบเช่าฟิล์ม ไม่ต้องซื้อขาด ค่าโสหุ้ยก็ต่ำลง โรงภาพยนตร์แบบนี้ เจ้าของใช้วิธีดัดแปลงห้องแถวร้านรวงที่มีอยู่ทุกมุมเมืองในอเมริกา ในยุโรป ทำเป็นโรงฉายภาพยนตร์ เก็บค่าดูราคาถูก คือ 5 เซ็นต์หรือหนึ่งนิเกิลของอเมริกา เกิดเป็นโรงหนังห้าเซ็นต์หรือหนึ่งนิเกิลที่เรียกว่า นิเกิลโลเดียน นับพันนับหมื่นโรงทั่วอเมริกาในช่วงห้าปีสุดท้ายของทศวรรษที่ 1900 การเกิดขึ้นของนิเกิลโลเดียนนี้ ทำให้เกิดผู้ชมที่เรียกว่า filmgoer (คนดูหนัง) ซึ่งส่วนใหญ่คือคนชั้นล่างผู้มีรายได้น้อยและมีจำนวนมหาศาล การออกจากบ้านไปดูภาพยนตร์ตอนค่ำและวันหยุดกลายเป็นวิถีชีวิต เป็นความจำเป็นในการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง
จากนั้นภาพยนตร์เติบโตเข้าสู่ทศวรรษต่อมา คือ 1910 ถึง 1920 ซึ่งยุคนี้เกิดมาตรฐานใหม่ของการผลิตภาพยนตร์ การจัดจำหน่ายและการจัดฉาย ซึ่งค่อย ๆ ลงตัวในช่วงกลาง ๆ ของทศวรรษ 1910 โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปหลายประเทศ มาตรฐานนั้นคือเกิดการเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานหนังสั้น 1 ม้วนหนึ่งเรื่องยาวราวหนึ่งพันฟุต หรือกินเวลาฉายราวสิบถึงสิบห้านาที มาเป็นหนังยาว ที่เรียกว่า ฟีเจอร์ (feature) ซึ่งยาวอย่างน้อยราว 4-5 ม้วน การเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนชนชั้นของคนดูหนัง คนชั้นกลางและคนชั้นสูงที่เคยรังเกียจภาพยนตร์ว่าเป็นมหรสพชั้นต่ำ เริ่มสนใจและเห็นว่าภาพยนตร์เริ่มมีสถานะทางศิลป ผู้สร้างเริ่มใช้นักแสดงที่มีฝีมือและชื่อเสียงจากละครเวที เริ่มดัดแปลงบทละครชั้นดีและนิยายสมัยใหม่มาทำภาพยนตร์ มีการเลือกดนตรีที่ประณีตบรรเลงประกอบภาพยนตร์ เมื่อคนชั้นกลางและชั้นสูงหันมาดูภาพยนตร์ เกิดผู้ชมแบบที่เรียกว่า นักดูหนัง คอหนัง หรือ แฟนหนัง คือคนดูที่หลงใหลภาพยนตร์ ดื่มด่ำไปกับโลกในฝันบนจอภาพยนตร์ และหลงใหลการปรากฏตัวของนักแสดงที่มีเสน่ห์และพลังดึงดูดระดับดาราของภาพยนตร์ การที่คนชั้นกลางและชั้นสูงมาเป็นผู้ชมภาพยนตร์ จึงเกิดการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นใหม่โดยตรง อย่างใหญ่โตงดงามหรูหราอลังการ อย่างที่เรียกว่า palace theater การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการผลิตภาพยนตร์ในยุคนี้ มีลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเกิดการสั่งสมวิธีการสร้างภาพยนตร์ในแบบฉบับของฮอลลีวู้ดขึ้น ที่เรียกว่า ฮอลลีวู้ดคลาสสิก และทศวรรษนี้ก็มิใช่ยุคภาพยนตร์แรกมีหรือ early cinema อีกแล้ว เพราะยุคภาพยนตร์แรกมีน่าจะจบที่ปี 1910
ยุคภาพยนตร์แรกมี เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์หันมาสนใจกันมาก ก็เมื่อมีการเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีกำเนิดภาพยนตร์โลก เมื่อปี 1995 ประเด็นที่น่าสนใจหัวข้อหนึ่ง คือ ปฏิกริยาของคนดูครั้งแรก การได้ดูภาพยนตร์ครั้งแรกในชีวิตและเมื่อแรกมีภาพยนตร์ เป็นประเด็นทำนองเดียวกับที่นักมนุษยวิทยาสนใจเรื่อง การแรกประสพ first contact ของผู้คนต่างวัฒนธรรม ที่ไม่เคยรู้เคยเห็นกันมาก่อน ทำนองมนุษย์โลกแรกพบมนุษย์ต่างดาวนั้นแหละ ด้วยความคิดว่า คนดูที่ได้ดูภาพยนตร์ครั้งแรกในเวลานั้น ไม่ว่าจะวัยใด เพศใด ชนชั้นใด ล้วนไม่เคยดูภาพยนตร์มาก่อน อาจจะมีบางคนมีประสบการณ์การเคยดูการฉายภาพเคลื่อนไหวก่อนภาพยนตร์มาบ้าง เช่น การเล่นโคมเชิดหนัง (magic lantern) หรือละครเงาแบบหนังใหญ่หนังตะลุง ซึ่งก็มีข้อมูลหลักฐานบันทึกปฏิกิริยาของคนดูเหล่านี้เช่นกัน มีทั้งที่ตื่นตกใจ หวาดกลัว เสียจริต โดยเฉพาะการได้ดูแมจิกแลนเทิร์นที่แสดงแบบพิสดารผสมมายากลการสะกดจิตและการลวงตา แต่สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ครั้งแรกนั้น เป็นการได้ดูภาพถ่ายเหมือนจริงขนาดเท่ากับหรือใหญ่กว่าชีวิตจริงและที่สำคัญเคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต ข้อมูลปฏิกิริยาของคนดูหนังแรกมีนี้ ส่วนใหญ่ได้จากรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน จากข้อเขียนหรือบันทึกของคนที่ได้ดูและบันทึกไว้ ทั้งที่เป็นความรู้สึกของตนเองหรือที่เห็นผู้ชมอื่น ๆ มีอาการ
เรื่องหนึ่งที่มีการอ้างถึงหรือเล่าขานกันจนเป็นตำนาน คือ รถไฟเอฟเฟก (train effect) มีคนดูจำนวนหนึ่งที่ดูเรื่อง รถไฟเข้าสถานีที่ลาซิโอตา แล้วตื่นกลัวว่าหัวรถจักรจะวิ่งออกจากจอมาชน บางคนก็นั่งเกร็ง บางคนก็ขยับหนี บางคนก็ถึงแก่ร้องหวีดเตลิดออกจากโรง คำเล่าขานเหล่านี้มีความจริงเพียงใด นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แรกมีที่สนใจประเด็นนี้ก็ต้องหาความน่าเชื่อของหลักฐาน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล่าแบบเรื่องเหลือเชื่อ ทำนอง เชื่อหรือไม่ และหาทางอธิบายสาเหตุทางจิตวิทยาการรับรู้ การสัมผัส การผัสสะ ไปจนกระทั่งเรื่องสัญชาติญาณ เรื่องกลไกการตอบสนองและการป้องกันตัวทางร่างกายของมนุษย์อะไรไปโน่น
ภาพ: ภาพยนตร์ รถไฟเข้าสถานีที่ลาซิโอตา
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการศึกษากัน คือ คนดูหนังเมื่อแรกได้ดูหนังที่มีการตัดต่อแตกภาพเป็นคัทหรือช็อต ทำให้มีการถ่ายให้เห็นคนไม่เต็มตัว เช่น เห็นแค่ครึ่งตัว เห็นแค่หัว เห็นแค่บางส่วนของร่างกาย เช่น ปาก ตา หู ก็มีเรื่องเล่าขานว่า คนดูบางคนรับไม่ได้ ไม่ใช่การตื่นกลัวแบบรถไฟเอฟเฟก แต่เป็นอาการขยะแขยง เพราะคิดว่าได้เห็นคนถูกตัดเป็นท่อน ๆ หรือมีบางคนรู้สึกว่าที่เห็นเฉพาะโคลสอัพใบหน้าคนนั้น คือยักษ์ หรือพวกตัวประหลาด น่าหวาดกลัวไปอีกแบบ
มีหลักฐานชั้นดีชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับปฏิกิริยาของคนที่ได้ดูภาพยนตร์ ซีนีมาโตกราฟ ของพี่น้องลูเมียร์เป็นครั้งแรกในชีวิตและในสมัยที่ซีนีมาโตกราฟอวดตัวเป็นครั้งแรก ๆ ในโลกด้วย คือ ข้อเขียนชื่อ ลูเมียร์ซีนีมาโตกราฟ เขียนโดย แมกซิม กอร์กี นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งได้ดูภาพยนตร์ ซีนีมาโตกราฟ ของลูเมียร์เป็นครั้งแรก ซึ่งลูเมียร์ส่งมาฉายในงานมหกรรมแสดงสินค้าแห่งเมืองนิจนี นอฟโกรอด บ้านเกิดของกอร์กี ซึ่งนับเป็นงานแสดงสินค้าและศิลปกรรมจากทั่วทั้งรัสเซีย สนับสนุนอย่างแข็งแรงโดยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระจักรพรรดิแห่งรัสเซีย ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 13 ตุลาคม ปี 1896 กอร์กีซึ่งขณะนั้นอายุ 28 เพิ่งเริ่มเป็นนักเขียนได้สองสามปี ยังไม่มีชื่อเสียง เขาได้ดูซีนีมาโตกราฟซึ่งเป็นการจัดฉายครั้งแรกในรัสเซีย โดยคาดว่ากอร์กีไปดูในคืนวันที่ 30 มิถุนายน หรือไม่ก็ 1 กรกฎาคม 1896 แล้วเขียนบทความนี้ในวันรุ่งขึ้น แต่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นิจนี นอฟโกรอด นิวส์เล็ตเตอร์ ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม ข้อเขียนเป็นภาษารัสเซีย แต่ที่นำมาตีพิมพ์นี้แปลมาจากฉบับที่แปลจากภาษารัสเซียเป็นภาษาอังกฤษแล้ว โดย Ian Christie และ Richard Taylor ตีพิมพ์ใน The Film Factory, Harvard University Press, 1994
ลูเมียร์ซีนีมาโตกราฟ
แมกซิม กอร์กี
เมื่อวานฉันไปอยู่ในราชอาณาจักรแห่งเงา. ถ้าเพียงแต่ท่านรู้ว่า มันปลาดอย่างไรหนอที่ได้ไปอยู่ที่นั้น. ไร้สรรพเสียง, ไร้สรรพสี, ที่นั้น, ทุกสิ่งอย่าง – แผ่นดิน, ต้นไม้, ผู้คน, น้ำ, อากาศ – ถูกย้อมอยู่ในเอกรงค์ของสีเทา : ในท้องฟ้าสีเทาแห่งหนึ่ง มีฉัพพรรณรังสีสีเทาของแสงอาทิตย์; บนมวลใบหน้าสีเทา, ตาสีเทา, แลบรรดาใบไม้ของเหล่าต้นไม้ก็สีเทาดั่งขี้เถ้า. นี้มิใช่ชีวิตแต่เป็นเงาของชีวิต. แลนี้มิใช่การเคลื่อนไหว แต่เป็นเงาอันไร้เสียงของการเคลื่อนไหว.
ฉันต้องอธิบาย, ฉันสงสัยว่าเป็นสัญญลักษณ์หรือความบ้า. ฉันอยู่ที่ร้านกาแฟอูมอนท์ แลได้ดูซีนีมาโตกราฟของพี่น้องลูเมียร์ – รูปถ่ายที่เคลื่อนไหวได้. ความประทับใจที่เกิดขึ้นช่างไม่ธรรมดาเลย, แปลกใหม่และซับซ้อนนัก, จนฉันแทบจะไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ในทุกรายละเอียด, แต่ฉันอาจพยายามถ่ายทอดแก่นแท้ของมันได้.
เมื่อแสงสว่างในห้องที่กำลังจะมีการแสดงประดิษฐกรรมของลูเมียร์ดับลง. รูปขนาดใหญ่สีเทาพลันปรากฏขึ้นบนจอ : มันคือ “ถนนแห่งหนึ่งในปารีส”, เงาของการแกะสลักอย่างเลวชิ้นหนึ่ง. เมื่อท่านจ้องมองมัน, ท่านจะเห็นพวกรถม้า, พวกอาคารบ้านเรือนแลผู้คนในอาการต่าง ๆ, ทั้งหลายนั้นล้วนแข็งทื่อไม่ไหวติง. ทั้งหมดนี้อยู่ในสีเทา, แลท้องฟ้าเบื้องบนก็เทาเช่นกัน. ท่านคงจะมิได้คาดหวังว่าจะมีอะไรแปลกใหม่ในภาพที่เราคุ้นเคยกันดีเช่นนี้เพราะท่านคงได้เห็นบรรดาภาพของถนนในปารีสมาหลายหนแล้ว. แต่ฉับพลันที่มีการกระพริบประหลาดพาดผ่านไปบนจอแลรูปนั้นกลับมีชีวิตขึ้น. พวกรถม้าเคลื่อนจากส่วนหลังของภาพเข้ามาหาท่าน, ตรงเข้ามาหาท่าน, เข้ามาในความมืดที่ที่ท่านกำลังนั่งอยู่. จากที่ใดที่หนึ่งไกลออกไปผู้คนปรากฏขึ้น, ปรากฏใหญ่ขึ้น ๆ เมื่อพวกเขาเข้ามาทางท่าน. ในเบื้องหน้าของภาพ มีเด็ก ๆ เล่นกันอยู่กับหมาตัวหนึ่ง, คนขี่จักรยานร่อนไปมาแลคนเดินถนนกำลังเดินข้ามถนน, ตามทิศทางของตนในท่ามกลางรถม้าทั้งหลาย. ทั้งหมดนี้กำลังเคลื่อนที่, ล้วนชีวิต, ล้วนกำลังเร่งรีบ. มันล้วนเคลื่อนที่มายังพื้นหน้าของภาพและแล้วก็ลับหายไปตรงไหนสักแห่ง.
ทั้งหมดนี้บังเกิดขึ้นในความเงียบงันอันปลาด ซึ่งท่านจะไม่ได้ยินเสียงกึงกังของล้อรถ, เสียงฝีเท้าหรือเสียงพูดคุย. ไม่มีอะไรเลย : ไม่มีเสียงโน้ตสักตัวหนึ่งของมโหรีอันซับซ้อนซึ่งมักบรรเลงประกอบกับลีลาการเคลื่อนไหวของผู้คน. ใบไม้สีเทาขี้เถ้าของพวกต้นไม้พลิ้วไหวอยู่ในลม แลเงาดำสีเทาของผู้คนที่เดินเหินอย่างเงียบเชียบไปตามพื้นสีเทาราวกับว่าถูกสาปแช่งอยู่ในความเงียบชั่วนิรันดร์แลถูกลงทัณฑ์อย่างทารุณโดยการถูกกีดกันจากสีสันแห่งชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้น.
รอยยิ้มของพวกเขาไร้ชีวิตชีวา, แม้ว่าการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของพวกเขาล้วนเต็มไปด้วยพลังแห่งการมีชีวิตและรวดเร็วจนแทบจะสังเกตไม่ทัน. การหัวเราะของพวกเขาก็เงียบเชียบ, แม้ว่าท่านจะเห็นการกระชับตัวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าสีเทาของพวกเขา. เบื้องหน้าของท่านคือชีวิตหนึ่งที่รุ่งโรจน์. ชีวิตหนึ่งที่ไร้คำพูดและไร้สีสันของชีวิต, ชีวิตที่มีแต่สีเทา,เยือกเย็นแลหดหู่
มันช่างน่าสะพรึงกลัวที่จะดู แต่มันคือการเคลื่อนไหวของเงา, ก็แค่เงา. คำสาปและภูติผีปีศาจ, บรรดาวิญญาณชั่วร้ายที่สกดให้เมืองทั้งเมืองเข้าสู่การหลับไหลชั่วนิรันดร์เข้ามาสู่สำนึกและท่านจะรู้สึกราวกับว่าการใช้กลเม็ดอันชั่วร้ายของเมอรินกำลังสำแดงอยู่ต่อหน้าท่าน. มันเป็นราวกับว่าเขาร่ายมนต์สะกดไปทั่วท้องถนน บีบอัดอาคารสูงหลายชั้นจากยอดหลังคาลงมาถึงฐานรากราวกับจะย่อขนาดให้เล็กจิ๋ว. เขาได้บีบกดผู้คนที่จะตอบโต้กัน, ทำให้พวกเขาไร้พลังในการพูด แลยังได้ผสานสีสันทั้งมวลของผืนดินแลผืนฟ้าให้กลายเป็นสีเทาอันน่าเบื่อหน่าย.
ในการแปลงร่างนี้ เขาได้ใส่การเนรมิตอันแปลกพิสดารของเขาเข้าไปในซอกหลืบหนึ่งของห้องที่มืดมิดในภัตตาคารแห่งหนึ่ง. ฉับพลันนั้นก็มีเสียงคลิก ทุกสิ่งมลายหายวับไป แลรถไฟก็ปรากฏขึ้นบนจอ. มันพุ่งราวลูกศรตรงเข้าหาท่าน – ระวัง ! มันดูราวกับว่ากำลังพุ่งเข้าไปในความมืดที่ท่านกำลังนั่งอยู่ และตัดทอนตัวท่านลงเป็นถุงหนังที่ขาดวิ่น, บรรจุเต็มด้วยเนื้อสด ๆ ที่แหลกเละและกระดูกที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ , แลทำลายห้องโถงนี้ อาคารนี้, ซึ่งเต็มไปด้วยเหล้าไวน์, สตรี, ดนตรี แลความชั่วช้าสามานย์, แลเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเศษซากและฝุ่นธุลี.
แต่, นี้ก็เช่นกัน, เป็นเพียงรถไฟของเงา.
ภาพ: แมกซิม กอร์กี
นี่เป็นคำให้การสด ๆ ร้อน ๆ ของชายหนุ่มชาวรัสเซียที่ได้ดูและสัมผัส first contact ครั้งแรกกับภาพยนตร์ ด้วยความเป็นนักประพันธ์ เขาจึงไม่เขียนรายงานแบบธรรมดา แต่บรรยายการแรกเห็นภาพยนตร์ของเขาด้วยพรรณาโวหาร และชวนคิดว่าเขาเป็นนักวัตถุนิยมโดยสัญชาติญาณหรือเปล่า เขามองโลกของซีนีมาโตกราฟเป็นโลกของคนตาบอดสีสนิท จึงเห็นแต่แสงกับเงา เอกรงค์ของสีเทา ไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นเงาของชีวิต แต่กอร์กีก็สารภาพเลย ว่าเขาประทับใจมาก และไม่ใช่ธรรมดา แต่แปลกใหม่และซับซ้อน เขาระบุว่าเมื่อซีนีมาโตกราฟจะปรากฏ แสงสว่างในห้องจะดับมืดลง เขาเห็นรูปขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นบนจอ ใหญ่ขนาดไหน ตรงนี้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยุคแรกมีต้องหาข้อมูล เชื่อว่าคงขนาดใกล้เคียงกับที่ลูเมียร์ฉายที่กรองด์คาเฟ ในปารีส คือกว้างยาวราวสองเมตรเศษ เขาบอกว่าเรื่องแรกเป็นหนังเรื่อง ถนนสายหนึ่งในปารีส อธิบายชัดว่าขึ้นต้นมาก็เป็นภาพนิ่ง ๆ ของถนน แต่เมื่อเครื่องฉายเดินไป ไฟกระพริบประหลาดพาดผ่านไปบนจอ รูปนั้นกลับมีชีวิตขึ้น แต่กอร์กีกลับเห็นว่าการเคลื่อนไหวดุจมีชีวิตนี้เกิดขึ้นในความเงียบอย่างประหลาด เขาไม่ได้ยินเสียงฝีท้า เสียงล้อรถม้า รถจักรยาน เสียงผู้คนพูดกัน กอร์กีเห็นว่าโลกนั้นถูกสาบแช่งอยู่ในความเงียบชั่วนิรันดร์ ถูกลงโทษทารุณโดยกีดกันจากสีสันแห่งชีวิต นักวรรณคดีคงสนใจวิเคราะห์สาเหตุที่กอร์กีเห็นไปอย่างนั้น แต่ในตำนานเรื่องเล่าเชื่อหรือไม่ของแรกดูหนัง หนังแรกมี ก็เคยมีผู้เขียนรายงานว่า ผู้ชมบางคนที่ได้ดูซีนีมาโตกราฟของลูเมียร์ เรื่อง ช่างตีเหล็ก มาเล่าภายหลังว่า เขาเห็นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ในเตาไฟร้อนแดงปลั่งเลย และเมื่อช่างตีเหล็กจุ่มเหล็กร้อนแดงนั้นลงในถังน้ำ เขาก็ได้ยินเสียงฉ่าพร้อมกับเห็นควันพวยพุ่งขึ้นมาจากถัง ช่างตีเหล็กเป็นหนังขาวดำและเงียบกริบ สีแดงของเหล็กคุไฟและเสียงฉ่ามาจากไหน
กอร์กีต้องมีสติมั่นคงที่มองเห็นภาพขาวดำที่เคลื่อนไหว คงเป็นแค่เงาสีเทาที่เคลื่อนไหว และเงียบ แต่อีกมิติหนึ่งเขาจินตนาการไปถึงอารมณ์อันหดหู่เศร้าหมอง และสุดท้ายเขาพรรณาถึง รถไฟเอฟเฟก ที่ลงกันอย่างดีกับตำนาน เขาเตือนให้ ระวัง เพราะรถไฟมันพุ่งราวลูกศรเข้าหาเราที่นั่งอยู่ในห้องมืด ๆ นี้ และจินตนาการภาพอันน่ากลัวว่า มันจะฉีกร่างเราแหลกเป็นเสี่ยง ๆ และยังทำลายห้องโถงและอาคารที่เรานั่งดูซีนีมาโตกราฟอยู่นี้
ห้องโถงนี้ คือ ห้องสำหรับจัดฉายที่สร้างขึ้นในบริเวณงานแสดงสินค้าและศิลปกรรมทั่วรัสเซีย ที่เมืองนิจนี นอฟโกรอด ซึ่งสร้างเป็นห้องโถงในร้านกาแฟของ ชาลส์ อูมองต์ (Charles Aumont’s Café-chantant) ที่มาออกร้านเฉพาะกิจในงานนี้ ร้านจริงของอูมองต์ซึ่งเป็นโรงดนตรีอยู่ในปารีสนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นโสเภณีสถานแห่งหนึ่ง เมื่อมาจัดฉายหนังแรกมีครั้งแรกในพื้นที่เดียวกับร้านกาแฟนี้ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จึงเห็นว่าชาวรัสเซียน่าจะมีทัศนคติเกี่ยวกับหนังไปทางเดียวกับโรงโสเภณีหรือเห็นว่าสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
ดังนั้น ทำไมกอร์กีหนุ่มจึงพรรณานิมิตให้เห็นห้องที่เขาดูหนังนั้น อาคารนั้น ซึ่งเต็มไปด้วยเหล้าไวน์ สตรี ดนตรีและความชั่วช้าสามานย์ถูกทำลายลง เป็นผุยผง
ยังมีข้อมูลน่าสนใจไปกว่านี้อีก เพราะสองอาทิตย์ต่อมาหลังจากกอร์กีได้ดูซีนีมาโตกราฟครั้งแรกนั้น เขาได้เขียนและตีพิมพ์เรื่องสั้น ชื่อ แก้แค้น Revenge ลงในหนังสือพิมพ์ นิจนี นอฟโกรอดนิวส์เล็ตเตอร์ คราวนี้เขาเขียนถึงภาพยนตร์ของลูเมียร์ เรื่อง อาหารเช้าของทารก (Baby’s Breakfast) และยังพาดพิงถึงเรื่องสองเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มันเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่เดียวกัน คือสองวันหลังจากกอร์กีดูซีนีมาโตกราฟ ได้เกิดเหตุการณ์นักร้องหญิงคนหนึ่งในคณะนักร้องประสานเสียงของโรงกาแฟนี้พยายามฆ่าตัวตาย นักร้องซึ่งเป็นหญิงบริการพวกนี้สามารถเข้าไปในห้องโถงและดูภาพยนตร์ไปพร้อมกับแขกที่เข้ามาชม ในเรื่องสั้นนี้กอร์กีถือโอกาสเปรียบเทียบระหว่างเรื่องในหนังกับชะตากรรมในท่ามกลางหญิงบริการในโรงกาแฟซึ่งตกเป็นเหยื่อของขนบสังคม กอร์กีพรรณาว่าหนังคู่ผัวเมียหนุ่มสาวและลูกน้อยกำลังกินอาหารเช้า ทั้งคู่ดูมีความสุขล้นและลูกน้อยก็สนุกสำราญ มันดูน่ารัก น่าอบอุ่น น่าประทับใจ แต่ภาพความสุขนี้มิได้มีอยู่ในโรงกาแฟของอูมองต์มิใช่หรือ อีกเรื่องหนึ่ง คือ คนงานออกจากโรงงาน กอร์กีพรรณาว่าภาพเต็มไปด้วยความสุข รอยยิ้มหัว คนงานหญิงเดินเป็นกลุ่มออกมาจากประตูโรงงาน ออกสู่ถนน นี่ก็ผิดที่ผิดทาง สิ่งใดเล่าที่จะเตือนใจผู้คนในที่นี้ว่ามันอาจจะมีสิ่งดีงามจากชีวิตที่กรำงานหนักก็ได้จริงหรือ ทางที่ดีที่สุดที่มันอาจทำได้ก็คือก่อให้เกิดความเจ็บแปล้บในหัวจิตหัวใจของหญิงนางหนึ่งซึ่งขายจูบของหล่อนเพื่อเงิน ก็เท่านั้นเอง
ภาพ: รัชกาลที่ 5 และพระราชวงศ์ ที่ พระราชพระตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ ค.ศ. 1896 คราวที่ทอดพระเนตรภาพยนตร์คิเนโตสโคปเป็นครั้งแรก
สำหรับนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย มีใครสนใจศึกษายุคภาพยนตร์เมื่อแรกมีในสยามบ้างไหม คนไทยคนแรกที่ได้ แรกประสบ หนังแรกมี คือ ร.6 เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขณะกำลังศึกษาอยู่ในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2439 หรือ ค.ศ.1896 ได้ไปทอดพระเนตรซีนีมาโตกราฟของลูเมียร์ ที่จัดฉายอยู่ที่โรงละครเอ็มไพร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 4 เมษายน มีข้อความซึ่งเขียนโดย มล. ปิ่น มาลากุล ในหนังสือบทภาพยนตร์ ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ปี 2526 มีความว่า 4 เมษายน 2439, ตอนบ่ายเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการฉายภาพที่โรงละคร Empire เรียกว่า Cinematograph, เหมือนการฉายภาพขึ้นจอ แต่ว่าเคลื่อนไหวได้ (สมัยเริ่มมีภาพยนตร์). ตอนกลางคืน เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรละครพูดที่โรงละคร Adelphi เรื่อง One of the Best ของ Sir Seymour Hicks. โปรดว่าสนุกและตื่นเต้น น่าเสียดายที่หนังสือไม่แสดงว่าทรงแสดงความเห็นหรือความรู้สึกอะไรต่อการทรงแรกดูภาพยนตร์แรกมีมากกว่านี้ไหม คนที่สองคือ ร. 5 ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์ คิเนโตสโกป ของเอดิสัน ซึ่งเป็นภาพยนตร์แบบดูทีละคนทางช่องที่เรียกถ้ำมอง มีฝรั่งนำมาจัดแสดงให้ทอดพระเนตรถึงพระตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ที่ประทับ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1896 ทรงบันทึกไว้ในเวลานั้น ในพระราชหัตถเลขา ระยะทางเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ร.ศ. 115มีความว่า อะไรก็จำชื่อไม่ได้ คือ รูปถ่ายติด ๆ กันไปเป็นม้วนยาว ๆ เอาเข้าในเครื่องไฟฟ้าหมุนไปแลเห็นเหมือนรูปนั้นกระดิกได้ ด้วยสามารถแห่งความเปลี่ยนเร็วของรูป เป็นต้นว่าชนไก่ ตั้งแต่แรกชน เมื่อไก่จะโดดหันไปหันมาอย่างไร ขนร่วงแลเซซวน คนที่เป็นผู้ชมยื่นมือไปพนันต่อรองกันเมื่อใด เห็นเหมือนอย่างรูปนั้นกระดิกไปได้ ม้วนหนึ่งใช้รูปถึง 1,400 ท่า น่าสังเกตว่า ร.5 ไม่ทรงแสดงความตื่นเต้นอะไร แต่กลับทรงพยายามจะอธิบายว่ามันเป็นอะไร และทำงานได้อย่างไร เหตุหนึ่งที่ไม่ทรงตื่นเต้นน่าจะเป็นเพราะ คิเนโตสโกปเป็นภาพที่สอดตาดูในรู เห็นภาพเล็ก ๆ ไม่ตื่นตา นักวิชาการบางรายเสนอว่า ปฏิกิริยาของผู้แรกดูของแรกมีนั้น อาจจะขึ้นอยู่กับภูมิหลังความรู้ ประสบการณ์ การรับรู้วัฒนธรรมทันสมัยด้วย เช่น คนดูที่มาจากสังคมชนบท ไม่มีการอบรม ไม่เคยรับรู้ความทันสมัย เมื่อได้ดูของแรกมีที่ตนไม่มีพื้นมาก่อน ก็อาจจะตื่นเต้น ตกใจ หวาดกลัว หรือเตลิดเปิดเปิงได้
ข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์แรกมีในสยาม ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจค้นคว้า จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ ตัวอย่างข้อมูลที่ดีเรื่องหนึ่ง คือ บันทึกความจำ เล่ม 2 เมื่อเป็นเลขานุการมณฑลอิสาณ (อุบล) ของ พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง พ.ศ. 2515 มีเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงคนไทยไปดูหนังครั้งแรกในยุคเมื่อแรกมีหนัง ดังนี้
ภาพ: พระยาสุนทรพิพิธ
งานพระเมรุพระบรมศพรัชกาลที่ ๕
งานพระบรมศพเป็นงานใหญ่ ทางราชการสั่งให้เทศาเจ้าเมือง เจ้าผู้ครองนคร และเชื้อวงศ์เจ้านายพื้นเมืองต่าง ๆ เข้าไปถวายพระเพลิง สำหรับมณฑลอิสาณ นอกจากข้าราชการตำแหน่งประจำดังกล่าวแล้ว ก็มีเชื้อวงศ์พื้นเมืองที่เป็นตำแหน่งกรมการเมืองเข้าไปด้วย มีพระยาขุขันธ์ภักดี เมืองศรีษะเกษ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล เมืองอุบล กับพระอะไรจำไม่ได้ เมืองร้อยเอ็ด รวม ๓ คน
(กำหนดถวายพระเพลิง 16 มีนาคม 2453 เจ้าคุณสุนทรฯ ทำหน้าที่พี่เลี้ยงทั้ง 3 ท่านนั้น ต้องพาไปเที่ยว ขึ้นรถราง กินโฮเต็ล ดูหนัง ขอข้ามไปให้อ่านตอนที่พาไปดูหนัง)
ดูหนัง ข้าพเจ้าได้พาท่านแขกเมืองไปกิจธุระต่าง ๆ ไปเที่ยวดูเที่ยวชม ตลอดจนเที่ยวกิน แล้วก็มิได้ลืมที่จะพาท่านไปชมภาพยนตร์ด้วย สมัยนั้นโรงหนังที่มีชื่อก็คือ “พัฒนากร” ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง ใกล้สามแยก กับโรงหนังวังเจ้าปรีดาอีกโรงหนึ่ง ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุงเช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นรองพัฒนากร โรงหนังพัฒนากรเป็นโรงใหญ่ สร้างด้วยไม้ สมัยโน้นนับเป็นโรงชั้นหนึ่ง สำหรับสมัยนี้คงตกเป็นโรงชั้นสี่ชั้นห้า ชั้นบนทำเป็นพื้นไม้กว้างยาวออกไปเกือบครึ่งโรง ตอนหลังยกสูงขึ้นหน่อย ตั้งเก้าอี้หวายไม่มีปลอก อัตราค่าที่นั่งคนละ ๖ สลึง ตอนหน้าเป็นเก้าอี้หวายเหมือนกัน แต่มีปลอกผ้าขาวสวม อัตราค่าที่นั่ง ๒ บาท เมื่อข้าพเจ้าไปดูก็นั่งตอนหน้า ซึ่งถือเป็นชั้นที่ ๑ บ้าง นั่งตอนหลังอันเป็นชั้นที่ ๒ บ้าง แต่เพราะเก้าอี้ชั้นที่ ๒ ไม่สวมปลอก จึงถูกเรือดกัดเอาเสมอ ๆ คิดว่าค่าถูกเรือดกัดคงจะเกินกว่าเงิน ๒ สลึง ดังนั้นภายหลังจึงต้องนั่งชั้นที่ ๑ ซึ่งต้องเพิ่มค่าดูอีก ๒ สลึง ส่วนชั้นล่างตอนหน้า เป็นม้ายาว ค่าที่นั่งคนละ ๑ สลึง ตอนหลังยกพื้นขึ้นหน่อย ตั้งเก้าอี้เดี่ยว ค่าที่นั่ง ๑ บาท เมื่อข้าพเจ้าพาท่านทั้ง ๓ ไปดู จึงได้นั่งดูชั้นที่ ๑ คือเสียคนละ ๒ บาท
หนังสมัยโน้นเป็นหนังเงียบ ดังนั้นเพื่อให้ครึกครื้น ทางโรงหนังจึงต้องจัดหาแตรวงมาบรรเลงเพลงประกอบ ที่ว่าแตรวงนั้น ความจริงก็ไม่เต็มวง คือมีแตรทองเหลืองขนาดใหญ่ ๑ ขนาดเล็ก ๑ ปี่ฝรั่ง ๑ กับกลองใหญ่อีก ๑ ใบ ปกติเขาก็เป่าเพลงเพราะ ๆ แต่พอถึงตอนสำคัญ เขาจะทำเพลงที่เหมาะสมกับบทแสดง และตีกลองดังเสียงกลบโรง ถึงกับคนดูหนังหนวกหูไปตาม ๆ กัน เช่นตอนชกกัน ยิงกัน ก็จะทำเพลงเชิดอย่างดังทีเดียว ส่วนเสียงประกอบธรรมชาติ เช่น เสียงม้าวิ่ง ก็จะใช้ฝากะลามะพร้าวเคาะกับพื้นทางด้านหลังจอ ให้มีเสียงดัง ก๊อก ๆ ๆ คล้ายม้าวิ่ง ตอนยิงกันก็ใช้ประทัดลมขว้างกับพื้น และเสียงคลื่นซัดฝั่งก็ใช้กรวดทรายใส่ถาดสังกะสี เทจากใบนี้ลงใบโน้น เทจากใบนี้ใส่ใบโน้น หรือร่อนถาดที่ใส่กรวดทรายเข้าแรง ๆ ก็จะมีเสียงดังดั่งคลื่นซัดได้เหมือนกัน ซึ่งก็พอทำให้ฟังเพลินได้เหมือนกัน เว้นเสียแต่หนวกหูเท่านั้นที่ทำให้คนผู้ใหญ่ ๆ ไม่ชอบ แต่กลับเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบ เขาจะฮากันและเป่าปากเสียงเปี๊ยวป๊าวไปหมด
ในการดูหนัง ข้าพเจ้าก็ต้องอายเขา ด้วยการทำ ๕ แต้มของท่านแขกเมืองอีกเหมือนกัน คือท่านดูไปพลางถามไปพลาง ถามดัง ๆ เสียด้วย เพราะพูดเบา ๆ เสียงแตรก็กลบหมดไม่ได้ยิน ท่านจึงต้องพูดดัง ข้าพเจ้าจึงต้องขยับเข้านั่งใกล้ ๆ คอยอธิบายให้ท่านฟัง แต่พอเพลิน ๆ เท่านั้น ท่านผู้หนึ่งก็ร้องโวยวายขึ้นมาด้วยความตกอกตกใจ ฮ่วย ๆ ผีบ้า ๆ โอ๊ย ๆ เสียงท่านร้องก็เพราะตอนนั้น หนังเขาฉายโครสอัพเจ้าแขกหน้าตาน่ากลัวคนหนึ่ง มันใกล้เข้ามา ๆ แลโตขึ้น ๆ จนจะมาปะทะหน้าคนดู แล้วก็หายแว่บไป ท่านจึงตกใจและร้องขึ้นดัง ๆ คนดูชั้นบนจึงพากันหันหน้ามาดู พอดีหนังหมดม้วน ไฟก็สว่างขึ้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกอายเขาแทบจะแทรกแผ่นดินหนี แต่ท่านทั้ง ๓ มิได้สงบ กลับเว่ากันดัง ๆ พร้อมด้วยทำท่าทางให้คนอื่นเขาดูเสียอีก ข้าพเจ้านั่งตัวแข็งและหรี่ตาเสีย ไม่อยากดูหน้าใครเพราะอายเขา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2453 หรือ ค.ศ. 1911 พอถือได้ว่าอยู่ในระยะปีสุดท้ายของ early cinema ต่อกับ ยุค Hollywood Classic ยังเป็นหนังสั้น 1 – 3 ม้วน แม้ว่าบันทึกนี้ เจ้าคุณสุนทรพิพิธ เขียนขึ้นภายหลัง คือในปี พ.ศ. 2515 ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมในปีถัดมา ไม่ทราบว่าเป็นการเขียนขึ้นใหม่จากบันทึกเดิมที่เขียนไว้ในปีที่เกิดเหตุการณ์ หรือมาเขียนใหม่จากความทรงจำ ท่านเกิดปี 2434 ปีที่เกิดเหตุการณ์ท่านจึงอายุเพียง 20 ปี กำลังหนุ่มแน่น ได้รับการศึกษาการอบรมอย่างดี และเป็นชาวกรุง ในขณะที่แขกเมืองของท่าน น่าจะอายุวัยกลางคนแล้ว แม้จะเป็นข้าราชการระดับกรมการเมือง แต่คงไม่เคยเข้ามากรุงเทพ และอาจจะไม่เคยดูภาพยนตร์ ปฏิกิริยาสำคัญของแขกเมืองท่านหนึ่งที่เห็นภาพโคลสอัพใบหน้าคนแล้วตกใจร้องเอะอะขึ้นว่าเป็นผีร้ายเช่นนี้ ช่างเข้าตรงตามตำราตำนานดูหนังเมื่อแรกมีได้สนิทจริง ๆ ถ้าท่านเจ้าคุณเขียนขึ้นใหม่เมื่อปี 2515 จากความจำเมื่อ 61 ปีมาแล้ว แสดงว่าเป็นความจำที่ฝังแน่นและแม่นยำ นับเป็นตัวอย่างคลาสสิกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยุคแรกมีของสยามทีเดียว
เขียนฉลองวันภาพยนตร์โลก เป็นศีนิมาบูชา 2566