ในโอกาสที่หอภาพยนตร์ ร่วมกับสถาบัน The Flaherty จัดงาน The Flaherty Film Seminar งานฉายภาพยนตร์และสนทนายาว 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม โดยมีเนื้อหาเน้นหนักไปที่หนัง nonfiction (หนังที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง) คอลัมน์ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ในเดือนนี้จึงขอแนะนำหนังสือว่าด้วยนิยามและทฤษฎีอันเกี่ยวกับ “หนังสารคดี” และปริมณฑลอันพร่าเลือนระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง
Kill the Documentary: A Letter to Filmmakers, Students and Scholars
โดย Jill Godmilow
หนังสือที่ตั้งชื่อได้หวือหวาเล่มนี้ ตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีก่อน เขียนโดยคนทำหนังสารคดี จิลล์ ก็อดมิโลว์ ด้วยภาษาที่อ่านง่ายคล้ายบทสนทนา ไม่ใช่ตำราเรียน และดังที่สร้อยของหนังสือว่าไว้ ผู้เขียนตั้งใจให้งานเขียนชิ้นนี้เป็นเสมือนจดหมายที่ส่งถึงนักเรียนหนังเพื่อชวนขบคิดถึงตระกูลหนังสารคดีในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากความเข้าใจเดิม ๆ Kill the Documentary แปลตรง ๆ ว่า “จงฆ่าหนังสารคดี” เป็นชื่อที่เรียกร้องความสนใจให้เห็นถึงการที่หนังสารคดีในยุคใหม่จำเป็นต้องแสวงหา สร้างความสัมพันธ์ในการเผชิญหน้าระหว่างกล้อง คนทำหนัง และ “ความจริง” ในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม
คำศัพท์หลักในหนังสือเล่มนี้คือ postrealist film หรือ “หนังยุคหลังสัจนิยม” แนวคิดนี้ต้องการกระตุ้นให้เห็นว่า หนังสารคดีในแบบที่เราคุ้นเคยไม่สามารถแสดงภาพความจริงแท้หนึ่งเดียว แต่ทับซ้อนไปด้วยอุดมการณ์ มุมมองแทนสายตาของผู้จับจ้อง และการลดค่าความจริงแห่งชีวิตให้เป็นเพียงวัตถุทางสายตา แม้แต่หนังสารคดีสุดลือลั่นอันเป็นบรรพบุรุษของ nonfiction film อย่าง Nanook of the North (1922) โดยผู้กำกับ โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี ก็ยังถูกผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการที่หนังสร้างภาพชนเผ่าเอสกิโม โดยผสมการถ่ายทำแบบสารคดีจริงเข้ากับการจัดฉาก ผู้เขียนถึงกับเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “นิทาน” อันเป็นการท้าทายมุมมองดั้งเดิมของหนังสารคดีคลาสสิกเรื่องนี้
แต่จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การตำหนิสารคดีแบบเดิม ๆ ที่มักทำโดยผู้ชายผิวขาวจากประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น หากยังมีบทในหนังสือที่ให้คำแนะนำคนทำหนังและนักเรียนหนัง ว่าควรคำนึงถึงอะไรบ้างในการทำสารคดี เช่น การละทิ้งสายตาที่มองคนอื่นจากบนลงล่าง การถอดตัวเองออกจากความคิดแบบนักข่าวการเปิดโอกาสให้คนที่ถูกถ่ายมีส่วนในกระบวนการถ่ายทำ การถอดรื้อความเป็นอาณานิคมผ่านมุกตลก (เช่นหนังของผู้กำกับฟิลิปปินส์ คิดลัก ตาฮีมี) ฯลฯ นี่เป็นหนังสือที่กล้านำเสนอมุมมองที่แหวกกฎ แต่ยังเต็มไปด้วยสาระและความใจกว้าง
New Nonfiction Film: Art, Poetics, and Documentary Theory
โดย Dara Waldron
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018 เป็นงานอีกเล่มที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า “สารคดี” ตรวจสอบเส้นพรมแดนที่ขยับเขยื้อน ผ่านหนังหลายเรื่องที่ใช้วิธีการสังเกต จับจ้อง จัดฉาก การแสดง และการประกอบสร้าง “ความจริง” ผ่านเครื่องมือทางภาพและไวยากรณ์ภาพยนตร์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหมดเพื่อทำให้เห็นว่า ภาพยนตร์ nonfiction สมัยใหม่มีกรรมพันธุ์ที่ซับซ้อนกว่าหนังสารคดีแบบเดิม
ตัวอย่างที่ผู้เขียนใช้ส่วนใหญ่เป็นหนังร่วมสมัยและหนังทดลอง เช่น หนังของ เบน ริเวอร์ส, โอลิวิเยร์ แลกซ์, ชองทาล อัคเคอร์มาน, กิเดออน คอปเปล ซึ่งล้วนเป็นคนทำหนังที่ผสมผสานเรื่องจริง เรื่องแต่ง เรื่องเล่า คลุกเคล้าด้วยกรรมวิธีแบบอาว็อง-การ์ดเพื่อสร้างงานศิลปะที่คาบเกี่ยวและจงใจลักลั่นในรูปแบบ
คนทำหนังที่สำคัญอีกคนในตระกูลลูกผสมคือ อับบาส เคียรอสตามี โดยผู้เขียนอุทิศหนึ่งบทในหนังสือ ให้กับการวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Close-Up (1990) หนังที่ได้รับการยกย่องในรูปแบบการนำเสนอและยังคงถูกวิเคราะห์และถอดรหัสมากว่า 30 ปี กับการซ้อนทับมิติความจริง-เสมือนจริง-สารคดี เหลื่อมกันหลายชั้นอย่างน่าพิศวง กับเรื่องราวในข่าวของชายคนหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้กำกับหนังอิหร่านและถูกจับดำเนินคดี ก่อนที่เคียรอสตามีจะไปติดต่อชายคนนี้ให้มาแสดงเป็นตัวเองในหนัง หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเข้มข้น เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจปรัชญาการปะทะกันระหว่างเรื่องเล่าและเรื่องจริง
Arctic Cinemas and the Documentary Ethos
บรรณาธิการโดย Lilya Kaganovsky, Scott MacKenzie, Anna Westehrstahl Stenport
อีกครั้งที่หนังสารคดี Nanook of the North ของ โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี ถูกใช้เป็นตัวอย่างและการเริ่มต้นบทวิเคราะห์ หนังสือเล่มนี้เป็นการสำรวจหนังสารคดีหลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับทวีปอาร์กติก ดินแดนเปลี่ยวเหงาอันไกลโพ้นสุดขอบโลก อันเป็นโลเคชันของ Nanook of the North และเป็นดินแดนที่สร้างภาพจำมากมายให้กับคนทำหนังสารคดีในยุคแรก
เช่นเดียวกับหนังสือว่าด้วยศิลปะการสร้างงานสารคดีในยุคหลัง บทความในหนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอการตีความใหม่จากสารคดีเกี่ยวกับทวีปอาร์กติก แน่นอนว่า Nanook ถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือ ถึงแม้ว่าหนังของฟลาเฮอร์ตีเรื่องดังกล่าวจะได้รับการยกย่องว่าเป็นหมุดหมายของคนทำหนังสารคดี เป็นตักศิลาที่ยังคงตระหง่าน แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้พยายามก้าวข้าม Nanook และชี้ให้เห็นแนวคิดการทำสารคดีเกี่ยวกับทวีปอาร์กติกที่ใช้สุนทรียศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์แบบอื่น เช่นหนังของ ซิกา แวร์ตอฟ ของสหภาพโซเวียต A Sixth Part of the World (1926) รวมทั้งสารคดีที่ไม่ได้ใช้สายตาแบบ exotic ของคนนอกในการมองชนเผ่าเอสกิโม เช่นงานของคนทำหนังชาวพื้นเมืองของแคนาดา อาลีเธีย อาร์นัคคุค-บาริล
สำหรับนักวิชาการ ทวีปอาร์กติกถูกวาดภาพให้เป็น “ดินแดนอื่น” มาตลอด ตั้งแต่ Nanook ออกฉายและโด่งดังจนกลายเป็นภาพแทนของทวีป ไม่ต่างกับดินแดนไกลโพ้นอื่น ๆ ในซีกโลกตะวันออกที่ถูกบันทึกภาพโดยสารคดีประเภทนักเดินทางในยุคแรก หนังสือเล่มนี้ตั้งใจลดทอนผลกระทบที่ว่าผ่านตัวอย่างภาพยนตร์สารคดีที่สร้างโดยแนวคิดและมุมมองอื่น
โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 81 ประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567