ความยาว 13.42 นาที
ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง จำนวน 1 ม้วน
อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ
ผู้สร้าง พิฆเนศภาพยนตร์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2493 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบโบราณราชประเพณีเป็นที่เรียบร้อย ในปี พ.ศ. 2499 จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวช สำนักข่าวสารอเมริกันได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้นเป็นภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าว บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 จนกระทั่งลาผนวชในวันที่ 5 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง เพื่อเผยแพร่พระราชจริยวัตรในขณะที่ทรงผนวชให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี โดยนำออกฉายเผยแพร่ทั่วประเทศ
ภาพยนตร์บันทึกภาพเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น จากนั้นตอนบ่ายจึงเสด็จพระราชดำเนินไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อเข้าพิธีผนวช ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเข้าร่วมพิธีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล ภิกขุ” เมื่อทรง
ประกอบพิธีสำเร็จเสร็จสิ้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตลอดทางที่รถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ ผ่านมีประชาชนมาเข้าเฝ้ารอชมพระบารมีอยู่ไม่ขาดสาย บ้างตั้งโต๊ะถวายพระพรไว้ที่หน้าบ้าน
ตลอดระยะเวลา 15 วันที่ทรงผนวชพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระองค์โดยเคร่งครัดเช่นเดียวกับพระภิกษุอื่น ๆ เมื่อเสด็จลงพระอุโบสถเพื่อทำวัตรเช้าและเย็นจะมีประชาชนมาเข้าเฝ้าเพื่อรอถวายดอกไม้และธูปเทียนเป็นจำนวนมากจนทางวัดต้องนำดอกไม้และธูปเทียนที่ประชาชนนำมาถวายไปแจกจ่ายแก่วัดอื่น ๆ ในภาพยนตร์เราจะได้เห็น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนำเสด็จอยู่เสมอ และภาพสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺ̣ติโสภโณ) ซึ่งเป็นพระอนุศาสนาจารย์ไว้ด้วยนอกจากนี้ยังได้บันทึกพระราชกรณียกิจ
ในขณะที่ทรงผนวช เช่นในวันที่ 31 ตุลาคม ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อทรงรับบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์และคณะรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีและภริยาเป็นผู้ถวายอาหารบิณฑบาต ในภาพยนตร์จะได้เห็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมตักบาตร ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน ได้เสด็จไปสักการะพระปฐมเจดีย์ ซึ่งนับเป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธในประเทศไทย
ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการถวายผ้าพระกฐินหลวงที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และเสด็จฯไปในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร ที่วัดเทพศิรินทร์ โดยพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินด้วย
ปี พ.ศ. 2499 ประเทศไทยเพิ่งมีกิจการโทรทัศน์ คือของบริษัทไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม แต่การแพร่ภาพยังมีรัศมีจำกัดเฉพาะในพระนครและจังหวัดรอบ ๆ และจำนวนเครื่องรับยังมีเพียงเล็กน้อย เข้าใจว่ายังไม่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธี และการเผยแพร่ในรายการของสถานีก็คงมีจำนวนผู้ชมได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นภาพยนตร์จึงยังมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ภาพยนตร์นี้จึงถูกส่งไปฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และตามหน่วยฉายภาพยนตร์กลางแปลงทั่วประเทศ