ความยาว 122 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทผู้สร้าง นครพิงค์โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง ชนะ คราประยูร
ผู้กำกับ ชนะ คราประยูร
ผู้ประพันธ์ “ศิริมาดา”
ผู้เขียนบท สีดา วิษณุภพ
ผู้ถ่ายภาพ กวี เกียรตินันท์
ผู้ลำดับภาพ “นิราพรรณ”
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย “คุณตุ๊”
ผู้จัดเพลงประกอบ นพดล บุษปเกศ
ผู้ประพันธ์เพลง เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์ ในเพลง “จะไปไหน” “ไม้ใกล้ฝั่ง”
บันทึกเสียง อัศวินภาพยนตร์
ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, ทาริกา ธิดาทิตย์,นิรุตติ์ ศิริจรรยา, สมภพ เบญจาธิกุล, สมจินต์ ธรรมทัต, ชูศรี มีสมมนต์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, จุรี โอศิริ, ประพิศ แพรวพรรณ, ชินดิษฐ์ บุนนาค, สายพิณ จินดานุช, อุ่นเรือน ธรรมานนท์, ด.ช. อ๊อด จินดานุช, ด.ญ. จอย จินดานุช, วิเวียน สุขสม, หนู สุวรรณประกาศ, กุมารี โกมารกุล ณ นคร
รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2521 - 2522 รางวัลภาพยนตร์สร้างสรรค์สังคมยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษ ดาราอาวุโสยอดเยี่ยม หนู สุวรรณประกาศ
ปี พ.ศ. 2521 เป็นปีที่มีการสร้างภาพยนตร์ไทยออกฉายเป็นจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลขึ้นภาษีศุลกากรการนำเข้าภาพยนตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีผลให้บริษัทภาพยนตร์หลัก ๆ ของสหรัฐอเมริกาประท้วงโดยการไม่ส่งภาพยนตร์เข้ามาฉาย และทำให้เกิดช่องว่างในตลาดภาพยนตร์ ซึ่งเคยรับภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายในสัดส่วนที่มากกว่าภาพยนตร์ไทย เป็นโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างภาพยนตร์เข้าฉายแทนภาพยนตร์ต่างประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่มีภาพยนตร์ไทยที่มีเรื่องราวแปลกใหม่หลากหลายกว่าที่เคยสร้างกันมา
ภาพยนตร์เรื่อง “วัยตกกระ” เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาต่างไปจากเดิม ๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่แสดงเรื่องของคนแก่หรือผู้สูงอายุเป็นตัวละครหลัก มีบทบาทเป็นตัวนำเรื่อง มิใช่เป็นตัวประกอบตามท้องเรื่อง ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นตัวเอก และในเรื่องนี้คือคุณยาย (ซึ่งผู้สร้างใช้นักแสดงที่เป็นผู้สูงวัยจริง ๆ มิใช่ใช้คนอ่อนวัยแต่สมมุติเป็นคนแก่หรือแต่งหน้าให้ดูแก่) จึงควรเรียกว่านางเอก แต่ขนบของภาพยนตร์ไทยเดิม พระเอกนางเอก ต้องเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคู่ที่จะต้องมารักกัน หรือกว่าจะรักกันได้ต้องเล่นแง่งอน หรือมีอุปสรรคกีดขวางมากมาย คุณยายในเรื่องนี้จึงไม่สามารถเป็นนางเอกได้ แม้จะแสดงได้ดี จนได้รับรางวัล ก็กลายเป็นรางวัลผู้แสดงประกอบไป
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ กล้าหาญที่จะแสดงเรื่องของคนแก่เป็นตัวหลักของเรื่อง เป็นครั้งแรกที่คนแก่มีพื้นที่ในการสื่อสารเรื่องของตัวเองบนจอหนังไทย แต่เป็นธรรมดาที่ปรากฏการณ์นี้มิได้ก่อกระแสนิยมเสนอเรื่องคนแก่ในหนังไทยแต่อย่างไร และน่าจะไม่มีพื้นที่เช่นนี้ให้คนแก่อื่น ๆ อีก จนในระยะหลังเมื่อเกิดวงการหนังสั้นขึ้นในทศวรรษของปี พ.ศ. 2540 และมีผลให้เกิดหนังนอกกระแสหรือหนังอิสระหรือหนังอินดี้ขึ้นในวงการหนังไทย จึงเริ่มมีพื้นที่ให้ผู้คนและเรื่องราวที่หลากหลายขึ้นในหนังไทย
ภาพยนตร์เล่าถึง ความสมบูรณ์พร้อมด้วยเกียรติและทรัพย์สินของครอบครัว มิได้ทำให้ นิสา, วัฒน์ และ เล็ก สามพี่น้องได้คำนึงถึงความกตัญญูต่อมารดาเลยแม้แต่นิด นิสา เอาแต่เป็นสาวสังคมปล่อยให้สามีซึ่งเป็นคนรวยคอยว่าร้ายมารดาเธอ วัฒน์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มีท่าทีจะคอรัปชั่นโดยไม่ใส่ใจคำสอนของมารดา ในขณะที่เล็กก็หลงผู้ชายจนโงหัวไม่ขึ้นไม่แยแสแม้กระทั่งคำตักเตือน ซ้ำยังเกรี้ยวกราดใส่มารดาหาว่าเข้ามายุ่งยากกับชีวิต ทั้งหลายทั้งปวงทำให้หญิงชราที่เคยให้กำเนิดเลี้ยงดูลูกรักทั้งสาม ถูกมองข้ามและถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นคนแก่ที่เดินผ่านไปผ่านมาภายในบ้าน ดีที่ได้ทรงพลเด็กหนุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงคอยเติมเต็มความรู้สึกที่ดีราวกับหลานรัก แต่กระนั้นนางก็มิอาจทนถูกดูแคลนจากลูกบังเกิดเกล้าจึงตัดสินหนีออกจากบ้านไปโดยไม่บอกกล่าว เหตุนี้จึงทำให้ บุตรและธิดาทั้งสามกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง นิสาออกตามหามารดาอย่างสุดกำลัง วัฒน์ตัดสินใจเลิกสมคบกันคอรัปชั่นกับนายทุนอย่างเด็ดขาด ในขณะที่เล็กก็รู้ซึ้งถึงคำเตือนของมารดาเมื่อผู้ชายของเธอนั้นเป็นเพียงคนหลอกลวงที่ทิ้งเธอไป ทั้งสามออกตามหามารดาพร้อมด้วยการช่วยเหลือจากทรงพล เด็กหนุ่มซึ่งดูจะห่างเหินจากคนบ้านนี้แต่กลับกลายเป็นคนที่เข้าใจมารดาของคนบ้านหลังนี้ที่สุด กระทั่งได้มาพบกับมารดาที่บ้านพักคนชรา ทั้งสามจึงขออโหสิกรรมและวิงวอนให้มารดากลับไปอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง โดยสัญญาว่าเรื่องที่เคยผ่านมาจะไม่มีทางเกิดขึ้นต่อมารดาผู้เป็นที่รักยิ่งอีกแล้ว