ด้วยเกล้า

ความยาว 107 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง 

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้เขียนบท บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้กำกับภาพ พิพัฒน์ พยัคฆะ

ผู้ลำดับภาพ พูนศักดิ์ อุทัยพันธ์

ผู้กำกับศิลป์ กฤษพงษ์ หาญวิริยะกิติชัย

ผู้ประพันธ์เพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัว ในเพลง “สายฝน” “ลมหนาว”

ผู้ทำดนตรีประกอบ ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์, มนตรี อ่องเอี่ยม

ผู้บันทึกเสียง ชาย คงกระโทก

ผู้แสดง สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์, จรัล มโนเพ็ชร, นฤมล นิลวรรณ, ไกรลาศ เกรียงไกร, โรม อิศรา, กฤษณ์ ศุกระมงคล, ต่อลาภ กำพุศิริ, มนตรี ตระหง่าน, ชาลี อินทรวิจิตร

รางวัลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2530 ภาพยนตร์เกียรติยศแนวสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม, เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2530 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จรัล มโนเพ็ชร, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, เพลงและดนตรีประกอบยอดเยี่ยม


ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง ด้วยเกล้า จะถูกสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี ผู้กำกับฝีมือเยี่ยมอย่างบัณฑิต ฤทธิ์ถกลก็สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของความยากลำบากของชาวนาผู้เป็นสันหลังของชาติ ความเอารัดเอาเปรียบของนายทุนในท้องถิ่น และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อชาวนาผ่านโครงการพระราชดำริฝนหลวง โครงการหลวงส่งเสริมการทำสวนพืชไร่แทนการปลูกฝิ่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมไปถึงโครงการในพระราชดำริอื่น ๆ อย่าง โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน โครงการแพทย์อาสา ได้อย่างประณีต พิถีพิถัน เป็นธรรมชาติ เป็นเนื้อเดียวกันไปกับภาพยนตร์


บัณฑิต ฤทธิ์กล เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผู้ชมชาวไทยมักคุ้นกับผลงานภาพยนตร์ตลกอย่าง บุญชู มากที่สุด แต่ตลอดระยะเวลาทำงานของเขา บัณฑิตได้ตั้งใจที่จะขอโอกาสจากบริษัทภาพยนตร์และผู้อำนวยการสร้างเพื่อจะสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมหรือแสดงให้เห็นปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่เสมอ  แม้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าผลงานตลกของเขาเลยก็ตาม


ด้วยเกล้า เล่าเรื่องราวของชาวนา ซึ่งไม่ว่าใครเล่าก็มักไม่พ้นไปจากเรื่องของความยากจนข้นแค้นของชาวนาไทยโดยเขาเลือกชาวนาในภาคเหนือ ซึ่งว่ากันว่าเป็นภาคที่ชาวนามีปัญหาหนี้สินมากที่สุด ปัญหาเรื่องความยากจนของผู้ประกอบอาชีพชาวนา ผู้เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศไทยมาอย่างช้านานมาจนถึงปัจจุบัน บัณฑิตทำให้ผู้ชมได้เห็นต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว นั่นคือ การที่ชาวนาต้องฝากชะตาชีวิตไว้กับแผ่นดินและดินฟ้าอากาศ  ดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และพึ่งพาได้ ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพึ่งนายทุนเงินกู้ท้องถิ่นที่หาผลประโยชน์ทุกอย่างจากชาวนา หรือที่พูดกันว่าทำนาบนหลังคน แต่ในยุครัชกาลที่ 9 ชาวนาไทยเริ่มมีความหวัง ที่พึ่งดินฟ้าอากาศไม่ได้ ก็เริ่มพึ่งผู้ที่ทรงเป็นพลังของแผ่นดินได้ นั่นคือ ในหลวงของชาวไทย หรือ พ่อหลวงของคนเมืองเหนือ ภาพยนตร์เริ่มเปิดเรื่องด้วยฉากงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในกรุงเทพ ซึ่งเป็นพิธีที่ทำให้ชาวนาเกิดขวัญกำลังใจ ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งของหนังคือ เสาคำ พ่อแห่งครอบครัวชาวนาที่ภาคเหนือมาดูงานพระราชพิธีและเก็บเมล็ดข้าวที่ประกอบพิธีไปหนึ่งกำมือ เอาไปหว่านเป็นขวัญในผืนนาตนและแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ภาพยนตร์ยังได้แสดงให้เห็นว่าพ่อหลวงมิได้ทำแต่สิ่งที่เป็นพิธีกรรมทางจิตใจเท่านั้น แต่ได้ทรงทำสิ่งที่เป็นของจริงด้วย นั่นคือ โครงการในพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเกษตร ที่ชาวนาเห็นชัดและพึ่งได้จริงคือโครงการฝนหลวง ส่วนโครงการอื่น ๆ ก็ทำให้ชาวนามีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพราะรู้สึกว่ามีพ่อหลวงคอยดูแลทุกข์สุขอยู่เสมอ ความสำเร็จจึงเป็นเสมือนรางวัลของผู้ที่ยังคงไว้ซึ่งความดี และตอนท้ายนอกจากโครงการพระราชดำริจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้แล้ว ยังทำให้นายทุนหน้าเลือดในหมู่บ้านอย่างแม่เลี้ยงบัวเรียนต้องตระหนักในน้ำพระทัยและพระบารมีของพ่อหลวงที่มีต่อทุกคนในแผ่นดิน ในขณะที่ตัวนางเองได้แต่เบียดเบียนคนอื่น จนที่สุดต้องระเห็จออกจากหมู่บ้านไปในที่สุด


อีกหนึ่งความโดดเด่นของ ด้วยเกล้า คือ การอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีเนื้อหาให้กำลังใจคนที่ตกยาก มาเรียบเรียงเสียงประสานเพื่อให้เข้ากับภาพยนตร์ได้อย่างไพเราะและลงตัวอย่างยิ่ง


ฉากสุดท้ายของหนัง เป็นวันที่ชาวบ้านทั้งหมดแห่แหนมาคอยเฝ้ารับเสด็จพ่อหลวงซึ่งเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ทั่วทุกหนแห่งของประเทศ ภาพยนตร์แสดงภาพเสมือนแทนสายพระเนตรของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงทอดพระเนตรเห็นพสกนิกรผู้ลำบากยากเข็ญของแผ่นดินเสมอ ในขณะที่เราเห็นใบหน้าและดวงตาอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีทั่วทุกดวงหน้า


ด้วยเกล้า จึงเป็นตัวแทนของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ทำขึ้นเพื่อถวายความจงรักภักดีและบูชาน้ำพระราชหฤทัยของพระราชาผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดินในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติถึง 40 ปี เท่ากับพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ทรงครองราชย์ยืนนานที่สุดในประวัติศาสตร์


ในปี พ.ศ. 2549 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและบริษัท ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด ได้นำ ด้วยเกล้า กลับมาฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง โดยมีการทำเสียงใหม่ให้เป็นระบบดอลบี สเตอริโอ 5.1 (ซึ่งเป็นระบบเสียงที่ดีที่สุดที่ใช้อย่างแพร่หลายในโรงภาพยนตร์ขณะนั้น) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี