ความยาว 142 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง พร้อมมิตรภาพยนตร์
ผู้อำนวยการสร้าง หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา
ผู้กำกับ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้กำกับกอง 2 เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้เขียนบท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล, ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์
ผู้กำกับภาพ Igor Luther, Stanislav Dorsic, อานุภาพ บัวจันทร์
ผู้ลำดับภาพ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล, ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล, Collin Green
ผู้กำกับศิลป์ ประสพโชค ธนะเศรษฐวิไล, ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์, เจษฎา ผันอากาศ
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย โกมล พานิชพันธ์, อัครเดช นาคบัลลังก์, มีชัย แต้สุจริยา, เผ่าทอง ทองเจือ
ผู้ทำดนตรีประกอบ Richard Harvey
ผู้บันทึกเสียง Conrad Bradley Slater
ผู้แสดง ม.ล. ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, ฉัตรชัย เปล่งพานิช,พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ใหม่ เจริญปุระ, จอนนี่ แอนโฟเน่, สรพงศ์ ชาตรี, วรรณษา ทองวิเศษ, สินจัย เปล่งพานิช, อำพล ลำพูน, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์, รณ ฤทธิชัย, สหรัถ สังคปรีชา, สมบัติ เมทะนี, วรุฒ วรธรรม, พิมลรัตน์ พิศลยบุตร, สุเชาว์ พงษ์วิไล, พิศาล อัครเศรณี
รางวัล รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ. 2544 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลพิเศษ, ภาพยนตร์ยอดนิยม
ภาพยนตร์ที่สร้างโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ว่าด้วยทฤษฎีแห่งความสมจริงหรือความน่าจะเป็น โดยพลิกฟื้นเรื่องราวหน้าประวัติศาสตร์พงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เล่าเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จรามาธิบดีที่ 2 ถึงศึกสงครามระหว่างสยามประเทศกับพม่า จนภาพยนตร์มายุติในช่วงสงครามศึกตะเบงชเวตี้ ซึ่งภาพยนตร์ได้เน้นไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสุริโยไท พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ และต่อมาได้สมรสกับ พระเยาวราช หรือพระเฑียรราชา ที่ต่อมาได้เสด็จเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และภาพยนตร์เล่าไปจนถึงช่วงท้ายเรื่องในเหตุการณ์ที่สมเด็จพระศรีสุริโยไทได้แสดงวีรกรรมความกล้าหาญของพระองค์ ซึ่งยอมสละชีพแทนพระสวามีในสงครามยุทธหัตถี โดยไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปร ด้วยเกรงว่าพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปรฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ณ ทุ่งมะขามหย่อง จนกลายเป็นหนึ่งของวีรกรรมความกล้าที่ถูกเล่าขานบนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย
สุริโยไท นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งนอกเหนือจากตำราหรือข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่สามารถส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติผ่านภาพยนตร์ ที่อาจจะยังไม่มีใครเคยรับรู้ข้อเท็จจริงจนอาจนำไปสู่การพิสูจน์ และยังอาจช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ชาติของตนได้มากขึ้นด้วย โดย สุริโยไท ยังนับเป็นผลงานที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เองด้วย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนังแห่งสยามประเทศ ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลก็สามารถสร้างให้ผู้คนเชื่อว่า สุริโยไท มีความสมจริงที่สุด ทั้งในแง่ของลำดับเวลา สถานที่ เหตุการณ์ ตัวละครหรือบุคคลในประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกาย พระราชพิธี อาวุธสงคราม ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งบทหนังที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลและเขียน 5 ปี เวลาในการถ่ายทำพร้อมกับแก้บทไปด้วยอีก 2 ปีเต็ม โดยมีนักประวัติศาสตร์ที่คอยช่วยให้คำปรึกษา และมีจำนวนผู้แสดงนำ และนักแสดงประกอบรวมสูงถึง 2,000 กว่าคน จนกลายออกมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้ ในรูปแบบของภาพยนตร์
ในแง่ของรายได้นั้น สุริโยไท ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ของหนังไทยที่ทำเงินสูงที่สุดในยุคนั้น ที่อยู่ในปลายช่วงของยุคพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ด้วยรายได้ราว 324.5 ล้านบาท จนต้องมาทำเพิ่มเป็นฉบับสมบูรณ์ ที่ตัดต่อโดยผู้กำกับระดับโลก ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ที่มีความยาว 5 ชั่วโมง เพื่อจะฉายในตลาดต่างประเทศในชื่อว่า The Legend of Suriyothai ซึ่งจะนำประวัติศาสตร์ของชาติไทยออกสู่สายตาชาวโลก