15 ค่ำ เดือน 11 MEKHONG FULL MOON PARTY

ความยาว 120 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส, หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม

ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ไพบูลย์ ดำรง-

ชัยธรรม, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ยอด สุขวิวัฒน์, 

จินา โอสถศิลป์, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์

ผู้อำนวยการสร้าง ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์, ยงยุทธ ทองกองทุน

ผู้กำกับ จิระ มะลิกุล

ผู้เขียนบท จิระ มะลิกุล

ผู้กำกับภาพ สมบูรณ์ พิริยะภักดีกุล

ผู้ลำดับภาพ ปาน บุษบรรณ

ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เอกศิษฐ์ มีประเสริฐกุล

ผู้ทำดนตรีประกอบและออกแบบเสียง อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ

ผู้บันทึกเสียง นิพัฒน์ สำเนียงเสนาะ

ผู้แสดง อนุชิต สพันธุ์พงษ์, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, นพดล ดวงพร, บุญชัย ใจลิ่ม, สมชาย ศักดิกุล, บุญศรี ยินดี, สุรสีห์ ผาธรรม, ยอดสน ลมพัดไผ่

รางวัล รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2545 บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ส่งเสริมสังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม นพดล ดวงพร, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, การสร้างภาพยนตร์พิเศษยอดเยี่ยมรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม นพดล ดวงพร, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เอก เอี่ยมชื่น, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม


15 ค่ำ เดือน 11 ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้านกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค  ที่เกิดขึ้นในค่ำคืนวันออกพรรษาของทุกปี และเป็นที่ขึ้นชื่อมากในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย  ภาพยนตร์ได้ผูกโยงเข้ากับเรื่องราวของพระที่จำวัดอยู่ในฝั่งลาวและได้ร่วมมือกับลูกศิษย์ที่เลี้ยงดูมาภายในวัดตั้งแต่เล็ก โดยจะนำลูกบั้งไฟที่ทำขึ้นเองไปวางไว้ตามจุดบริเวณใต้แม่น้ำโขง ของคืนก่อนวันออกพรรษาจะมาถึงและถือปฏิบัติทำกันมาประจำทุกปี แต่ในปีล่าสุดที่ภาพยนตร์เล่า ลูกศิษย์หนุ่มที่ชุบเลี้ยงมากลับคิดอยากถอนตัวเพราะเห็นว่าสิ่งทำกันอยู่คือสิ่งที่ผิดและเป็นการหลอกลวงผู้คน แต่ในขณะที่ฝ่ายหลวงพ่อกลับคิดว่าสิ่งที่พวกตนกระทำอยู่นั้น  เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะเชื่อว่าการที่ผู้คนแห่กันมาดูปรากฏการณ์ลูกบั้งไฟนั้น จะเป็นการส่งเสริมให้ศาสนาพุทธคงอยู่สืบไปและผู้คนที่ได้มาดูลูกบั้งไฟก็มีความสุขที่ได้เห็นลูกบั้งไฟ และด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้ฝ่ายลูกศิษย์ปฏิเสธที่จะทำภารกิจนี้อีกต่อไป หลวงพ่อจึงต้องจำใจเป็นผู้ที่จะนำลูกบั้งไฟไปวางใต้แม่น้ำโขงเอง และทำให้หลวงพ่อต้องจบชีวิตจากการจมน้ำในภารกิจครั้งสุดท้ายนี้ ภาพยนตร์ได้ตัดไปยังช่วงสุดท้ายที่ผู้คนแห่กันมารอดูปรากฏการณ์ลูกบั้งไฟเช่นเคยเหมือนทุกปี  และลูกบั้งไฟก็คงยังปรากฏให้เห็นเช่นเคยแม้ภาพยนตร์จะไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะลูกบั้งไฟของหลวงพ่อหรือเกิดจากสิ่งใดก็ตาม วิถีชีวิตของผู้คนก็ยังคงเหมือนเดิมและดำเนินต่อไป


15 ค่ำ เดือน 11 เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ จิระ มะลิกุล ที่ผันตัวมาจากการทำโฆษณามากำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์หยิบเอาเรื่องราวของชุมชนพื้นบ้านมาเล่าในแง่ของความเชื่อบางประการ  ผ่านเรื่องราวลูกบั้งไฟกับความเชื่อในมุมของตัวละคร “หลวงพ่อกับลูกศิษย์วัด” ระหว่างการทำสิ่งที่ถูกต้องและทำสิ่งหลอกลวง หรือในมุมของหลวงพ่อที่เห็นว่าสิ่งที่ทำไปนั่นคือ “ความดี” และด้วยศรัทธาที่เห็นว่าเป็นการส่งเสริมศาสนา ส่วนในมุมของลูกศิษย์ที่อยู่ในมุมของผู้มีการศึกษา ซึ่งมองว่าสิ่งที่ทำนั้นคือ “ความหลอกลวง” และควรจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งภาพยนตร์ก็ไม่ได้สรุปว่าสิ่งใดถูกหรือผิดและจริงหรือเท็จ แต่ภาพยนตร์เปิดโอกาสให้คนดูได้ตัดสินใจเอง 


ภาพยนตร์ยังสามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี  สื่อภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ตรงกับความจริง  วิธีการใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร  ความรักสงบความประนีประนอมของคนไทย ซึ่งจุดนี้ภาพยนตร์ก็สามารถทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงผ่านภาพยนตร์ 


ในขณะที่ภาพยนตร์ออกฉายได้กระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ ความสนใจใคร่รู้จากผู้คนในวงกว้าง ที่อยากรู้ว่าปรากฏการณ์ลูกบั้งไฟพญานาคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จนถูกตั้งเป็นคำถามและหาข้อพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เองก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดให้ไม่ได้ แม้ภาพยนตร์จะทำรายได้ไปราว 55 ล้านบาท 15 ค่ำ เดือน 11 ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่สมควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เรียนรู้ผ่านภาพยนตร์