ความยาว 171 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, บาแรมยู
ผู้อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ผู้ควบคุมงานสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ผู้ดำเนินงานสร้าง ศิตา วอสเบียน
ผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ผู้เขียนบท ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ผู้กำกับภาพ จิตติ เอื้อนรการกิจ
ผู้ลำดับภาพ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, ลี ชาตะเมธีกุล
ผู้ออกแบบงานสร้าง มนต์ชัย ทองศรีสืบสกุล
ผู้กำกับศิลป์ ธนกร บุญลือ
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เอกศิษฏ์ มีประเสริฐสกุล
ผู้ทำดนตรีประกอบ กิตติ เครือมณี
บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ผู้แสดง สินจัย เปล่งพานิช, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พิมพ์พรรณ บูรณะพิมพ์, มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์, กัญญา รัตนเพชร์, ด.ช. จิรายุ ละอองมณี, ด.ช. อาทิตย์ นิยมกุล
รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สินจัย เปล่งพานิช, ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลสตาร์พิคส์อวอร์ด ภาพยนตร์ยอดนิยม, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม มาริโอ้ เมาเร่อ,นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สินจัย เปล่งพานิช, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลหนังแห่งปีของนิตยสารไบโอสโคป พ.ศ. 2550 รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สินจัย เปล่งพานิช รางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สินจัย เปล่งพานิช, ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, เพลงและดนตรีประกอบยอดเยี่ยมไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ดส นักแสดงนำหญิงแห่งปี สินจัย เปล่งพานิช
ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม เข้าฉายในปี พ.ศ. 2550 ก็ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากการประชาสัมพันธ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และภาพยนตร์ตัวอย่างที่ดูเหมือนเป็นภาพยนตร์รักวัยรุ่นใส ๆ ทั่วไป รวมทั้งมีนักแสดงหน้าใหม่หน้าตาดี แต่เนื้อหาภาพยนตร์กลับพลิกความคาดหวังของผู้ชมภาพยนตร์จำนวนมาก เมื่อภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ต้องผจญกับเหตุการณ์การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของลูกสาววัยรุ่นและกลายเป็นบาดแผลของสมาชิกทุกคนในบ้าน ส่วนเรื่องความรัก กลับไม่ใช่แค่ความรักระหว่างชายหญิง แต่เป็นของวัยรุ่นผู้ชายหน้าตาดีสองคนผู้ที่เติบโตและผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก และภาพยนตร์ยังนำเสนอความสับสนในเพศวิถีของตัวละคร อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็มีผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก จนมีการรวมตัวเป็นแฟนคลับสนับสนุน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงแม้ภาพยนตร์จะทำรายได้เพียง 42 ล้านบาท แต่หลังจากที่ภาพยนตร์ออกจากโรงภาพยนตร์ เหล่าแฟนคลับก็มีการเรียกร้องให้บริษัทสหมงคลฟิล์มฯ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นำภาพยนตร์ฉบับผู้กำกับออกฉาย โดยมีความยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 20 นาที ซึ่งถูกตัดออกจากฉบับที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ นอกจากกระแสความนิยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ในกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสถาบันต่าง ๆ ที่มีการจัดประกวดภาพยนตร์ในปีนั้น รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของภาพยนตร์ไทย ส่งเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของรางวัลออสการ์อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานแจ้งเกิดให้แก่นักแสดงหน้าใหม่ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น มาริโอ้ เมาเร่อ ที่ต่อมาได้กลายเป็นพระเอกหนุ่มยอดนิยมของประเทศไทย รวมไปถึง จิรายุ ละอองมณี ซึ่งรับบทเป็นตัวละครนำในตอนเด็ก นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังผลักดันให้ วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล อีกหนึ่งนักแสดงนำ และ นักร้องนำวงดนตรีออกัส (ซึ่งก็แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน) ไปมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศจีน ความสำเร็จของ รักแห่งสยาม ยังทำให้เกิดกระแสภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันในวัยเรียน โดยเฉพาะในวัยมัธยมศึกษา ที่มาพร้อมกับนักแสดงหน้าตาดี ออกมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังทำให้กระแสความนิยม Yaoi หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กระแส Y ซึ่งนิยมสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชายในตัวละครวัยรุ่นเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสำคัญคือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ซึ่งโดดเด่นจากการทำภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์เรื่องยาวเพื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้นชูเกียรติถือเป็นผู้กำกับที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับโอกาสให้ทำงานกับบริษัทภาพยนตร์ และหลังจากสร้างผลงานภาพยนตร์แนวสยองขวัญ 2 เรื่อง คือ คน ผี ปีศาจ และ 13 เกมสยอง ชูเกียรติก็ได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ซึ่งเป็นโครงการภาพยนตร์เรื่องที่เขาอยากจะทำตั้งแต่แรก แต่ยังไม่ได้รับโอกาส หลังจาก รักแห่งสยาม ออกฉาย ชื่อของชูเกียรติก็กลายเป็นผู้กำกับที่มีกลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบและรอคอยผลงานเรื่องใหม่ ๆ ของเขาอยู่เสมอ
รักแห่งสยาม จึงเป็นภาพยนตร์ที่ทั้งสะท้อนอารมณ์ร่วมของยุคสมัยและสร้างกระแสความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นในสังคมไทย ในระดับทั่วประเทศ