พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2503

ความยาว 11.39 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง

สร้าง ธำรง รุจนพันธุ์


เป็นภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อปี 2503 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพ ฯ  ซึ่งเป็นพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เรียกว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งสมัยสุโขทัยพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จ ฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี แต่มิได้ทรงไถนาด้วยพระองค์เอง ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จ ฯ ไปในพระราชพิธีนี้เหมือนสมัยสุโขทัย แต่ทรงมอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางเป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งกระทำมาตลอดจนเสียกรุงครั้งที่ 2  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ผู้ที่ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นพระยาพลเทพ คู่กันกับพระยายืนชิงช้าซึ่งเป็นพระราชพิธีพราหมณ์อีกพิธีหนึ่ง ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 3 โปรด ฯ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรด ฯ ให้เพิ่มพิธีทางศาสนาพุทธเข้าไปในพระราชพิธีทางศาสนาพราหมณ์ทุก ๆ พิธีด้วย จึงเริ่มมีพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีทางศาสนาพุทธเข้าไปในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทำสืบต่อมาเป็นพระราชพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของบ้านเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ก็ยังมีอยู่ จน 2479 รัฐบาลประชาธิปไตยจึงให้ยกเลิกพระราชพิธีนี้ไป  จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มาถึงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  จึงรื้อฟื้นพระราชพิธีนี้กลับมาอีก ตั้งแต่ปี 2503 สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน   


พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2503 จึงนับเป็นเหตุการณ์พระราชพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้รับการรื้อฟื้นคืนมาหลังจากห่างหายไป 23 ปี ภาพยนตร์นี้ถ่ายทำโดย นายธำรง  รุจนพันธุ์ ช่างถ่ายภาพยนตร์อิสระ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส การเดินทางขึ้นมาถ่ายภาพยนตร์นี้ น่าจะเป็นเพราะการเห็นว่าเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่หายไป และได้รับการนำกลับมา จึงต้องการบันทึกไว้ ด้วยสปิริตของนักถ่ายภาพยนตร์


ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ได้บันทึกเหตุการณ์พระราชพิธี ทั้งสองพระราชพิธี คือพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพุทธซึ่งจัดขึ้นในอุโบสถวัดพระแก้ว เย็นวันที่ 1 พฤษภาคม  2503 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งจัดขึ้นในเช้าวันต่อมา ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพระราชพิธีทั้งสองพระราชพิธี   ภาพยนตร์สามารถแสดงกิจกรรมของพิธีไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความ ประกอบเสียงคำบรรยายเพื่ออธิบายให้ผู้ชมเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด  รายละเอียดบางอย่างที่ภาพยนตร์บันทึกไว้ เช่น  พระโคที่ทำหน้าที่ลากคันไถเพื่อให้พระยาแรกนาไถนานั้น ตื่นประชาชนที่มาชมกันเนืองแน่น ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรได้แก่ปลัดและอธิบดีต่าง ๆ จึงต้องทำหน้าที่แบกแอกลากคันไถแทนพระโค นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือการที่บันทึกให้เห็นราษฎรจำนวนมากที่หลั่งไหลมาร่วมชมที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเมื่อจบสิ้นพิธีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นได้พากันวิ่งลงไปยังนาพิธีเพื่อแย่งเก็บเมล็ดข้าวและพันธุ์พืชอื่น ๆ ที่ได้รับการหว่านไว้ในพิธี เพราะเห็นเป็นของมีค่าที่จะนำไปหว่านผสมลงในไร่นาของตนเพื่อเป็นศิริมงคล  หรือเก็บไว้ในยุ้งฉางบ้านเรือนเป็นศิริมงคลเช่นกัน


ภาพยนตร์นี้จึงมีค่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพระราชพิธีสำคัญคู่บ้านเมืองอย่างหนึ่งในรัชกาลที่ 9