ความยาว 119.46 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง หนุมานภาพยนตร์
ผู้อำนวยการสร้าง รัตน์ เปสตันยี
ผู้กำกับ รัตน์ เปสตันยี
ผู้เขียนบท รัตน์ เปสตันยี
ผู้กำกับภาพ รัตน์ เปสตันยี, เอเดิ้ล เปสตันยี
ผู้ลำดับภาพ รัตน์ เปสตันยี
ผู้กำกับศิลป์ สวัสดิ์ แก่สำราญ
ผู้ทำดนตรีประกอบ ปรีชา เมตไตรย์
ผู้บันทึกเสียง ปง อัศวินิกุล
ผู้แสดง รัตนาวดี รัตนาพันธ์, ทม วิศวชาติ, เสณี อุษณีษาณฑ์, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, จมื่นมานพนริศร์, พิชิพ สาลีพันธ์, จุรัย เกษมสุวรรณ, ชั้น พันธุวัต, ถวัลย์ วรวิบูล, เชาว์ นิ่มเจริญ, จรัญญา สว่างอัมพร, สมจิตต์ วิลเจริญ, ทัศนีย์ ชูวสุวัติ
รางวัล รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2505 สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม
ชื่อของ รัตน์ เปสตันยี ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก หากเทียบกับผู้กำกับภาพยนตร์ไทยท่านอื่นๆ ทั้งนี้ อาจเพราะด้วยรัตน์ เปสตันยี เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2513 และมีผลงานสร้างภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม ผลงานการสร้างภาพยนตร์ของท่านมีความโดดเด่นและได้รับความสนใจนักวิชาการภาพยนตร์และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากขึ้น
แพรดำ ผลงานที่แสดงวิสัยทัศน์ล้ำยุคของรัตน์ เปสตันยี ที่จะผสมผสานรูปแบบฟิล์มนัวร์ (Film Noir) หรือหนังที่นิยมแสดงด้านมืดของมนุษย์และสังคม กับ คำสอนพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องของกรรม ที่มาพร้อมบทหนังผูกเรื่องได้อย่างฉลาดและซับซ้อนมากพอที่จะไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกตะขิดตะขวงใจ และ เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ที่นำสมัยกว่าภาพยนตร์ไทยในยุคเดียวกัน แพรดำ ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่สองที่ได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเบอร์ลิน (Berlin Film Festival) ในปี 2504
แพรดำ เล่าเรื่องราวของ แพร (รัตนวดี รัตนาพันธ์ บุตรสาวคนโตของรัตน์ เปสตันยี) ม่ายสาวลูกติดที่แต่งดำไว้ทุกข์ให้สามีที่เสียชีวิตของเธอไป จนใครๆ ก็เรียกเธอว่าแพรดำ เธอมีชายหนุ่ม ทม (ทม วิศวชาติ) ผู้มีอาชีพเป็นคนดูแลไนท์คลับมาติดพัน เสนีย์ (เสณี อุษณีสาณฑ์) เจ้าของไนท์คลับและเจ้านายทม ต้องการจะโกงเงินประกันชีวิตตัวเอง ด้วยการปลอมตัวเป็นพี่ชายฝาแฝดของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตไป จากนั้น ตัวละครทั้งสามตัวก็ต้องตกอยู่ในวังวนการฆาตรกรรมอำพราง การขู่กรรโชก และ การสำนึกผิด
เทคนิคการวางองค์ประกอบภาพ การจัดแสงและสี เป็นจุดเด่นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ รัตน์ เปสตันยี ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพด้วยตัวเอง ใช้การจัดแสงที่มีความเปรียบต่างสูง (High contrast) เพื่อให้เกิดลักษณะแสงที่กระด้าง ช่วยทำให้สีในหนังอิ่มตัว โดยเฉพาะสีแดง และมีเงาปรากฏอย่างชัดเจน ถือเป็นลักษณะสำคัญของการจัดแสงในฟิล์มนัวร์ ช่วยขับเน้นให้เนื้อหาของหนังที่พูดถึงความชั่วร้ายในจิตใจมนุษย์ ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น
การบันทึกเสียงจริงของนักแสดงกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ภาพยนตร์ของรัตน์ เปสตันยี โดดเด่นและสมจริง เสียงจริงของนักแสดงเหล่านี้สามารถสื่ออารมณ์ของการแสดงให้ผู้ชมได้ดีกว่าการพากย์ที่เป็นที่นิยมกันในยุคสมัยนั้นอย่างมาก รวมทั้งการที่เนื้อหาของภาพยนตร์ค่อนข้างจริงจังและไม่มีฉากตลกใดๆ หากจะต้องพึ่งพิงการพากย์เสียง ก็เป็นไปได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะถูกใส่มุกตลกซึ่งบั่นทอนความเคร่งเครียดและเอาจริงเอาจังของเนื้อหาภาพยนตร์ลงได้
เวลาที่ผ่านไปกว่า 50 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพและการนำเสนอเรื่องอิงหลักธรรมทางศาสนาของแพรดำลดน้อยลงแต่อย่างไร ความปราณีตพิถีพิถันในการสร้างทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงแรงดลใจและอุดมคติในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ในฐานะงานศิลป์และงานพานิชได้เป็นอย่างดี