พัฒนากร

ความยาว 18.27 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง

อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ

ผู้สร้าง เอราวัณภาพยนตร์



ภาพยนตร์สารคดี พัฒนากร นับเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนกรมโฆษณาการหรือกรมประชาสัมพันธ์ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐ 


ภาพยนตร์เรื่อง พัฒนากร นี้ สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ภารกิจของข้าราชการไทยที่เรียกว่า พัฒนากร ซึ่งเกิดขึ้นในยุคเร่งรัดพัฒนาชนบท ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสหรัฐอเมริกานำเข้ามาแนะนำให้รัฐบาลไทยจัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี 2504 พัฒนากร เป็นข้าราชการสังกัด กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  ภาพยนตร์ใช้วิธีดำเนินเรื่องโดยเล่าถึงกิจกรรมของพัฒนากรหนุ่มนายหนึ่ง ซึ่งเดินทางเข้าไปสู่หมู่บ้าน ในชนบทแห่งหนึ่ง ให้เห็นว่าเขาต้องทำอะไร อย่างไร ที่น่าสังเกตคือภาพยนตร์ใช้วิธีเล่าเรื่องด้วยเพลงหมอลำแทนการบรรยายด้วยเสียงพูดธรรมดา 


ภาพยนตร์เริ่มต้นเรื่องด้วยภาพของพัฒนากรหนุ่มที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้ามาบอกกล่าวเล่าความแก่ชาวบ้านถึงแนวทางของรัฐที่จะเข้ามาพัฒนาอีสานให้มีความก้าวหน้า ให้ชาวบ้านเลิกทำตัวเกียจคร้านเพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชน โดยพัฒนากรหนุ่มได้แนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีการเลี้ยงสัตว์ วิธีการปลูกพืชผักสวนครัวและดอกไม้ที่ถูกต้องให้แก่ชาวบ้าน


จากนั้นพัฒนากรหนุ่มก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการชี้แนะชาวบ้าน ในเรื่องของการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อระบบชลประทานและการพัฒนาดินที่ดี เหตุจากความแห้งแล้งในภาคอีสานที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน รวมถึงการถางทางเพื่อก่อสร้างถนน โดยการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาช่วย เพื่อให้หมู่บ้านสามารถทำการติดต่อค้าขายได้สะดวก รายได้และความเจริญจะได้เข้ามายังหมู่บ้าน และเมื่อพัฒนากรได้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในชุมชนแล้วก็จะต้องนำเรื่องและปัญหา ไปรายงานแก่ทางอำเภอให้รับทราบ (อำเภอวารินชำราบ) เพราะงานทางด้านพัฒนาการนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกิจการในด้านต่าง ๆ ทั้งการเกษตร การศึกษา สุขาภิบาล การอนามัย จึงต้องมีการรายงานขึ้นไปเพื่อให้ราชการระดับสูงของจังหวัดรับทราบและหารือแก้ไข


พัฒนากรยังได้ทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนไทย ส.ป.อ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการรักษาความมั่นคงเรื่องภัยคอมมิวนิสต์และเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่พัฒนากร (ส.ป.อ. คือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็จัดตั้งโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์)  โดยมีชาวอเมริกันมาคอยชี้แจงให้ความรู้ในกิจการต่าง ๆ เพื่อให้พัฒนากรนำความรู้ที่ได้ไปสอนแก่ชาวบ้าน


ต่อมาภาพยนตร์นำเสนอภาพของชาวบ้านที่มาร่วมกันสร้างถนนอย่างขยันขันแข็ง เพื่อจะเป็นหนทางในการรับความเจริญในวันข้างหน้าและภาพการร่วมมือร่วมใจกันสร้างโรงเรียนบ้านปากห้วยวังนอง ที่ตำบลปทุม อำเภอเมือง อุบลราชธานี  เพื่อสร้างปัญญาให้แก่ชุมชน ด้วยความยินยอมของชาวบ้านเจ้าของที่ดินซึ่งยินยอมมอบที่ดินให้สร้างโรงเรียนเพราะความเชื่อมั่นในนโยบายพัฒนาชุมชนก้าวหน้าของรัฐ ก่อนที่ภาพยนตร์จะตัดมายังภาพของพัฒนากรหนุ่มที่มีส่วนช่วยชาวบ้านในเรื่องของการสุขาภิบาลสัตว์ด้วยการขอรับวัคซีนจากสัตวแพทย์เพื่อนำมาฉีดให้แก่ไก่ที่เลี้ยงไว้ และนอกจากสัตว์แล้วทางหน่วยงานก็ยังให้ความสำคัญกับคน โดยได้มีหมอชาวอเมริกันเข้ามาบริการรักษาให้แก่คนเจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่บ้าน


ในส่วนของการเกษตรกรรมหลังจากที่ชาวบ้านได้ช่วยกันเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวผล เพื่อนำมาเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาด ซึ่งภาพยนตร์ได้นำเสนอภาพของชาวบ้านขณะร่วมแรงร่วมใจกับเก็บเกี่ยวและนำผลิตผลมารอที่ชานชาลารถไฟ เพื่อนำไปขายยังในเมืองและประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าสู่ชุมชน ก่อนที่ภาพยนตร์จะจบลงด้วยภาพของพัฒนากรหนุ่มขณะกำลังเดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ให้เห็นขาที่กำลังเยื้องย่างไปพร้อมถ้อยคำจากเพลงที่บรรยายสรุปให้เห็นถึงชีวิตของพัฒนากรซึ่งเป็นคนติดดินและนึกถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านมากกว่าตนเอง เพราะต้องการขจัดปัญหาความยากจน ความไม่รู้หนังสือ และปัญหานานาประการด้วยเห็นแก่ความก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นสำคัญ


ภาพยนตร์นี้ นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะเครื่องมือของรัฐในการโน้มน้าวความคิดความเชื่อของประชาชนในยุคสงครามเย็นแล้ว ยังเป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงและอารมณ์ความรู้สึกทางบรรยากาศของสังคมชนบทไทยในยุคสมัยแห่งสงครามเย็นและการเร่งรัดพัฒนาชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี