เพลงเหย่อย

ความยาว 22.48 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง

อำนวยการสร้าง บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น

สร้าง วิสิษฐ์ ตันสัจจา

ผู้กำกับ สมบูรณ์ วิรยศิริ



ภาพยนตร์สารคดีชุดมรดกของไทยเป็นภาพยนตร์สารคดีเชิงท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างโดยบริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น ออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกราวปี 2505 ทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และออกอากาศเป็นประจำต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี หอภาพยนตร์เคยขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ชุดมรดกของไทยตอนหนึ่งในปี 2556 คือเรื่องหลุมศพที่ลือไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักโบราณคดีที่ไปสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ในการสำรวจครั้งนั้นมีภัณฑารักษ์เอกของกรมศิลปากร อาจารย์ชิน อยู่ดี เป็นหัวหน้าคณะขุดค้น และในระหว่างที่ทำการขุดค้นท่านได้ค้นพบการเล่นเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นการเล่นที่แปลกไปจากเพลงพื้นบ้านอื่นและไม่เคยพบเห็นที่ใด นั่นคือการเล่นเพลงเหย่อยหรือรำเหย่อย อาจารย์ชิน อยู่ดีจึงได้รายงานไปยังกรมศิลปากร  ในวันที่ 6 มิถุนายน 2506 กรมศิลปากรได้จัดส่งศิลปินของกรมไปฝึกหัดเพลงเหย่อยกับชาวบ้านเพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านไม่ให้สาบสูญ และคณะผู้จัดทำสารคดีชุดมรดกของไทยนำโดย สมบูรณ์ วิรยศิริ ก็ไม่พลาดที่จะตามไปบันทึกการฝึกหัดเพลงเหย่อยครั้งนั้นนำมาเผยแพร่ให้แฟนรายการมรดกของไทยได้รับชมกันในชื่อตอนว่า “เพลงเหย่อย”


ธรรมเนียมของสารคดีชุดมรดกของไทยจะเปิดเรื่องด้วยสถานที่สำคัญ ๆ ในจังหวัดที่ถ่ายทำเป็นการอารัมภบท ก่อนจะพาผู้ชมไปยังจุดหมายในตอนนั้น ๆ  คณะผู้จัดทำเดินทางจากเมืองกาญจน์ด้วยพาหนะที่เรียกว่ารถต๊อกหรือรถตรวจรางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผ่านทางรถไฟสายมรณะจนกระทั่งถึงบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี การฝึกหัดเพลงเหย่อยซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านเก่าแก่ทางภาคกลางของประเทศไทย เกิดขึ้นบริเวณสนามหน้าโรงเรียนบ้านเก่า โดยมีนางปลิวกับนายสวัสดิ์ซึ่งรำเพลงเหย่อยได้เก่งที่สุดในหมู่บ้านช่วยถ่ายทอดการรำเพลงเหย่อยแก่ศิลปินของศิลปากร ศิลปินที่มาฝึกรำเพลงเหย่อยฝ่ายชายประกอบด้วย ยอแสง ภักดีเทวา, เสรี หวังในธรรม, ธงไชย โพธยารมย์, ราฆพ โพธิเวส และประพันธ์ ละมูลวงศ์ ฝ่ายหญิงประกอบด้วย สุนันทา บุญยเกตุ, ศิริวัฒน์ แสงสว่าง, รัจนา พวงประยงค์ และสุวรรณี ชลานุเคราะห์  เพื่อฝึกร้องเพลงและรำเหย่อย ส่วนฝ่ายดุริยางคศิลป์ของกรมศิลปากรก็ได้ไปฝึกหัดถ่ายทอดจังหวะเพลงและการตีกลองยาว โดยมีการบันทึกเสียงหรืออัดเทปการร้องและจังหวะดนตรีไว้ทุกขั้นตอน



ลักษณะสำคัญของการรำเหย่อยคือการสืบเท้าโดยเท้าซ้ายจะนำหน้าเท้าขวาตลอดเวลา นอกจากการสืบเท้าแล้วสิ่งที่เป็นแบบฉบับของการรำเหย่อยก็คือเนื้อร้องซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสี การสู่ขอ การลักพาหนีแล้วจบด้วยโห่ลา การละเล่นที่สำคัญตอนหนึ่งของรำเพลงเหย่อยก็คือ การรำพาดผ้า ซึ่งเป็นการรำเริ่มในตอนแรก โดยฝ่ายชายจะรำออกไปก่อนโดยมีผ้าพาดออกไปด้วย ถ้าเกิดพอใจหญิงสาวคนไหนก็จะเอาผ้าไปพาดหญิงสาวคนนั้น ฝ่ายหญิงก็จะรับผ้าไว้แล้วออกไปรำคู่กับฝ่ายชายที่นำผ้ามาพาดให้ เมื่อรำไปได้ครู่หนึ่งฝ่ายหญิงก็จะนำผ้าไปพาดให้กับฝ่ายชายคนอื่นต่อไปเป็นการเปลี่ยนคู่รำไปเรื่อย ๆ เมื่อฝ่ายชายรำไปได้ครู่หนึ่งก็จะนำผ้าไปพาดให้กับฝ่ายหญิงคนใหม่อีกต่อไป


หลังจากที่ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการรำเพลงเหย่อยกับชาวบ้านจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ได้มีการนำไปปรับปรุงท่ารำแต่ยังคงการสืบเท้าและการร้องตามแบบเดิม และรำแสดงถวายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507 ในโอกาสต้อนรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งประเทศมาเลเชีย ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


มรดกของไทยตอนเพลงเหย่อยบันทึกด้วยฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ขาวดำ และมีการบันทึกเสียงบรรยายในฟิล์ม ให้เสียงบรรยายโดยมานิตย์ รักสุวรรณ นักพากย์กีฬาที่มีชื่อเสียงของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 กำกับการสร้างและจัดทำบทโดยสมบูรณ์ วิรยศิริ อำนวยการสร้างโดยวิสิษฐ์ ตันสัจจา ประกอบเสียงโดยภิญโญ แก้วประสิทธิ์ ถ่ายภาพโดยธนเจริญ รามนันท์