ความยาว 117.03 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง ไท เอ็นเตอร์เท็นเมนท์
ผู้อำนวยการสร้าง วิสูตร พูลวรลักษณ์
ผู้กำกับ ยงยุทธ ทองกองทุน
ผู้เขียนบท วิสุทธิชัย บุญยะกาญจน, จิระ มะลิกุล, ยงยุทธ ทองกองทุน
ผู้กำกับภาพ จิระ มะลิกุล
ผู้ลำดับภาพ สุนิตย์ อัศวินิกุล
ผู้กำกับศิลป์ นฤชา วิจิตรวานิช
ผู้ทำดนตรีประกอบ อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เอกศิษฏ์ มีประเสริฐกุล
ผู้แต่งหน้า ชัยยุทธ เฟื่องฟูวณิช, อาภาสิริ นิดแก้ว
ผู้แสดง เจษฎาภรณ์ ผลดี, สหภาพ วีระฆามินทร์, เอกชัย บูรณผาณิต, กกกร เบญจาธิกูล, โจโจ้ ไมอ๊อคซิ, ชัยชาญ นิ่มพูลสวัสดิ์, พรหมสิทธิ์ สิทธิจำเริญคุณ, สุทธิพงศ์ สิทธิจำเริญคุณ, อนุชา ฉัตรแก้ว, สุรพันธ์ ชาวปากน้ำ, สิริธนา หงษ์โสภณ,
รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2544 นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชัยชาญ นิ่มพูลสวัสดิ์, เพลงยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยม ชัยยุทธ เฟื่องฟูวณิช อาภาสิริ นิดแก้ว, Reader Jury of the "Siegessäule", Teddy - Special Mention - Berlin International Film Festival 2001, Discovery Award (IN-COMPETITION ) - Toronto International Film Festival 2000
ภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง ของทีมวอลเล่ย์บอลชาย เขต 5 จังหวัดลำปาง ที่เข้าร่วมแข่งกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ปากน้ำโพเกม ที่จังหวัดนครสวรรค์และสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ จนกลายเป็นข่าวโด่งดังเพราะผู้เล่นทั้งทีมเป็นกะเทย กำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน ที่ผันตัวจากผู้กำกับโฆษณามากำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องแรก ในช่วงที่วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยซบเซาเป็นอย่างมาก ซึ่งมีหนังผลิตออกมาเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ภาพยนตร์สตรีเหล็ก เล่าเรื่องราวของทีมวอลเล่ย์บอลชายจังหวัดลำปางที่ไม่เคยชนะมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งการมาถึงของครูบี๋โค้ชใหม่ที่ทำให้ทีมเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เพราะโค้ชใหม่พยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมเพิ่มมากขึ้น โดยการนำเอามลและจุงสองผู้เล่นที่เป็นกะเทยมาเข้าร่วมทีม ทำให้สร้างความอึดอัดจนลูกทีมคนอื่นพากันลาออก เหลือเพียงแค่ชัยมือเซ็ตของทีมที่พยายามทำใจยอมรับ ในขณะที่มลกับจุงก็ได้ไปชวนเพื่อนสมัยเรียนที่ต่างก็เป็นกะเทยเข้ามาเสริมทัพ จนกลายเป็นทีมวอลเล่ย์บอลที่ถูกขนานนามว่าสตรีเหล็ก โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือเหรียญทอง
ภาพยนตร์สตรีเหล็กได้สร้างสวนกระแสความซบเซาและซ้ำซากในวงการหนังกระแสหลัก และฉีกกฎเกณฑ์ของการทำหนังในช่วงเวลานั้น ด้วยการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาและเล่าเรื่องของเพศที่สาม ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่ามันจะประสบความสำเร็จ เพราะปกติการทำหนังไทยมักจะหลีกเลี่ยงการทำหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง เด็ก กีฬา และเพศที่สาม ซึ่งในหนังสตรีเหล็กได้เล่าเรื่องราวของเพศที่สามในมิติแง่มุมอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากหนังที่ผ่านมา เช่น ในแง่มุมเรื่องราวของครอบครัว ความสัมพันธ์ของเพื่อน และภาพวิถีชีวิตของคนเพศที่สามในสังคม ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและมีทัศนะคติที่ดีต่อคนเพศที่สามได้มากยิ่งขึ้น สตรีเหล็กยังนับเป็นหนังหัวขบวนของหนังเพศที่สามในช่วงเวลานั้น และยังก่อให้เกิดกระแสสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬา และเกี่ยวกับเพศที่สามในแนวทางนี้ติดตามมาอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา และในแง่ผลลัพธ์รายได้ของสตรีเหล็ก นับว่าหนังประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างดี สามารถทำรายได้ถึง 99 ล้านบาท และหนังมีโอกาสได้ไปฉายในตลาดต่างประเทศอีกหลายประเทศ และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างดี
ภาพยนตร์สตรีเหล็ก ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลทั้งสิ้น 12 รางวัล และได้รางวัลมา 10 รางวัล ทั้งรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน และสตรีเหล็กยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Discovery Award ในงาน Toronto International Film Festival ปี 2000 และรางวัลชนะเลิศ Reader Jury of the "Siegessäule" และ Teddy - Special Mention ในงาน Berlin International Film Festival ปี 2001 จึงนับเป็นเหตุผลว่าสตรีเหล็กเป็นภาพยนตร์ ที่ควรค่าแก่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติในปีนี้