เพลงของข้าว THE SONG OF RICE

ความยาว 75.15 นาที

สื่อดิจิทัล  / สี / เสียง

บริษัทสร้าง เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น

ผู้อำนวยการสร้าง พิมพกา โตวิระ

ผู้กำกับ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

ผู้เขียนบท อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, เกรียงศักดิ์ วิทยาอนิวรรตน์

ผู้กำกับภาพ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

ผู้ลำดับภาพ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

ผู้ทำดนตรีประกอบ  วุฒิพงศ์ ลี้ตระกูล

ผู้บันทึกเสียง อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

ผู้แสดง ประหยัด พรมมา

รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, รางวัลสตาร์พิคส์ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม, Best Documentary - Minneapolis St. Paul International Film Festival 2015, FIPRESCI Prize - Rotterdam International Film Festival 2014


เพลงของข้าว เป็นภาคสุดท้ายของไตรภาคเรื่องข้าวของอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ต่อจาก เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องย่อยหลายเรื่องรวมเข้าด้วยกัน และ สวรรค์บ้านนา ซึ่งเป็นเรื่องแต่งแต่ใช้ชาวนาเป็นนักแสดงและสร้างวงจรของการปลูกข้าวขึ้นมาจริง 


เพลงของข้าว พัฒนารูปแบบไปอีกขั้นด้วยการไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนปล่อยให้เหตุการณ์จากสถานที่ต่างๆร้อยเรียงกันอย่างอิสระ โดยใช้บทเพลงและภาพเล่าเรื่องราววิถีของข้าวที่มีต่อวิถีของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าว ได้แก่ เทศกาลแข่งควาย จังหวัดชลบุรี งานกวนข้าวทิพย์ จังหวัดสงขลา บุญคูณลาน งานบุญบั้งไฟตะไลล้าน จังหวัดกาฬสินธ์ ส้มตำลีลา จังหวัดอำนาจเจริญ งานบุญข้าวจี่ จังหวัดเลย งานแข่งบั้งไฟ จังหวัดยโสธร มาร้อยเรียงกันประดุจท่วงทำนองของบทเพลงแห่งข้าวที่ผู้คนแต่ละพื้นที่ช่วยกันประสานท่วงทำนองแม้สำเนียงจะแตกต่างกันแต่ก็บรรเลงประโคมได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


ความสามารถด้านการถ่ายภาพของอุรุพงศ์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สามารถทำให้ภาพความเป็นจริงที่บันทึกไว้ งดงามราวกับภาพวาดของศิลปินชั้นเลิศ


อุรุพงศ์กล่าวถึงการทำงานของตนเองว่า “การทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เช่น การวาดภาพดอกไม้ด้วยสีน้ำอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง ภาพดอกไม้ที่วาดเสร็จแล้วบนกระดาษ หรือห้วงขณะที่ศิลปินกำลังจุ่มพู่กันลงในถาดสีและป้ายบนกระดาษ จนปรากฏภาพดอกไม้บนนั้น ภาพดอกไม้นั้นอาจจะสวยต้องตาต้องใจคนดู แต่โมงยามของการวาดนั้นก็สำคัญกับศิลปินเช่นกัน แล้วการสร้างภาพยนตร์หล่ะ เราหวังผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นภาพยนตร์แล้ว หรือว่าเราทำเพราะมันเป็นชีวิตของเรา


เพื่อที่เราจะได้สัมผัสกับห้วงขณะของการติดต่อกับผู้คน กับแสงที่ตกกระทบกับเลนส์และมาสู่ดวงตาเราในที่สุด กับชีวิตบนโลกที่เคลื่อนตัวอยู่ตรงหน้าเรา และความน่าจะเป็นอันหลากหลายของชีวิตของจักรวาลที่อาจจะเกิดตรงหน้า ณ วินาทีนั้น เราคงไม่หวังสิ่งใดมากไปกว่านี้อีกแล้ว


จริงอยู่ที่เราต้องมีกรอบในการทำงาน เราวางกรอบให้มัน แต่กรอบนั้นอย่างน้อยควรจะมีช่องเล็กๆบ้างเพื่อระบายอากาศ ให้มันสัมผัสกับอากาศภายนอก ให้มันหายใจเอาอากาศเดียวกันกับผู้คนข้างนอก ศิลปะนั้นจึงจะสื่อสารกับผู้คนข้างนอก ผู้คนร่วมโลกได้รู้เรื่อง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว กรอบนั้นจะเป็นกรงเหล็กที่กักขังศิลปินไว้กับโลกของตัวเองเสียเองโดยตัดขาดกับความจริงข้างนอก”


ภาพยนตร์นี้ มีคุณค่าอย่างกวีนิพนธ์ บรรยายวิถีชีวิตของชาวนาในประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบัน โดยใช้ภาพเคลื่อนไหวและเสียงจากเหตุการณ์นั้น ๆ โดยไม่อาศัยคำบรรยายใดเลย สามารถบันทึกกิจกรรมต่าง ๆของวิถีชีวิตชาวนาทั่วทุกภาคในประเทศไทยให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ