16 มม. / สี / เสียง / ความยาว 73 นาที
บริษัทสร้าง ภาพยนตร์สหะนาวีไทย
ผู้อำนวยการสร้าง สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์
ผู้กำกับ อนุมาศ บุนนาค
ผู้กำกับบท นิยม โรหิตเสถียร
ผู้เขียนบท ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง
ผู้ดัดแปลงเรื่อง ส. เนาวราช
ผู้ประพันธ์ ไม้เมืองเดิม
ผู้กำกับศิลป์ อุไร ศิริสมบัติ
ผู้ลำดับภาพ อนุมาศ บุนนาค
ผู้แสดง พิศมัย วิไลศักดิ์, สมบัติ เมทะนี, ทักษิณ แจ่มผล, ขวัญใจ สอาดรักษ์, อนุชา รัตนมาลย์, ชนินทร์ นฤปกรณ์, ปรียา รุ่งเรือง, รุจน์ รณภพ, สุวิน สว่างรัตน์, ชุมพร เทพพิทักษ์, สมศรี อรรถจินดา, อบ บุญติด, ประสาน จูงวงศ์, เมศร์ แมนสรวง, จมื่นมานพนริศ, นวลศรี อุรารักษ์, เอิบ สายแสงแก้ว, สกล นิลศรี, พันคำ, อดุลย์ ดุลยรัตน์, สาหัส บุญหลง, วงศ์ ศรีสวัสดิ์, หม่อมประสิทธิศักดิ์ สิงหรา, อธึก อรรถจินดา, เชษ ฉิมม่วง, ปฐมชัย ชมศรีเมฆ, ชาย มีคุณสุต, ฟุ้ง สุนทร, รุ่ง เมืองราช, ประเสริฐ ภัทรประภา, ชาญ สงวนวงศ์
รางวัล ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2508 บทประพันธ์ยอดเยี่ยม ไม้เมืองเดิม, ผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม สมบัติ เมทะนี
เรื่องราวของนักรบแห่งค่ายบางระจัน เป็นเรื่องราวที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นรูปแบบต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ในรูปแบบของภาพยนตร์นั้น หากพูดถึงฉบับที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงแล้ว นอกเหนือไปจาก บางระจัน ในปี 2543 ของธนิตย์ จิตนุกูล แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง ศึกบางระจัน ที่ออกฉายในปี 2509 ของภาพยนตร์สหะนาวีไทย ก็เป็นอีกฉบับ ที่นอกจากจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงแล้ว ยังเป็นเสมือนต้นฉบับของภาพยนตร์บางระจัน ที่มีผู้จดจำมากที่สุด
ศึกบางระจัน ของภาพยนตร์สหะนาวีไทย เป็นผลงานการอำนวยการสร้างของ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับการแสดงชื่อดัง สุพรรณได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายเรือ แต่เรียนไม่จบเพราะได้เข้าสู่วงการบันเทิงเสียก่อน โดยจากการที่สุพรรณมีความผูกพันกับทหารเรือ จึงทำให้เขาตั้งชื่อบริษัทภาพยนตร์ของเขาว่า ภาพยนตร์สหะนาวีไทย ซึ่งภาพยนตร์สหะนาวีไทย มีผลงานการสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 มม. จนมาถึงยุค 35 มม.
ศึกบางระจัน เป็นผลงานที่สุพรรณ ได้มอบหมายให้อนุมาศ บุนนาค ซึ่งอนุมาศนั้นเคยรับราชการทหารเรือมาก่อน ก่อนที่จะลาออกจากราชการและผันตัวมาเป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์จากการชักชวนของเพื่อน ด้วยความที่มาจากแวดวงทหารเรือเช่นเดียวกัน อนุมาศจึงมีความสนิทสนมกับสุพรรณ และได้เข้ามากำกับการแสดงให้ภาพยนตร์หลายเรื่องที่สุพรรณเป็นผู้อำนวยการสร้าง อาทิ เริงทะเล หรือ สามสมอ เช่นเดียวกับ ศึกบางระจัน ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ 16 มม. ฟอร์มใหญ่ของภาพยนตร์สหะนาวีไทย ที่ได้นำเอา สมบัติ เมทะนี มาประชันบทบาทกับ พิศมัย วิไลศักดิ์ ร่วมด้วย ทักษิณ แจ่มผล, ขวัญใจ สอาดรักษ์, ปรียา รุ่งเรือง, รุจน์ รณภพ, สุวิน สว่างรัตน์, ชุมพร เทพพิทักษ์ และ นักแสดงอีกมากมาย
ศึกบางระจัน ของ ภาพยนตร์สหะนาวีไทย ได้ ส. เนาวราช มาดัดแปลงเรื่องดั้งเดิมจากนิยาย บางระจัน ของไม้ เมืองเดิม ให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ โดยมีประสิทธิ ศิริบรรเทิง เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ปี 2308 ซึ่งกองทัพพม่า ได้ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา ในเวลาเดียวกัน นายกองสังข์และหมู่ขาบได้กวาดต้อนผู้คนไปยังกรุงศรีอยุธยา แต่ทัพ ซึ่งเป็นทหารหลวง เช่นเดียวกับทั้งสองคนไม่คิดจะถูกเกณฑ์ไปกรุงศรีอยุธยา และคิดที่จะพาคนในบ้านคำหยาดอพยพหนีไปบ้านศรีบัวทอง ทำให้สังข์และขาบไม่พอใจ และพยายามจับตัวทัพในข้อหาหนีทัพ สังข์และขาบบุกเข้าไปหาจันทร์ แม่ของทัพที่กำลังป่วยอยู่ โดยสังข์และขาบได้จับตัวจวง น้องสาวของทัพ รวมถึงเฟื่อง คนรักของทัพ แต่ขาบแอบหลงรักอยู่เพื่อเป็นตัวประกัน ในที่สุด จวงได้ตกเป็นเมียของสังข์ ขณะที่เฟื่องตกเป็นเมียของขาบ
ในขณะเดียวกัน กองทัพพม่าได้บุกเข้ามากวาดต้อนคนไทยและกดขี่ข่มเหงต่างๆ เมื่อกองทัพพม่าได้บุกมาถึงบ้านศรีบัวทอง ก็ได้พบกับพวกของทัพ ซึ่งร่วมมือกับพวกของแท่น กำนันพันเรือง ดอกไม้ โชติ แก้ว ที่ได้ใช้แผนซ้อนแผนซุ่มโจมตีจนพม่าแตกพ่ายไปได้ แต่เมื่อทั้งหมดรู้ว่า พม่าคงจะกลับมาอีก จึงได้ตัดสินใจที่จะอพยพไปอยู่ที่บางระจัน เพื่อที่จะสู้ศึกพม่าเพื่อแผ่นดินไทย
สังข์และขาบกับทัพได้ปรับความเข้าใจกัน จากการที่ทัพได้เข้ามาช่วยทั้งสองคนที่พลาดท่าเสียทีให้กับพม่า จวงกับเฟื่องได้ขอร้องให้ทัพยกโทษให้สังข์กับขาบ และสังข์กับขาบก็ได้สำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป แต่ขาบก็ตายในระหว่างศึกกับพม่า เฟื่องได้ตรอมใจตายตามขาบไป โดยได้ฝากฝังให้ทัพดูแลแฟง (พิศมัย วิไลศักดิ์) ผู้เป็นน้องสาว
ทัพได้ถือใบบอกไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่มาเพื่อต่อสู้กับพม่า แต่ทางกรุงศรีอยุธยาได้แจ้งกับทัพว่า ไม่สามารถให้ปืนใหญ่กับชาวบางระจันเพราะจำเป็นต้องใช้ปืนใหญ่เพื่อปกป้องกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม พระยารัตนาธิเบศร์ ได้เห็นใจชาวบางระจัน จึงได้ลงไปช่วยหล่อปืนใหญ่ให้ชาวบางระจันไว้ใช้ในการต่อสู้
ชาวบางระจัน ได้ต่อสู้กับพม่าอย่างกล้าหาญ แม้ว่าสุดท้ายจะต้องแตกพ่าย แต่แม่ทัพพม่า ก็ได้ชื่นชมในเลือดที่รักชาติและรักแผ่นดินของคนไทย ขณะที่ทัพของพระยาตาก ก็ได้บุกเข้ามาไล่กองทัพพม่าที่บางระจัน พระยาตากได้พบกับทัพและแฟงที่รอดชีวิตจากศึกสงคราม และได้บอกให้ทั้งสองคนช่วยกันฟื้นฟูหมู่บ้านบางระจันเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้จดใจไว้ว่า บางระจันจะไม่สิ้นสูญจากแผ่นดินไทย
แม้ ศึกบางระจัน จะเป็นภาพยนตร์ในระบบ 16 มม. พากย์สด แต่งานสร้างของศึกบางระจัน ก็เต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่ด้วยฉากสงครามที่ใช้นักแสดงสมทบจำนวนมาก ขณะที่การแสดงของสมบัติ เมทะนี ในบทของทัพก็มีความโดดเด่น จนทำให้สมบัติได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยสมบัติได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทอง จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้าย ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทองให้กับศิลปินนักแสดงด้วยพระองค์เอง
ศึกบางระจัน เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาปลุกใจให้คนไทยลุกขึ้นมาปกป้องชาติจากการรุกรานของศัตรู ผ่านทางวีรกรรมความเสียสละของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ในปี 2541 ได้มีการนำฟิล์ม 16 มม. มาขยายเป็นฟิล์ม 35 มม. พากย์เสียงใหม่ และนำกลับมาฉายอีกครั้ง ขณะที่เรื่องราวของบางระจันตามหนังสือของไม้ เมืองเดิม ก็ได้ถูกนำกลับมาสร้างใหม่ในรูปแบบละครโทรทัศน์ทางช่อง 3 ถึงสองครั้ง ในปี 2523 และ 2558