35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 124.23 นาที
บริษัทสร้าง เริงศิริ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง ศรีประภา ลิมอักษร
ผู้กำกับ เริงศิริ
ผู้กำกับบท ละเอียด
ผู้เขียนบท เริงศิริ
ผู้ประพันธ์ เริงศิริ
ผู้ถ่ายภาพ โสภณ เจนพานิชย์
ผู้ถ่ายภาพนิ่ง สัมพันธ์
ผู้กำกับศิลป์ J.
เครื่องแต่งกาย J.FIVE
ผู้ลำดับภาพ นิพนธ์
ผู้ควบคุมเพลง ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
ผู้บริจาค สหมงคลฟิล์ม
ผู้แสดง พิศมัย วิไลศักดิ์, สรพงษ์ ชาตรี, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, อุเทน บุญยงค์, อัศวิน รัตนประชา, เศรษฐา ศิระฉายา, ดวงใจ หทัยกาญจน์, ทาริกา ธิดาทิตย์, ศรีไศล สุชาตวุฒิ, ชูศรี มีสมมนต์, ชัยรัตน์ เทียบเทียม
ชื่อของเริงศิริ ลิมอักษร อาจเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ เริงศิริ คือศิลปินที่มีความสามารถรอบด้าน ทั้งการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับร้านเจไฟว์ที่เขาเป็นเจ้าของการแต่งเพลง รวมถึงการกำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
จากการเป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าที่คลุกคลีกับคนมากมายในวงการบันเทิง เริงศิริ ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ เช่น ประสาท (2518) และผู้เขียนบทภาพยนตร์เช่น นางสาวมะลิวัลย์ ก่อนที่เริงศิริ จะเริ่มหันมาสร้างและกำกับภาพยนตร์ อาทิ ไอ้ขลุ่ย หรือ หัวใจที่ไม่อยากเต้น
ภายใต้บรรยากาศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วงการภาพยนตร์ไทย งานของเริงศิริ ไม่ได้เป็นหนังบู๊ หรือหนังชีวิตเรียกน้ำตา แต่เป็นหนังชีวิต ที่มักอ้างอิงเรื่องราวจากผู้คนที่เขารู้จัก โดยที่ตัวละครในภาพยนตร์ มักรับบทโดยกลุ่มนักแสดงที่เป็นเพื่อนสนิทของเขา อาทิ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช หรือ ทาริกา ธิดาทิตย์ เป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงในแวดวงสังคม
เพลงรักเพื่อเธอ เป็นผลงานการสร้างและกำกับภาพยนตร์ชิ้นที่ 4 ของเริงศิริ ออกฉายในปี 2521 ซึ่งภาพยนตร์ ได้สะท้อนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจดนตรีในช่วงนั้น เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในช่วงของงานประกาศนักร้องประจำปี ซึ่งใจสคราญ สราญจิต (พิศมัย วิไลศักดิ์), รสสุคนธ์ (ทาริกา ธิดาทิตย์) และไชยยงค์ (เศรษฐา ศิระฉายา) ได้เข้าร่วม ใจสคราญ เป็นตัวเก็งที่จะได้รับรางวัลนักร้องยอดเยี่ยมประจำปี แต่เธอก็ถูกสังคมนินทาว่าเธอเป็นเมียน้อยของนายพลคนหนึ่ง แต่นายพลคนนั้นได้เสียชีวิตไปแล้วจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ทำให้เธอมีอิสระ ยศ (อุเทน บุญยงค์) นักแต่งเพลงดูจะสนใจในตัวเธอ แต่ยศก็มีพรอนงค์ (ศรีไศล สุชาตวุฒิ) เป็นภรรยาอยู่แล้ว
แต่แล้ว เมื่อถึงวันประกาศนักร้องยอดเยี่ยม ปรากฏว่ากลายเป็นไชยยงค์และรสสุคนธ์ ที่ได้รับรางวัลนี้ไป ทำให้ใจสคราญรู้สึกอับอาย แม้ว่ายศจะพยายามปลอบเธอ แต่ก็ไม่เป็นผล เธอตัดสินใจที่จะหยุดร้องเพลง น้ำ (สรพงษ์ ชาตรี) ผู้หลงใหลในเสียงเพลงของใจสคราญ เมื่อใจสคราญได้หนีไปทำใจที่พัทยา เธอได้เจอกับน้ำผู้ที่เข้ามาปลอบเธอ ทำให้ใจสคราญเกิดความเห็นใจ และตัดสินใจที่จะปั้นให้น้ำเป็นนักร้องดัง โดยมีน้ามัทรา (ชูศรี มีสมมนต์) ผู้จัดการของเธอ คอยช่วยสนับสนุนด้วยอีกแรง
ในขณะเดียวกัน รสสุคนธ์ ได้มีความสัมพันธ์กับไชยยงค์ แม้ว่าเขาจะมีน้อย (ดวงใจ หทัยกาญจน์) เป็นภรรยาอยู่แล้ว เมื่อไชยยงค์กับน้อยมีปากเสียงกัน เขาตัดสินใจที่จะย้ายไปอยู่กับรสสุคนธ์ วิดา (มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช) ภรรยาของนพ (อัศวิน รัตนประชา) ได้ให้ความช่วยเหลือกับน้อย แต่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรสสุคนธ์กับไชยยงค์ก็เริ่มระหองระแหง รสสุคนธ์ไม่สามารถทนความเจ้าชู้ของไชยยงค์ได้จึงขอเลิก แต่ไชยยงค์ไม่ยอมและทำร้ายร่างกายเธอ นพได้เข้ามาช่วยรสสุคนธ์ แต่ก็กลายเป็นว่า นพกลับไปมีความสัมพันธ์กับรสสุคนธ์เสียเอง เมื่อวิดารู้ เธอจึงไล่เขาออกจากบ้าน
ใจสคราญได้ขอเพลง เพื่อเธอที่รัก ซึ่งยศเป็นผู้แต่งให้น้ำเป็นคนร้อง ยศตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้ใจสคราญ เขาจึงไม่พอใจที่เธอจะเอาเพลงนี้ไปให้น้ำร้อง ใจสคราญได้ขอให้นพไปช่วยเกลี้ยกล่อม นพบอกกับใจสคราญ ว่าเขายินดีจะช่วยเธอ แต่เธอต้องกลับมาร้องเพลงอีกครั้งเพื่อยศ น้ำกลายเป็นนักร้องที่ใช้ชื่อว่า นที สราญจิต จนในที่สุดเขาได้กลายเป็นนักร้อง ใจสคราญถูกรบเร้าให้ร้องเพลงอีกครั้ง แต่เพลงที่เธอร้องมีเนื้อเพลงที่ทำให้ยศรู้สึกเจ็บปวด ขณะที่พรอนงค์ ตัดสินใจจะหลีกทางให้ยศกับใจสคราญด้วยการหนีไปเชียงใหม่ ขณะที่นพก็ได้ปรับความเข้าใจกับวิดา ทำให้รสสุคนธ์หมดอาลัยตายอยาก
เพลงรักเพื่อเธอไม่ใช่หนังทุนสร้างสูง แต่ก็เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความปราณีตในงานสร้างและการกำกับของเริงศิริ ทั้งการกำกับภาพของโสภณ เจนพานิช องค์ประกอบศิลป์และเสื้อผ้าที่มีรสนิยม หัวใจอีกอย่างของหนัง ก็คือเพลง ซึ่งนักแสดงอย่าง เศรษฐา ศิระฉายา ศรีไศล สุชาตวุฒิ และ ทาริกา ธิดาทิตย์ ได้ใช้เสียงของตนเองจริงๆ ในการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ทะเลไม่เคยหลับ ม่านบังตา หรือใจเอ๋ย
เพลงรักเพื่อเธอ คล้ายงานหลายชิ้นของ เริงศิริ เช่น หัวใจที่ไม่อยากเต้น คือเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวความรักหลายเส้า ของผู้คนในแวดวงสังคม ซึ่งในปี 2521 ภาพยนตร์ในแนวนี้อาจไม่ใช่กระแสหลักของวงการภาพยนตร์ไทย งานของเริงศิริ ไม่ได้เพียงแต่เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้คน แต่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาที่สวยงามในยุค 70 ทั้งสถานที่ เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมของผู้คนในยุคนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเสมือนบันทึกของกาลเวลา ที่คงเหลือเพียงความทรงจำอันไม่มีวันหวนคืนมาอีก และเป็นตัวอย่างผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นของเริงศิริ ที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือของเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่สมควรได้รับการนำมาประเมินค่าใหม่อีกครั้ง