35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 125.35 นาที
บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้จัดการกองถ่าย เศกศิลป์ จิตตกิจ
ผู้ประสานงาน ยุวดี ไทหิรัญ
ผู้กำกับ เพิ่มพล เชยอรุณ
ผู้ช่วยผู้กำกับ วิสูตร เขมาชีวะ
ผู้กำกับบท สุธีรา บริสุทธิ์
ผู้ควบคุมความต่อเนื่อง สุธีรา บริสุทธิ์
ผู้เขียนบท วิสูตร เขมาชีวะ, เพิ่มพล เชยอรุณ
ผู้ประพันธ์ แพร เยื่อไม้
ผู้ถ่ายภาพ เพิ่มพล เชยอรุณ
ผู้ช่วยผู้ถ่ายภาพ ไพพันธุ์ เชยอรุณ
ผู้กำกับแสง เพิ่มพล เชยอรุณ
ผู้ช่วยผู้กำกับแสง วิชัย กวางทอง
ผู้ถ่ายภาพนิ่ง สำเภาและคณะ
ผู้กำกับศิลป์ ชัชวาล วัชรานุรักษ์
ผู้ช่วยผู้กำกับศิลป์ ชูชัย องอาจชัย
เครื่องแต่งกาย ปาริชาติ บริสุทธิ์
ควบคุมเครื่องแต่งกาย ภรณี บริสุทธิ์
ผู้บันทึกเสียง ปง อัศวินิกุล
ผู้ลำดับภาพ เปรง
ผู้ช่วยลำดับภาพ ชิด-แอ๊ด
ผู้ทำดนตรีประกอบ เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์
ผู้ประพันธ์เพลง เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์
ร้องเพลง “หลวงตา” นิวัติ ชัยเพชร
ผู้บริจาค ฟิล์ม 35 มม. ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น, ฟิล์ม 16 มม. ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา
ผู้แสดง ล้อต๊อก, จตุพล ภูอภิรมย์, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, รอง เค้ามูลคดี, ปาริชาติ บริสุทธิ์, ลุงชาลี, ด.ช. ปู จินดานุช, ด.ช. เอ๋, ด.ช. อวบ, ด.ช. พิบูลย์, ด.ช. เบญจพล เชยอรุณ, ด.ช. น้องหนู, จุรี โอศิริ, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, ทาริกา ธิดาทิตย์, ไกรลาศ เกรียงไกร, สุรชัย ดิลกวิลาศ
รางวัล ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2524 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เจริญ เอี่ยมพึ่งพร, ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม ล้อต๊อก สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2523 ภาพยนตร์สร้างสรรค์สังคมยอดเยี่ยม ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
เพิ่มพล เชยอรุณ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงปี 2520 ด้วยเนื้อหาของภาพยนตร์ของเขาที่มีความแปลกใหม่ แตกต่างไปจากผู้กำกับกระแสหลักในยุคเดียวกัน อาทิ ชีวิตบัดซบ อันเป็นผลงานภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่มีความเข้มข้น หรือ เมืองในหมอก อันเป็นภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ดัดแปลงจากบทละครของอัลแบร์ กามูส์
จากการกำกับภาพยนตร์โดยอิสระ ให้กับ มูฟวิ่ง พิคเจอร์ส อันเป็นบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นกับ ชูศักดิ์ สอนอิ่มศาสตร์ เพิ่มพลได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้กำกับสังกัดไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น โดยเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง สัญชาตญาณโหด
แต่ผลงานที่เป็นงานชิ้นสำคัญของเขา ที่ทำเงินให้กับไฟว์สตาร์อย่างมาก คือ หลวงตา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลงานที่เขายอมประนีประนอมกับตลาด ด้วยการหยิบเอาบทประพันธ์ของ แพร เยื่อไม้ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และนำเอาศิลปินตลกชื่อดังอย่างล้อต๊อกมานำแสดง แต่เพิ่มพล ก็พลิกภาพของล้อต๊อกจากการเป็นตลก ให้มารับบทเป็นพระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยภาพยนตร์ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างอบอุ่น ด้วยรายได้จากการฉายครั้งแรก เป็นเงินสูงถึง 6,500,000 บาท และจวบจนปัจจุบัน หลวงตา เป็นภาพยนตร์ไทยเพียงสามเรื่องในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับเลือกให้เข้าสายประกวดหลักในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (โดยอีกสองเรื่อง คือ นางทาษ ฉบับปี 2503 ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และ Invisible Waves คำพิพากษาของมหาสมุทร ของ เป็นเอก รัตนเรือง ในปี 2549) ซึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ปี 2524) หลวงตา คือหนึ่งในภาพยนตร์ 24 เรื่องจากทั่วทุกมุมโลก ที่ได้ถูกคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลหมีทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดรางวัลหนึ่งของโลกภาพยนตร์
ตัวดำเนินเรื่องของหลวงตา คือ ล้อต๊อก ที่รับบทหลวงตา เรื่องราวของภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อ ช้อย (มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช) โสเภณี ได้นำเอาบุตรชายมาติดกัณฑ์เทศน์หลวงตา เพราะติดใจในคำเทศนาของหลวงตา หลวงตาจึงได้รับเลี้ยงเด็กน้อยไว้ และตั้งชื่อเด็กน้อยว่า บุญหลง
บุญหลง (จตุพล ภูอภิรมย์) ได้เติบใหญ่ขึ้น ภาพยนตร์ได้เล่าถึงชีวิตของเขาในวัด ภายใต้การดูแลของหลวงตาที่คอยอบรมสั่งสอน และคอยลงโทษเมื่อบรรดาเด็กวัดกระทำผิด จนสุดท้าย บุญหลงสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้สำเร็จ โดยที่ช้อย ก็ได้แอบมาเยี่ยมบุญหลง โดยที่ไม่ได้บอกให้เขารู้ว่าเธอเป็นแม่ของเขา จวบจนวันที่ช้อยได้เสียชีวิตลง หลวงตาได้ไปร่วมงานศพของเธอ และได้ให้บุญหลงทำหน้าที่เหมือนกับเป็นลูกของช้อยทุกอย่างในงานศพของเธอ
ภาพยนตร์เรื่องหลวงตา ยังมีเส้นเรื่องที่กล่าวถึงดวงใจ หญิงเสียสติที่เข้ามาพักอยู่ที่วัดกับหลวงตา ก่อนที่ภาพยนตร์ จะดำเนินสู่ช่วงท้ายของเรื่องราว ด้วยการเล่าเรื่องความรักของบุญหลง กับวัลยา (สุพรรษา เนื่องภิรมย์) บุตรสาวของ พล.ท. วิศิษฐ์ ที่ชาติกำเนิดของบุญหลงอาจเป็นอุปสรรคต่อความรักนี้ แต่ท้ายที่สุด คำสอนของหลวงตา ก็ทำให้ พล.ท. วิศิษฐ์ ได้เข้าใจว่า คนเราจะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ได้อยู่กับชาติกำเนิด
แม้สังคมไทย จะเป็นสังคมพุทธที่วัดและพระสงฆ์ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของชุมชน แต่ภาพยนตร์ที่มีพระสงฆ์เป็นตัวดำเนินเรื่องกลับไม่ได้มีมากนักด้วยหลายๆปัจจัย การที่เพิ่มพลนำ ล้อต๊อก มารับบทเป็นหลวงตา และเป็นตัวดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้ชมได้ให้การตอบรับความคิดของเพิ่มพลเป็นอย่างดี ด้วยเนื้อหาของหลวงตา ที่สอนเรื่องคุณธรรม ผ่านทางอารมณ์ขันที่เกิดจากตัวละครของหลวงตา และในอีกด้านหนึ่ง แม้ภาพยนตร์เรื่องหลวงตา จะเป็นงานที่เพิ่มพลสร้างโดยคำนึงถึงตลาดมากกว่างานชิ้นก่อนๆ ของเขา แต่งานของเขา ก็ยังคงแฝงแง่มุมทางสังคมผ่านทางตัวละครเช่นช้อย ผู้หญิงซึ่งประสบปัญหาในชีวิตจากสังคมที่มีความไม่เท่าเทียม สุดท้ายที่พึ่งของช้อยอาจไม่ใช่รัฐ แต่เป็นร่มเงาของศาสนา
ความสำเร็จของหลวงตา ทั้งทางรายได้และคำวิจารณ์ ทำให้เพิ่มพล ได้สร้างภาคต่อของหลวงตาออกมาอีก โดยเพิ่มพล ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง หลวงตา 2 ในปี 2525 ให้กับไฟว์สตาร์ และ ในเวลาต่อมา เขาก็ได้สร้าง หลวงตาน้อยธุดงค์ชายแดน ในนามของ กลุ่มงานศิลปของเพิ่มพล และ สร้างภาพยนตร์เรื่อง หลวงตา 3 สีกาข้างวัด ในปี 2534 ในนาม พี พี สกรีนแอนด์ซาวด์ โดยทุกเรื่อง ยังคงนำเสนอหลักธรรมทางพุทธศาสนาผ่านอารมณ์ขัน และสอดแทรกปัญหาสังคม ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงพุทธศาสนาลงไปด้วย ซึ่ง หลวงตา 3 สีกาข้างวัด กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเพิ่มพล เนื่องจากเขาได้เสียชีวิตลงภายหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายไม่นานนัก
แต่ไม่ใช่เพียงภาคต่อที่เพิ่มพลเป็นผู้สร้างเองเท่านั้น แต่ความสำเร็จของหลวงตา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่นหลังอาทิเช่น โน้ต เชิญยิ้ม สร้างภาพยนตร์ตลกที่สอดแทรกหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น หลวงพี่เท่ง (2548), หลวงพี่เท่ง 2 รุ่นฮาร่ำรวย (2551) และ หลวงพี่เท่ง 3 รุ่นฮาเขย่าโลก (2553) ตลอดจนภาพยนตร์อื่นๆ เช่น หลวงพี่แจ๊ส 4G (2559) หรือละครโทรทัศน์หลายเรื่องในปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเงาที่ทอดยาว ของสิ่งที่เพิ่มพลได้ริเริ่มไว้ในอดีต