35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 103.22 นาที
บริษัทสร้าง ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์
ผู้อำนวยการสร้าง จรัญ พูลวรลักษณ์, วิสูตร พูลวรลักษณ์
ผู้กำกับ อังเคิล
ผู้ช่วยผู้กำกับ สมจริง ศรีสุภาพ, ปุ่นปิติ จตุรภัทร
ผู้เขียนบท อังเคิล
ผู้ถ่ายภาพ ปัญญา นิ่มเจริญพงษ์
ผู้ช่วยถ่ายภาพ กฤษดาพร คล้ายนาค
ผู้ถ่ายภาพนิ่ง ฮาเมอร์
ผู้กำกับศิลป์ ทวีศักดิ์ หิรัญลิขิต
ผู้ช่วยผู้กำกับศิลป์ กิติธร ยุพาพิน
ออกแบบเครื่องแต่งกาย พจมาน แดงฉาย
แต่งหน้าทำผม เกตุวดี-แกดินี่
บันทึกเสียง ห้องอัดเสียงรามอินทรา
ผู้ลำดับภาพ อังเคิล
ดนตรีประกอบ บัตเตอร์ฟลายมิวสิคโปรดักชั่น
ผู้บริจาค บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
ผู้แสดง บิลลี่ โอแกน, สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, รัชนา ธิดาทิตย์, ท้วม ทรนง, สุเชาว์ พงษ์วิไล, อรุณ ภาวิไล
รางวัล งานมหกรรมหนังเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 33 ลำดับภาพยอดเยี่ยม อังเคิล
ปี 2528 เป็นปีที่วิสูตร พูลวรลักษณ์ ทายาทของเครือโรงภาพยนตร์เพชรรามา ได้เริ่มต้นการเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในนาม ไท เอ็นเตอร์เท็นเมนท์ จากภาพยนตร์เรื่อง ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ผู้กำกับและนักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ก้าวขึ้นมาในฐานะของบริษัทสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์วัยรุ่น มีมุกตลกทันสมัย มีคุณภาพงานสร้างที่ได้มาตรฐาน และมีเอกลักษณ์ของการตั้งชื่อภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาที่สะดุดหูเพื่อให้ถูกใจกลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยรุ่น
จาก ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย ที่ อังเคิล อดิเรก วัฏลีลา และ ธนิตย์ จิตนุกูล ร่วมกันกำกับจนประสบความสำเร็จ อังเคิล ได้แยกตัวออกมากำกับภาพยนตร์เรื่อง ดีแตก และ ตามมาด้วย ฉลุย ซึ่งเรื่องหลัง คือภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และทำรายได้ถึง 12 ล้านบาท กลายเป็นภาพยนตร์ที่ยังอยู่ในใจของผู้ชมจำนวนมากมาจนถึงทุกวันนี้
ฉลุย เป็นภาพยนตร์ที่ต่อยอดความสำเร็จจากซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย และ ปลื้ม ด้วยการนำเอา บิลลี่ โอแกน และ สุรศักดิ์ วงษ์ไทย มานำแสดงเหมือนเช่นเดิม ในหนังตลกวัยรุ่น ที่เป็นสไตล์เฉพาะตัวของไท เอ็นเตอร์เท็นเมนท์ในเวลานั้น โดยฉลุย ได้ออกฉายในช่วงปลายปี 2531 ในช่วงเวลาที่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคใหม่ที่ไทยมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย
ฉลุย เปิดเรื่องด้วยฉากในความฝันของโต้ง ในฝันนั้นเขาเป็นนักร้องดังที่กำลังร้องเพลง “วันนั้น..วันนี้..วันไหน” แต่ถูกชายซึ่งตะโกนบอกเขาว่ามันเป็นเพลงของเขาตามไล่ล่า ขณะที่ป๋องก็กำลังฝันว่าเขาเป็นนักร้องดังเช่นกัน แต่เมื่อตื่นขึ้นมา พวกเขาเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดสองคน ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อตามล่าความฝัน โดยอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านเช่าโทรมๆ แห่งหนึ่ง ที่นั่น เขาได้พบกับตุ๊กตา เพื่อนบ้านสาวสวย และน้าวิ ซึ่งคอยให้กำลังใจแก่พวกเขา แต่การไปให้ถึงฝันนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
เรื่องราวของฉลุยไม่มีอะไรซับซ้อน หนังเล่าถึงชีวิตของโต้งและป๋อง สองชายหนุ่มแสนซื่อ ที่มักต้องพบกับเหตุการณ์ตลกๆ กับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งหลายต่อหลายมุกตลกในหนังเรื่องนี้ ยังเป็นที่จดจำและพูดถึงกันมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นฉากที่โต้งกับป๋องตัดสินใจเปิดร้านขายขนมครกเจ็ดสี แต่เมื่อน้าวิวิจารณ์ว่าขนมครกของพวกเขายังขาดสาระ โต้งกับป๋องจึงทำขนมครกที่ใส่วิตามินต่างๆ ลงไป แม้จะมีคนชมว่าขนมครกใส่วิตามินที่เขาขายนั้นมีสาระ แต่ปรากฏว่า มันกลับขายไม่ออกเลย ซึ่งมุกนี้เป็นมุกที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกถึงของอังเคิล ผู้กำกับ ที่ก่อนหน้า ภาพยนตร์เรื่อง “ดีแตก” ของเขาแม้จะได้รับคำวิจารณ์ที่ดี แต่กลับไม่ทำเงิน ซึ่งทำให้เขา ตัดสินใจที่จะกลับมาทำหนังตลกวัยรุ่นอย่างฉลุยอันเป็นหนังแนวที่มักถูกตราหน้าว่าไร้สาระ
กระนั้น ภาพยนตร์เรื่องฉลุย ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เราพูดได้ว่ามันเป็นสิ่ง 'ไร้สาระ' เพราะหนังได้เล่าถึงความคิดและความฝันของโต้งกับป๋อง ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของวัยรุ่นธรรมดาๆ จำนวนไม่น้อยในยุคนั้น ที่อาจเหมือนคนขี้แพ้ แต่ก็ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองได้ก้าวไปสู่ความฝัน โต้งกับป๋อง แตกต่างจากวัยรุ่นที่ปรากฏในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องยุคก่อนหน้า ซึ่งตัวละครมีลักษณะเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา และเน้นเรื่องความรักในรั้วสถาบันการศึกษามากกว่าการพูดถึงความฝันและเป้าหมายในชีวิต
หากมองในด้านบทภาพยนตร์หรืองานสร้าง จะเห็นได้ว่า ฉลุย เป็นภาพยนตร์ที่มีบทภาพยนตร์ที่ทันสมัย และถูกคิดถูกเขียนด้วยคนรุ่นใหม่ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยรุ่น มากกว่าหนังหลายเรื่องในเวลานั้นที่ผู้สร้างหรือผู้กำกับเป็นผู้ใหญ่ และมองวัยรุ่นด้วยสายตาของผู้ใหญ่ ซึ่งจุดนี้เอง ที่ทำให้ฉลุย ตลอดจนผลงานอื่นๆ ที่ผลิตโดยทีมงานของไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้วงการภาพยนตร์ไทยเปลี่ยนจากยุคสมัยของภาพยนตร์บู๊ หรือภาพยนตร์ชีวิต มาเป็นยุคของภาพยนตร์วัยรุ่นอย่างเต็มตัวจนสิ้นสุดทศวรรษที่ 2540
ไม่เพียงเท่านี้ ความสำเร็จอีกประการของฉลุย คือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม จากงานมหกรรมหนังเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต อีกทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ “วันนั้น..วันนี้..วันไหน” และ “ก็มันเป็นอย่างนั้น” ก็ยังเป็นเพลงที่ดังต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งความสำเร็จในหลายๆ ด้านของฉลุย ทำให้เกิดเป็นภาคต่ออย่าง ฉลุย โครงการ 2 (2533) ตลอดจนภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาคต่อ แต่ใช้ชื่อว่าฉลุย อย่าง ฉลุยหิน คนไข่สุดขอบโลก (2538) และ วาไรตี้ผีฉลุย (2548) จนในปี 2558 ที่อังเคิล ได้หยิบนำพล็อตของฉลุย มาสร้างใหม่อีกครั้ง ในชื่อ ฉลุย แตะขอบฟ้า