ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 5 นาที
ผู้สร้าง บ้านดอกไม้ฟิล์ม, กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
ผู้บริจาค หม่อมราชวงศ์พรรธนภณ สวัสดิวัตน์
แข่งขันกอล์ฟ 2474 เป็นภาพยนตร์บันทึกการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการแรกในเมืองไทย ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาอาชีพในเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่หอภาพยนตร์ค้นพบในตอนนี้ ซึ่งพาเราย้อนชมบรรยากาศการแข่งขันกอล์ฟในบรรยากาศที่หาชมได้ยากยิ่ง แต่นอกเหนือไปจากนั้นภาพยนตร์ยังทำให้เราได้พบกับนายทิม ทัพพวิบูล โปรกอล์ฟและครูกอล์ฟคนแรกแห่งสยามด้วย
นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชุดของบ้านดอกไม้ฟิล์ม ภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟไทย หรือในอีกบทบาทหนึ่งท่านคือเจ้านายผู้ทรงโปรดปรานการถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งหอภาพยนตร์ได้รับมอบจากทายาทของพระองค์ จำนวนกว่า 300 ม้วน ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่พระองค์ทรงถ่ายเอง ระหว่างปี 2470 – 2476 บันทึกพระกรณียกิจส่วนพระองค์ต่าง ๆ ในขณะที่ทรงเป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงพาณิชย์และคมนาคม การเสด็จฯ ประพาสต่างประเทศ รวมถึงเหตุการณ์และพระราชพิธีสำคัญ
เนื้อหาในภาพยนตร์ แข่งขันกอล์ฟ 2474 บันทึกการแข่งขันกอลล์ฟอาชีพระดับนานาชาติ รายการ Open Championship ครั้งที่ 2 (ครั้งแรกจัดในปี พ.ศ. 2473) ที่จัดขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กษัตริย์ผู้ทรงโปรดปรานกีฬากอล์ฟ แข่งขันกัน 3 สนาม คือสนามกอล์ฟราชกรีฑาสโมสร สนามกอล์ฟราชตฤณมัย และสนามกอล์ฟสวนจิตรลดา ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟระดับชาติในพระนครสมัยนั้น ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการออกรอบในแต่ละสนามของนักกอล์ฟนานาชาติรวมถึงผู้ชม และการถ่ายภาพสโลว์โมชั่นเพื่ออวดวงสวิงของนักกอล์ฟเฉกเช่นที่เห็นโดยทั่วไปในการถ่ายทอดกีฬาปัจจุบันนี้ ก่อนจะจบลงด้วยภาพของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินเสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศรายการนี้ นั่นคือนายทิม ทัพพวิบูล
ทิม ทัพพวิบูล เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2452 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ครอบครัวได้ย้ายมาประกอบอาชีพในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้นายทิมได้เข้ามาทำงานรับจ้างที่สนามกอล์ฟหัวหิน ทั้งงานขุดหญ้าในสนามกอล์ฟ งานรับจ้างถือถุงกอล์ฟ รวมถึงงานซ่อมแซมทางรถไฟในอำเภอหัวหิน และในเวลานี้เองที่นายทิมหลงเสน่ห์กีฬากอล์ฟ ถึงขั้นทำไม้กอล์ฟด้วยตนเอง ฝึกหัดการตีกอล์ฟแบบครูพักลักจำจากนักกอล์ฟที่มาเล่นในสนาม จนความใฝ่รู้ของเขาเดินทางไปถึงนายดิษ บุนนาค ผู้แปลกฎกติกาการแข่งขันกอล์ฟฉบับภาษาไทยเป็นคนแรก นายดิษจึงได้ฝากฝังนายทิมให้ได้งานประจำแก่คุณหลวงไกรฤกษ์ นายช่างบำรุงทางฯ เพื่อนำนายทิมไปถวายตัวกับกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น
เมื่อกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินได้พบนายทิมก็จึงทดสอบฝีมือการเล่นและการซ่อมไม้กอล์ฟของเขา จนเป็นที่พอพระทัย จึงแต่งตั้งให้นายทิมเป็นหัวหน้าแคดดี้ของสนามกอล์ฟและได้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ในระหว่างที่นายทิมได้ถวายงานตามเสด็จถือถุงกอล์ฟให้แก่รัชกาลที่ 7 เมื่อทรงพระราชดำเนินมายังสนามกอล์ฟหัวหิน พระองค์ได้ทรงตรัสให้นายทิมตีกอล์ฟถวายเพื่อทอดพระเนตร เมื่อนั้นพรสวรรค์ของนายทิมจึงได้เป็นที่ประจักษ์ต่อพระเนตรของรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในความสามารถของนายทิมเป็นอย่างมากและตรัสให้กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินช่วยดูแลและสนับสนุนนายทิมให้เป็นนักกีฬากอล์ฟ
ในปี 2473 รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการแข่งขันกอล์ฟระดับนานาชาติรายการแรกของไทยขึ้นในชื่อว่า Open Championship นายทิมจึงได้โอกาสแสดงฝีมือแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก และสามารถคว้าแชมป์พร้อมเงินรางวัล 80 บาท จึงได้รับยกย่องว่าเป็นนักกอล์ฟอาชีพคนแรกของสยาม จากนั้นมานายทิมยังสามารถครองแชมป์ในรายการเดียวกันได้อีก 9 สมัยติดต่อกัน (ในภาพยนตร์คือสมัยที่ 2) มีโอกาสไปแข่งขันในต่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนเป็นที่ยอมรับและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนักกอล์ฟไทยรุ่นต่อๆ มา อย่างโปรชะลอ จุลกะ, โปรสุกรี อ่อนฉ่ำ รวมถึงบุตรชายของท่านอย่างโปรมานพ ทัพพวิบูล โปรกอล์ฟคนที่สองของไทย ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นครูกอล์ฟให้แก่บุคคลสำคัญไทยหลายต่อหลายท่าน ทั้งทำงานด้านการออกแบบและปรับปรุงให้สนามกอล์ฟหลายแห่งในประเทศไทย และอุทิศตนเพื่อวงการกอล์ฟไทยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี พ.ศ. 2520 รวมอายุได้ 68 ปี
การค้นพบในครั้งนี้จึงนับเป็นหมุดหมายที่สำคัญครั้งหนึ่งในภาพยนตร์ เพราะหากปราศจากนายทิมหรือครูทิม จุดเริ่มต้นของกีฬากอล์ฟอาชีพในประเทศไทยจะเป็นเช่นใดไม่อาจทราบได้และหากปราศจากภาพยนตร์เรื่องนี้เราก็คงไม่ได้เห็นจุดเริ่มต้นดังกล่าว