ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / 44.09 นาที
ผู้สร้าง กรมประชาสัมพันธ์
ภายหลังการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนหลายแสนคน เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ “เหตุการณ์ 14 ตุลา” สิ้นสุดลงด้วยการเดินทางออกนอกประเทศของคณะเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร บรรดาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่างได้รับการยกย่องจากประชาชนและสื่อมวลชนว่าเป็น “วีรชน”นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพแก่ผู้เสียชีวิตอย่างสมเกียรติแม้กระบวนการจะล่าช้ารวมทั้งมีข้อขัดแย้งหลายประการโดยเฉพาะเรื่องสถานที่จัดงาน แต่สุดท้ายแล้ว “พิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 ตลุาคม 2516” ก็ได้รับการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ เมรุท้องสนามหลวง ในวันที่ 13-15 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่เดิมนั้น สนามหลวง หรือที่เคยเรียกกันว่า “ทุ่งพระเมรุ” เป็นพื้นที่สำหรับใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้นอันเป็นคติสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ ก่อนที่ปี พ.ศ. 2477 สนามหลวงจะได้ใช้เป็นพื้นที่จัดพิธีศพสำหรับสามัญชนเป็นครั้งแรก ด้วยการจัดพิธีปลงศพทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตจากกรณีกบฎบวรเดช และไม่เคยจัดพิธีศพสามัญชนอีกเลย จนกระทั่งได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ให้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิตฯ ในอีก 40 ปีต่อมา
กรมประชาสัมพันธ์ได้บันทึกพิธีสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งนี้ไว้ในรูปแบบภาพยนตร์ 16 มม. และจัดทำเสียงบรรยายประกอบตลอดเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อย่างละเอียด ตั้งแต่ภาพประชาชนมากมายที่ออกมายืนชมริ้วขบวนเชิญศพวีรชนผู้เสียชีวิตจากวัดโสมนัสวิหารไปยังบริเวณพิธี ณ เมรุท้องสนามหลวง ในวันที่ 13 ตุลาคม, ภาพเหตุการณ์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงจุดชนวนฝักแคพระราชทานเพลิงศพ ท่ามกลางบุคคลสำคัญในบ้านเมืองและประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่นจนมีผู้เป็นลมหมดสติอยู่เป็นระยะ ไปจนถึงภาพการนำเถ้าอังคารผู้เสียชีวิตขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปทำพิธีลอยอังคาร ในวันที่ 15 ตุลาคม
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงนับเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นเครื่องยืนยันสถานะที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำ ก่อนที่สถานะดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีต่อมา นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของ “เหตุการณ์ 14 ตุลา” ที่มีต่อสังคมไทยในขณะนั้น ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีผู้เข้าร่วมพิธีกรรมรำลึกเหตุการณ์นี้น้อยลงไปมาก ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ยังเป็นเสมือนเครื่องเตือนสติให้อนุชนได้ระลึกถึงช่วงเวลาที่สังคมไทยยังคงพร้อมใจกันยกให้วิถีประชาธิปไตยเป็นอุดมคติสูงสุดของชาติ ดังบทสรุปของคำประกาศสดุดีและไว้อาลัย ที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการจัดงานในครั้งนั้น ได้กล่าวไว้ในพิธีว่า “ขอให้ชาวไทยทั้งหลายตั้งปณิธานว่า เราจะร่วมใจกันดำรงคงไว้ซึ่งวิถีประชาธิปไตย รักษาอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย พร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม สืบต่อไปชั่วนิรันดร”