มนต์รักแม่น้ำมูล

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 108.49 นาที

12 สิงหาคม 2520

บริษัทสร้าง ดวงกมลมหรสพ

ผู้อำนวยการสร้าง กมล กุลตังวัฒนา

ผู้กำกับ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

ผู้เขียนบท ธนวัฒน์, ดาราพร

ผู้กำกับภาพ นิวัติ ศิลปสมศักดิ์

ผู้กำกับศิลป์ สุพงษ์ ผาธรรม, วินิจ ปัญญาไว, สุมิตร ปทุมชาติ

ผู้ลำดับภาพ นิวัติ ศิลปสมศักดิ์

ผู้แสดง สมบัติ เมทะนี, นัยนา ชีวานันท์, เปียทิพย์ คุ้มวงศ์, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์,  สุริยา ชินพันธ์, เศรษฐา ศิระฉายา, ศรีไพร ใจพระ, วิชชุตา เธียรโสภณ, ปิยะ ตระกูลราษฏร์

ผู้บริจาค กมล กุลตังวัฒนา


หอภาพยนตร์ได้รับฟิล์มภาพยนตร์เนกาทีฟ เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล มาจากโครงการหนังไทยกลับบ้าน ซึ่งเล่าเรื่องความรัก ความฝัน ของหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำมูล 3 คู่ ได้แก่ ครูตะวัน (สมบัติ) กับ สายไหม (นัยนา) ผดุงครรภ์สาว ขณะที่ ครูพิณ (ปิยะ) ครูช่วยสอนก็รัก เดือน (เนาวรัตน์) สาวบ้านนาที่ต่อมาเป็นลูกบุญธรรมของคนกรุงเทพฯ และ แคน (สุริยา) นักร้องหนุ่มที่เข้ากรุงสร้างฝัน ปล่อยให้ คำหล้า (วิชชุตา) สาวคนรักรอการกลับไปอย่างทุกข์ทน คำแปง (เปียทิพย์) หัวหน้าวงหมอลำสาว ได้แอบรักแคนเพียงข้างเดียวจนเป็นแรงฮึดให้เธอดิ้นรนสู่การเป็นหมอลำชื่อดัง


ผลงานการกำกับของครูเพลง พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และอำนวยการสร้างโดย ดวงกมลมหรสพ ของ กมล กุลตังวัฒนา นักพากย์หนังจากภาคอีสาน ที่ได้ดูหนังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ในปี 2513 จึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ในแนวทางเดียวกัน แต่ถ่ายทอดผ่านวิถีชีวิตของคนอีสานแทน 


กมลเลือกพงษ์ศักดิ์มากำกับจากการแนะนำของ สุรสีห์ ผาธรรม โดยให้เหตุผลว่าพงษ์ศักดิ์เป็นนักแต่งเพลง ซึ่งเคยเรียนรู้เรื่องภาพยนตร์จากประสบการณ์ในกองถ่ายกับ รังสี ทัศนพยัคฆ์ และสิ่งที่ยืนยันความแม่นยำในการเลือกผู้กำกับและการมองตลาดของกมล คือเมื่อหนัง มนต์รักแม่น้ำมูล ออกฉาย คนอีสานในกรุงเทพฯ ต่างตีตั๋วเข้ามาชม ถึงแม้ตอนเข้าฉายจะอยู่ในช่วงรัฐประหารมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานหลังเวลา 22.00 น. แต่บัตรชมภาพยนตร์ทั้งรอบเช้าและค่ำเต็มจนชาวอีสานไม่มีทางเลือก ก็ต้องเสี่ยงกับการติดเคอร์ฟิวไปชมรอบดึก ทำให้ต้องพักค้างคืนที่หน้าโรงจนล้นหน้าโรงภาพยนตร์


ที่น่าสนใจคือความสำเร็จของหนัง เป็นการจุดกระแสขึ้น ณ ใจกลางเมือง จากการตั้งใจสื่อสารกับชาวอีสานที่เข้ามาแสวงโชคในกรุงเทพฯ ดังเช่นสปอตโฆษณาที่ว่า “เยอะเฮ่ยเยอะ เอ๊ย เยอะเฮ่ยเยอะ...ไปเบิ่งมนต์รักแม่น้ำมูล เหมือนได้ไปเอาบุญบ้านเฮา” กับ “คึดฮอดบ้านไปเบิ่งมนต์รักแม่น้ำมูลเด้อหมู่เฮา”


นอกจากนี้ สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จคือความนิยมของเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 10 เพลง มีเพลงที่โด่งดัง เช่น  “แต่งงานกันเด้อ” แต่งโดย สนิท มโนรัตน์ ขับร้องโดยสนธิ สมมาตร และ “เพลงแห่พระเวสฯ” แต่งโดย พงษ์ศักดิ์ ขับร้องโดย ดาว บ้านดอน 


มนต์รักแม่น้ำมูล จึงเป็นหนังสะท้อนชีวิตของคนอีสาน ที่เข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองกรุง ซึ่งในตอนนั้น คนอีสานยังถูกดูถูกดูแคลนจากคนเมือง ทำให้พวกเขาที่กำลังถูกกดทับจากโครงสร้างทางสังคม ตอบรับกับการนำเสนอของหนังในทันทีในวันแรกที่ภาพยนตร์เข้าฉาย ในวันแม่แห่งชาติประจำปี 2520 และเป็นการแสดงให้เห็นพลังคนอีสานที่เปรียบเสมือนชายขอบของเมืองหลวง ทว่ามีพลังมากพอที่จะทำให้ภาพยนตร์เป็นที่นิยมในระดับปรากฏการณ์