ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 101 นาที

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง

ผู้เขียนบท เป็นเอก รัตนเรือง

ผู้กำกับภาพ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์

ผู้ลำดับภาพ ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล, เอเดรียน เบรดี

ผู้ทำดนตรีประกอบ อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ, ไพศาล จำนง, เบเกอรี่ มิวสิค

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คงยศ มะโนน้อม

ผู้แสดง เร แม๊คโดแนลด์, เฟย์ อัศเวศน์, ณัฐณิชา ครองลาภยศ, ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, แชมเปญ เอ็กซ์, พูลสวัสดิ์ ธีมากร, วีรดิษ วิญญรัตน์, สุธีรัชต์ ชาญนุกูล, วิทิตนันท์ โรจนพานิช, ยงยุทธ ทองกองทุน


พ.ศ. 2540 เป็นปีที่เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อมีจำนวนหนังไทยออกฉายไม่ถึงยี่สิบเรื่องเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ในขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนทำหนังโฆษณาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพาวงการไปสู่ยุคสมัยใหม่ ด้วยรูปแบบและเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ต่างออกไปจากเดิม หนึ่งในนั้นคือ เป็นเอก รัตนเรือง จากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ชื่อ ฝัน บ้า คาราโอเกะ 


ฝัน บ้า คาราโอเกะ เล่าเรื่องราวของ ปู หญิงสาวผู้มักฝันเห็นแม่ผู้เสียชีวิตไปตั้งแต่เธอยังเล็ก กำลังสร้างโมเดลบ้านหลังเล็ก ๆ ซึ่งค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เธอฝันถึง เมื่อเธอนำไปปรึกษาหมอดูผู้เป็นพ่อของเพื่อนสนิท เขาได้ตีความความฝันอันต่อเนื่องของเธอว่า เมื่อใดแม่เธอสร้างโมเดลบ้านในความฝันสำเร็จ พ่อของเธอจะเสียชีวิตลง ปูจึงพยายามแก้เคล็ดทุกวิถีทาง เพื่อต่อดวงชะตาของพ่อผู้เอาแต่กินเงินจากกองมรดก โทรศัพท์เล่นหุ้น และจมอยู่กับความสำราญในร้านคาราโอเกะเจ้าประจำตั้งแต่ค่ำยันเช้า ซ้ำยังแอบไปมีสัมพันธ์กับภรรยาลับของมาเฟียเจ้าของร้าน ที่กำลังส่ง น้อย มือปืนวัยรุ่นมาตามเก็บเขา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปูกลับรู้จักน้อยเพราะเขาชอบมาขลุกอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งกำลังเป็นสิ่งเกิดใหม่ในสังคมไทยที่เพื่อนเธอทำงานอยู่ ทั้งคู่ต่างมีใจให้กัน โดยไม่รู้ว่าพ่อของปูกำลังเป็นเป้าหมายที่น้อยต้องจัดการ


ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เป็นเอกเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับโฆษณาที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ เมื่อคิดอยากทำหนัง เขาได้นำสองสิ่งนี้มาผสมผสานกับภาพจำจากบรรดาหนังต่างชาติที่เขาหลงใหล และทดลองทำออกมาด้วยแรงดลใจอันห้าวหาญ โดยไม่เคยมีความรู้และประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องมาก่อน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังที่ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องและขนบหนังไทย โดยเฉพาะหนังแนววัยรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง บทสนทนา สรรพนามที่ตัวละครใช้ งานออกแบบมุมกล้อง การตัดต่อ และการผสมผสานหนังแนวฟิล์มนัวร์เข้ากับบรรยากาศแบบไทย ๆ เมื่อพิจารณาว่าเอกลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งตัวละครที่มีสีสันและความเสียดสียียวนแบบหน้าตายเหล่านี้ ได้ปรากฏอยู่ในผลงานอีกหลายเรื่อง จนเกิดศัพท์ที่คนดูใช้เรียกหนังของเขาว่า “หนังเป็นเอก” ในเวลาต่อมา   


แม้ความหวือหวาแปลกใหม่ที่เป็นเอกใส่มาอย่างไม่ยั้งมือ จะทำให้ผู้ชมหนังไทยในเวลานั้นยังตั้งตัวกันไม่ทัน จนไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในเมืองไทย แต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ได้เดินทางออกนอกประเทศไปตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเทศกาลใหญ่อย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษขวัญใจกรรมการ (Special Jury Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์สามทวีป (Festival des 3 Continents) ที่เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส มาครอง นับเป็นการเปิดตัวหนังไทยยุคใหม่ให้เป็นที่รู้จักของผู้ชมต่างชาติในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก ก่อนที่เทศกาลเหล่านี้จะได้ต้อนรับภาพยนตร์ของคนไทยอีกมากมายหลายเรื่องนับจากนั้น 


ฝัน บ้า คาราโอเกะ จึงมีคุณค่าในฐานะคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้ามาอย่างถูกที่ถูกเวลา ในยามที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังตกอยู่ในความซ้ำซาก ซบเซา และสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ โดยพัดพาเอาสิ่งใหม่ ๆ มาให้คนทำและคนดูหนังไทยได้มองเห็นความเป็นไปได้ในการก้าวเดินออกจากกรอบอันคุ้นเคย รวมถึงมีส่วนช่วยขยายพื้นที่ภาพยนตร์ไทยออกไปยังแผนที่โลก นอกจากนั้น ผลงานที่เป็นเอกกล่าวว่าเป็น “จดหมายรักถึงกรุงเทพ” ฉบับนี้ ยังจดบันทึกให้เห็นถึงสภาพชีวิตคนกรุง ที่แวดล้อมไปด้วยอาชญากรรม แหล่งอบายมุข และความเชื่องมงายที่ฝังแน่นในจิตสำนึก ซึ่งสวนทางกับความเจริญทางวัตถุ ในช่วงเวลาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสังคมไทย